xs
xsm
sm
md
lg

ยุบชาติไทย-มัชฌิมาสะดุด อัยการตีกลับอ้างสำนวนหลวมต้องสอบเพิ่ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (21 พ.ค.) มีรายงานจากแหล่งข่าวระดับสูงในสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวถึงการพิจารณาสำนวนคดียุบพรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย ว่า ที่ประชุมคณะทำงาน โดยนายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ รองอัยการสูงสุด ประธานคณะทำงาน พิจารณาแล้วเห็นว่า สำนวนของทั้ง 2 พรรคการเมือง ยังมีประเด็นต้องสอบเพิ่มเติมหลายข้อ ดังนั้นคณะทำงานอัยการจึงเตรียมทำหนังสือแจ้งกลับไปยัง นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธานคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง ทราบภายในวันที่ 22 พ.ค.นี้ เพื่อดำเนินการตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2550 มาตรา 95 ที่ว่า เมื่ออัยการสูงสุดได้รับแจ้งจาก กกต.พร้อมหลักฐานแล้ว ก็ต้องพิจารณาเรื่องดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้ง ถ้าอัยการสูงสุดเห็นสมควร ก็ให้ยื่นคำร้องเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองดังกล่าว แต่ถ้าอัยการสูงสุดไม่ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้นายทะเบียนพรรคการเมือง ตั้งคณะทำงานขึ้นคณะหนึ่ง โดยมีผู้แทนจากนายทะเบียน และผู้แทนจากสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐาน แล้วส่งให้อัยการสูงสุดเพื่อยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญต่อไป ซึ่งตัวแทนจากอัยการจะเป็นใครบ้าง เป็นอำนาจของ นายอภิชาต นายทะเบียนพรรคที่จะแต่งตั้ง แต่อย่างไรก็ดีเชื่อว่านายจุลสิงห์ รองอัยการสูงสุด ประธานคณะทำงานอัยการ น่าจะได้รับแต่งตั้งเป็นคณะทำงานร่วม เพราะเป็นผู้พิจารณาสำนวนมาตั้งแต่ต้น
แหล่งข่าวคนเดียวกัน กล่าวด้วยว่า การแต่งตั้งคณะทำงานดังกล่าว ตามกฎหมายไม่ได้กำหนดว่า ต้องแต่งตั้งขึ้นเมื่อใด เพียงแต่กฎหมายระบุว่า เมื่อแต่งตั้งคณะทำงานร่วมกันแล้ว ให้สรุปเรื่องภายใน 30 วัน และถ้ากรณีที่คณะทำงานดังกล่าวไม่อาจหาข้อยุติเกี่ยวกับการดำเนินการยื่นคำร้องได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่แต่งตั้งคณะทำงาน ให้นายทะเบียนพรรคการเมืองโดยความเห็นชอบของ กกต. มีอำนาจในการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเอง
อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวระดับสูงในสำนักงานอัยการสูงสุด ปฏิเสธที่จะกล่าวถึงรายละเอียดในประเด็นที่จะต้องสอบเพิ่มเติม โดยระบุเพียงว่า จะต้องตรวจพิจารณาเกี่ยวกับคำวินิจฉัย กรรมการเลือกตั้ง จ.ชัยนาท และจ.ปราจีนบุรี อีกครั้ง เพราะการวินิจฉัยของ กกต. จังหวัด ไม่ได้แจกใบแดง แต่ในชั้นของ กกต.กลาง กลับมีมติแจกใบแดง จึงเป็นข้อแตกต่างที่ต้องพิจารณาด้วย ซึ่งในสำนวน กกต. ที่ส่งมาให้อัยการนั้น ไม่มีคำวินิจฉัยของ กกต. จังหวัดดังกล่าว รวมทั้งการรวบรวมสำนวนคดีที่พรรคชาติไทย ระบุว่ามีการฟ้องกลับคดีหลังจากที่ผู้สมัครถูกวินิจฉัย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อสัปดาห์ก่อนหน้านี้ นายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย ได้เข้าพบอัยการสูงสุดเพื่อชี้แจงในเรื่องนี้ และก่อนหน้านั้น ก็ได้ส่งนายนิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรค เข้าพบอัยการสูงสุดเช่นกัน ท่ามกลางกระแสข่าวว่ามีความพยายามวิ่งเต้น ในเรื่องนี้
ด้านนายสุเมธ อุปนิสากร กกต.ด้านกิจการการมีส่วนร่วม กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า หากอัยการตีกลับจริง ก็ต้องตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่าง กกต. กับอัยการฯ ตามมาตรา 95 ของ พ.ร.บ.พรรคการเมือง ส่วนสาเหตุที่อัยการส่งกลับนั้นยังไม่ทราบ เพราะ ต้องรอดูเหตุผลจากเอกสารก่อนว่าเป็นอย่างไร
สำหรับคณะกรรมการร่วม 2 ฝ่ายที่จะตั้งขึ้นมานั้นส่วนของ กกต. จะคงจะใช้ระดับเจ้าหน้าที่ ทั้งนี้หากคณะกรรมการร่วมเห็นว่า ควรจะสอบเพิ่มบางประเด็น ก็สามารถทำได้ แล้วแต่คณะกรรมการจากทั้ง 2 ฝ่ายจะตกลงกัน
เมื่อถามว่า การตีกลับของอัยการ ถือว่าเกินกว่าที่กกต.คาดไว้หรือไม่ นายสุเมธ กล่าวว่าไม่เกินกว่าที่คาด เพราะเป็นความเห็นทางกฎหมาย การที่ กกต.ลงมติ ก็เป็นไปตามกฎหมายในระดับ มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า แต่ในชั้นศาลอาจจะต้องใช้มาตรฐานในอีกระดับหนึ่ง ซึ่งในกรณีของการเลือกตั้งท้องถิ่น ก็มีหลายสำนวนที่ศาลไม่เห็นตาม กกต.และสั่งยกคำร้อง
นางสดศรี สัตยธรรม กกต. ด้านกิจการพรรคการเมืองกล่าวว่า อัยการฯต้องทำหนังสือแจ้ง พร้อมส่งสำนวนกลับมายัง กกต. เพื่อให้ตั้ง กรรมการร่วมของทั้ง 2 ฝ่าย หากกรรมการร่วมฯเห็นว่าไม่ควรส่ง ประธาน กกต.ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองก็สามารถยืนเสนอต่อศาล เพื่อให้ขอยุบทั้ง 2 พรรคได้ด้วยตัวเอง
ทั้งนี้ กรรมการร่วมอาจจะมาจากคนในองค์กรของทั้ง 2 ฝ่ายหรือเป็นคนนอก็ได้ เพราะกฎหมายไม่ได้กำหนดเอาไว้
เมื่อถามว่าส่วนตัวจะยืนยันว่า ต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญเพื่อยุบพรรคหรือไม่ นางสดศรี กล่าวว่า ต้องดูเหตุผลจากอัยการฯให้รอบคอบเสียก่อน เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องแรกที่ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญปี 50
ขณะที่นายสมชัย จึงประเสริฐ กกต. ด้านกิจการสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัยกล่าวว่า กกต. คงจะมาหารือว่าเรามีหลักฐานเพียงพอหรือไม่ เพราะการจะส่งยุบพรรค เราไม่สามารถจะใช้ เพียงหลักฐานอันควรเชื่อได้ แต่ต้องใช้หลักฐานที่แน่ชัด เพราะกระทบถึงคนทั้งพรรค ไม่ใช่แค่ผู้สมัครคนใดคนหนึ่งเหมือนกรณีใบแดงใบเหลือง
กำลังโหลดความคิดเห็น