xs
xsm
sm
md
lg

จวก"เจ๊มิ่ง"จ้องปั่นราคาข้าว ชาวนารับกรรมเหนื่อยเปล่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชาวนาบ่นอุบไม่ได้อะไรจากข้าวแพง เผยทั้งปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืชก็ขึ้น ราคา แถมข้าวถูกกดความชื้นอีก ขณะที่โรงสี ผู้ส่งออก นักวิชาการ ประสานเสียงรุมสกรัม "เจ๊มิ่ง" เข็นนโยบายดึงอินเดีย เวียดนาม กำหนดราคาข้าวโลกในนามโอเร็กไม่เข้าท่า จ้องแต่จะปั่นราคาข้าวจนลืมมนุษยธรรม ด้าน"พาณิชย์" ยกเลิกมติ กกร. ปล่อยผีโรงสีซื้อข้าวข้ามเขตแล้ว "เจ๊มิ่ง"แก้ปัญหาข้าวรายวัน เคาะมาตรการซื้อขาดข้าว 3 ชนิด ช่วยชาวนา ขณะที่ชาวนาเชียงราย-กาฬสินธุ์ ปักหลักประท้วง จี้รัฐเร่งแก้ปัญหาข้าวด่วน

วานนี้ (13 พ.ค.) กลุ่มจับกระแสเอเชีย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดเสวนาวิชาการ ครั้งที่ 1/2551 เรื่อง “วิกฤตข้าวเอเชีย โอกาสข้าวไทย จริงหรือ?” โดยเชิญตัวแทนชาวนา โรงสี ผู้ส่งออก และนักวิชาการ รวมทั้งตัวแทนจากกระทรวงพาณิชย์มาร่วม และเปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วม แต่ในการเสวนาครั้งนี้ กลับไม่มีตัวแทนจากกระทรวงพาณิชย์

ประสานเสียงรุมสกรัม"เจ๊มิ่ง"

นายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาไทย กล่าวในหัวข้อ “ชาวนาได้อะไรจากวิกฤตข้าว” ว่า ต้องยอมรับว่าทั้งชีวิตชาวนาไม่เคยเห็นข้าวราคาดีขนาดนี้ โดยราคาสูงสุดในเดือนเม.ย. ขายข้าวได้ตันละ 14,500 บาท ที่ความชื้น 15% แต่ก็ขึ้นอยู่ได้พักเดียว ราคาก็ตก ซึ่งก็ยอมรับว่าชาวนากำลังจะลืมตาอ้าปากได้ จากการขายข้าวได้ราคาดี แต่เกิดอะไรขึ้นกับชาวนา พอจะขายข้าวได้ราคา มีกำไร ก็ต้องมีเจอกับปุ๋ยแพง ยาปราบศัตรูพืชแพง

ทั้งนี้ ปุ๋ยเคมีได้ปรับราคาขึ้นอย่างมาก โดยปุ๋ยเคมีสูตร 46-0-0 (ยูเรีย) ปี 2549 ราคาตันละ 11,000 บาท ปี 2551 ราคาตันละ 18,000 บาท ปุ๋ยเคมีสูตร 16-0-0 ปี 2549 ตันละ 12,000 บาท ปี 2551 ตันละ 16,000 บาท ยาปราบศัตรูพืช ปรับราคาจากแกลอนละ 400 บาท ตอนนี้มีแนวโน้มจะขึ้นเป็น 1,000 บาท และล่าสุดยังมีปัญหาถูกหักความชื้นเพิ่มขึ้น จากเดิมหักแค่จุดละ 100 บาท เดี๋ยวนี้หักจุดละ 200 บาท

ก่อนหน้านี้ นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ ได้ออกมาให้ข่าวว่า ยอดขายของรถมอเตอร์ไซต์ รถยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ดีขึ้น เป็นผลมาจากการที่ชาวนาขายข้าวได้ราคาดี และมีเงินไปซื้อสินค้าดังกล่าวมากขึ้น

นายปราโมทย์ วานิชชานนท์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวในหัวข้อ “วิกฤตข้าวโลก เป็นโอกาสพ่อค้าข้าวไทย จริงหรือ?” ว่า ขณะนี้ราคาข้าวได้ปรับตัวขึ้นมาแล้วเป็น 100% แต่วันนี้ก็ยังพูดกันเรื่องราคา ราคามันยังขึ้นไม่พออีกหรือ แล้วตัวผู้กำหนดนโยบาย อย่างนายมิ่งขวัญ ก็ยังจะมาเริ่มแนวคิดกลุ่มประเทศผู้ส่งออกข้าว (OREC) ทั้งๆ ที่แท้งไปแล้วสมัยรัฐมนตรีพาณิชย์ที่ชื่อว่านายอดิศัย โพธารามิก และมาครั้งนี้นายมิ่งขวัญก็จะมาทำอีก โดยเชิญอินเดีย เวียดนามมาร่วมกันกำหนดราคาข้าว แต่ทั้ง 2 ประเทศนี้ไม่เอาด้วย แท้งอีกเป็นครั้งที่ 2 แค่นั้นไม่พอ นายกรัฐมนตรีของไทย ก็มาสนับสนุนด้วย

นางกอบสุข เอี่ยมสุรีย์ เลขาธิการสมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศ กล่าวในหัวข้อเดียวกันนี้ว่า ราคาข้าวที่แพงขึ้นไม่ได้ทำให้ผู้ส่งออกได้ประโยชน์ เพราะระบบการค้าข้าวเป็นการขายล่วงหน้า แล้วมาซื้อข้าวส่งมอบในภายหลัง บางรายขายล่วงหน้า 3-4 เดือนก็มี โดยที่ผ่านมา บางรายขายตั้งแต่เดือนธ.ค.2550 ในราคาตันละ 300 เหรียญสหรัฐ แต่หลังจากนั้นราคาดีดขึ้น ต้นปี ราคา 800 เหรียญสหรัฐ คนขาย 300 เหรียญสหรัฐ ก็ขาดทุน บางรายส่งมอบไม่ได้ ต้องยกเลิกสัญญา ยอมถูกฟ้องเรียกค่าเสียหาย มาวันนี้ข้าวขึ้นไปเป็น 1,000 เหรียญสหรัฐ คนที่รับออเดอร์ล่วงหน้า ก็ต้องก้มหน้ารับภาระขาดทุนไป แต่ผู้ส่งออกก็พยายามที่จะหาออเดอร์ช่วงนี้ เพื่อชดเชยผลขาดทุนที่ผ่านมา

ด้านนายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีต ส.ว.กทม.กล่าวในหัวข้อ “สถานการณ์ข้าว ภาพสะท้อนโอกาสของไทยหรือวิกฤตแหล่งอาหารโลก” ว่า ปีนี้ถือเป็นปีทองของชาวนาไทย ที่ขายข้าวได้ราคาดี แต่การที่ข้าวราคาสูง ก็อย่าดีใจมาก วันนี้สูงได้ วันหน้าก็ลดลงได้ เพราะตลาดส่งออกข้าวมันเล็กมาก แค่ 6% ของผลผลิตข้าวทั้งหมดในโลก ดังนั้น การจะทำให้ชาวนาได้ประโยชน์จากราคาข้าวอย่างแท้จริง ก็ต้องช่วยลดต้นทุนการผลิต ลดค่าปุ๋ย พัฒนาพันธุ์ข้าว เพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้ได้

“อย่าไปปั่นราคาจนลืมนึกถึงมนุษยธรรม ถือเป็นความหวังดี แต่ประสงค์ร้าย คนทั้งโลกต้องกินข้าวแพง เพราะการปั่นราคา มันควรหรือ อย่างนี้ต้องบอกว่านายมิ่งขวัญ ไม่เป็นมวย แสดงออกมาชัดเจนจะไปตั้งกลุ่ม OREC เลียนแบบ OPEC เปลี่ยนจาก P เป็น R อย่าทำ ถ้าจะทำไปทำลูกอมยี่ห้อ OREC ดีกว่ามั้ง”

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกสมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศ กล่าวว่า มาเลเซียได้ตกลงซื้อข้าวขาวจากไทยแล้ว 2 แสนตันจาก 5 แสนตันที่มาเลเซียต้องการซื้อ โดยแบ่งเป็นข้าวขาว 5% ราคาตันละ 950 เหรียญสหรัฐฯ 1 แสนตัน และข้าวขาว 15% ราคาตันละ 940 เหรียญสหรัฐฯ 1 แสนตัน กำหนดส่งมอบเดือนพ.ค.-มิ.ย.นี้ โดยสมาคมฯจะมีการจัดสรรโควตาให้ผู้ส่งออกโดยพิจารณาตามสัดส่วนตัวเลขการส่งออกของปีที่ผ่านมา ส่วนอีก 3 แสนตัน น่าจะมีการเจรจาอีกครั้งในเดือน มิ.ย. แต่ขณะนี้มาเลเซียก็ได้เจรจาซื้อข้าวขาว 15% จากเวียดนาม ซึ่งรัฐบาลเวียดนามกำลังพิจารณาว่าจะส่งออกข้าวได้หรือยัง หากเจรจาได้คาดว่าเวียดนามจะขายข้าวให้มาเลเซีย 1 แสนตัน

นายชูเกียรติ กล่าวถึงกรณีที่สมาคมชาวนาไทยเสนอให้รัฐกำหนดเพดานราคารับซื้อข้าวเปลือกเจ้าตันละ 1.5 หมื่นบาทว่า เป็นราคาที่สูงเกินไป เท่ากับราคาส่งออกต้องเกิน 1,000 เหรียญสหรัฐ หากเป็นภาวะปกติขายข้าวราคาพันเหรียญสหรัฐอาจทำให้การส่งออกฝืดลง

รายงานจากกระทรวงพาณิชย์ แจ้งว่า กรมการค้าภายในในฐานะเลขาคณะกรรมการว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ได้จัดทำร่างยกเลิกมาตรการห้ามโรงสีเคลื่อนย้ายข้าวข้ามจังหวัดที่มีตั้งแต่ 500 ตันขึ้นไป ตามมติ กกร. เพื่อแก้ปัญหาโรงสีในพื้นที่ไม่รับซื้อข้าวและกดราคารับซื้อ โดยจะเสนอให้นายมิ่งขวัญ ลงนามในวันที่ 13 พ.ค.ที่ผ่านมาก่อนที่จะเรียกประชุม กกร.เพื่อแจ้งให้ทราบหรืออาจใช้เพียงจดหมายเวียนให้รับทราบ เพื่อให้มีผลบังคับใช้ไม่เกินต้นสัปดาห์หน้า

“เจ๊มิ่ง” แก้ปัญหาข้าวรายวัน

นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ รองนายกฯและรมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบประกาศแนวทางแทรกแซงเพื่อรับซื้อข้าวเปลือกตรงจากชาวนาและโรงสีในลักษณะซื้อขายขาด ทั้ง 3 ชนิด ได้แก่ ข้าวเปลือกหอมมะลิ จะรับซื้อในราคาตันละ19,000-20,000 บาท ข้าวเปลือกเจ้ารับซื้อในราคาตันละ 14,000 บาท และข้าวเปลือกเหนียวรับซื้อตันละ 9,000 บาท โดยจะดำเนินการในลักษณะซื้อมาขายไปและยอมรับว่า โครงการที่ออกมานี้จะทำให้ชาวนาขายข้าวได้ราคาดี เพราะที่ผ่านมาราคาข้าวสารหอมมะลิที่ส่งออกล่าสุดมีราคาสูงถึงตันละ 39,000-40,000 บาท ขณะที่ข้าวขาวมีราคาตันละ 29,800-32,000 บาท

ส่วนสถานการณ์ข้าวเปลือกเหนียวนั้นหากโรงสีใดรับซื้อข้าวเปลือกเหนียวจากชาวนาในราคา 7,000 บาทต่อตัน สำหรับข้าวเปลือกเหนียวที่มีความชื้นไม่เกิน 25% และ 9,000 บาท สำหรับข้าวเปลือกเหนียวที่มีความชื้นไม่เกิน 15% จะได้รับสิทธิกู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นพิเศษเป็นรายๆ ไป

นายมิ่งขวัญ กล่าวว่า ได้ใช้อำนาจประธาน กกร. ลงนามในประกาศกระทรวงพาณิชย์ เพื่อยกเลิกประกาศกำหนดมาตรการควบคุมการขนย้ายข้าวเปลือกและข้าวสาร ซึ่งประกาศไว้เมื่อวันที่ 30 ม.ค.51 ในปัจจุบันได้กำหนดห้ามขนย้ายข้าวข้ามเขตโดยเฉพาะใน 19 จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และใน 3 จังหวัดในเขตภาคเหนือ ซึ่งการยกเลิกครั้งนี้จะทำให้เกษตรกรสามารถขายข้าวเปลือกให้กับโรงสีในพื้นที่ใดก็ได้ที่ให้ราคาข้าวเปลือกที่สูงที่สุด

"หมัก"ให้ระบายข้าวเก่า ซื้อข้าวใหม่

แหล่งข่าวจากที่ประชุม ครม.ระบุว่า ที่ประชุมได้หยิบยกกรณีพ่อค้าโรงสีกดราคาข้าวเปลือกเหนียวกับชาวนา ทำให้เดือดร้อนและมีการชุมนุมประท้วง ซึ่ง ครม.ได้มีการอภิปรายเวลานาน ซึ่งนายกฯ ตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใดเมื่อกระทรวงพาณิชย์ประกาศขยายข้าวถุง เพียงแค่ 1-2 วัน ราคาข้าวก็ตกลงอย่างรวดเร็ว มีการเอาเปรียบจากพ่อค้ากดราคา จึงเห็นว่า กระทรวงพาณิชย์น่าจะหาวิธีรับซื้อข้าวจากชาวนา แทนที่จะผ่านพ่อค้าคนกลาง

นายสมัคร ยังเสนอว่า ข้าวในสต๊อกที่มี 2.1 ล้านตัน ถือว่าเป็นข้าวเก่า แทนที่จะนำมาใส่ถุงขายราคาถูกอย่างเดียว ก็ควรจะใช้วิธีระบายข้าวเก่าในสต๊อกออกไปตลาดต่างประเทศ เมื่อระบายแล้วรัฐบาลก็ใช้วิธีการซื้อข้าวใหม่จากเกษตรกร มาไว้ในสต๊อกใหม่ ก็จะเกิดภาวะสมดุล ไม่ใช่ว่าจะนำไปใส่ถุงขายอย่างเดียว

นายกรัฐมนตรี ยังได้ขอให้ รมว.พาณิชย์ ดำเนินการตรวจสต๊อกปริมาณและคุณภาพข้าวสาร 2.1 ล้านตันขององค์การคลังสินค้า (อคส.) อีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ก่อนหน้านี้ก็มีการตรวจซ้ำไปหลายครั้ง โดยกระทรวงพาณิชย์ รายงานว่าอยากให้ตำรวจชุดเฉพาะกิจเข้าไปตรวจดูอีกครั้ง ว่ามีข้าวหายไปจริงหรือไม่

นายมิ่งขวัญ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า กระทรวงพาณิชย์เข้าไปตรวจสอบหลายครั้ง แต่ครั้งนี้ไม่น่าจะเกิดจากปัญหาข้าวในสต๊อกที่หายหรือไม่ แต่การเข้าไปตรวจสอบถือว่าเป็นนโยบายของตน เพราะการที่เข้าไปตรวจแล้วตรวจอีก เพราะตนเชื่อว่า ขณะนี้ข้าวเปลือกน่าจะมีราคาสูงกว่าทองคำไปแล้ว

ม็อบชาวนาเชียงรายปิดถนนต่อ

ที่ จ.เชียงราย ตั้งแต่เวลา 10.30 น.วานนี้ชาวนา จ.เชียงราย ยังคงปฏิบัติการปิดถนนกดดันรัฐให้ประกันราคาข้าวเปลือกเหนียวไม่จำกัดความชื้น ตันละ 9,000 บาท โดยมีเกษตรกรกว่า 5,000 คน ทั้งจาก อ.พาน อ.ป่าแดด อ.เวียงป่าเป้า โดยวานนี้ได้มีการย้ายที่ชุมนุมจากการปิดถนนซูเปอร์ไฮเวย์สาย อ.พาน-อ.แม่ใจ จ.พะเยา บริเวณบ้านแม่คาวโตน ต.เจริญเมือง อ.พาน จ.เชียงราย ไปเป็นถนนมาทางทิศเหนือราว 3 กิโลเมตรใกล้สะพาน อ.แม่ลาว รอยต่อ อ.พาน เพื่อที่จะสกัดรถทุกชนิดไม่ให้เดินทางลงไปภาคกลางให้เด็ดขาด เพราะชาวนาระบุว่าการปิดถนนยังมีการใช้ทางลัดได้ แต่หากปิดช่วงถนนดังกล่าวจะทำให้การจราจรเป็นอัมพาต เพื่อรัฐจะได้เข้ามาแก้ไขปัญหา

ขณะที่เจ้าหน้าที่ของสำนักงานการค้าภายในได้แจ้งกับกลุ่มเกษตรกรที่มาชุมนุมว่า วันนี้ (14) อธิบดีกรมการค้าภายใน จะเดินทางมาพบและพูดคุยกับกลุ่มเกษตรกรเพื่อแก้ไขปัญหา โดยพร้อมขอความร่วมมือจากทางโรงสีให้รับซื้อข้าวในราคาตันละ 7,000 บาท อย่างไรก็ตาม ทางเกษตรกรส่วนมากไม่ยอมรับราคาดังกล่าว และปักหลักชุมนุมต่อ

ส่วนที่บริเวณสนามหน้าศาลากลางจังหวัดกาฬสินธุ์ นายสำรอง โพธิ์ซก ประธานสมาพันธ์ประชาธิปไตยคนอีสาน พร้อมตัวแทนชาวนากว่า 100 คนเดินทางมาปักหลักชุมนุมประท้วงให้รัฐบาลเข้ามาแก้ไขปัญหาราคาข้าวเปลือกนาปรังเป็นครั้งที่สองโดยมีการเผาหุ่นฟางนายทุนโรงสีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ด้วย

แนะชาวนาปรับตัวลดต้นทุนผลิต

ด้านนายเดชา ศิริภัทร ผอ.มูลนิธิข้าวขวัญ กล่าวว่า ราคาข้าวปีนี้ขยับตัวสูงขึ้นเกือบเท่าตัวทุกคนมองว่าเป็นโอกาสของชาวนา แต่ความเป็นจริงคือ เมื่อข้าวราคาแพงนายทุนก็ฉวยโอกาสกดราคาซื้อข้าวจากชาวนา และค่าเช่าที่นาโดยเฉพาะในเขตภาคกลางอย่างน้อย 40% เป็นนาเช่าก็ปรับเพิ่มขึ้นอย่างมาก บางรายเอานาคืนแล้วจ้างคนอื่นทำ เพราะจะได้กำไรมากกว่าให้เช่ากว่าเท่าตัว โอกาสของชาวนาจะกลับเป็นวิกฤตไม่นับปัจจัยการผลิตทั้งพันธุ์ข้าว ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง ปรับขึ้นหมด ชาวนาต้องแบกรับต้นทุนเพิ่มขึ้น ทำให้ขายข้าวได้กำไรน้อยลง ยิ่งหากราคาข้าวต่ำลงชาวนาก็จะขาดทุนทันที

"ชาวนาที่ใช้ปุ๋ยใช้ยาเพิ่มปริมาณมากขึ้นจะเสียเงินและเสี่ยงต่อการเกิดโรคระบาด เพราะต้นข้าวจะอ่อนแอ ไม่มีภูมิต้านทานต่อโรค ยาปราบศัตรูพืชยังทำลายแมลงดีขณะที่แมลงศัตรูพืชจะดื้อยา ทั้งนี้ข้อมูลที่ทำวิจัยเกี่ยวกับการแพร่รบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล พบว่า เกิดระบาดในทุก 10 ปี ครั้งแรกเมื่อปี 2523 ระบาดกว่า 600,000 ไร่ ปี 2533 จำนวน 3,500,000 ไร่ ซึ่งถือว่าหนักมาก พอมามี 2541 ระบาดอีก 1,800,000 ไร่ มาถึงตอนนี้ 10 ปีแล้วจึงอยากให้ชาวนาระวัง และเตรียมแก้ปัญหาล่วงหน้าโดยหันมาทำนาแบบธรรมชาติใช้สมุนไพรกำจัดศัตรูพืช เพื่อลดต้นทุนและลดความเสี่ยง"

นายเสมียน หงษ์โต ผอ.สถาบันพัฒนาชาวนาไทย กล่าวว่า ต้องการให้รัฐบาลออกกฎหมายเพื่อป้องกันชาวนาถูกเอาเปรียบจากนายทุน และขอให้มีการประกันราคาข้าวให้ชาวนาด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น