xs
xsm
sm
md
lg

รื้อ”เซาเทิร์นซีบอร์ด”สานต่อแผนปล้นชาติ ภาคธุรกิจเบรกเหตุยังไม่ทำประชาพิจารณ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บรรจง นะแส
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ – นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทยเบรกเซาเทิร์นซีบอร์ด เผยเป็นหมากเกมหนึ่งของระบอบทักษิณที่ทำงานผ่านรัฐบาลสมัคร ห่วงดึงทุนเทศปล้นชาติเอื้อผลประโยชน์เพียงบางกลุ่ม จี้เปิดข้อมูลรอบด้าน ทำประชาพิจารณ์ให้ชัด ชี้แค่โครงการท่าเรือน้ำลึกทั้งฝั่งอันดามันและอ่าวไทย ก็ทำลายทรัพยากรมหาศาล ชี้ท่องเที่ยว-ประมงสูญสลายแน่ ส่วนท่าเรือใหม่อ่าวไทยจะยิ่งกระตุ้นให้ปัญหากัดเซาะชายฝั่งยิ่งรุนแรง ด้านภาคธุรกิจใต้ตอนบน-ล่างประสานเสียงขานรับ แต่ย้ำต้องผ่านประชาพิจารณ์ลดแรงเสียดทานกับชาวบ้านเสียก่อน เผยยังไม่ปักใจเชื่อว่าจะเกิดขึ้นจริง หวั่นกลายเป็นเพียงการสร้างกระแสหวังผลทางการเมืองช่วงแก้รัฐธรรมนูญเท่านั้น

ภายหลังจากที่รัฐบาลประกาศจะเดินหน้าโครงการแลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล (สะพานเศรษฐกิจ)มูลค่าการลงทุนกว่า 300,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการเมกะโปรเจกต์ตามแผนโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ หรือเซาเทิร์นซีบอร์ด (SSB) โดยมีบริษัท ดูไบ เวิลด์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE)ได้ลงนามร่างบันทึกความเข้าใจ (MOU) เพื่อศึกษาความเหมาะสมแนวทางการพัฒนาท่าเรือฝั่งทะเลอันดามัน และโครงการแลนด์บริดจ์ฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน ซึ่งเป็นเส้นทางที่เกิดขึ้นคู่ขนานกับแนวท่อก๊าซ ท่อน้ำมัน และทางรถไฟนั้น

นายบรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย เปิดเผยว่า นัยสำคัญของการผลักดันโครงการเซาเทิร์นซีบอร์ดนั้น ต่อเนื่องจากสมัยที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี และต้องการเปิดประเทศให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนแสวงหาผลประโยชน์จากทรัพยากรของชาติ จึงไม่แปลกที่รัฐบาลซึ่งเป็นตัวแทนของระบอบทักษิณจะลงมาสานต่อ โดยมี พ.ต.ท.ทักษิณเป็นผู้เชื้อเชิญนักลงทุนต่างชาติมาสำรวจทั้งภาคใต้และภาคอีสาน ที่จะให้มีการมาทำนา

“สิ่งที่ซ่อนเร้นอยู่ภายใต้โครงการ คือการทุจริต คอร์รัปชันของนักการเมืองบางกลุ่ม และผลักให้ประชาชนได้รับผลกระทบ ขณะที่ประเทศชาติเองต้องเป็นฝ่ายสูญเสียประโยชน์ เพราะความไม่โปร่งใสของโครงการและการไม่ฟังเสียงของประชาชนในท้องถิ่นที่เป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง โครงการเซาเทิร์นซีบอร์ดจึงต้องมีการเปิดเผยข้อมูลผ่านการทำประชาพิจารณ์ ให้ประชาชนรับรู้ข้อมูลรอบด้าน โดยเฉพาะที่ให้บริษัท ดูไบ เวิลด์ฯ เป็นผู้ลงทุนให้ ว่ามีเงื่อนไขอย่างไรบ้าง มีเรื่องสิทธิทางปัญญาหรือค่าบริหารจัดการหรือไม่” นายบรรจงกล่าวต่อและว่า

ประเด็นต่อมาคือ การศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโครงการเซาเทิร์นซีบอร์ด ซึ่งเบื้องต้น ถ้าโครงการก่อสร้างท่าเรือปากบาราใน จ.สตูล เกิดขึ้น ก็จะมีผลกระทบต่อชาวประมงใน 4 อำเภอ ที่อยู่ริมทะเลอันดามันหมดสิ้นหนทางทำอาชีพประมง และน่าห่วงด้วยว่าพื้นที่ท่าเรือติดเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา และตะรุเตาซึ่งสามารถขายท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปีโดยไม่ต้องลงทุนก่อสร้างใดๆ ก็สามารถสร้างรายได้ และหากมีกรณีน้ำมันรั่วลงทะเลก็จะยิ่งทำให้แหล่งท่องเที่ยวทางทะเลทั้งแถบต้องเสียหายหนัก

นายบรรจง กล่าวต่อว่า ส่วนในฝั่งอ่าวไทยมีความกังวลว่า หากจะมีการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกแห่งใหม่ที่ อ.จะนะ จ.สงขลา และตามด้วยการตั้งอุตสาหกรรมต่างๆ จะยิ่งส่งผลกระทบต่อการกัดเซาะชายฝั่ง ความเสียหายที่เป็นมูลค่าทุกๆ ด้านนับล้านล้านบาท ซึ่งมีสาเหตุมาจากการสร้างสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำน่านน้ำทั้งสิ้น

ขณะที่ชาวบ้านเองก็ยังบอบช้ำกับโครงการทรานซ์ไทย-มาเลเซีย ซึ่งมีการหมกเม็ด ซุกซ่อน และบิดบัง ทำให้ชาวบ้านลุกขึ้นเรียกร้องความยุติธรรม และทวงถามผลประโยชน์จากก๊าซธรรมชาติที่ประเทศได้รับ ซึ่งมีเพียง 15% แต่ผลประโยชน์ส่วนใหญ่กลับตกอยู่ที่ประเทศมาเลเซียและบริษัทขุดเจาะก๊าซฯ และในกรณีนี้ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ ทำให้เกิดความกังวลว่าจะซ้ำรอยกับเมกะโปรเจกต์ใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น
จามร เจริญอภิบาล
“สิ่งที่ภาคประชาชนกำลังทวงถามอยู่ตลอดเวลา คือการเปิดเผยข้อมูลทุกด้านสู่สาธารณะ ก่อนที่จะมีการดำเนินโครงการ และให้นักการเมืองคิดถึงประโยชน์ประเทศชาติ เพราะตัวอย่างก็มีให้เห็นความย่ำแย่ของการพัฒนาที่ไม่สอดรับกับสังคมก็มีอยู่แล้ว ถึงวันนั้นประชาชนสงขลาก็จะตัดสินใจเองว่าจะยอมเป็นมาบตาพุด 2 หรือไม่” นายบรรจงกล่าว

ด้านนายโอฬาร อุยะกุล ประธานสภาอุตสาหกรรม จ.สงขลา เปิดเผยว่า หากจะมีการย้ายโครงการเซาเทิร์นซีบอร์ด สู่ภาคใต้ตอนล่าง ตนก็สนับสนุนเพราะเป็นโอกาสที่จะสร้างความเจริญให้แก่ท้องถิ่น แม้ว่าจะมีข้อกังวลว่าชาวบ้านในพื้นที่จะได้รับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ดังเช่นโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ดในภาคตะวันออกที่ไม่สามารถลบภาพความสูญเสียได้ แต่ก็ไม่มีสิ่งไหนที่ได้มาโดยไม่สูญเสีย และหาก จ.สงขลา ไม่ตอบรับโครงการนี้ก็ยังมีจังหวัดอื่นๆ ที่ต้องการอยู่

อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ความคืบหน้าของโครงการยังไม่ชัดเจน ไม่ฟันธงว่าจะเกิดขึ้นจุดไหน จึงไม่รู้สึกตื่นเต้นอะไร และยังพูดอะไรมากไม่ได้ ความเคลื่อนไหวจากรัฐบาน ณ วันนี้เป็นเพียงการผลักให้เป็นวาระแห่งชาติในช่วงที่การเมืองกำลังจะมีการเปลี่ยนแปลงเท่านั้น และรัฐบาลบอกเพียงว่าจะทำโดยที่ไม่มี Master Plan ประกาศให้เห็นชัดๆ ซึ่งก็เหมือนโครงการรถไฟ 9 สายในกรุงเทพฯ ที่บอกว่าจะทำเท่านั้นแต่ยังไม่เกิดขึ้นเสียที

ส่วนนายนิมิตร ชัยจีระธิกุล ประธานสมาพันธ์ธุรกิจท่องเที่ยว จ.สงขลา เปิดเผยว่า เห็นด้วยจะเกิดโครงการดังกล่าวใน จ.สงขลา เพื่อสร้างความพร้อมในระบบสาธารณูปโภครองรับการแปรรูปสินค้าเกษตรของภาคใต้ตอนล่าง เพื่อแปรรูปเพิ่มมูลค่าและส่งออก ซึ่งจะสามารถดึงนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศให้มาอยู่ใน จ.สงขลา ส่งผลดีต่อจังหวัดใกล้เคียงด้วย เช่น นิคมอุตสาหกรรมใน จ.ปัตตานี เป็นต้น และทำให้ประชาชนในพื้นที่มีงานทำ เป็นกลไกหนึ่งที่จะใช้เศรษฐกิจผลักดันแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ได้

อย่างไรก็ตาม นายจามร เจริญอภิบาล ประธานหอการค้าจังหวัดนครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า การที่บริษัท ดูไบ เวิลด์ มาสำรวจพื้นที่และจะลงทุนให้เป็นแสนล้าน ก็ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะลงทุน ณ ภาคใต้ตอนบนหรือใต้ตอนล่าง และจะเป็นจุดใด ซึ่งเดิมได้ลงทุนด้านโครงสร้างสาธารณูปโภคบางส่วนที่ จ.นครศรีธรรมราชไปแล้ว เหลือเพียงต่อยอดก่อสร้างระบบราง ฝังท่อน้ำมัน ก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก เชื่อมหัวท้ายของแลนด์บริดจ์ ซึ่งสามารถต่อยอดได้ทันที และมีพื้นที่ อ.สิชล เหมาะสมจะรองรับอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้น จ.นครศรีธรรมราชก็ยังมีหวังอยู่ว่ารัฐบาลจะรื้อโครงการเก่าๆ มาสานต่อให้ลุล่วง เพราะประหยัดงบประมาณได้มาก

ประธานหอการค้าจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวต่อด้วยว่า แม้ว่า จ.นครศรีธรรมราช จะมีความพร้อมในการเปิดรับโครงการเซาเทิร์นซีบอร์ดไม่น้อยไปกว่าภาคใต้ตอนล่าง เพราะทุกคนอยากให้มีความเจริญเกิดขึ้น แต่ในส่วนของภาคประชาชน ต้องการความเชื่อมั่นในความปลอดภัยและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม โดยต้องทำประชาพิจารณ์สอบถามความคิดเห็นของผู้ที่จะได้รับผลกระทบ และหาแนวทางป้องกันไม่ให้เดินตามรอยผลกระทบที่เกิดขึ้นกับนิคมอุตสาหกรรมในภาคตะวันออก

ทั้งนี้ เท่าที่ติดตามมาก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะลงทุนตรงไหนกันแน่ หรือจะเป็นเพียงกระแสที่เกิดขึ้นเพียงช่วงหนึ่งก็ไม่แน่ใจ เพราะรัฐบาลเองก็มีปัญหาหลายอย่างที่สังคมกำลังจับตามองอยู่ในตอนนี้ แต่ที่ผ่านมาก็เห็นชัดว่าถ้าการเมืองยังไม่นิ่ง การพัฒนาประเทศโดยเฉพาะในภาคใต้ก็ไม่ราบรื่น
กำลังโหลดความคิดเห็น