xs
xsm
sm
md
lg

ธรณีพิโรธสะท้อนปัญหา ช่องว่างรวยจนที่แก้ไม่ตก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพถ่ายทางอากาศเมืองอิ้งซิ่วที่มีประชากรราว 10,000 คนในเวิ่นชวนซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว มีผู้เสียชีวิตเกือบหมดทั้งเมือง นับจำนวนได้อย่างน้อย 7,700 คน เหลือประชากรกว่า 2,300 คน บ้านเรือนถูกธรณีโรธพังราบเป็นหน้ากลอง-เอเอฟพี
เอเชียน วอลล์สตรีท / ผู้จัดการออนไลน์ – เปิดปมสาเหตุผู้เสียชีวิตมหาศาล คนจนบ้านนอกเหยื่อรายสำคัญ เหตุมาตรฐานคุณภาพชีวิตยังต่ำกว่าคนเมือง โดยเฉพาะเมืองเกิดใหม่ยังไร้มาตรฐานไม่เท่าเทียมกับเมืองใหญ่หรูหรา ความปลอดภัยของอาคารต่ำกว่ามาก

ขณะที่ตำรวจ, ทหาร และเจ้าหน้าที่กู้ภัยต่างเร่งขุดค้น ช่วยเหลือผู้ประสบภัยออกจากซากตึก และอาคารที่ถล่มลงมา ข้อมูลจากทางการและสื่อยิ่งเผยให้เห็นข้อเท็จจริงที่ชัดเจนยิ่งขึ้นว่า ตัวเลขผู้ประสบภัยจำนวนมากมักอยู่ในชนบท เมืองเล็กๆ และเมืองใหม่ที่เพิ่งแปลงสภาพจากไร่นาสู่เมืองตามคลื่นนคราภิวัตน์ได้ไม่นา

ผู้เชี่ยวชาญด้านการก่อสร้างระบุว่า มาตรฐานความปลอดภัยของอาคารภายในบริเวณดังกล่าวหย่อนยานกว่าเมืองใหญ่ที่มีฐานะร่ำรวย ฉะนั้นเมื่อเกิดภัยพิบัติขึ้นคนในพื้นที่ชนบท และเมืองใหม่ที่เพิ่งยกฐานะตัวเองจึงมีแนวโน้มเผชิญกับความสูญเสียมากกว่า

ขณะที่เจ้าหน้าที่ได้พยายามเข้าช่วยเหลือ บรรเทาทุกข์ครั้งนี้อย่างสุดความสามารถ ปรากฏว่ายิ่งสำรวจ ช่วยเหลือมากเท่าไร ยอดความเสียหายยิ่งปรากฏชัดมากขึ้น ล่าสุดมีรายงานว่ายอดผู้เสียชีวิตจากแผ่นดินไหวรุนแรงขนาด 7.9 ริกเตอร์ที่อุบัติขึ้นเมื่อจันทร์ (12 พ.ค.) ขณะนี้มีจำนวนเกิน 20,000 รายแล้ว

เช้าวันพุธ เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นรายหนึ่งได้บรรยายถึงสภาพความเสียหายใน อำเภอเป่ยชวน ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายมากสุดในมณฑลซื่อชวน (เสฉวน) เป่ยชวนซึ่งเป็นอำเภอที่มีประชากรกว่า 20,000 คน ถูกตัดขาดจากโลกภายนอก ความเสียหายเหนือบรรยาย ทั้งดินและหินที่ถล่มลงมาจากภูเขาที่ตั้งอยู่โดยรอบยังเป็นอีกอุปสรรคสำคัญ ที่ทำให้การกู้ภัยเป็นไปอย่างยากลำบาก แม้แต่หาที่นำเครื่องเฮลิคอปเตอร์ลงจอด เพื่อทำการช่วยเหลือยังทำไม่ได้ นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า ประชากรกว่าครึ่งอยู่ในสถานะสูญหาย

เจ้าหน้าที่เก็บกู้ศพเป็นจำนวนกว่า 2,000 ศพแล้ว แต่พวกเขายังคงพยายามควานหาผู้รอดชีวิต “ผมเห็นเจ้าหน้าที่กู้ภัยดึงชายคนหนึ่งออกจาซากปรักหักพัง ตามแขนขาของเขาเต็มไปด้วยบาดแผล ไม่นานหลังจากได้รับความช่วยเหลือ ชายคนดังกล่าวก็เริ่มร้องไห้” เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นกล่าวพร้อมระบุว่า ขณะนี้ทางการได้ทำการเปิดถนนเพื่อเข้าสู่เป่ยชวนแล้ว แต่ยังเหลือระยะทางอีก 6 ไมล์ ซึ่งตอนนี้เจ้าหน้าที่ต้องเดินเท้า อาศัยปีนป่ายตามทางไปก่อน

ส่วนบริเวณชานเมืองสือฟาง เมืองเล็กซึ่งอยู่ห่างจากศูนย์กลางแผ่นดินไปทางตะวันออก ฟาง ไห่อิง เกษตรกรวัย 40 ปีกล่าวว่า สมาชิกหมู่บ้านของเธอกว่า 10 รายยังคงถูกฝังอยู่ใต้เศษซากบ้านของพวกเขา ส่วนครอบครัวของเธอตอนนี้ทุกคนต่างสวมหน้ากากปิดปากปิดจมูก เพื่อป้องกันตัวเองจากสารเคมี ซึ่งรั่วไหลจากโรงงานผลิตแอมโมเนียซึ่งอยู่ห่างออกไปเพียงไม่กี่ไมล์ “เราได้แต่รอ และรอ แต่ก็ยังไม่เห็นเจ้าหน้าที่รัฐโผล่มาเลย พวกเรากำลังจะอดตายเพราะไม่มีอะไรกิน” ฟางกล่าว

บ้านเกือบทุกหลังในหมู่บ้านอิ๋นหัว ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของเมืองสือฟางถูกทำลายเรียบ หินก้อนมหึมาถูกแรงสะเทือนจากแผ่นดินไหว ล้มกลิ้งระเนระนาดเกลื่อนถนน บางก้อนมีขนาดใหญ่เท่ารถตู้ หินเหล่านี้กองระเกะระกะเต็มถนน พร้อมด้วยซากรถยนต์ที่ถูกหินบดทับจอดเสียหายเต็มไปหมด

ผู้รอดชีวิตต่างพยายามมุ่งหน้าเดินสู่ท้องถนนสายหลักในอิ๋นหัว บางคนก็เดินทางมาจากหมู่บ้านที่ตั้งอยู่บนเขา พวกเขาพยายามหายานพาหนะที่จะนำพวกเขาสู่โลกภายนอก เด็กชายวัย 15 ปี 2 รายกล่าวว่า พวกเขาใช้เวลากว่า 3 ชั่วโมงเดินทางจากหมู่บ้านในหุบเขาเพื่อมายังอิ๋นหัว เด็กน้อยยังเล่าต่อว่า โรงเรียนของพวกเขาถล่มลงมาภายในไม่กี่วินาที เหมือนกับที่เกิดขึ้นกับอาคารอื่นๆ เพื่อนนักเรียนกว่า 100 คนตาย

อย่างไรก็ตามที่เฉิงตู เมืองเอกของมณฑลซื่อชวนหรือเสฉวน ซึ่งอยู่ห่างออกไปเพียง 55 ไมล์ อาคารหลายหลังกลับตั้งตระหง่านอย่างไม่น่าเชื่อ ทั้งตึกสำนักงานและโรงแรมสุดทันสมัยแทบไม่ได้รับผลกระทบ เมื่อเทียบกับเป่ยชวนซึ่งอยู่ห่างจากศูนย์กล่างแผ่นดินไหวราว 100 ไมล์ และได้รับความเสียหายอย่างหนัก สิ่งที่เกิดขึ้นกับเฉิงตูจึงเป็นภาพที่ไม่น่าเชื่อ

ความแตกต่างระหว่างหายนะที่เกิดขึ้นกับเฉิงตู กับเมืองบ้านนอกอื่นๆ สะท้อนปัญหาสุดคลาสสิกของจีน ที่แก้ไม่ตกสักที นั่นคือช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน

ที่ผ่านมาทั้งประธานานธิบดี หู จิ่นเทา และนายกรัฐมนตรี เวิน เจียเป่า ต่างให้ความสำคัญกับปัญหานี้อย่างมาก รัฐบาลได้ออกมาตรการช่วยเหลือคนจนมากมายแต่ก็ยังไม่เพียงพอ สถิติ ณ ปีที่แล้วระบุว่า รายได้ของชาวชนบทโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 4,140 หยวน ซึ่งเท่ากับเพิ่มขึ้นถึง 91% เมื่อเทียบกับทศวรรษก่อนหน้า (คำนวณโดยไม่ปรับตามอัตราเงินเฟ้อ) ขณะที่รายได้ของคนเมืองเพิ่มขึ้นถึง 150% อยู่ที่ 13,786 หยวน นับเป็นช่องว่างที่ต่างกันเหลือเกิน

ช่องว่างนี้ทำให้รัฐบาลให้ความสนใจกับการดูแลชาวชนบทเป็นพิเศษ เนื่องด้วยพวกเขาเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ ราว 60% ของประชากรจีน 1,3000 ล้านคนอาศัยอยู่ในชนบท ฉะนั้นหากพวกเขารู้สึกว่าไม่ได้รับการใส่ใจเก้าอี้ของพรรคย่อมสั่นคลอน

หลังเกิดเหตุธรณีพิโรธได้ไม่นาน นายกรัฐมนตรี เวิน เจียเป่า จึงรีบรุดไปยังซื่อชวน ใช้เวลาวันอังคารทั้งวันสำรวจพื้นที่ พร้อมทั้งให้คำมั่นว่ารัฐบาลจะช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ทางปักกิ่งได้ระดมเจ้าหน้าที่และทรัพยากรรัฐเข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเข้มข้น โดยทางการได้ระดมกำลังตำรวจติดอาวุธ เป็นหัวหอกบุกทะลวงเข้าช่วยเหลือเหยื่อแผ่นดินไหว กองกำลังต้องปีนเทือกเขาในเวิ่นชวน ซึ่งเป็นพื้นที่ศูนย์กลางแผ่นดินไหวท่ามกลางอากาศย่ำแย่ และทางที่เสียหายหนัก

“กฎมายก่อสร้างของจีนระบุว่า อาคารที่ก่อสร้างใหม่ต้องสามารถรับแรงสะเทือนจากแผ่นดินไหวได้” หวง ซือหมิน วิศวกรผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหว แห่งบัณฑิตยสภาด้านการวิจัยสิ่งก่อสร้าง ซึ่งตั้งอยู่ในมหานครปักกิ่งกล่าว อย่างไรก็ตามมาตรฐานการรับแรงสะเทือนต่างออกไปตามแต่ละภูมิภาค จากระดับสูงสุดที่ระดับ 10 อาคารในซื่อชวนและเซี่ยงไฮ้ถูกกำหนดว่าต้องมีมาตรฐานอยู่ในระดับ 7 ส่วนที่ปักกิ่งมาตรฐานอยู่ที่ระดับ 8 เนื่องจากปักกิ่งอยู่ไม่ไกลจากถังซาน ซึ่งเคยเกิดแผ่นดินไหวครั้งร้ายแรงในปี 1976 มีผู้เสียชีวิตในครั้งนั้น กว่า 240,000 คน

หวงระบุว่า “หากก่อสร้างตามกฎหมาย และไม่มีปัญหาเรื่องการออกแบบหรือก่อสร้างมาเกี่ยว อาคารในจีนจะมีศักยภาพทนแรงสะเทือนในระดับสูง ทว่าเรื่องแผ่นดินไหวก็มีปัจจัยหลายอย่างเข้ามาเกี่ยวข้อง ฉะนั้นเรื่องนี้ยังคงเป็นประเด็นที่ซับซ้อนไม่สามารถระบุได้แน่ชัด”

ผลกระทบจากแผ่นดินไหวอาจแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ ขึ้นอยู่กับแรงสั่นสะเทือนที่ส่งผ่านยังพื้นที่นั้น อย่างไรก็ตามวัสดุก่อสร้าง รวมทั้งทักษะความเชี่ยวชาญที่แตกต่างกันไปของช่างในเมืองใหญ่กับชนบท ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ก่อให้เกิดความเสียหาย นอกจากนี้วิศวกรรายหนึ่งยังเผยว่า ที่ซื่อชวนกฎหมายก่อสร้างมีช่องโหว่ เจ้าหน้าที่ไม่ได้เข้มงวดเหมือนกันทุกแห่ง
สภาพบ้านเรือนที่พังทลายยับเยินในเป่ยชวน เมืองที่ได้รับความเสียหายสาหัสสุดในเสฉวน ในเป่ยชวนมีผู้เสียชีวิต ถูกฝังใต้ซากปรักหักพัง และสูญหาย รวมมากกว่า 40,000 คน-เอเอฟพี
นคราภิวัตน์เร่งรีบกับความไร้มาตรฐาน
สาเหตุที่อาคารหลายแห่งไม่ได้มาตรฐาน เพราะกระบวนการนคราภิวัตน์ทำให้ท้องทุ่งเวิ้งว้างกลายเป็นเมืองใหม่มากขึ้นทุกปี กระทั่งมีผู้อพยพเข้าสู่เมืองเฉลี่ยเพิ่มขึ้นราว 15 ล้านคนต่อปี พวกเขากลายเป็นกลุ่มประชารที่ต้องการที่อยู่อาศัยราคาถูก และต้องก่อสร้างเสร็จเร็วพอที่จะรองรับความต้องการของเขาได้

ซื่อชวนก็ได้รับผลกระทบจากกระบวนการดังกล่าว การก่อสร้างอาคารผุดขึ้นราวดอกเห็ด กระทั่งสถิติ ณ ปี 2006 ระบุว่า ซื่อชวนเป็นมณฑลที่อยู่ในลำดับ 5 ของมณฑลที่มีพื้นที่ก่อสร้างมากที่สุด

เมืองใหม่ซึ่งสร้างขึ้นอย่างเร่งรีบรอบเมืองเผิงโจว ซึ่งอยู่ห่างจากศูนย์กลางแผ่นดินไหวไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ราว 40 ไมล์ ได้ลิ้มรสหายนะจากกระบวนการนคราภิวัตน์อย่างเร่งรีบ อาคารบ้านเรือนพังเป็นแถบ เพราะการก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐาน และการละเลยไม่ตรวจสอบของเจ้าหน้าที่

เหยื่อเคราะห์ร้ายรายหนึ่งเผยว่า บ้านซึ่งเธอใช้เป็นสำนักงานประกอบธุรกิจด้วยพังลงมากับตา แรงสะเทือนของแผ่นดินไหวทำให้เธอถูกโยนออกมานอกหน้าต่าง ส่วนญาติๆของเธอถูกผนังกำแพงหล่นทับ นอกจากบ้านที่เสียหายแล้วโรงเรียนและโรงพยาบาลบางแห่งยังพังพินาศ นักวิเคราะห์ชี้ว่า “งบประมาณรัฐที่อัดฉีดเพื่อการพัฒนาไล่ไม่ทันพื้นที่ที่พัฒนากลายเป็นเมืองไหม่ นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นมักเอาเงินไปใช้สร้างตึกที่ทำการหรูๆ แทนที่จะเอามาพัฒนาอาคารที่จำเป็น

อย่างไรก็ตาม หลี่ ปิงเหริน โฆษกกระทรวงโยธาธิการกล่าวว่า อาคารบางแห่งอาจอ่อนไหวต่อแรงสะเทือนต่างจากอาคารอื่นๆ พร้อมทั้งชี้ว่า อาคารในบริเวณที่เผชิญกับแผ่นดินไหวสร้างตามกฎหมาย แต่แผ่นดินไหวรุนแรงเกินกว่าที่อาคารจะรับได้ โดยเฉพาะโรงเรียนที่ถล่มนั้นมีขนาดใหญ่ ห้องเรียนก็กว้างใหญ่กว่าอาคารตามปกติ ฉะนั้นเมื่อถล่มลงมาย่อมมีผู้เคราะห์ร้ายมาก

ทั้งนี้โรงเรียนอย่างน้อย 9 แห่งในเขตแผ่นดินไหวพังพินาศ เด็กนักเรียนนับหมื่นต้องเผชิญกับชะตากรรมอันน่าสยดสยอง กระทั่งประเด็นนี้ถูกประชาชนนำไปใช้วิจารณ์โจมตีเจ้าหน้าที่

ที่โรงพยาบาลประชาชนเผิงโจว พยาบาลประมาณว่าทางโรงพยาบาลต้องดูแลผู้ได้รับบาดเจ็บกว่า 10,000 ราย ภาวะขาดแคลนไฟฟ้าใช้งานทำให้เจ้าหน้าที่ต้องย้ายผู้บาดเจ็บส่วนหนึ่งให้ไปพักอยู่ในเต็นท์บริเวณลานจอดรถและสนามของโรงพยาบาล

บ่ายวันอังคารโรงพยาบาลเริ่มขาดแคลนน้ำ ผู้ป่วยหลายคนเริ่มวิตกเนื่องจากพวกเขาอยู่ห่างไกลครอบครัว ครั้นจะติดต่อกันก็ทำไม่ได้ เพราะเครือข่ายสื่อสารล่ม บางคนได้รับคำแนะนำให้กลับบ้าน แต่ก็ไม่รู้จะกลับไปที่ไหนเพราะบ้านของเขาพังพินาศไปแล้ว

แพทย์บอกโจว เหยียน เกษตรกรวัย 26 ปีซึ่งรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลให้กลับบ้านได้ แต่เธอไม่มีบ้านให้กลับ โจวบอกว่า เธอไม่เคยคิดที่จะสร้างบ้านให้ทนแรงสะเทือนแผ่นดินไหว บ้านของเธอสร้างเมื่อ 10 ปีที่แล้ว โดยใช้อิฐเป็นวัสดุสำคัญ ถ้าจะสร้างใหม่คงต้องใช้เงินราว 100,000 หยวน ซึ่งเกินกำลังทรัพย์ของเธอ “ตอนนี้ฉันมืดแปดด้าน ฉันไม่รู้ว่าจะทำอะไรต่อ ไม่รู้ว่าจะเรียกร้องเอากับใคร” โจวกล่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น