ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ – เปิดบทเรียนสินค้าไทยในตลาดจีน วันนี้ยังมุ่งใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัว หรือกวนซี่เป็นช่องทาง “ฝากขาย” เป็นหลัก ไร้แผนพัฒนาแนวทางการค้าระยะยาวทั้งที่มีตลาดรองรับมหาศาล เผย จีน ห้ามทุนต่างชาติ “ค้าปลีก” บีบให้ขายสินค้าผ่าน “นิติบุคคลจีน” เป็นหลัก แถมต้องยึดกฎหมายในประเทศเท่านั้น ชี้บางรายเข้าช่องผิดต้องแบกภาษีสูงเกือบ 200% ทั้งที่แจ้งนำเข้าในพิกัดภาษีแค่ 5%ได้ พร้อมจับตา DC ไทยในคุนหมิง สุดท้ายจะเป็นเพียงแผนจัดพื้นที่ให้ฝากขายเท่านั้นหรือไม่
ขณะที่หน่วยงานรัฐ-เอกชน ทั้งไทย/จีน รวมถึงพม่า – สปป.ลาว ที่เป็นภาคีในสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ ต่างก็รับรู้ว่า หลังถนนคุน-มั่ง กงลู่ หรือคุนหมิง-กรุงเทพฯ , ถนน R3a ผ่าน สปป.ลาว , ถนน R3b ผ่านประเทศพม่า ก่อสร้างเสร็จ จะทำให้ธุรกิจการค้า-การท่องเที่ยว – การลงทุน ตามแนวถนนเหล่านี้เกิดขึ้นอย่างมหาศาล โดยเฉพาะกรณีของ “คุน-มั่ง กงลู่” ที่เกิดขึ้นตามนโยบายมุ่งสู่ตะวันตกของจีน จะกลายเป็นท่อส่งสินค้าขนาดใหญ่ให้แก่สินค้าจากมณฑลทางตอนใต้ของ จีน ผ่านเข้าสู่ประเทศไทย – อาเซียน รวมถึงตลาดโลก ได้สะดวกยิ่งขึ้น
โดยเฉพาะเมื่อข้อตกลงจีน-อาเซียน มีผลบังคับใช้เต็มรูปแบบตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นไป ยิ่งทำให้สินค้าจีน ที่มีราคาถูกอยู่แล้ว มีข้อได้เปรียบมากยิ่งขึ้น อันจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสินค้าไทย และประเทศต่าง ๆ ในแถบอาเซียนอย่างเลี่ยงไม่พ้น ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นแล้วก็คือ กรณี FTA ไทย-จีน
เฉพาะ FTA ไทย-จีน ที่ว่ากันว่า เป็นข้อตกลงที่พิลึกพิลั่น ยุครัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี เพราะนอกจากจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อเกษตรกรไทยมาจนถึงทุกวันนี้แล้ว ยังเป็นข้อตกลงที่กำหนดให้มีผลบังคับใช้หลังสิ้นฤดูลำไยของไทยประจำปี แต่เป็นช่วงที่ผลไม้ของจีนกำลังให้ผลผลิต มิหนำซ้ำสินค้าเกษตรของไทย แม้ไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าตามข้อตกลง กลับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มให้จีน 13%
อย่างไรก็ตาม ทางกลับกันกรณีของไทย จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งหาช่องทางส่งสินค้าทวนน้ำขึ้นไปสู่ จีน ที่มีจำนวนประชากรมากกว่า 1,300 ล้านคน เฉพาะหยุนหนัน 1 ใน 5 มณฑลตอนใต้ของจีน ก็มีประชากรมากกว่า 45 ล้านคน หรือเกือบเท่ากับประชากรไทยทั้งประเทศ และเฉพาะ 5 มณฑลตอนใต้ ก็มีประชากรมากถึง 300 ล้านคน เพียงแต่การส่งสินค้าเข้าสู่ตลาด จีน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษาระเบียบข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ก่อนที่จะกลายเป็นเหยื่อของ “กระแสจีน”
นายเจษฎา จิรพรรณทวี ผู้อำนวยการบริษัท บ้านเบญจวรรณ จำกัด ,อดีตประธานชมรมเชียงใหม่แบรนด์,ผู้ผลิตสินค้าหัตถกรรมประเภทเทียนหอม ที่มุ่งเป้าส่งออกมากกว่า 80%ของกำลังการผลิต เปิดเผยขณะที่นำสินค้าร่วมออกบูทในงาน Thailand Festival in Kunming 2008 ที่มีขึ้นระหว่าง 19-27 เมษายน 25 51 ณ นครคุนหมิง มณฑลหยุนหนัน กล่าวว่า นอกจากเทียนหอมแล้ว บ้านเบญจวรรณ ยังผลิตเครื่องประดับสตรีทำจากแป้ง ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็น Hand Made Product 100% ก่อนหน้านี้เราเคยส่งสินค้าเข้ามาขายผ่านตัวแทนจำหน่ายใน จีน โดยส่งออกผ่านชิปปิ้งที่กรุงเทพฯ ต้องเสียภาษีนำเข้าให้จีนเกือบ 200% ซึ่งถือว่าสูงมาก อีกทั้งต้องขายผ่านคู่ค้าเท่านั้น ไม่ได้ขายปลีกด้วยตนเอง
ล่าสุดเมื่อเขาผ่านการศึกษารายละเอียดพิกัดภาษีของ จีน จาก Customs Import and Export Tariff of the people’s Republic of China ที่ จีน จะกำหนด และจัดพิมพ์เป็นรูปเล่มปีละครั้ง จำหน่ายเล่มละ 260 หยวน ก็สามารถแจ้งเปลี่ยนพิกัดมาอยู่ในหมวดสินค้าหัตถกรรม ซึ่งเสียภาษีนำเข้าเพียง 5% เท่านั้น
ทั้งนี้มีข้อสรุปจากกลุ่มผู้ส่งออกไทยหลายราย มองว่า แนวทางการค้ากับจีน ผู้ประกอบการไทยต้องรับรู้ว่า
1. ประเทศจีนห้ามต่างชาติทำการค้าปลีกในประเทศ (TRADING) แม้จะเข้าร่วมทุนกับคนจีน ก็มีข้อแม้มากมาย ดังนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับระบบการซื้อขายสินค้าในประเทศจีน จำเป็นจะต้องจัดหาตัวแทนจำหน่ายสินค้าที่มีประสิทธิภาพสูงสุด และเพื่อให้การแสวงหาตัวแทนจำหน่ายสินค้าทำได้ในวงกว้าง จำเป็นจะต้องมีสถานที่ทางการค้าที่ถาวร (Follow up Office) ในประเทศจีน
2. ประเทศจีนมีระบบใบอนุญาตนำเข้าและระบบการค้าโควตา โดยเฉพาะสินค้าเกษตรกรรม ซึ่งเป็นสินค้าหลักของไทย ได้แก่ ข้าว น้ำตาล ยางพารา มันสำปะหลัง น้ำมันปาล์ม ฯลฯ แม้ในหลักการระบบนี้จะต้องลดลงตามข้อตกลง WTO แต่ในข้อเท็จจริงก็ยังคงมีอยู่ จำเป็นต้องจัดหาหลักแหล่งของการติดต่อการค้า (จุดพบปะระหว่างผู้ซื้อผู้ขาย) เพื่อช่วยให้หน่วยงานของประเทศจีน สามารถรวบรวมปริมาณความต้องการสินค้าและจัดระดับความต้องการสินค้า และจัดช่องทางนำเข้าให้ได้
3. พ่อค้าจีนไม่นิยมในการใช้บริการของธนาคาร - สถาบันการเงิน ในการค้าขายระหว่างประเทศ เพราะความซับซ้อนในเรื่องระบบบัญชี และการตรวจสอบทางการเงิน ซึ่งเป็นระบบภายในของประเทศจีนเอง
4. จากอุปสรรคทางด้านภาษา วัฒนธรรมทางสังคม ทำให้การค้าขายกับประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ จำเป็นต้องมีความเอาใจใส่คุ้นเคยกับลูกค้าในระดับสูงมาก การมีสถานที่ทางการค้าที่เป็นหลักแหล่งในประเทศจีน (Follow up Office) จะทำให้เกิดความคล่องตัวในการค้าสูงขึ้น
5. มณฑลหยุนหนัน เป็นมณฑลชายแดน จะมีระบบการค้าพิเศษที่เรียกว่า การค้าชายแดน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลในรูปแบบต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก
นางกัลยาณี รุทระกาญจน์ ประธานกรรมการบริษัท มณีต้าหมิง จำกัด ผู้ได้รับใบอนุญาตจัดงานแสดงสินค้า – ขายปลีก จากรัฐบาล จีน ตามนโยบายเปิดพื้นที่ฝั่งตะวันตกเชื่อมกับอาเซียน เพียงรายเดียวอยู่ในขณะนี้ และเป็นนิติบุคคลสัญชาติจีน ที่ถือหุ้นโดยคนไทย 100% มี SMEs แบงก์ร่วมถือหุ้นอยู่ด้วย เปิดเผยว่า อีกประเด็นที่ผู้ประกอบการไทยจะต้องรับรู้ก็คือ กฎหมายการค้าของจีน ซึ่งยึด 1 ไลเซนส์ ต่อ 1 ตัวสินค้า
นางกัลยาณี กล่าวว่า บทเรียนการนำเข้าสินค้าไทยทำตลาดในจีนเคยปรากฏให้เห็นแล้ว คือ หลังจากบริษัทได้ไลเซนส์แสดงสินค้า – ค้าปลีกจากรัฐบาลจีน แล้ว ก็ได้ขอสัมปทานพื้นที่ของการเคหะจีนประมาณ 5,000 กว่า ตร.ม.จัดตั้งเป็นศูนย์แสดงสินค้าไทย-จีน ณ นครคุนหมิง มณฑลหยุนหนัน โดยวางเป้าหมายที่จะให้เป็น "premanent exhibition center"ขนาดเล็ก
ต้นเดือนธันวาคม 2547 บริษัทได้ทดลองเปิดจำหน่ายสินค้าเกษตรและประมงเป็นเวลา 3 วัน ปรากฏว่าสินค้าเกษตรและอาหารแปรรูปของไทยหลายชนิดได้รับความสนใจจากผู้ซื้อชาวจีนจำนวนมาก มียอดสั่งซื้ออยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาท ทำให้บริษัทเตรียมจะเปิดศูนย์แห่งนี้อย่างเป็นทางการอีกครั้งในเดือนมีนาคม 2548 รวมทั้งตั้งเป้าหมายว่าจะมีการจัดแสดงสินค้าไทยในกลุ่มสินค้าเกษตร อาหารแปรรูป และกลุ่มสินค้าแฟชั่นหมุนเวียนอย่างต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 11 ครั้ง/ปี
แต่ปรากฏว่า ในการจัดงานเมื่อ 25 มีนาคม 2548 การนำเข้าสินค้าเข้ามานั้น ต้องถูกตรวจสอบทั้งน้ำหนัก ไม่ว่าจะเป็นลำไยสด ที่ไม่มีใบรับรองผ่านการตรวจโรคพืช สินค้าไทยที่นำมาแสดงกว่า 72% ที่ถูกทางการจีนสุ่มตรวจ มีปัญหาน้ำหนักไม่ตรงกับที่ฉลากระบุ เป็นต้น
นายโสรัต พรหมนารท รองประธานบริษัท มณีต้าหมิง จำกัด บอกว่า บริษัท มณีต้าหมิง มีธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) ร่วมถือหุ้นอยู่ส่วนหนึ่ง ดังนั้น หนึ่งในวัตถุประสงค์ของบริษัท คือ ต้องการพัฒนาผู้ประกอบการขนาดเล็ก ซึ่งการนำเอสเอ็มอีและโอทอปมาเปิดแสดงสินค้าที่คุนหมิง ก็เพื่อตอบสนองวัตถุประสงค์ข้างต้น อย่างไรก็ตาม แม้บริษัทจะดำเนินงานตามเป้าหมายอย่างเต็มที่ แต่ดูเหมือนว่าขาดกระบวนการสนับสนุนจากภาครัฐ
“มณีต้าหมิง เป็นบริษัทต่างชาติ 100% แห่งเดียวที่ได้รับใบอนุญาตจัดงานแสดงสินค้าจากรัฐบาลจีน โดยจุดเริ่มก่อตั้งบริษัทเกิดขึ้นจากนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการเปิดตลาดสินค้าไทยในจีน และเมื่อเราลงทุนไปแล้ว ก็อยากให้หน่วยงานรัฐบาลไทยที่เกี่ยวข้องสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพราะอย่างที่รู้กันว่าภาคเอกชนทำฝ่ายเดียวทำได้ระดับหนึ่ง แต่หากมีภาครัฐคอยหนุนความสำเร็จก็จะเร็วยิ่งขึ้น”
ผู้ประกอบการขนาดเล็ก และโอทอป ได้รับประสบการณ์มากมายในการแสดงสินค้าที่คุนหมิง แต่มีเพียงบางรายเท่านั้นที่สามารถเปลี่ยนประสบการณ์ให้เป็นมูลค่าทางการค้า และอีกจำนวนไม่น้อยที่ความฝันในการโกอินเตอร์ต้องสลายไป ถึงเวลาหรือยังที่รัฐบาลต้องกลับมาดูว่านโยบายเอสเอ็มอี และโอทอป ที่สวยหรูมีความบกพร่องตรงไหน
“หน่วยงานรัฐของไทยบางหน่วยพยายามบอกว่า การค้ากับจีนต้องยึดหลักความสัมพันธ์ส่วนบุคคล หรือกวนซี่ พร้อมกับส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยนำสินค้าไปใส่โสร่ง เป็นสินค้าพม่า เพื่อใช้สิทธิ์เป็นสินค้าชายแดน แต่ในความเป็นจริงแนวทางนี้หากินได้ระยะสั้น ๆ เท่านั้น แต่ถ้าเราทำตามกฎหมายของจีน ได้จากนั้นค่อยใช้กวนซี่ ก็จะกินได้ยาวไม่มีที่สิ้นสุด”
รวมถึงการนำสินค้าไทยเข้าร่วมงานแสดงสินค้าต่าง ๆ ใน จีน โดยแท้จริงแล้ว ไม่สามารถขายปลีกได้ เป็นการนำเข้าสินค้าไทยไปเพื่อ “โชว์ – ให้ทดลองชิม” เพื่อทดลองตลาดเท่านั้น หากจะ “ขายปลีก” จะต้องยื่นขออนุญาตจากหน่วยงานที่รับผิดชอบของ จีน ตามกฎหมายก่อน
นางกัลยาณี กล่าวเสริมอีกว่า มีคำกล่าวในแวดวงการค้ากับจีนว่า ที่จริงแล้วข้าราชการไทย เป็นประเทศที่ไปเยือนจีนมากที่สุด และจีนเองก็รักประเทศไทยมากที่สุด แต่ก็เป็นไทยเองที่ไม่ได้ผลประโยชน์ทางการค้ามากที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ
ตามตัวเลขมูลค่าการค้าระหว่างจีน-ไทย จากกรมพาณิชย์ มณฑลหยุนหนัน ระบุว่า การส่งออกสินค้าจากมณฑลหยุนหนัน ผ่านเข้าชายแดนเชียงราย ปี 2005 มีมูลค่า 129.52 ล้านเหรียญสหรัฐ ปี 2006 มูลค่า 109.19 ล้านเหรียญสหรัฐ ปี2007 มีมูลค่า 156.80 ล้านเหรียญสหรัฐ (ปี 2007 มูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น 43.60%เมื่อเทียบกับปี 2006) ขณะที่การนำเข้าสินค้าจากไทย ปี 2005 มีเพียง 21.50 ล้านเหรียญสหรัฐ ปี 2006 มีมูลค่า 63.41 ล้านเหรียญสหรัฐ และปี 2007 มีมูลค่า 63.41 ล้านเหรียญสหรัฐ
หลายคนเชื่อว่า หลังจากถนนคุน-มั่ง กงลู่ เปิดใช้อย่างเป็นทางการ มูลค่าการส่งออกของหยุนหนัน หรือจีนตอนใต้ ผ่านเข้าสู่ประเทศไทย จะเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว จากเดิมที่เทียบสัดส่วนได้เพียง 1%ของมูลค่าการค้ารวมระหว่างไทย-จีนเท่านั้น แต่มูลค่าสินค้าจากไทยเข้า จีน ผ่านพรมแดนด้านนี้ยังเป็นปัญหาอยู่
เพราะนอกจากกฎระเบียบภายในของ จีน ที่เป็นอุปสรรคต่อการส่งสินค้าเข้า และแม้ว่าข้อตกลงเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน จะมีผลบังคับใช้ก็ตาม แต่สินค้าไทยยังต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มของ จีน ที่กำหนดไว้ที่ สินค้าเกษตรกรรม 13% สินค้าอุตสาหกรรม 17% ซึ่งจะเป็นต้นทุนสำคัญของสินค้าไทยภายใต้ข้อตกลงเขตการค้าเสรี
สิ่งที่ต้องจับตากันต่อก็คือ “ศูนย์กระจายสินค้าไทยใน จีน” โดยเฉพาะกรณีของศูนย์กระจายสินค้าไทยในคุนหมิง ที่กระทรวงพาณิชย์ การันตีสนับสนุนอยู่ ดำเนินการโดย “Yunnan Textile Corporation and Ms Xie Huiqin” ที่ในเอกสารเผยแพร่โครงการะบุตำแหน่งเป็น (a Thailand friend) ในพื้นที่ “Kunming Yunfang Southeast Asia Commercial Center” เนื้อที่ 91,000 ตารางเมตร( ตร.ม.) ซึ่งกำลังถูกร้องเรียนเข้าสู่สำนักงานdkiตรวจเงินแผ่นดิน – ป.ป.ช.
ล่าสุดระหว่าง 17-22 เมษายน 2551 ที่ผ่านมา พ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์ รมช.พาณิชย์ เพิ่งนำคณะ 40 ชีวิต เยือนกรุงปักกิ่ง และคุนหมิง อันมีโปรแกรมเยี่ยมชมศูนย์กระจายสินค้าไทย ณ นครคุนหมิง ด้วย
นัยว่า โครงการนี้มีการผลักดันให้เกษตรกรในเครือข่ายกองทุนฟื้นฟูฯ รวมตัวกันกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินในเครือข่ายของรัฐ เพื่อร่วมกันเช่าซื้อพื้นที่ภายในศูนย์กระจายสินค้าฯดังกล่าว นำสินค้าผลผลิตทางการเกษตรเข้าไปวางทำตลาดใน จีน ผ่านศูนย์ฯ
แต่ว่ากันว่า ในการประชาสัมพันธ์ต่อกลุ่มเป้าหมายในประเทศหลายต่อหลายครั้ง ดูเหมือนยังไม่สามารถชี้แจงถึงความเป็นไปได้ ที่จะนำสินค้าเกษตรไทย ไป “ขายปลีก – ขายส่ง” ผ่านศูนย์ฯแห่งนี้ นอกจากเป็นการ “ขายฝาก” เท่านั้น