xs
xsm
sm
md
lg

สมัครจะตายน้ำตื้นเพราะเรื่องกิน ?

เผยแพร่:   โดย: ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง

เป็นที่ประจักษ์ชัดว่า นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ได้ไปรับทำงานในหน้าที่ “พิธีกร” หรือ “ผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์” ในรายการ “ชิมไปบ่นไป” ออกอากาศทางช่อง 5 และรายการ “ยกโขยง 6 โมงเช้า” ออกอากาศทางช่อง 3 โดยทั้ง 2 รายการนี้ เป็นการประกอบธุรกิจของบริษัทเฟซ มีเดีย จำกัด

หากนายสมัคร สุนทรเวช ที่เป็นคนธรรมดา เป็นคนวัยเกษียณ ไม่มีตำแหน่งอำนาจหน้าที่เป็นรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรี จะใช้ความสามารถเฉพาะตัวเกี่ยวกับการหากิน จะไปรับจ้าง หรือเป็นลูกจ้าง หรือรับทำงาน หรือไปดำรงตำแหน่งใดให้กับบริษัทธุรกิจเอกชนรายใด ย่อมเป็นสิทธิส่วนตัวของนายสมัคร

แต่ปัจจุบัน นายสมัคร สุนทรเวช มีตำแหน่งอำนาจหน้าที่ในฐานะนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้บริหารสูงสุดของประเทศ จึงเป็นผู้มีอิทธิพลอำนาจต่อหน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐ และบริษัทธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอำนาจรัฐทั้งปวง

แม้เมื่อเข้ามารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว นายสมัครก็ยังคงไปรับทำงานในหน้าที่พิธีกรหรือผู้ดำเนินรายการประจำให้กับธุรกิจบริษัทเฟซมีเดียฯ อย่างต่อเนื่องเรื่อยมา

การกระทำของนายกรัฐมนตรีเยี่ยงนี้ อาจจะเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ และขัดต่อการดำรงตำแหน่งหน้าที่นายกรัฐมนตรีอย่างร้ายแรง ดังนี้


1. เมื่อนายกรัฐมนตรีรับตำแหน่งหน้าที่เป็นพิธีกรประจำให้รายการของบริษัทธุรกิจเอกชนรายใด รายการนั้นก็จะได้ชื่อว่า “เป็นรายการนายกฯ” ทุกฝ่ายก็ต้องเกรงใจ เช่น

ฝ่ายสถานีโทรทัศน์ ย่อมเกรงใจ กระทั่งมีอิทธิพลเหนือการตัดสินใจเกี่ยวกับผังรายการ เช่น ให้เวลาออกอากาศที่ดี และเมื่อจะต้องตัดสินใจเปลี่ยนแปลงผังรายการก็อาจจะไม่กล้าปรับลด ปลดเปลี่ยน ด้วยความที่เป็นรายการของนายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะสถานีที่เป็นของรัฐ

คนในแวดวงผู้ผลิตรายการโทรทัศน์จะทราบดีว่า การจะได้เวลาออกอากาศโทรทัศน์ “ฟรีทีวี” นั้น ไม่ใช่เรื่องที่ใครจะตั้งบริษัทผลิตรายการ ลงทุนผลิตรายการไว้เรียบร้อย แล้วค่อยไปหาเวลาออกอากาศง่ายๆ เหมือนแผงขายของทั่วไป แต่เป็นเรื่องที่ต้องเจรจาหาเวลาออกอากาศที่แน่นอนให้ได้เสียก่อน หรือต้องมั่นใจว่าได้เวลาแน่ๆ เสียก่อน แล้วจึงจะผลิตรายการให้เสร็จสมบูรณ์พร้อมออกอากาศ เสนอขายโฆษณาเพื่อหารายได้ผลกำไรมาแบ่งปันกัน

น่าสังเกตว่า รายการของนายสมัครได้ทำการผลิตเก็บไว้จำนวนมากตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2551 (เพิ่งเป็นนายกรัฐมนตรี) แต่ค่อยได้บรรจุเข้าผังรายการทางช่อง 5 ในเดือนเมษายน 2551 หลังเป็นนายกรัฐมนตรีมาแล้ว 2 เดือน

ฝ่ายธุรกิจ ย่อมเกรงใจ หรือต้องการจะเอาใจ โดยเสนอตัวเข้ามาเป็นสปอนเซอร์ให้รายการของนายกฯ เสมือนหนึ่งได้ผูกสัมพันธ์อันดีกับนายกฯ หรือถ้ารายการขอสปอนเซอร์ไปแล้ว หากไม่ให้ก็อาจจะกังวลใจว่าจะถูกเพ่งเล็งว่าเป็นฝ่ายตรงข้ามของนายกฯ หรือเปล่า

ฝ่ายโฆษณาสินค้า ย่อมถูกใจ เพราะซื้อเวลาโฆษณาในรายการแล้ว เสมือนหนึ่งได้นายกรัฐมนตรีของคนทั้งประเทศเป็นพรีเซนเตอร์ช่วยโฆษณาสินค้าให้แก่ตนเอง โดยเฉพาะเมื่อมีป้ายโลโก้สินค้า หรือมีผลิตภัณฑ์สินค้าไปโชว์ในรายการ ยิ่งเมื่อนายกรัฐมนตรีแสดงอาการชื่นชมสินค้านั้น เช่น ยกหัวแม่มือ หรือทำสีหน้าท่าทางชมเชย ก็เสมือนว่านายกรัฐมนตรีกำลังทำหน้าที่โฆษณาสินค้าของธุรกิจเอกชนบางรายไปในตัว

2. รัฐธรรมนูญ 2550 บัญญัติห้ามเกี่ยวกับการกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ โดยมาตรา 267 ห้ามนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี “จะดำรงตำแหน่งใดในห้างหุ้นส่วน บริษัท หรือองค์การที่ดำเนินธุรกิจโดยมุ่งหาผลกำไรหรือรายได้มาแบ่งปันกัน หรือเป็นลูกจ้างของบุคคลใดก็มิได้ด้วย”

จะเห็นว่า คำว่า “ตำแหน่งใด” ก็ดี หรือ “ลูกจ้าง” ก็ดี เป็นการห้ามโดยมุ่งหมายที่จะไม่ให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเข้าไปรับทำงานให้แก่บริษัทธุรกิจเอกชน ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งใดๆ จะเป็นงานประจำหรือเป็นลูกจ้าง จะได้รับเงินเดือนหรือค่าจ้างตอบแทนหรือไม่ก็ตาม เพราะการเข้าไปรับทำงานให้แก่เอกชนรายใดแล้วนั้น ก็เท่ากับว่า เข้าไปมีผลประโยชน์ร่วม เสมือนร่วมการงาน ร่วมสนับสนุน หรือช่วยเหลือเอกชนรายนั้นแสวงหาผลประโยชน์กำไรในทางธุรกิจส่วนตัว

3. บทบัญญัติห้ามเกี่ยวกับการกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ดังกล่าว ต้องห้ามนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี เพื่อป้องกันมิให้ผู้มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดิน เข้าไปดำรงตำแหน่ง หรือเป็นเจ้าของ หรือเป็นลูกจ้าง หรือรับหน้าที่การงานในตำแหน่งใดๆ ของบริษัทธุรกิจเอกชน อันจะทำให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีตกอยู่ในสถานะผู้มีการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัวกับผลประโยชน์ส่วนรวม หรือมีผลประโยชน์ทับซ้อน (conflict of interest)

กล่าวคือ มีหน้าที่ในตำแหน่งนายกฯ ที่ต้องดูแลรักษาผลประโยชน์ส่วนรวม แต่ก็ยังมีตำแหน่งหรือผลประโยชน์ส่วนตัวร่วมอยู่กับธุรกิจเอกชนบางราย ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลได้-ผลเสีย ส่วนได้-ส่วนเสีย ไม่ว่าจะเป็นของตนเองหรือพรรคพวก หรือไม่สามารถดูแลผลประโยชน์ส่วนรวมได้อย่างเป็นธรรมและเท่าเทียมกัน

4. กรณีนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี เข้าไปรับหน้าที่ทำงานในตำแหน่งเป็น “พิธีกร” หรือ “ผู้ดำเนินรายการ” ให้กับบริษัทเฟซมีเดียฯ มีประเด็นต้องพิจารณา คือ

ประการแรก ขณะที่นายกรัฐมนตรีเข้าไปรับทำงานในตำแหน่งพิธีกรให้บริษัทเอกชนรายดังกล่าวนั้น รัฐธรรมนูญ 2550 มีสภาพบังคับใช้แล้วอย่างแน่นอน

ประการที่สอง แม้จะมีตำแหน่งพิธีกรประจำรายการเดียวก็ไม่น่าจะชอบด้วยรัฐธรรมนูญแล้ว แต่พฤติการณ์ของนายสมัครยังเป็นพิธีกรรายการอาหารทุกรายการของบริษัทดังกล่าว พฤติการณ์จึงชัดเจนว่าได้เข้าไปรับตำแหน่งพิธีกรประจำรายการให้กับบริษัท และยังน่าสงสัยว่าเข้าลักษณะเป็นพิธีกรประจำบริษัทฯ ดังที่นายศักดิ์ชัย แก้ววรรณีสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เฟซ มีเดียฯ เคยให้สัมภาษณ์ในนิตยสารขวัญเรือน วันที่ 8 เมษายน 2551 ว่า ทุกรายการอาหาร มีนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี คนที่ 25 ของไทยคนปัจจุบัน เป็นพิธีกรให้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น ยกโขยง 6 โมงเช้า, อร่อยไม่ปรึกษา, เคล็ดลับครัวสมัคร และ ทอล์คกระจายน้ำลายหก

ในเวบไซต์ของรายการบริษัทดังกล่าว ยังระบุว่า ค่าโฆษณาของรายการ มีตั้งแต่ 120,000 บาทต่อนาที ไปจนถึง 180,000 บาทต่อนาที โดยมีการนำภาพนายกรัฐมนตรี นายสมัคร สุนทรเวช มาใช้ประโยชน์ เสมือนหนึ่งเป็นโลโก้ หรือพรีเซนเตอร์ของรายการบริษัททั้งหมด

การเข้าไปรับหน้าที่ทำงานในตำแหน่งเป็น “พิธีกร” หรือ “ผู้ดำเนินรายการ” ให้กับบริษัทธุรกิจเอกชน เฟซ มีเดียฯ ดังกล่าว ถือเป็นการดำรงตำแหน่งใดในห้างหุ้นส่วน บริษัท หรือองค์การที่ดำเนินธุรกิจโดยมุ่งหาผลกำไรหรือรายได้มาแบ่งปันกัน หรือเป็นลูกจ้างของบุคคลใด ใช่หรือไม่

หากนายกรัฐมนตรีมีพฤติการณ์กระทำการขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญดังกล่าว ความเป็นรัฐมนตรีย่อมสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามมาตรา 182 (7)

5. ข้ออ้างว่า เข้าไปเป็นพิธีกรกิตติมศักดิ์ ไม่ใช่ลูกจ้าง เพียงรับจ้างและได้รับค่าตอบแทนเป็นค่ารถ เป็นข้ออ้างที่ฟังไม่ขึ้น

เพราะบทบัญญัติรัฐธรรมนูญข้างต้น มุ่งเน้นที่ปัญหาการกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ไม่ใช่ประเด็นการแสวงหาผลประโยชน์มิชอบ หรือจำเพาะเจาะจงที่ชื่อเรียกขานของตำแหน่งที่เข้าไปทำงานให้แก่บริษัทเอกชน


พูดง่ายๆ ว่า จะเข้าไปดำรงตำแหน่งใดๆ เรียกชื่อใดๆ ก็ไม่สำคัญเท่ากับว่า ได้เข้าไปทำงานช่วยเหลือหรือมีตำแหน่งใดที่เป็นประโยชน์ให้แก่บริษัทนั้นๆ หรือไม่

และจะได้รับค่าจ้างเป็นตัวเงินหรือไม่ ก็ไม่สำคัญเท่ากับว่า ได้มีพฤติการณ์ช่วยเหลือกิจการงานของบริษัทนั้นๆ หรือมีตำแหน่งที่ทำให้บริษัทธุรกิจเอกชนดังกล่าวได้รับผลประโยชน์ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อม หรือไม่ ?

อย่างไรก็ตาม มีใครเชื่อบ้างว่า นายสมัครให้บริษัทดังกล่าวนำชื่อเสียง ภาพลักษณ์ และลงแรงเป็นพิธีกรให้รายการอาหารทั้งหมดของบริษัท ตลอดจนไปช่วยทำกิจกรรมพิเศษของบริษัทดังกล่าวอย่างออกนอกหน้า “มหกรรมอร่อยทั่วแผ่นดิน” ทั้งหมด ทำให้บริษัทดังกล่าวสามารถแสวงหาผลประโยชน์ทางธุรกิจจำนวนมาก นายสมัครจะไม่ได้รับผลประโยชน์เป็นค่าจ้าง หรือแทนค่าจ้างเลยหรือ ?

6. หากอ้างว่า ขณะนี้ ได้ยุติการออกอากาศรายการเหล่านั้นไว้แล้ว เพื่อจะไม่ต้องถูกเอาผิด หรือพ้นจากตำแหน่ง ได้หรือไม่ เห็นว่า การอ้างเช่นนี้ไม่อาจรับฟังได้ เพราะหากการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำผิด ก็เท่ากับว่า ความผิดได้สำเร็จแล้ว เพียงแต่ขณะนี้ ที่ยุติการกระทำไว้ชั่วคราวก็เมื่อเรื่องแดงขึ้นแล้วเท่านั้นเอง

ถ้าอ้างและทำเช่นนี้ได้ ต่อไป หากรัฐมนตรีคนใดถูกจับได้ว่าฮั้วประมูลหรือแจ้งบัญชีทรัพย์สินเท็จ ก็จะทำการยกเลิกการประมูลนั้นเสีย โดยไม่ถูกเอาผิด หรือแจ้งบัญชีทรัพย์สินใหม่เสีย ก็จะไม่ถูกดำเนินคดี อย่างนั้นหรือ

น่าติดตามว่า นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ได้กระทำผิดบทบัญญัติรัฐธรรมนูญหรือไม่

เรื่องนี้ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกวุฒิสภา ได้ยื่นเรื่องให้ กกต. วินิจฉัยและดำเนินการตามกฎหมาย ตั้งแต่เดือนเมษายน 2551 แล้ว ว่าความเป็นรัฐมนตรีของสมัครสิ้นสุดลงหรือไม่

หรือว่า นายสมัครจะตายน้ำตื้นเพราะเรื่องกิน ?

กำลังโหลดความคิดเห็น