xs
xsm
sm
md
lg

ราคาอาหารพุ่งพรวดร้อนถึงองค์กรความช่วยเหลือของยูเอ็น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เจ้าหน้าที่ขณะขนกระสอบข้าวสาลีลงจากรถเพื่อเตรียมแจกจ่ายให้กับชาวบ้านในกรุงคาบูล
เอเอฟพี - ราคาอาหารที่พุ่งสูงขึ้น เป็นเหตุของอาการปวดหัวในองค์กรความช่วยเหลือทั้งหลายที่ต้องส่งมอบอาหารให้กับผู้หิวโหย ไม่เว้นกระทั่งองค์กรอาหารโลก หรือดับเบิลยูเอฟพี ซึ่งรู้จักกันว่าเป็นยุ้งข้าวสำคัญของสหประชาชาติ

คริสเตียน เบอร์ธีอูม โฆษกหญิงขององค์กรอาหารโลก กล่าวว่า “เราแจกจ่ายเสบียงอาหาร 4 ล้านตันต่อปี ดังนั้น การเพิ่มขึ้น 55 เปอร์เซ็นต์ของราคาอาหารนับแต่เดือนมิถุนายน 2007 ส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อการปฏิบัติงานของเรา” โดย ดับเบิลยูเอฟพีซื้อเสบียงอาหารจำนวน 2 ล้านตัน ตามตลาดในภูมิภาคต่างๆ ขณะที่ ส่วนที่เหลือประเทศผู้บริจาคจะเป็นผู้ให้ทุน

ทั้งนี้ ราคาของอาหารพื้นฐานที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วใน 2-3 เดือนที่ผ่านมา จุดประกายการให้เกิดการประท้วงอย่างรุนแรงในหลายประเทศ ทั้งในอียิปต์ แคเมอรูน ไอวอรี โคสต์ มอริเตเนีย เอธิโอเปีย มาดากัสการ์ ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย

องค์กรดับเบิลยูเอฟพีมอบอาหารให้ประชาชนจำนวน 73 ล้านคนในประเทศต่างๆ 78 ประเทศ แต่องค์กรพบว่าเป็นเรื่องลำบากมากขึ้นที่จะจัดหาเสบียงอาหารท่ามกลางราคาที่เพิ่มสูงขึ้นและการแทรกแซงของรัฐบาลในการส่งออกอาหาร เช่น การนำมาตรการจำกัดการส่งออกมาใช้ในทวีปเอเชีย แอฟริกาแ ละละตินอเมริกา โดยการจัดเสบียงอาหารนั้นต้องไม่เป็นภัยต่อภาวะความมั่นคงของอาหารในประเทศเหล่านั้น

กระนั้น ราคาอาหารที่เพิ่งสูงขึ้นนี้ไม่ได้เพียงสร้างความปวดหัวให้ดับเบิลยูเอฟพีเท่านั้น ในทวีปแอฟริกาตะวันตก ค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติงานก็เพิ่มขึ้นอีก 30 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นและผลกระทบของราคาค่าขนส่ง

ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา โจแซต ชีราน ผู้อำนวยการบริหารของดับเบิลยูเอฟพีได้เตือนแอฟริกาตะวันตกว่าจะเผชิญกับวิกฤตการณ์ “มรสุมครบสูตร” ท่ามกลางสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ราคาอาหารที่เพิ่มสูงขึ้น และจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น องค์กรจึงนำเงินขอความช่วยเหลือเพิ่มเติม 500 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 15,880 ล้านบาทไทย) มาเพื่อคุมสถานการณ์

ส่วน เบอร์ธีอูม เสริมว่า หลายประเทศผู้บริจาคของดับเบิลยูเอฟพีเพิ่มเงื่อนไขการสนับสนุนของพวกเขา เช่น ประเทศญี่ปุ่นและแคนาดายืนกรานว่าเงินที่ได้บริจาคไป ต้องนำมาใช้ซื้ออาหารจากเกษตรกรของประเทศทั้งสอง

ด้าน มิคกี โชปรา สมาชิกสภาวิจัยการแพทย์ในเมืองเคปทาวน์ ประเทศแอฟริกาใต้ ให้ความเห็นว่า สหรัฐฯเตรียมความช่วยเหลือครั้งใหญ่ด้วยอาหารมากกว่าความช่วยเหลือทางการเงิน ซึ่งหมายความว่า ประเทศเหล่านี้สามารถควบคุมสินค้าเกษตรส่วนเกินของตัวเองและก็ยังอุดหนุนเกษตรกรด้วย เมื่อรวมแล้ว ปัจจัยเหล่านี้เป็นผลให้ชาวแอฟริกันและชาติกำลังพัฒนาอื่นๆเสียเปรียบเป็นสองเท่า

โชปรา บอกว่า การอุดหนุนการเกษตรที่สหรัฐฯให้กับดับเบิลยูเอฟพี นำไปสู่ราคาอาหารในทวีปแอฟริกาที่ต่ำลง จากนั้นการลงทุนในภาคเกษตรในประเทศเหล่านี้ก็ขาดแคลน หมายความว่าประเทศต่างๆในทวีปแอฟริกาปัจจุบันไม่สามารถได้ผลประโยชน์เต็มที่จากการเพิ่มขึ้นของราคาอาหารเพราะโครงสร้างพื้นฐานทางการเกษตรของประเทศเหล่านี้อยู่ในประเทศที่ยากจน

เธอเรียกร้องให้ดับเบิลยูเอฟพีลงทุนในการผลิตอาหารท้องถิ่นในแอฟริกาและจัดเตรียมความช่วยเหลือทางเทคโนโลยีที่จำเป็นให้แก่ประเทศต่างๆ เหล่านี้

นอกจากนี้ ในสัปดาห์ที่ผ่านมา องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) ในกรุงโรม เผยในรายงานสถานการณ์อาหารและการคาดการณ์เก็บเกี่ยวพืชผลล่าสุดว่า เวลานี้มี 37 ประเทศที่เผชิญภาวะขาดแคลนอาหาร

ฌาคส์ ดีอูฟ ผู้บริหารองค์กรดังกล่าวบอกว่า “ในการเผชิญกับความสับสนทั่วโลกเช่นเดียวกับแอฟริกาและเฮติ เรากำลังอยู่ในภาวะฉุกเฉินจริงๆ”

ดีอูฟแถลงข่าวในกรุงโรมว่า “ผมประหลาดใจที่ไม่ได้ถูกเรียกประชุมในคณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติ เพราะว่าการถกเถียงปัญหามากมายของที่นั่นไม่ได้มีผลสรุปเดียวกันเพื่อความสงบสุข ความมั่นคงในโลก หรือเพื่อสิทธิมนุษยชนของผู้คนที่กระหายต่อมัน”
กำลังโหลดความคิดเห็น