xs
xsm
sm
md
lg

ชาวจีน 5 ล้านคนไร้ที่อยู่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รัฐบาลจีนตีฆ้องต้องการด่วน เต๊นท์ และสิ่งของเครื่องใช้จำเป็นจำนวนมากสำหรับเหยื่อแผ่นดินไหวไร้ที่อยู่ 5 ล้านคน ขณะที่สาธารณสุขจีนได้สั่งแพทย์ในเขตพื้นที่ประสบภัยแผ่นดินไหวเฝ้าระวังโรคก๊าซแกงกรีน และโรคระบาดอื่นๆ เช่น ท้องร่วง ตับอักเสบเอ และอหิวาต์ ด้าน“ต่าน ฉ่วย” เยี่ยมหน่วยแพทย์พระราชทานฯ ที่เมืองลาบุดทา ทีมแพทย์ระบุตรวจผู้ป่วย 2 เมืองยังไม่พบโรคระบาดร้ายแรง
          
เหตุแผ่นดินไหว 7.9 ริกเตอร์ซึ่งมีจุดศูนย์กลางในอำเภอเวิ่นชวน มณฑลเสฉวนผ่านมา 10 วันแล้ว ล่าสุดเมื่อวันพุธที่ผ่านมา (21 พ.ค.) หลายโรงเรียนในมณฑลเสฉวนได้เริ่มเปิดสอนอีกครั้ง แต่จีนยังคงเผชิญหน้ากับความท้าทายสำคัญ นั่นคือการเร่งหาที่อยู่อาศัยให้แก่เหยื่อธรณีไหวไร้ที่พักพิงกว่า 5 ล้านคน!!
          
เจี่ยง ลี่ รองรัฐมนตรีกระทรวงกิจการพลเรือนเปิดเผยว่า ขณะนี้เหยื่อแผ่นดินไหวไร้ที่อยู่อาศัยในจีนมีมากถึง 5 ล้านคน โดยก่อนหน้านี้ทางการจีนได้มีการแจกจ่ายเต๊นท์ให้แก่ผู้ประสบภัยไปแล้วจำนวน 280,000 หลัง และสั่งให้โรงงานเร่งกำลังผลิตเต็นท์มาสมทบเพิ่มอีก 700,000 หลัง นอกจากนี้ ทางซาอุดิ อาราเบีย ตอบรับคำร้องขอจากจีน ส่งเต็นท์มาช่วยอีก 85,000 หลัง และผ้าห่ม 500,000 ผืน รวมทั้งบริจาคเงิน 50 ล้านเหรียญสหรัฐ อย่างไรก็ตามคาดการณ์ว่า มีความจำเป็นต้องใช้เต็นท์มากถึง 3 ล้านหลังเลยทีเดียว
          
ขณะเดียวกัน รัฐบาลยังได้ประกาศชุดมาตรการทางการเงินเพื่อช่วยเหลือเหยื่อธรณีไหวทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ นอกจากแบ่งสรรเงินสูงถึง 2,500 ล้านหยวน (357 ล้านเหรียญสหรัฐ) มาให้แก่ผู้ประสบภัยแล้ว รัฐบาลยังสั่งให้ลดหย่อนภาษีและขยายสินเชื่อให้แก่ผู้กู้ยืมในบริเวณประสบภัยแผ่นดินไหวด้วย
          
โดยตามคำสั่งของกระทรวงการคลังระบุว่า เหยื่อแผ่นดินไหวจะได้เงินคนละ 10 หยวนเป็นเวลา 3 เดือน ขณะที่ผู้สูงอายุที่สูญเสียครอบครัว รวมทั้งผู้ที่ทุพพลภาพ จะได้รับเงิน 600 หยวนต่อเดือน
          
ขณะที่ตัวเลขผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็น 41,353 คนแล้ว บาดเจ็บอีกเกือบ 274,683 คน และยังสูญหายอีก 32,666 คน คาดเหตุการณ์ครั้งนี้อาจมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 74,000 ราย ขณะที่ยังคงเกิดอาฟเตอร์ช็อก ตามมาอีกหลายระลอก แผ่นดินถล่ม และเขื่อนแตกหลายเขื่อน

ด้านเจิ้งกว่าง หัวหน้าแพทย์ระบาดวิทยาของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคประเทศจีน (ซีดีซี) เผยว่าทีมแพทย์ได้ดำเนินมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคก๊าซแกงกรีนหรือโรคเนื้อเยื่อตาย โดยแยกผู้บาดเจ็บที่ถูกส่งมาจากพื้นที่แผ่นดินไหวเพื่อตรวจหาเชื้อโรคดังกล่าวก่อนทันที และจนถึงวันอาทิตย์ (18 พ.ค.) มีรายงานผู้ป่วยโรคก๊าซแกงกรีน 58 ราย ในจำนวนนี้มี 30 รายที่ต้องตัดแขนขาทิ้ง อย่างไรก็ตาม ไม่มีรายงานการติดเชื้อระหว่างคนไข้ด้วยกัน 
          
โรคก๊าซแกงกรีน (Gas Gangrene) เกิดจากเชื้อแบคทีเรียผลิตก๊าซออกมาภายในเนื้อเยื่อที่เน่าตาย การรักษาสามารถทำได้โดยการผ่าตัดหรือตัดอวัยวะที่เนื้อเยื่อเน่าตายทิ้ง หากทิ้งไว้ไม่รักษาอาจเสียชีวิตภายใน 12 ชั่วโมง 
          
นอกจากนี้ ทางการจีนยังสั่งให้เฝ้าระวังโรคระบาดอื่นๆ เช่น ท้องร่วง ตับอักเสบเอ และอหิวาต์ ทั้งนี้ การระบาดของโรคท้องร่วงครั้งใหญ่สุดในประเทศจีนเกิดขึ้นเมื่อปี 1978 หลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวระดับ 7.8 ริกเตอร์ ที่ถังซาน
          
ขณะเดียวกัน สาธารณสุขจีนได้แจกใบปลิวกว่า 5.3 ล้านใบ เพื่อแนะนำเรื่องสุขอนามัย การป้องกันโรค ให้แก่หน่วยกู้ภัยและผู้รอดชีวิต และจะจัดส่งทีมผู้เชี่ยวชาญด้านการป้องกันโรคระบาดราว 3,500 คนไปยังพื้นที่ประสบภัยในอีก 5 วัน

นอกจากนี้เจ้าหน้าที่จีนยังได้เริ่มทำการเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อของศพที่ยังไม่รู้ว่าเป็นใคร เพื่อนำไปตรวจสอบดีเอ็นเอ โดยรายละเอียดและข้อมูลที่ได้จากการตรวจสอบดีเอ็นเอจากศพที่พบในที่ต่างๆ จะถูกนำไปเก็บรวบรวมไว้ที่สถานที่แห่งเดียว เพื่อสะดวกในการตรวจสอบของครอบครัวผู้เสียชีวิต ปัจจุบันได้มีการฝังและเผาศพเหยื่อแผ่นดินไหวที่พบไปแล้ว 80%

“ต่าน ฉ่วย” เยี่ยมหน่วยแพทย์พระราชทานฯ

วานนี้ (21 พ.ค.) นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ(ศูนย์นเรนทร) กล่าวถึงความคืบหน้าการช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่ประเทศพม่าว่า เมื่อวันที่ 20 พ.ค.ที่ผ่านมา พลเอกอาวุโส ตาน ฉ่วย ผู้นำสูงสุดของพม่า ได้เดินทางไปเยี่ยมหน่วยแพทย์พระราชทานฯ ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ที่เดินทางไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจากพายุไซโคลนนาร์กีส ที่ประเทศพม่า ขณะออกให้บริการตรวจรักษาผู้ป่วยร่วมกับหน่วยแพทย์ของพม่า ที่ศูนย์พักพิงผู้อพยพเมืองลาบุดทา (Labutta) ซึ่งมีประชาชนอาศัยอยู่ในศูนย์พักพิง 219 แคมป์ จำนวนกว่า 3,000 คน มีผู้ป่วยเข้ารับบริการ 150 ราย โดยทีมแพทย์จะเดินทางไป-กลับ ระหว่างเมืองเมียเมี๊ยซึ่งเป็นถนนลูกรังไปยังศูนย์ผู้อพยพ เมืองลาบุดทาทุกวัน ใช้เวลาเดินทางไป-กลับ 6 ชั่วโมง

ทั้งนี้ หน่วยแพทย์พระราชทานฯ ที่ได้ให้บริการตรวจรักษาพยาบาลชาวพม่าที่ประสบภัย ที่ศูนย์พักพิงผู้ประสบภัย เมืองเมียเมี๊ย (Myaungmya) และเมืองลาบุดทา (Labutta) มีผู้ป่วยเข้ารับการบริการ จำนวน 700 กว่าราย ส่วนใหญ่ป่วยเป็นโรคทั่วๆ ไป เช่น ไข้หวัด ปวดศีรษะ บาดแผลถลอก มีส่วนหนึ่งผิวหนังอักเสบเป็นฝี แพทย์ให้การรักษาด้วยยา ผ่าฝี ทำแผล ฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยัก โดยยังไม่พบโรคระบาดรุนแรง ซึ่งศูนย์พักพิงผู้ประสบภัย เมืองเมียเมี๊ย มีแคมป์ผู้ประสบภัย จำนวน 27 แคมป์ ประชาชนบางส่วนอาศัยอยู่ที่โรงเรียนและวัด

“ในเวลาเย็นที่แพทย์ไทยออกไปเดินเล่นบริเวณรอบที่พักที่เป็นวัด ชาวพม่าให้การต้อนรับหน่วยแพทย์จากไทยอย่างดี มีการยิ้มแย้มทักทาย และนำอาหาร ขนม ผลไม้ มามอบให้ ทำให้หน่วยแพทย์ไทยซาบซึ้งในการต้อนรับและความมีน้ำใจของชาวพม่าอย่างยิ่ง”นพ.สรุเชษฐ์กล่าว

นพ.สุรเชษฐ์ กล่าวถึงกรณีที่นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี สั่งการให้กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) จัดส่งทีมแพทย์ไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวในประเทศจีนว่า สธ.ได้ติดต่อผ่านทางเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทยให้ติดต่อไปยังรัฐบาลจีนเพื่อแสดงความพร้อมในการให้ความช่วยเหลือ โดยจีนได้ให้คำตอบว่า ขอบคุณประเทศไทย แต่ ณ วันนี้ประเทศจีนยังสามารถดูแลรักษาและให้บริการผู้ประสบภัยได้ หากต้องการความช่วยเหลือเมื่อไหร่จะติดต่อรัฐบาลไทยทันที อย่างไรก็ตาม สธ.ได้เตรียมพร้อมทีมแพทย์ที่จะส่งเข้าไปให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยในประเทศจีนแล้ว ประกอบด้วย แพทย์จากโรงพยาบาลศิริราช 20 คน โรงพยาบาลพระนั่งเกล้าจ.นนทบุรี และจ.สระบุรี โรงพยาบาลพระจอมเกล้า จ.เพชรบุรี และโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศก์ จ.ปราจีนบุรี 20 คน รวม 40 คน และทีมควบคุมโรค 5 คน หากรัฐบาลจีนขอความช่วยเหลือสามารถส่งทีมแพทย์ไปได้ทันที

นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เย็นวานนี้ (21 พ.ค.) พญ.ศิริพร กัญชนะ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.ศุภชัย คุณารัตนพฤกษ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และนพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ได้เดินทางไปเยี่ยมหน่วยแพทย์พระราชทานฯ พร้อมประสานกับทางการพม่าเรื่องความช่วยเหลือเพิ่มเติม รวมทั้งจะได้นำยารักษาโรคสำหรับเด็กไปเพิ่มเติมให้หน่วยแพทย์ไทยอีกด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น