xs
xsm
sm
md
lg

หวั่นเครือข่ายแม้วลอยนวล เหตุกระบวนการยุติธรรมอืด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) กล่าวถึงความคืบหน้าของการดำเนินคดี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ( คตส.) ว่าทาง ครป.เห็นว่า กระบวนการยุติธรรมเป็นทางสุดท้ายที่จะคลี่คลายสถานการณ์บ้านเมืองในขณะนี้ได้ แต่จากการพิจารณาบทบาทของกระบวนการยุติธรรมที่ผ่านมา มีสัญญาณหลายอย่างที่ทำให้สังคมเกิดความไม่มั่นใจ ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมการแทรกแซง กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) อัยการสูงสุด ตำรวจ จากอำนาจทางการเมือง จึงส่งผลให้การรวบรวบพยานหลักฐาน หรือ การจัดทำสำนวนเอาผิดคนในเครือข่ายระบอบทักษิณ มีปัญหา และล่าช้ามากกว่าปกติ
โดยเฉพาะข้อพิพาทระหว่าง คตส.กับอัยการสูงสุดนั้น เป็นข้อพิพาทที่มีนัยยะสำคัญ จนอาจส่งผลให้คดีความที่อยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐานของ คตส.ไม่สามารถสั่งฟ้องได้ หรือคดีความที่มีการสั่งฟ้องไปแล้ว อาจเกิดความพลิกผันในชั้นการพิจารณาของศาลได้ หากอัยการสูงสุด หรือแม้แต่ ดีเอสไอ ไม่ได้ทุ่มเทการต่อสู้ในชั้นศาล
"จะเห็นได้ว่ากรณีที่ศาลฏีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ยังไม่สั่งคดีหวยบนดิน แต่ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความสถานะของคตส.ว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น มองผิวเผินอาจเป็นเรื่องปกติ หรืออาจเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ แต่ในขณะเดียวกัน ก็เป็นการทำให้เกิดหลักปฏิบัติแบบใหม่ ซึ่งน่าจะมีปัญหา ความชอบในรัฐธรรมนูญ มาตรา 211 ที่ระบุไว้ชัดว่า ให้ศาลสั่งคดีก่อนเพื่อป้องกันความล่าช้าในการพิจารณาคดี ซึ่งมติของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ ครั้งนี้สร้างปัญหาตามมาโดยเฉพาะความล่าช้าของคดี ทั้งนี้ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ ควรจะสั่งคดี หรือพิจารณาคดีไปก่อน เพราะหากรอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแล้วค่อยมาตัดสินใจว่า จะสั่งคดีหรือไม่อาจทำให้กระบวนการพิจารณาคดีความล่าช้าไปไม่น้อยกว่า 3 เดือน" นายสุริยะใสกล่าว
นายสุริยะใส กล่าวอีกว่า ครป.เห็นว่า โดยหลักยุติธรรมแล้ว นอกเหนือจากความน่าเชื่อถือ และความเที่ยงธรรมของคำพิพากษาแล้ว ยังมีหลักเรื่องเวลา เพราะความล่าช้าในกระบวนการยุติธรรม เคยเป็นปัญหาสำคัญที่รัฐธรรมนูญ 2540 และรัฐธรรมนญ 2550 พยายามกำหนดมาตรการแก้ไข และสร้างความต่อเนื่องของกระบวนการพิจารณาคดี เพราะมีกรณีตัวอย่างมากมาย ที่กว่าจะมีคำพิพากษาได้ข้อยุติ โจทก์หรือผู้เสียหายเสียชีวิตไปก่อน และหรือจำเลยในระหว่างรอพิสูจน์ความผิดถูกจับกุมคุมขังฟรีๆ แม้จะพิสูจน์ความบริสุทธิ์ได้ในภายหลังก็ตาม ฉะนั้นโดยหลักยุติธรรมแล้ว จึงถือว่าความยุติธรรมที่ล่าช้าคือ ความอยุติธรรมอย่างหนึ่ง

**คตส.ยันทำหน้าที่ต่อ
นายอุดม เฟื่องฟุ้ง กรรมการคตส. กล่าวถึงกรณีที่หลายฝ่ายวิจารณ์ว่า คตส.ควรหยุดการทำหน้าที่ ในระหว่างที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องตีความกฎหมายรองรับการต่ออายุของ คตส.ว่า ในกฎหมายให้อำนาจ คตส. ดำเนินการโดยทำหน้าที่ในการตรวจสอบการทุจริต และไม่มีตรงไหนที่ระบุให้ คตส.ต้องยุติการทำหน้าที่ หากเรื่องอยู่ในกระบวนการตีความของศาลรัฐธรรมนูญ
ส่วนที่ใครต่อใครออกมาให้ความเห็นต่างๆนานา ก็ถือเป็นเรื่องของเขา ส่วนกรรมการ คตส. ก็ยังยืนยันที่จะทำหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้จนถึงวันที่สิ้นวาระคือวันที่ 30 มิ.ย.51
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญออกมาชี้ขาดว่าการต่ออายุของ สนช.ให้ คตส. สามารถทำงานต่อได้อีก 1 ปี ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ก็ให้ถือว่าทุกคดีที่ คตส.ทำมา เป็นการทำงานเปล่า ไม่มีผลทางกฏหมายใช่หรือไม่ นายอุดม กล่าวว่า ไม่ใช่ ซึ่งที่จริงตนไม่อยากให้ความเห็นในเรื่องอย่างนี้ เพราะไม่มีใครจะรู้ล่วงหน้าได้ว่า ศาลท่านจะตีความออกมาอย่างไร ซึ่งถ้าศาลท่านวินิจฉัยออกมาว่า ขัดต่อกฎหมาย ก็ให้ถือว่าคดีต่างๆ ที่ คตส.ทำมาก็ให้หน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการต่อตามขั้นตอนในแต่ละเรื่อง แต่ละคดีตามที่กฏหมายกำหนดให้อำนาจหน้าที่และความเกี่ยวข้อง โดยให้นับตั้งแต่วันที่ศาลท่านวินิจฉัย ไม่ใช่นับแต่วันที่ต่ออายุให้ คตส. เราพร้อมน้อมรับ แต่ก็ไม่มีใครรู้ว่าศาลท่านจะตัดสินออกมาอย่างไร
"การวิจารณ์ของคนอื่นๆนั้น ผมขอถามกลับไปว่า เขามีหน้าที่เป็นศาลหรืออย่างไร ที่ออกมาวิเคราะห์ วิจารณ์กันมั่วไปหมด เช่น นาย ก. ถูกกล่าวหาว่า ทำความผิด เราก็ต้องรอให้ศาลท่าน พิพากษาออกมาว่าผิดหรือไม่ ไม่ใช่ให้ใครก็ไม่รู้ ที่ไม่ใช่ศาล เที่ยวมาพูดว่า นาย ก. ทำผิด ไอ้คนที่พูดมันเป็นศาลหรืออย่างไร การพูดทุกวันนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นคนที่ไม่มีหน้าที่ มักจะออกมาให้ความเห็นแล้วมันวุ่นวายไปทั่ว บางคนมีความรู้บ้าง ไม่มีความรู้บ้างก็เที่ยวพูดขยายกันไป ทั้งที่ไม่เกิดประโยชน์เพราะบ้านเมืองอยู่ในภาวะต้องการความจริงจากคนที่มีหน้าที่ ไม่ใช่จากบรรดาพวกเนติบริกรต่างๆ จึงต้องดูว่าการที่ใครเขาออกมาพูดนั้น เขาหวังผลอะไร อย่างไร" นายอุดมกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น