ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ – อบจ.เชียงใหม่เตรียมเดินเครื่องโรงงานกำจัดมูลฝอยมูลค่ากว่า 400 ล้านบาท หลังสร้างเสร็จ รับผิดชอบจัดการขยะที่จัดเก็บมาจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 31 แห่งในพื้นที่ 4 อำเภอ วันละประมาณ 150 ตัน เน้นคัดแยกขยะรีไซเคิลและทำปุ๋ยอินทรีย์ ส่วนที่เหลืออัดเป็นแท่งนำไปฝังกลบ โดยอยู่ระหว่าง จ้างนักวิจัยศึกษาความเป็นไปได้ เพื่อแปรรูปเป็นวัสดุปูพื้นทางเดินและเชื้อเพลิงแท่ง
นายคณพล ปิ่นแก้ว ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่(อบจ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้โรงงานผลิตปุ๋ยหมักจากของเหลือใช้ ตามโครงการก่อสร้างระบบกำจัดขยะมูลฝอย ของอบจ.เชียงใหม่ ที่ก่อสร้างด้วยงบประมาณ 465 ล้านบาท บนพื้นที่ 113 ไร่ ที่บ้านป่าตึงน้อย ตำบลป่าป้อง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ได้ก่อสร้างและติดตั้งเครื่องจักรเสร็จสมบูรณ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว พร้อมที่จะรองรับการกำจัดขยะจาก 31 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ 4 อำเภอที่รับผิดชอบ ได้แก่ อำเภอดอยสะเก็ด อำเภอสันทราย อำเภอสันกำแพง และอำเภอแม่ออน ที่มีปริมาณขยะรวมกันวันละประมาณ 150 ตัน ขณะที่โรงงานแห่งนี้มีศักยภาพที่จะรองรับการกำจัดขยะได้ถึงวันละ 350 ตัน
ทั้งนี้ ปัจจุบันโรงงานอยู่ระหว่างทดลองจัดการขยะ ส่วนการเปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการคาดว่าจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนในช่วงต้นเดือนมิถุนายนนี้ หลังการรับรองผลการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ว่า จะว่าจ้างให้เอกชนหรือ อบจ.ดำเนินการ โดยที่ในสัปดาห์หน้าจะมีการประชุมหารือร่วมกับเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญของกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันกำหนดเงื่อนไข แนวทาง และการดูแลรักษาโรงงานแห่งนี้ ซึ่งมั่นใจว่าเมื่อโรงงานแห่งนี้เปิดรับกำจัดขยะเต็มรูปแบบแล้ว จะช่วยแก้ปัญหาในการกำจัดขยะของจังหวัดเชียงใหม่ได้เป็นอย่างดี
“ตอนนี้กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาว่า อบจ.จะเป็นผู้บริหารโรงงานแห่งนี้เอง หรือว่าจะให้เอกชนเป็นผู้บริหาร ซึ่งตามแนวโน้มยอมรับว่ามีความเป็นไปได้ ที่จะให้เอกชนที่เป็นผู้ก่อสร้างโรงงานแห่งนี้เป็นผู้บริหาร เพราะทราบรายละเอียดต่างๆ ภายในโรงงานเป็นอย่างดี โดยเบื้องต้นอาจจะทำสัญญาในการเข้าบริหาร 3-5 ปี และมีการตกลงผลประโยชน์ตอบแทนระหว่างกัน แต่ทั้งหมดนี้จะต้องมีการพิจารณาตัดสินใจขั้นสุดท้ายอีกครั้งหนึ่ง หลังการกำหนดเงื่อนไขร่วมกับกรมควบคุมมลพิษและมีการรับรองผลการเลือกตั้งนายก อบจ.เชียงใหม่” นายคณพล กล่าว
สำหรับระบบการจัดการขยะในโรงงานแห่งนี้ จะทำการคัดแยกขยะแบ่งเป็นขยะแห้งและขยะเปียก โดยจะถูกคัดแยกเป็นขยะรีไซเคิลที่มีมูลค่าสามารถนำไปขายต่อได้ประมาณ 25% ส่วนที่สามารถนำไปทำเป็นปุ๋ยประมาณ 43% และมีส่วนที่เป็นน้ำประมาณ 16% คงเหลือขยะที่จะนำไปอัดเป็นแท่งและฝังกลบประมาณ 15-20%
ในส่วนขยะที่อัดเป็นแท่ง ขณะนี้ อบจ.เชียงใหม่ ได้ว่าจ้างนักวิจัยของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้ศึกษาความเป็นไปได้และวิธีการที่แปรรูปเป็นวัสดุปูพื้นทางเดินและเชื้อเพลิงแท่งสำหรับผลิตไฟฟ้า ซึ่งหากประสบความสำเร็จก็จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้แก่ขยะเหล่านี้และลดปริมาณขยะที่ต้องฝังกลบด้วย
ขณะที่ความกังวลในเรื่องของการก่อมลพิษจากโรงงาน นายคณพล ยืนยันว่าไม่มีปัญหาอย่างแน่นอน เพราะโรงงานแห่งนี้ได้มีการวางระบบป้องกันไว้เป็นอย่างดี ทั้งการป้องกันกลิ่นเหม็นด้วยการติดตั้งระบบดูดอากาศและเติมโอโซน มีระบบบำบัดน้ำเสีย และมีการปูพลาสติกรองพื้นหลุมฝังกลบอย่างดี นอกจากนี้ยังมีระบบตรวจสอบว่า มีของเสียจากภายในโรงงานเล็ดลอดออกไปสู่ภายนอกหรือไม่ด้วย ดังนั้นจึงมั่นใจได้ในเรื่องนี้
อนึ่ง โครงการก่อสร้าง โรงงานผลิตปุ๋ยหมัก จากของเหลือใช้ ตามโครงการก่อสร้างระบบกำจัดขยะมูลฝอย ของอบจ.เชียงใหม่ แห่งนี้ เป็นไปตามบันทึกข้อตกลงร่วมกันระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับจังหวัดเชียงใหม่และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อปี 2543
ทั้งนี้ ได้แบ่งโซนพื้นที่ดำเนินการศูนย์กำจัดขยะแบบครบวงจรเป็น 3 โซน ได้แก่ โซนเหนือให้เทศบาลตำบลเวียงฝาง รับผิดชอบ โซนกลาง อบจ.เชียงใหม่ รับผิดชอบ และโซนใต้ เทศบาลนครนครเชียงใหม่ รับผิดชอบ ปัจจุบันการดำเนินการเสร็จไปแล้ว 2 โซน เหลือเพียงโซนใต้ของเทศบาลนครนครเชียงใหม่ที่ยังไม่ได้ดำเนินการ
นายคณพล ปิ่นแก้ว ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่(อบจ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้โรงงานผลิตปุ๋ยหมักจากของเหลือใช้ ตามโครงการก่อสร้างระบบกำจัดขยะมูลฝอย ของอบจ.เชียงใหม่ ที่ก่อสร้างด้วยงบประมาณ 465 ล้านบาท บนพื้นที่ 113 ไร่ ที่บ้านป่าตึงน้อย ตำบลป่าป้อง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ได้ก่อสร้างและติดตั้งเครื่องจักรเสร็จสมบูรณ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว พร้อมที่จะรองรับการกำจัดขยะจาก 31 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ 4 อำเภอที่รับผิดชอบ ได้แก่ อำเภอดอยสะเก็ด อำเภอสันทราย อำเภอสันกำแพง และอำเภอแม่ออน ที่มีปริมาณขยะรวมกันวันละประมาณ 150 ตัน ขณะที่โรงงานแห่งนี้มีศักยภาพที่จะรองรับการกำจัดขยะได้ถึงวันละ 350 ตัน
ทั้งนี้ ปัจจุบันโรงงานอยู่ระหว่างทดลองจัดการขยะ ส่วนการเปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการคาดว่าจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนในช่วงต้นเดือนมิถุนายนนี้ หลังการรับรองผลการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ว่า จะว่าจ้างให้เอกชนหรือ อบจ.ดำเนินการ โดยที่ในสัปดาห์หน้าจะมีการประชุมหารือร่วมกับเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญของกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันกำหนดเงื่อนไข แนวทาง และการดูแลรักษาโรงงานแห่งนี้ ซึ่งมั่นใจว่าเมื่อโรงงานแห่งนี้เปิดรับกำจัดขยะเต็มรูปแบบแล้ว จะช่วยแก้ปัญหาในการกำจัดขยะของจังหวัดเชียงใหม่ได้เป็นอย่างดี
“ตอนนี้กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาว่า อบจ.จะเป็นผู้บริหารโรงงานแห่งนี้เอง หรือว่าจะให้เอกชนเป็นผู้บริหาร ซึ่งตามแนวโน้มยอมรับว่ามีความเป็นไปได้ ที่จะให้เอกชนที่เป็นผู้ก่อสร้างโรงงานแห่งนี้เป็นผู้บริหาร เพราะทราบรายละเอียดต่างๆ ภายในโรงงานเป็นอย่างดี โดยเบื้องต้นอาจจะทำสัญญาในการเข้าบริหาร 3-5 ปี และมีการตกลงผลประโยชน์ตอบแทนระหว่างกัน แต่ทั้งหมดนี้จะต้องมีการพิจารณาตัดสินใจขั้นสุดท้ายอีกครั้งหนึ่ง หลังการกำหนดเงื่อนไขร่วมกับกรมควบคุมมลพิษและมีการรับรองผลการเลือกตั้งนายก อบจ.เชียงใหม่” นายคณพล กล่าว
สำหรับระบบการจัดการขยะในโรงงานแห่งนี้ จะทำการคัดแยกขยะแบ่งเป็นขยะแห้งและขยะเปียก โดยจะถูกคัดแยกเป็นขยะรีไซเคิลที่มีมูลค่าสามารถนำไปขายต่อได้ประมาณ 25% ส่วนที่สามารถนำไปทำเป็นปุ๋ยประมาณ 43% และมีส่วนที่เป็นน้ำประมาณ 16% คงเหลือขยะที่จะนำไปอัดเป็นแท่งและฝังกลบประมาณ 15-20%
ในส่วนขยะที่อัดเป็นแท่ง ขณะนี้ อบจ.เชียงใหม่ ได้ว่าจ้างนักวิจัยของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้ศึกษาความเป็นไปได้และวิธีการที่แปรรูปเป็นวัสดุปูพื้นทางเดินและเชื้อเพลิงแท่งสำหรับผลิตไฟฟ้า ซึ่งหากประสบความสำเร็จก็จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้แก่ขยะเหล่านี้และลดปริมาณขยะที่ต้องฝังกลบด้วย
ขณะที่ความกังวลในเรื่องของการก่อมลพิษจากโรงงาน นายคณพล ยืนยันว่าไม่มีปัญหาอย่างแน่นอน เพราะโรงงานแห่งนี้ได้มีการวางระบบป้องกันไว้เป็นอย่างดี ทั้งการป้องกันกลิ่นเหม็นด้วยการติดตั้งระบบดูดอากาศและเติมโอโซน มีระบบบำบัดน้ำเสีย และมีการปูพลาสติกรองพื้นหลุมฝังกลบอย่างดี นอกจากนี้ยังมีระบบตรวจสอบว่า มีของเสียจากภายในโรงงานเล็ดลอดออกไปสู่ภายนอกหรือไม่ด้วย ดังนั้นจึงมั่นใจได้ในเรื่องนี้
อนึ่ง โครงการก่อสร้าง โรงงานผลิตปุ๋ยหมัก จากของเหลือใช้ ตามโครงการก่อสร้างระบบกำจัดขยะมูลฝอย ของอบจ.เชียงใหม่ แห่งนี้ เป็นไปตามบันทึกข้อตกลงร่วมกันระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับจังหวัดเชียงใหม่และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อปี 2543
ทั้งนี้ ได้แบ่งโซนพื้นที่ดำเนินการศูนย์กำจัดขยะแบบครบวงจรเป็น 3 โซน ได้แก่ โซนเหนือให้เทศบาลตำบลเวียงฝาง รับผิดชอบ โซนกลาง อบจ.เชียงใหม่ รับผิดชอบ และโซนใต้ เทศบาลนครนครเชียงใหม่ รับผิดชอบ ปัจจุบันการดำเนินการเสร็จไปแล้ว 2 โซน เหลือเพียงโซนใต้ของเทศบาลนครนครเชียงใหม่ที่ยังไม่ได้ดำเนินการ