xs
xsm
sm
md
lg

จีนห่วงอาฟเตอร์ช็อกซ้ำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ฯพระราชทานของเยี่ยมให้กำลังใจหมอไทยและชาวพม่า ขณะที่หน่วยแพทย์พระราชทานฯ รักษาผู้ป่วยกว่า 500 ราย เผยการติดต่อสื่อสารลำบากสุดๆ ด้าน“ไชยา” เผย“สมัคร” สั่งส่งทีมแพทย์ไทยช่วยจีน พร้อมฟอร์มทีมแพทย์พยาบาล 40 คนทันที พร้อมเผย ครม.อนุมัติ 128 ล้านบาทสนับสนุนการทำงานของแพทย์ในพม่าแล้ว ด้านผู้เสียชีวิตในจีนเพิ่มกว่า 40,000 ราย ขณะเดียวกันเตือนอาฟเตอร์ช็อคแรง 6-7 ริกเตอร์

นายไชยา สะสมทรัพย์ รมว.สาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบอนุมัติงบประมาณ 128 ล้านบาท ให้สธ. เพื่อใช้สนับสนุนการทำงานของทีมแพทย์พระราชทานในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ที่ปฏิบัติงานในพม่า โดยให้ สธ.หารือกับสำนักงบประมาณอีกครั้งหนึ่ง

นอกจากนี้ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี สั่งการให้สธ.จัดส่งทีมแพทย์ไทยช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวในประเทศจีน โดยเบื้องต้นจะจัดส่งทีมแพทย์ จำนวน 40 คน แบ่งเป็น 5 ชุด ๆ ละ 8 คน ประกอบด้วยแพทย์ 3 คน พยาบาล 5 คน

พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ฯพระราชทานของเยี่ยม

พญ.ศิริพร กัญชนะ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สำหรับการจัดเตรียมทีมแพทย์เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวในประเทศจีน ถือว่ามีความพร้อมสามารถดำเนินการได้ทันที เพราะมีรายชื่อแพทย์ที่แสดงความประสงค์ที่จะให้ความช่วยเหลือประเทศผู้ประสบภัยพิบัติก่อนหน้านี้เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะโรงพยาบาลที่มีความพร้อมแต่ยังไม่ได้ลงปฏิบัติงานในประเทศพม่า เช่น โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลพระมงกุฎ โรงพยาบาลภูมิพล โรงพยาบาลนครปฐม ซึ่งจะให้ นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เป็นผู้ประสานงานผ่านสถานทูตจีนในประเทศไทย เพื่อเตรียมการขอวีซ่าอนุญาตเข้าประเทศ

พญ.ศิริพร กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ สธ.ได้รับแจ้งจากกระทรวงต่างประเทศซึ่งได้รับการประสานจากสำนักราชเลขาธิการว่า พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร จะพระราชทานของเยี่ยมให้กับทีมแพทย์ที่ปฏิบัติงานในพม่า และประชาชนชาวพม่า เพื่อเป็นขวัญกำลังใจด้วย

แพทย์ไทยรักษาวันแรกกว่า 500 ราย

นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เผยความคืบหน้าการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในประเทศพม่าว่า หน่วยแพทย์พระราชทานฯ 30 คน ได้ออกให้บริการตรวจรักษาพยาบาลชาวพม่าในวันที่ 19 พ.ค.เป็นวันแรก ที่ศูนย์พักพิงผู้ประสบภัย เมืองเมียงเมี้ย (Myaungmya) มีผู้ป่วยเข้ารับการบริการกว่า 500 ราย ส่วนใหญ่เป็นโรคทั่วไป และบาดแผลเล็กๆ น้อยๆ แพทย์ได้ให้ยาทำแผลและกลับที่พักได้ เฉพาะที่เมืองเมียงเมี้ย ขณะนี้ยังไม่พบโรคระบาดหรือโรคติดต่อร้ายแรงแต่อย่างใด

ส่วนวานนี้ (20) คณะแพทย์ได้แบ่งเป็น 2 ทีม ทีมหนึ่งเดินทางไปโรงพยาบาลเมียงเมี๊ย เพื่อวางแผนการทำงานร่วมกับทีมแพทย์ของประเทศพม่า และแพทย์อีกทีมหนึ่งเดินทางไปเมืองลาบุดทา (Labutta) เพื่อวางแผนให้บริการตรวจรักษาผู้ป่วยในศูนย์พักพิงผู้ประสบภัยและในโรงพยาบาลในเมืองลาบุดทาต่อไป ซึ่งยังคงปรึกษาหารือกันว่าจะเดินทางไป-กลับระหว่างเมืองเมียงเมี๊ยและลาบุดทาหรือไม่ ซึ่งการเดินทางไปเมืองลาบุดทาใช้เวลาเดินทาง 4-5 ชั่วโมง เพราะระยะทางค่อนข้างลำบาก บางแห่งไม่สามารถขนอุปกรณ์ทางการแพทย์ผ่านได้

นพ.สุรเชษฐ์ กล่าวต่อว่า ส่วนการติดต่อสื่อสารเป็นไปอย่างยากลำบาก เนื่องจากไม่สามารถติดต่อคณะแพทย์ได้ ต้องรอให้ทีมแพทย์เป็นผู้ติดต่อมาเท่านั้น อีกทั้งการใช้โทรศัพท์ดาวเทียมก็มีข้อจำกัดมาก ต้องอยู่ในที่โล่งแจ้ง ไม่มีเมฆบดบัง ต้องไม่อยู่ในที่ร่ม รถ เต็นท์ หรือใต้หลังคา และต้องหันหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ทำมุม 129 องศา พร้อมขยับหมุนซ้าย ขวา เพื่อหาคลื่นด้วย ทั้งนี้ การสื่อสารจะล่าช้าประมาณ 1 นาที จึงจะสามารถติดต่อได้ และสามารถโทรศัพท์ได้นานครั้งละ 10 วินาทีเท่านั้นก็จะถูกตัดสัญญาณ จะต้องโทรศัพท์ใหม่ อย่างไรก็ตาม แม้จะติดขัดแต่ทางทีมแพทย์ ก็พยายามโทรศัพท์รายงานความเคลื่อนไหวสม่ำเสมอ

"บันคีมุน"ดูความเสียหายในพม่า24พ.ค.

นายนพดล ปัทมะ รมว.ต่างประเทศ กล่าวถึงกรณีการประชุมเพื่อระดมให้การช่วยเหลือพม่า ระหว่างอาเซียนกับสหประชาชาติ (ยูเอ็น)ว่า นายบันคีมุน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ จะเดินทางมาประเทศไทย ในวันที่ 21 พ.ค.นี้และจะมีการหารือกันในช่วงค่ำ ถึงบทบาทของไทยที่จะเป็นตัวประสานให้ความร่วมมือในการเป็นสถานีรับสิ่งของเพื่อส่งไปช่วยพม่า โดยวันที่ 24 พ.ค.นายบันคีมุน จะเดินทางเข้าพบนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี จากนั้นนายบันคีมุน จะเดินทางต่อไปยังประเทศพม่า ซึ่ง การประชุมร่วมอาเซียนกับยูเอ็น จะมีขึ้นในวันที่ 25 พ.ค.ที่กรุงย่างกุ้ง

อย่างไรก็ตามการ ประชุมรัฐมนตรีอาเซียนเห็นควรว่า ให้ส่งนายสุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน เพื่อไปตรวจสอบความเสียหายที่เมืองย่างกุ้ง ประเทศไทยจะเป็นบทบาทนำในภูมิภาค เพราะการฟื้นฟูพม่าจะต้องใช้เวลาอีกหลายปี

จีนเตือนอาฟเตอร์ช็อคแรง6-7ริกเตอร์

สถานการณ์แผ่นดินไหวในจีน รัฐบาลสรุปตัวเลขผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในวันอังคาร(20) เพิ่มเป็น 40,075 คน ซึ่งไม่กี่ชั่วโมงก่อนหน้า โฆษกรัฐบาลจีนได้สรุปจำนวนผู้ตายและผู้สูญหาย เกือบ 66,000 คน

จีนกำลังเร่งระดมความช่วยเหลือ ขอเต็นท์เป็นการเร่งด่วน ขณะที่ทีมแพทย์พยาบาลจากต่างชาติมาถึงพื้นที่แผ่นดินไหว และเข้าไปช่วยเหลือผู้บาดเจ็บเกือบ 250,000 คน

บรรยากาศในเฉิงตู เมืองเอกของเสฉวน ประชาชนนับพันตื่นตระหนกหลังหน่วยงานรัฐบาลท้องถิ่นของเสฉวนอ้างสำนักแผ่นดินไหวประกาศบนเว็บไซต์ เตือนว่า อาจมีอาฟเตอร์ช็อค ขนาด 6-7 ริกเตอร์ ในวันที่ 19 -20 พ.ค. นอกจากนี้ ในกลางดึกราว 22.25 น.ของวันจันทร์ นครฉงชิ่งก็ออกประกาศเตือนอาฟเตอร์ช็อคขนาด 6-7 ริกเตอร์ในเวิ่นชวน ซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว

แม้ไม่มีการยืนยันข่าวจากสำนักแผ่นดินไหวแห่งชาติ แต่ก็มีการบอกให้ปฏิบัติตามคำเตือนของเสฉวน สถานีโทรทัศน์แห่งชาติยังได้รายงานคำเตือนดังกล่าวสำทับ ทำให้ประชาชนหลายพันคนต่างตื่นกลัว วิ่งออกมาตามท้องถนนในเฉิงตู บ้างแบกที่นอน หมอน ผ้าห่ม เสื้อผ้า และข้าวของรุงรังออกจากบ้าน วิ่งหาพื้นที่โล่งที่ปลอดภัยกว่า หลายคนเหยียบคันเร่ง บึ่งรถ ไปยังชานเมือง ที่โล่งตามสวนสาธารณะ สนามกีฬา ทำให้การจราจรยิ่งติดหนัก วุ่นวาย

เจ้าหน้าที่จากกระทรวงเกษตรของจีนได้เปิดเผยเมื่อวันอาทิตย์ (18) ว่า ในมณฑลเสฉวน ฉงชิ่ง ส่านซี กันซู่ หยุนหนันได้มีสัตว์ที่เสียชีวิตเพราะภัยพิบัติไปแล้วมากกว่า 13 ล้านชีวิต โดยจากมณฑลเสฉวนเพียงแห่งเดียวก็มีสัตว์ที่เสียชีวิตไปมากถึง 12.34 ล้านตัว และเริ่มส่งกลิ่นเหม็นทำให้อาจเกิดโรคระบาดได้

ในขณะที่หนังสือพิมพ์เหวินฮุ่ยของฮ่องกงได้รายงานว่า ทางองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้เตือนว่า ภัยพิบัติแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในมณฑลเสฉวนประเทศจีนนั้น จะต้องมีการเตรียมตัวด้านอนามัยให้ดี อีกทั้งจัดเตรียมอาหารและน้ำดื่มที่สะอาดให้กับผู้ประสบภัย เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรค เนื่องจากขณะนี้ในพื้นที่ประสบภัยยังขาดซึ่งน้ำดื่มที่ปลอดภัย และการกอบกู้ซากปรักหักพังยังอยู่ในขั้นตอนของการจัดการอยู่ ที่พักชั่วคราวก็ยังเป็นสิ่งแวดล้อมที่ค่อนข้างแออัด และปัจจัยเหล่านี้ง่ายแก่การทำให้เกิดโรคระบาดได้

จีนได้ส่งแพทย์เข้าไปกว่า 5,530 คน รถพยาบาลจำนวน 550 คัน รวมไปถึงเวชภัณฑ์ที่จำเป็นเข้าไปยังทุกอำเภอและหมู่บ้าน พร้อมยาฆ่าเชื้อในภาวะฉุกเฉินกว่า 1,000 ตันเพื่อลงไปทำการฆ่าเชื้อโรคในพื้นที่ภัยพิบัติ

ขณะที่ทีมแพทย์จากสถานพยาบาลนานาชาติได้เปิดเผยว่า สภาพในบริเวณภัยพิบัติ ร้ายแรงกว่าที่ปรากฏเป็นข่าวมาก จากการที่ทีมแพทย์ได้ลงไปยังตำบลซิ่วสุ่ย ฝูสุ่ยในเสฉวน พบว่าที่นั่นยังขาดน้ำ และไฟฟ้า ส่วนเสื้อผ้า ถุงมือและเครื่องมือการแพทย์บางอย่างที่ใช้รักษาโรค หลังจากที่ใช้เสร็จจะต้องห่อแล้วนำไปทิ้งจนเริ่มกองเป็นภูเขา ดังนั้นก่อนที่น้ำกับไฟจะใช้ได้ตามปกติ สภาพสุขอนามัยในท้องที่คงยากที่จะปลอดภัย
กำลังโหลดความคิดเห็น