xs
xsm
sm
md
lg

พม่า

เผยแพร่:   โดย: ชัยสิริ สมุทวณิช

พม่ากำลังเผชิญกรรมด้วยวินาศภัยมีคนเสียชีวิตคาดว่าไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นคน เพราะพายุไซโคลน โดนภัยพิบัติครั้งนี้นานาชาติได้พยายามยื่นความช่วยเหลือให้ ในชั้นแรกมีจีนและไทยซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านรุดหน้าให้ความช่วยเหลือในชั้นแรกก่อนอื่น

แหล่งข่าวซึ่งก็คือวิทยุในกรุงย่างกุ้งระบุว่า มีประชาชนหายสาบสูญไปแล้วร่วมครึ่งแสนคน ชะตากรรมของคนเหล่านี้คงต้องหายไปโดยที่ยังควาญหากันยาก เพราะเวลานี้ความช่วยเหลือมุ่งไปยังผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน ซึ่งได้แก่ผู้ที่รอดชีวิตแต่ยังไม่มีอะไรจะกิน และมีแนวโน้มว่าจะเกิดโรคระบาดที่มาจากน้ำด้วยครับ

อาหารเป็นปัจจัยที่ทุกฝ่ายวิตกกันมาก อย่าลืมว่าอู่ข้าวอู่น้ำของพม่าก็คือนาข้าวเกือบทั้งหมด จมอยู่ใต้น้ำในพื้นที่เพาะปลูกหลักเสียด้วย

นอกจากนั้นการลำเลียงอาหารเพื่อการยังชีพยังเป็นไปด้วยความลำบาก ต้นทุนในการเดินทางสูง

และเวลานี้กล่าวได้ว่า โลกเผชิญภาวะขาดแคลนอาหารด้วยแล้ว ยิ่งทำให้เห็นว่าภัยพิบัติในพม่ายิ่งทำให้เกิดความเลวร้ายซ้ำเติมสถานการณ์ด้วยครับ

เจ้าหน้าที่ขององค์การสหประชาชาติซึ่งเข้ามาช่วยกู้ภัยกล่าวถึงเรื่องนี้ว่า การส่งอาหารไปยังพื้นที่ซึ่งมีประชาชนต้องการอาหารและปัจจัยสี่นั้น ท้าทายความสามารถมาก เพราะว่าน้ำท่วมอย่างกว้างขวางพายุพัดกระหน่ำทั่วทั้งบริเวณจนทำให้การช่วยเหลือยากลำบากมาก และอีกทั้งยังมีน้ำทะเลทะลักเข้ามาเสริมอีก

ในย่างกุ้ง เจ้าหน้าที่องค์การระหว่างประเทศแห่งหนึ่งให้ความเห็นว่า จากที่เขาดูรายงานของเจ้าหน้าที่แล้ว พบว่า ตำบลทั้งตำบลตัดขาดและจำนวนประชากรที่เสียชีวิตนั้นน่าจะเกือบทั้งหมด หรือพูดสั้นๆ ก็กล่าวได้ว่ามีคนตายชนิด “ยกตำบล” กันเลย

เหตุการณ์ที่ว่านี้เทียบได้เกือบสึนามิเมื่อหลายปีก่อนก็ว่าได้

แต่มันบอกไม่ได้ชัดเจนว่า เวลานี้พม่าต้องการความช่วยเหลือในด้านอาหารเท่าไรแน่ โครงการอาหารขององค์การสหประชาชาติสำหรับปีนี้ได้เรียกร้องให้ประเทศผู้บริจาคเพิ่มปริมาณเงินอีก 756 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นเงินกองทุน เพื่อไว้สำหรับความช่วยเหลือในการจัดหาอาหารเพื่อช่วยชาวพม่าและประเทศอื่นๆ ที่อดอยาก ซึ่งเวลานี้ไม่พร้อมที่จะผลิตอาหารเพื่อประชากรของตัวเอง

และภัยพิบัติจากพายุไซโคลนที่เกิดในพม่าย่อมดึงจากกองทุนนี้ไปมากและต้องใช้ทันที เพราะเหตุง่ายๆ ว่า พายุทำลายแหล่งการผลิตข้าวไปเกือบหมด ในพื้นที่เพาะปลูกที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดของประเทศ

แน่นอนความช่วยเหลือเร่งด่วนและต้องใช้เงินจากกองทุนย่อมทอนกำลังเงินที่ต้องช่วยประเทศอื่น เช่น ศรีลังกา และบังกลาเทศที่อยู่ใกล้ๆ กับพม่าลงไปอย่างมิต้องสงสัย โดยเดิมแล้วทั้ง 2 ประเทศเคยได้รับความช่วยเหลือจากพม่าด้วย

ดังนั้น เวลานี้ ไม่มีข้าวจากพม่า
และพม่าต้องการข้าวจากผู้ผลิตอื่นๆ เช่น ประเทศไทย เวียดนาม รวมทั้งจากอินเดีย

ไทยเป็นประเทศส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดนั้น เวลานี้ก็ต้องไม่ยกเลิกโควตาส่งออก แม้ว่าราคาข้าวจะสูงลิบลิ่ว

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะภัยพิบัติ และนาล่มในพม่านี้แหละครับ
ผู้ส่งออกก็รู้ดีว่าผลกระทบของผู้ผลิตอย่างพม่ามีผลต่อราคา และก็รู้ว่าอนาคตของภัยพิบัตินั้นใช่ว่าจะเกิดในพม่าที่เดียว ทั้งไทยและเวียดนามก็มีสิทธิจะโดนภัยพิบัติได้ทั้งนั้น

ที่บังกลาเทศเคยโดนมาแล้ว เมื่อเดือนพฤศจิกายน พายุไซโคลนถล่มทำลายข้าวไป 5 แสนตัน คร่าคนตายไป 3,000 คน

แน่นอนว่าพายุในพม่าทำให้ราคาข้าวสูงปรี๊ด
ก่อนที่พม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี 1948 พม่าคือประเทศส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดของโลกเลย

แต่เคราะห์ร้ายที่หลังจากทหารขึ้นมาปกครองในปี 1962 และใช้สังคมนิยม การผลิตข้าวก็ตกต่ำทันที แม้ว่าไม่กี่ปีมานี้ การผลิตจะดีขึ้นบ้างแต่ก็ยังไม่ดีกว่าก่อนเลย และไม่อาจเทียบกับไทยได้

ข้าวของพม่าส่วนใหญ่ผลิตเพื่อกินในประเทศ แต่ไม่กี่ปีนี้เริ่มส่งออกบ้าง ก่อนเกิดภัยพิบัติ พม่าส่งข้าวออก 6 แสนตัน โดยส่งไปศรีลังกาและบังกลาเทศ

ที่เหลือรัฐบาลอ้างว่าประชาชนทั้งประเทศ จะกินข้าวและไม่อดตาย
ประชากรพม่ามี 52 ล้านคน
น่าเสียดายภัยพิบัติคราวนี้ พม่าต้องมาเริ่มตั้งต้นใหม่
เป็นคราวเคราะห์ที่ร้ายจริงๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น