xs
xsm
sm
md
lg

พม่าซาบซึ้งในหลวง-ราชินี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน - “โฆษกรัฐ” แถลงผลการส่งตัวแทนเยือนพม่า ระบุ “รัฐบาลพม่า” ซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณที่พระราชทานถุงยังชีพ พร้อมขอบคุณคนไทยที่ช่วยเหลือยามวิกฤติและขอรับถุงยังชีพสภากาชาดไทยเพิ่ม ฝากนายกฯไทยช่วยแจงข่าวกับสำนักข่าวตปท. ยันพม่าไม่ได้เลือกปฏิบัติ เตรียมเปิดเส้นทางส่งของช่วยเหลือทั้งทางบกและทางน้ำ โว “บัน คี มุน” ยกหูขอให้เจรจาให้ชาติอื่นเข้าไปช่วยเหลือ “ไชยา” สั่งการสสจ.ดูแลจังหวัดติดชายแดนพม่าเฝ้าระวังป้องกันโรคระบาดลุกลามเข้าไทย เผยสหรัฐอเมริกาส่งของเข้าช่วยพม่าได้แล้ว

พล.ต.ท.วิเชียรโชติ สุกโชติรัตน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนได้รับมอบหมายจาก นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมให้แถลงเรื่องที่นายนิพัทธ์ ทองเล็ก เจ้ากรมกิจการชายแดน กองบัญชาการทหารสูงสุด กับนายบรรณสาร บุนนาค เอกอัคราชทูตไทยประจำพม่า ได้เดินทางไปพบนายกรัฐมนตรีของพม่าได้มีการเจรจากันและท่านนายกรัฐมนตรีได้มอบสารให้กับคณะผู้แทนในการไปคุยกับนายกรัฐมนตรีของพม่า สรุปแล้วมีข้อความจะนำเรียน 9 เรื่องด้วยกัน

พล.ท.วิเชียรโชติ กล่าวว่า เรื่องที่ 1 รัฐบาลพม่าและประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากภัยพิบัติซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ รวมถึงพระบรมวงศานุวงศ์ที่จัดส่งถุงยังชีพของสภากาชาดไทยไปให้ ทั้งนี้ถุงยังชีพดังกล่าวมีคุณค่ามากที่สุด สิ่งของที่บรรจุในถุงยังชีพได้ใช้ได้จริง ตรงกับความต้องการที่แท้จริง หากเป็นไปได้นายกรัฐมนตรีพม่าขอรับถุงยังชีพของสภากาชาดไทยเพิ่มเติม

2.ขอให้เรียนนายกรัฐมนตรีของไทยว่า รัฐบาลพม่าเปิดรับความช่วยเหลือจากทุกประเทศ มิได้เลือกปฏิบัติ ขอฝากนายกรัฐมนตรีไทยช่วยประชาสัมพันธ์และแก้ไขข่าวจากสำนักข่าวต่างประเทศบางแห่งที่ไม่ประสงค์ดีต่อรัฐบาลพม่า 3.รัฐบาลพม่าอนุญาตให้เครื่องบินซี 130 ของสหรัฐอเมริกาลงจอดเพื่อส่งของบรรเทาทุกข์ได้ ซึ่งเมื่อวานนี้เป็นเที่ยวแรกและยินดีต้อนรับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐอเมริกาที่จะมาพร้อมเที่ยวบินเพื่อมาส่งสัมภาระ 1 เที่ยว และในวันนี้ (13 พ.ค.) จะมาส่งสัมภาระอีก 2 เที่ยว

4.รัฐบาลพม่ากำลังพิจารณาการเปิดด่านเมียวะดี-แม่สอด เพื่อให้มีการขนย้ายสิ่งของทางถนนมาเมืองย่างกุ้ง ซึ่งเป็นเส้นทางที่ใกล้ที่สุดประมาณ 400 กิโลเมตร 5.รัฐบาลพม่าเปิดท่าเรือติระวา ในเมืองย่างกุ้ง เพื่อให้มีการลำเลียงสิ่งของบรรเทาทุกข์ได้อีกทางหนึ่ง ขอให้ประเทศต่างๆติดต่อนำเรือมาส่งสัมภาระได้โดยตรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัสดุก่อสร้าง 6.ขอขอบคุณปตท.ของไทยที่ได้ส่งน้ำมันไฮ-สปีดดีเซล จำนวน 4.8 แสนลิตร ซึ่งจะมาถึงท่าเรือในวันที่ 18 พ.ค. 7.ขอรับการสนับสนุนโทรศัพท์ผ่านดาวเทียมจำนวน 100 เครื่อง ซึ่งในเรื่องนี้ท่านนายกรัฐมนตรีของไทยก็จะขอให้ทางสหรัฐอเมริกาส่งไปให้ 8.เรื่องการขอทำวีซ่าเข้าประเทศพม่าของชาวต่างชาติ ที่จะเข้าพม่านั้น ทางการพม่าจะพิจารณาให้เป็นรายๆไป

พล.ต.ท.วิเชียรโชติ กล่าวอีกว่า อนึ่งเมื่อเวลา 10.00 น. นายบัน คี มุน เลขาธิการสหประชาชาติ ได้โทรศัพท์ถึงนายกสมัคร ขอให้นายกฯได้ช่วยพูดอธิบายความต่อทางการพม่าเพื่อขอให้หน่วยงานทั้งหลายขอเข้าไปช่วยบรรเทาสาธารณะภัย ได้รับการพิจารณาวีซ่าให้เดินทางเข้าไปช่วย ส่วนนายกรัฐมนตรีของไทยจะตัดสินใจเดินทางเข้าไปในพม่าอีกหรือไม่ พล.ต.ท.วิเชียรโชติ กล่าวว่า ยัง

เมื่อถามถึงกระแสข่าวที่พม่าตีตราของพม่าทับของพระราชทานเท็จจริงอย่างไร พล.ต.ท.วิเชียรโชติ กล่าวว่า อันนั้นไม่ใช่เรื่องจริง เป็นความเท็จ เมื่อตรวจสอบแล้วไม่ใช่ เพราะถุงยังชีพที่พระราชทานก็ไปถึงมือของประชาชนโดยมีตราพระราชทานติดอยู่ที่ถุง

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ.ให้สัมภาษณ์ถึงการช่วยเหลือประเทศพม่า ว่า กองทัพบกเตรียมการช่วยเหลือในส่วนของทหารช่าง น้ำดื่ม และแพทย์ทหารแล้ว แต่รัฐบาลและกองทัพไทยจะสั่งการอีกครั้ง ขณะนี้พม่ายังไม่ได้ร้องขอความช่วยเหลือและคิดว่าพม่าจะไม่ร้องขอมา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสมัครสุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้ไปบรรยายเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเมืองไทย แก่นักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) รุ่นที่ 50 ก็ได้พูดถึงเรื่องการเป็นทูตสันถวไมตรีให้พม่าเปิดรับความช่วยเหลือจากต่างชาติด้วย ทั้งนี้ นายสมัครจะเดินทางไปพม่าในวันที่ 14 พ.ค.นี้

ส่วนการที่นายสมัคร จะเดินทางไปเป็นทูตในการเจรจากับพม่าเพื่อขอให้พม่าเปิดรับความช่วยเหลือจากต่างชาตินั้น ตอนนี้ทางกระทรวงการต่างประเทศกำลังพิจารณาว่า จะมีความเหมาะสมหรือไม่ หากนายสมัครจะเดินทางไปพม่าในช่วงนี้

พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี และอดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่า จะเดินทางไปประสานกับรัฐบาลพม่า เพื่อเปิดโอกาสให้นานาชาติเข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากพายุไซโคลน “นาร์กิส” ว่า ตนได้ยินมาเช่นกัน แต่เป็นข่าวลือ เพราะตนไม่ได้อยู่ในฐานะที่จะเข้าไปทำอะไร

หวั่นโรคระบาดลามเข้าไทย

นายไชยา สะสมทรัพย์ รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า ได้สั่งการสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ให้หาข้อมูลและเฝ้าระวังอย่างเต็มที่ เพราะพม่ามีผู้เสียชีวิตล้มตายนับแสนคนมีโรคที่มากับอุทกภัย ซึ่งเป็นโรคที่มองไม่เห็น อีกทั้งได้รับรายงานว่ามีชาวพม่าอพยพข้ามมาทางฝั่งไทยเนื่องจากนี้ความทุรกันดาร อดอยากปากแห้ง จึงต้องป้องกันไม่ให้โรคลุกลามเข้าประเทศ โดยจะขอความเห็นใจเสนอของบประมาณจากสำนักงานคณะหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อช่วยเหลือประชาชนบริเวณจังหวัดที่ติดชายแดนพม่าเพื่อให้ดูแลความเป็นอยู่ได้ทั่วถึงมากขึ้น

นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า สธ.ได้ให้ความช่วยเหลือด้านเวชภัณฑ์ ยารักษาโรค และเครื่องมือแพทย์ กับพม่าแล้วรวมจำนวน 45 ตัน โดยได้เตรียมความพร้อมทีมแพทย์และพยาบาลจำนวน 20 ทีม ทีมละ 5-6 คน ในการรักษาพยาบาล และหน่วยเคลื่อนที่เร็ว 20 ทีม เพื่อควบคุมโรคระบาด โดยมีการขึ้นบัญชีรายชื่อทั้งหมด รอเพียงการอนุญาตเข้าประเทศเท่านั้น
 
“มีความกังวลในส่วนจังหวัดที่ติดชายแดนพม่า กว่า 10 จังหวัด เช่น ราชบุรี ระนอง ประจวบคีรีขันธ์ กาญจนบุรี อุทัยธานี กำแพงเพชร ตาก แม่ฮ่องสอน เชียงราย จะเกิดโรคอหิวาตกโรค โรคไข้เลือดออก ในช่วงนี้ จึงเตรียมความพร้อมในการดูแลให้ความช่วยเหลือเต็มที่”นพ.ปราชญ์ กล่าว

นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ยังไม่มีการร้องขอทีมควบคุมโรคของไทย ซึ่งเรามีความพร้อมด้านเวชภัณฑ์ในการรับมือโรคระบาด 4 หมวดได้แก่ 1 โรคทางเดินอาหารที่มาจากน้ำ ทั้งโรคท้องร่วง อหิวาตกโรค 2 โรคที่นำโดยแมลง ได้แก่โรคมาลาเรีย ไข้เลือดออก 3 โรคทางเดินหายใจ อาทิ หวัด ไข้หวัดใหญ่ และ 4 โรคทางการสัมผัสอาทิ หัด บาดทะยัก ฯลฯ

สหรัฐส่งของเข้าพม่าได้แล้ว

สหรัฐอเมริกาสามารถส่งความช่วยเหลือเข้าสู่พม่าได้เป็นครั้งแรกเมื่อวันจันทร์ (12 พ.ค.) นี้ หลังมีการพันตูทางการทูตทั้งในกรุงย่างกุ้งและกรุงปักกิ่งในช่วงไม่กี่วันมานี้ รวมทั้งการเคลื่อนกำลังเรือรบสหรัฐฯ 2 กองมุ่งหน้าเข้าทะเลอันดามัน

เครื่องบินขนส่งลำเลียง C-130 ลำแรกบรรทุกอาหาร สิ่งของบรรเทาทุกข์ซึ่งรวมทั้งเต็นท์และมุ้งกันยุง บินขึ้นจากสนามบินอู่ตะเภาของไทยตอนบ่าย และในเวลาเย็นสหรัฐฯ ก็ประกาศว่า พม่ายินยอมให้ส่งความช่วยเหลืออีก 2 เที่ยวบินในวันอังคาร ซึ่งเชื่อกันว่าประชาชนพม่ากว่า 1.5-20 ล้านคนกำลังขาดอาหาร น้ำดื่ม ยารักษาโรคและที่พักพิง

"เราจะส่งอีกสองเที่ยวบินบรรทุกความช่วยเหลือบรรเทาทุกวันนี้ (13 พ.ค.) และเราจะส่งต่อไปวันละเที่ยว" เฮ็นเรียตตา ฟอเร (Henrietta Fore) เจ้าหน้าที่ในฝ่ายธุรกิจขององค์การพัฒนาระหว่างประเทศสหรัฐหรือ USAID กล่าว

เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย นายเอริค จอห์น กล่าวในวันจันทร์ว่า เที่ยวบิน C-130 นี้ จะเป็นเที่ยวบินแรกของอีกหลายเที่ยว โลกนี้มีอะไรที่จะเสนอให้แก่พม่ามากมาย

เจ้าหน้าที่สหประชาชาติกล่าวว่า ที่ผ่านมาสามารถให้การช่วยเหลือเป็นอาหารและน้ำดื่มได้เพียงประมาณ 10% ของปริมาณที่ผู้ประสบภัยต้องการเท่านั้น

องค์การสหประชาชาติเตือนอีกครั้งหนึ่งในวันวันจันทร์ ให้ทางการทหารพม่าจะต้องเร่งระดมการช่วยเหลือไปยังประชาชนผู้ประสบเคราะห์อย่างเร็วที่สุด ไม่เช่นนั้นจะมีผู้รอดชีวิตจากพายุเสียชีวิตอีกจำนวนมากจากโรคระบาดและความอดอยากหิวโหย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กๆ

ขณะนี้เจ้าหน้าที่ยูเอ็น 24 คน ยังคงรอวีซ่าเข้าเมืองจากสถานทูตพม่าในประเทศต่างๆ เพื่อเดินทางเข้าไปปฏิบัติงานในประเทศนี้ นายแคเทอรีน แบร็ก (Catherine Bragg) รองหัวหน้าหน่วยกู้ภัยฉุกเฉินของยูเอ็นระบุในคำแถลงที่ออกเมื่อวันจันทร์

สหประชาชาติได้เรียกร้องไปยังรัฐบาลและองค์การต่างๆ เพื่อระดมทุนให้ได้ 187 ล้านดอลลาร์กำลังในการปฏิบัติการกู้ภัยช่วยเหลือเหยื่อไซโคลนนาร์กิสในพม่า

นายจอห์น นีโกรปอนตี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ เดินทางเยือนจีนปลายสัปดาห์ที่แล้ว และได้พบหารือกับรองผู้บัญชาการกองทัพประชาชนจีน ตลอดจนรองประธานาธิบดีของจีน

รัฐมนตรีสหรัฐฯ อีก 1 คนเดินทางเข้ากรุงปักกิ่งในวันจันทร์นี้ซึ่งได้มีการหารือกับฝ่ายจีนในเรื่องความร่วมมือช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมระหว่างสองประเทศด้วย

วันพฤหัสบดีสัปดาห์ที่แล้วเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ และอังกฤษในกรุงเทพฯ ได้เข้าพบหารือนายกรัฐมนตรีของไทย เรียกร้องให้ผู้นำไทยช่วยเจรจาผู้นำทหารพม่าให้ยอมรับการช่วยเหลือจากสหรัฐฯ และประชาคมระหว่างประเทศ

นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีของไทยประกาศในเช้าวันเสาร์ (10 พ.ค.) ว่า จะเดินทางไปหารือกับผู้นำพม่าในวันอาทิตย์ แต่ในตอนบ่ายวันเดียวกันก็ได้ประกาศยกเลิก โดยให้เหตุผลว่า "ติดภารกิจ"

กองเรือรบที่นำโดยเรือจู่โจมยกพลขึ้นบกเอ็สเส็ก (Essex) ของสหรัฐฯ ซึ่งเคลื่อนไปจากอ่าวไทยหลังการฝึกโคบราโกลด์ มีกำหนดดินทางเข้าเข้าสู่เขตทะเลอันดามันในสัปดาห์นี้ ขณะที่เรือรบอีกกองหนึ่งที่นำโดยเรือบลูริดจ์ (Blue Ridge) เดินทางถึงอินโดนีเซียในวันจันทร์และมุ่งเข้าสู่ทะเลอันดามันใกล้เขตน่านน้ำพม่าเช่นเดียวกัน ทั้งนี้เป็นรายงานของสำนักข่าวเอเอฟพี

สหรัฐฯ อ้างว่าเรือทั้งหมดจะไปประจำยังจุดเตรียมพร้อมเข้ากู้ภัยและช่วยเหลือชาวพม่าที่ประสบภัยพิบัติ

เรือรบจากฝรั่งเศสอีก 1 กองที่นำโดยเรือจู่โจมยกพลขึ้นบกมิสตราล (Mistral) ที่ประจำการในอินเดีย มีกำหนดไปถึงเขตทะเลอันดามันในวันพฤหัสบดีนี้ พร้อมสิ่งของความช่วยเหลือน้ำหนัก 30 ตัน

รัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศสให้สัมภาษณ์สุดสัปดาห์ที่ผ่านมาย้ำว่าฝรั่งเศสไม่มีนโยบายจะส่งมอบความช่วยเหลือต่างๆ เหล่านั้นผ่านทางการทหารพม่า แต่จะนำออกแจกจ่ายเองหรือร่วมกับหน่วยงานที่ไม่สังกัดรัฐบาลจากฝรั่งเศสที่ปฏิบัติงานอยู่ในพม่าขณะนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น