xs
xsm
sm
md
lg

ความไม่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคม

เผยแพร่:   โดย: ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน

ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน
ราชบัณฑิต

มนุษย์เป็นสัตว์สังคมจึงมักอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม สภาพของสังคมมนุษย์ขึ้นอยู่กับหลายตัวแปร แต่ที่สำคัญที่สุดขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม การจัดการ วิทยาการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทั้งหลายทั้งปวงดังกล่าวนี้จะนำไปสู่การดำรงชีวิต การทำมาหากิน การจัดระเบียบสังคม เศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรมและอารยธรรมแตกต่างกันแล้วแต่ยุคสมัย เมื่อสังคมมีการเปลี่ยนแปลงก็จะกระทบกับส่วนต่างๆ ดังที่กล่าวมาแล้ว แต่ที่สำคัญก็คือการกระทบต่อความคิด วิธีคิด วิธีการมองปัญหา วิธีแก้ปัญหา หรือกล่าวโดยรวมคือกระทบต่อเทคโนโลยีสังคม (social technology) ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อวัฒนธรรมและความสัมพันธ์มนุษย์ในด้านต่างๆ อีกส่วนหนึ่ง

รูปแบบสังคมซึ่งขึ้นอยู่กับตัวแปรดังกล่าวแล้วนั้น ถ้ากล่าวโดยทั่วๆ ไปก็มักจะมองว่าเป็นสังคมแบบจารีตนิยม (traditional society) อันได้แก่สังคมเกษตร คนอยู่ในชนบทใช้เทคโนโลยีง่ายๆ มีชีวิตความเป็นอยู่เรียบง่าย ส่วนอีกสังคมหนึ่งเรียกว่าสังคมสมัยใหม่ (modern society) เป็นสังคมอุตสาหกรรม สังคมชุมชนเมือง มีเทคโนโลยีคือเครื่องจักรไอน้ำ และต่อมาก็เป็นเครื่องจักรที่ใช้น้ำมันผลิตกระแสไฟฟ้าทำการผลิตอย่างกว้างขวางในปริมาณที่มาก ในสองสังคมดังกล่าวนี้จะมีความแตกต่างกันในแง่การดำรงชีวิต วัฒนธรรม ความสัมพันธ์มนุษย์ ความคิด วิธีคิด ฯลฯ

ในส่วนของคาร์ล มาร์กซ์ นั้นได้แบ่งสังคมมนุษย์โดยมุ่งเน้นที่ตัวแปรทางเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ทางการผลิต ซึ่งคาร์ล มาร์กซ์ มองว่าจะมีวิวัฒนาการแบบวิทยาศาสตร์ คือ เริ่มต้นด้วยระบบคอมมิวนิสต์แบบปฐมภูมิ (primitive communism) การปกครองแบบมีทาส (slavery) ไปสู่ระบบฟิวดัล (feudal) จนถึงระบบทุนนิยม (capitalism) และผลสุดท้ายก็จะเกิดวิวัฒนาการไปสู่สังคมนิยม (socialism) ซึ่งในส่วนนี้ได้มีการกล่าวคัดค้านโดย ฟรานซิส ฟูกูยาม่า ซึ่งกล่าวเป็นนัยว่าประวัติศาสตร์มนุษย์สิ้นสุดลงแล้วนั่นคือจะจบลงที่ทุนนิยมและเสรีประชาธิปไตยและคงจะไปไม่ถึงสังคมนิยม

อัลวิน ทอฟเฟอร์ พูดถึงกระแสคลื่นแห่งอารยธรรม โดยในเบื้องต้นก็คือมนุษย์อยู่กันด้วยการล่าสัตว์และเก็บเกี่ยว (hunter-gatherer) จากนั้นก็เกิดอารยธรรมคลื่นที่หนึ่งอันได้แก่สังคมเกษตร และจะกลายเป็นสังคมคลื่นที่สองคือสังคมอุตสาหกรรม จากนั้นก็จะเป็นสังคมข่าวสารข้อมูลอันได้แก่ยุคปัจจุบัน แต่บางคนก็บอกว่าในยุคสังคมข่าวสารข้อมูลนี้กำลังจะก้าวไปสู่ยุคที่สี่ซึ่งได้แก่ยุคที่โลกแบน เนื่องจากการติดต่อกันทั่วถึงจนโลกนี้เล็กลงกลายเป็นหมู่บ้าน มีการว่าจ้างทำงานข้ามเขตแดนประเทศอย่างง่ายดาย

แต่ข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ สังคมทุกสังคมส่วนใหญ่จะเป็นการผสมผสานระหว่างคลื่นอารยธรรม ขึ้นอยู่กับว่าประเทศไหน สังคมไหน จะมีคลื่นอารยธรรมต่างกันอย่างไร เช่น สังคมที่พัฒนาก็จะมีคนที่อยู่ในคลื่นอารยธรรมที่สามหรือที่สองมากแต่อยู่ในคลื่นลูกที่หนึ่งน้อย เช่น สหรัฐฯ และญี่ปุ่น และแม้ในคลื่นลูกที่หนึ่งในสังคมเกษตรนั้นถ้ามีการใช้เทคโนโลยีข่าวสารข้อมูล เครื่องจักร ก็จะไม่ใช่สังคมคลื่นลูกที่หนึ่งอีกต่อไป จะกลายเป็นสังคมคลื่นลูกที่สองเช่นญี่ปุ่น เป็นต้น ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เคยขอรัฐบาลญี่ปุ่นไปดูชนบทญี่ปุ่นแต่ทางญี่ปุ่นตอบสนองไม่ได้ ถ้าจะมีอยู่บ้างก็อยู่ทางฮอกไกโดเพราะชาวนาญี่ปุ่นอยู่กันเหมือนชุมชนเมือง คุณลักษณะการดำรงชีวิตไม่ต่างจากในเมืองมากนัก มีรถยนต์ มีโทรทัศน์สี มีที่อยู่อาศัยที่ทันสมัย มีความรู้ ทำนองเดียวกับชาวนาในยุโรปที่มีความเป็นอยู่การดำรงชีวิตไม่ต่างจากคนเมืองมากนัก

สำหรับประเทศไทยนั้นมีประชากรที่อยู่ในคลื่นอารยธรรมทั้งสามลูก แต่ส่วนใหญ่อยู่ในสังคมเกษตรหรือคลื่นลูกที่หนึ่ง จำนวนหนึ่งอยู่ในคลื่นลูกที่สองซึ่งได้แก่ผู้ใช้แรงงานในโรงงานอุตสาหกรรม สำหรับคลื่นลูกที่สามนั้นยังอยู่ในวงจำกัด เมื่อประชาชนมีความหลากหลายเช่นนี้ย่อมจะมีความแตกต่างในแง่ข้อมูล ความรู้ ความคิด วิธีคิด ค่านิยม วัฒนธรรม แต่ในขณะเดียวกันกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก อันได้แก่ การขยายตัวของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย เศรษฐกิจทุนนิยม การเติบโตของเทคโนโลยีข่าวสารข้อมูล ฯลฯ ย่อมนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในตัวแปรต่างๆ ดังที่กล่าวมาแล้ว

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองซึ่งจะต้องมีการปกครองแบบประชาธิปไตย มีการเลือกตั้ง ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่จะต้องมีการเรียกร้องให้มีการกระจายรายได้ที่เป็นธรรมมากขึ้น และที่สำคัญเมื่อประชาชนได้รับการศึกษามากขึ้นก็จะเรียกร้องความเสมอภาค สิทธิเสรีภาพมากขึ้น ซึ่งย่อมจะกระทบต่อวัฒนธรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่งความสัมพันธ์มนุษย์ แต่สิ่งที่เป็นอุปสรรคคือ การจัดตั้งสถาบันใหม่ซึ่งจำเป็นต้องเกิดขึ้นตามกระแสการเปลี่ยนแปลงนั้นอาจจะเสมือนกับการปลูกอาคารบนพื้นที่ที่อาจจะไม่มีฐานที่แข็งแรงพอ เป็นต้นว่า ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยจะต้องมีวัฒนธรรมการเมืองแบบประชาธิปไตย วัฒนธรรมการเมืองแบบประชาธิปไตยจะต้องมาจากวัฒนธรรมสังคมที่เชื่อในความเสมอภาค สิทธิเสรีภาพ การมีศรัทธาต่อมนุษย์ การใช้เหตุใช้ผลในการเจรจา ฯลฯ

แต่ปัญหาคือ ในบางสังคมอาจมีวัฒนธรรมสังคมที่ยากจะพัฒนาไปสู่วัฒนธรรมแบบประชาธิปไตย เพราะเป็นวัฒนธรรมการเมืองที่มีแนวโน้มเป็นเผด็จการ สยบต่ออำนาจ ไม่อดทนอดกลั้นต่อความคิดเห็นที่แตกต่าง เน้นความเป็นหนึ่งเดียว เมื่อเป็นเช่นนี้โครงสร้างและกระบวนการประชาธิปไตยจึงขาดฐานสำคัญที่สุด อันได้แก่ วัฒนธรรมการเมืองแบบประชาธิปไตย

ในกรณีของระบบราชการจะต้องใช้ความสามารถเป็นเกณฑ์เพราะเป็นความจำเป็นขององค์กร แต่ถ้าหากมีระบบอุปถัมภ์ เล่นพรรคเล่นพวก เอาญาติโกโหติกาเข้ามา ก็จะทำให้ระบบคุณธรรม (the merit system) ไม่สามารถจะนำมาใช้ได้

ในการจัดการทางธุรกิจ วิธีการประกอบธุรกิจแบบเดิมในรูปของโชวห่วยแบบคนจีนย่อมยากที่จะดำรงอยู่ต่อไปเมื่อมีวิธีการจัดการแบบห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่และการขายปลีกที่ทันสมัยเช่น เซเว่น-อีเลฟเว่น ซึ่งจะมีการจัดการแบบทันสมัยสอดคล้องกับความต้องการของคนในยุคใหม่

ในทางสังคมนั้น เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การเกิดชุมชนเมือง การเปลี่ยนแปลงในแง่ข่าวสารข้อมูล ย่อมจะส่งผลโดยตรงต่อความเป็นอยู่และความสัมพันธ์มนุษย์ เมื่อใดก็ตามที่เกิดความไม่สอดคล้องระหว่างชีวิตแบบใหม่และค่านิยมแบบเดิม ก็จะกลายเป็นต้นเหตุของความขัดแย้ง เป็นต้นว่า โทรศัพท์มือถือมีไว้เพื่อให้การสื่อสารเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วทันการ แต่ถ้าไม่เปลี่ยนค่านิยมเดิมคือผู้น้อยไม่ควรโทร.ไปหาผู้มีอาวุโสกว่า ก็ย่อมจะนำไปสู่การไร้ประโยชน์ของการสื่อสารสมัยใหม่

ข่าวสารข้อมูล ความรู้ ความคิด ระบบความคิด ที่อาจจะใช้ได้ในสังคมเกษตรอาจจะใช้ไม่ได้ในสังคมยุคที่ต้องมีการคิดวิเคราะห์ ด้วยเหตุด้วยผล ด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ การแก้ปัญหาเครื่องยนต์ขัดข้องต้องใช้หลักการของวิชาวิทยาศาสตร์และกลศาสตร์ จะใช้วิธีภาวนาจุดธูปบวงสรวงย่อมจะไม่ได้ผล การมีจิตวิทยาศาสตร์ มีตรรกเป็นเหตุเป็นผลจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งในสังคมคลื่นที่สองและสามอันได้แก่อุตสาหกรรมและข่าวสารข้อมูลวัฒนธรรมที่มีการนับถืออาวุโสเป็นหลัก “ผู้ใหญ่ขอมา” “ผู้ใหญ่สั่งมา” แทนที่จะเป็นสังคมที่ใช้หลักการความถูกต้อง ย่อมจะทำให้เกิดความไม่มั่นใจของคนในสังคมเพราะไม่สามารถคิดได้เองโดยมีหลักคิดที่แน่นอนได้ ความเป็นผู้นำและความเชื่อมั่นก็ไม่สามารถจะพัฒนาขึ้นมาได้อย่างเต็มที่ เพราะไม่มีหลักการหรืออุดมการณ์ที่ยึดมั่นได้อย่างมั่นใจ

ในสังคมคลื่นลูกที่หนึ่งหรือสังคมเกษตรชีวิตจะเรียบง่าย จึงมีการพัฒนาพิธีกรรมต่างๆ มากมาย มีวันหยุดการทำงานมาก เพื่อไม่ให้ชีวิตอับเฉา สังคมจึงมีการละเล่น การรื่นเริง การทำพิธีกรรมต่างๆ อยู่เป็นประจำ พิธีกรรมต้องเป็นสิ่งที่ต้องทำให้ถูกต้องรูปแบบ ไม่จำเป็นต้องมีการให้น้ำหนักในเรื่องเนื้อหาและเหตุผลมากนัก วัฒนธรรมส่วนนี้อาจจะไม่สอดคล้องกับสังคมในสมัยใหม่ เช่น ในชุมชนเมือง การที่ต้องไปงานศพสองคืนรวมทั้งวันเผาต่อผู้ตายหนึ่งคนที่เป็นเพื่อนหรือญาติ ถ้าอยู่ในฐานะที่ต้องไปเดือนละ 5 ศพ และงานมงคลสมรสอีก 5 ครั้ง เวลาที่ใช้ในการประกอบกิจจะถูกกลืนโดยพิธีกรรมและประเพณี ประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการทำงานจะถูกกระทบ สังคมที่มีพิธีกรรมมากคือสังคมที่เน้นรูปแบบเป็นหลัก

เมื่อวัฒนธรรมสังคมดังกล่าวเข้ามาสู่กระบวนการบริหารโดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริหารภาครัฐ จุดเน้นอาจจะอยู่ที่การประกอบพิธีกรรม และความสามารถในความสัมพันธ์มนุษย์มากกว่าผลงานที่ใช้ความรู้ความสามารถอย่างแท้จริง วัฒนธรรมในส่วนนี้จะไม่สอดคล้องเมื่อสังคมเปลี่ยนแปลงไปสู่ยุคคลื่นที่สองและสาม

สังคมที่ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยไม่สามารถพัฒนาได้นั้น คงไม่เกิดที่ตัวแปรทางการเมืองอย่างเดียว แต่ยังมีความไม่สอดคล้องกับส่วนต่างๆ ที่กล่าวมาแล้วเบื้องต้น การแก้ไขปัญหาดังกล่าวขึ้นอยู่กับการศึกษาและวัฒนธรรม ซึ่งจะต้องมีการปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับยุคสมัย มิฉะนั้นจะเกิดช่องว่างในทางข่าวสารข้อมูล ความรู้ ความคิด ระบบความคิดหรือวิธีคิด หรือเรียกรวมๆ กันว่า ช่องว่างทางวัฒนธรรม (culture lag) นอกจากนั้นยังเกิดช่องว่างทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี (technology lag) ที่สำคัญที่สุดคือการขาดเทคโนโลยีสังคม (social technology) ในการจัดการกับปัญหาสังคมโดยสอดคล้องกับยุคและสมัย
กำลังโหลดความคิดเห็น