ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ – เปิดบทเรียนสินค้าไทยในตลาดจีน วันนี้ยังมุ่งใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัว หรือกวนซี่เป็นช่องทาง “ฝากขาย” เป็นหลัก ไร้แผนพัฒนาแนวทางการค้าระยะยาวทั้งที่มีตลาดรองรับมหาศาล เผย จีน ห้ามทุนต่างชาติ “ค้าปลีก” บีบให้ขายสินค้าผ่าน “นิติบุคคลจีน” เป็นหลัก แถมต้องยึดกฎหมายในประเทศเท่านั้น ชี้บางรายเข้าช่องผิดต้องแบกภาษีสูงเกือบ 200% ทั้งที่แจ้งนำเข้าในพิกัดภาษีแค่ 5%ได้ พร้อมจับตา DC ไทยในคุนหมิง สุดท้ายจะเป็นเพียงแผนจัดพื้นที่ให้ฝากขายเท่านั้นหรือไม่
ขณะที่หน่วยงานรัฐ-เอกชน ทั้งไทย/จีน รวมถึงพม่า-สปป.ลาว ที่เป็นภาคีในสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ ต่างก็รับรู้ว่า หลังถนนคุน-มั่ง กงลู่ หรือคุนหมิง-กรุงเทพฯ, ถนน R3a ผ่าน สปป.ลาว, ถนน R3b ผ่านประเทศพม่า ก่อสร้างเสร็จ จะทำให้ธุรกิจการค้า-การท่องเที่ยว-การลงทุน ตามแนวถนนเหล่านี้เกิดขึ้นอย่างมหาศาล โดยเฉพาะกรณีของ “คุน-มั่ง กงลู่” ที่เกิดขึ้นตามนโยบายมุ่งสู่ตะวันตกของจีน จะกลายเป็นท่อส่งสินค้าขนาดใหญ่ให้แก่สินค้าจากมณฑลทางตอนใต้ของ จีน ผ่านเข้าสู่ประเทศไทย-อาเซียน รวมถึงตลาดโลก ได้สะดวกยิ่งขึ้น
โดยเฉพาะเมื่อข้อตกลงจีน-อาเซียน มีผลบังคับใช้เต็มรูปแบบตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นไป ยิ่งทำให้สินค้าจีน ที่มีราคาถูกอยู่แล้ว มีข้อได้เปรียบมากยิ่งขึ้น อันจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสินค้าไทย และประเทศต่างๆ ในแถบอาเซียนอย่างเลี่ยงไม่พ้น ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นแล้วก็คือ กรณี FTA ไทย-จีน
เฉพาะ FTA ไทย-จีน ที่ว่ากันว่าเป็นข้อตกลงที่พิลึกพิลั่นยุครัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี เพราะนอกจากจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อเกษตรกรไทยมาจนถึงทุกวันนี้แล้ว ยังเป็นข้อตกลงที่กำหนดให้มีผลบังคับใช้หลังสิ้นฤดูลำไยของไทยประจำปี แต่เป็นช่วงที่ผลไม้ของจีนกำลังให้ผลผลิต มิหนำซ้ำสินค้าเกษตรของไทย แม้ไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าตามข้อตกลง กลับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มให้จีน 13%
อย่างไรก็ตาม ทางกลับกันกรณีของไทย จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งหาช่องทางส่งสินค้าทวนน้ำขึ้นไปสู่ จีน ที่มีจำนวนประชากรมากกว่า 1,300 ล้านคน เฉพาะหยุนหนัน 1 ใน 5 มณฑลตอนใต้ของจีน ก็มีประชากรมากกว่า 45 ล้านคน หรือเกือบเท่ากับประชากรไทยทั้งประเทศ และเฉพาะ 5 มณฑลตอนใต้ ก็มีประชากรมากถึง 300 ล้านคน เพียงแต่การส่งสินค้าเข้าสู่ตลาด จีน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษาระเบียบข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ก่อนที่จะกลายเป็นเหยื่อของ “กระแสจีน”
นายเจษฎา จิรพรรณทวี ผู้อำนวยการบริษัท บ้านเบญจวรรณ จำกัด ,อดีตประธานชมรมเชียงใหม่แบรนด์, ผู้ผลิตสินค้าหัตถกรรมประเภทเทียนหอม ที่มุ่งเป้าส่งออกมากกว่า 80% ของกำลังการผลิต เปิดเผยขณะที่นำสินค้าร่วมออกบูทในงาน Thailand Festival in Kunming 2008 ที่มีขึ้นระหว่าง 19-27 เมษายน 25 51 ณ นครคุนหมิง มณฑลหยุนหนัน กล่าวว่า นอกจากเทียนหอมแล้ว บ้านเบญจวรรณ ยังผลิตเครื่องประดับสตรีทำจากแป้ง ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็น Hand Made Product 100% ก่อนหน้านี้เราเคยส่งสินค้าเข้ามาขายผ่านตัวแทนจำหน่ายใน จีน โดยส่งออกผ่านชิปปิ้งที่กรุงเทพฯ ต้องเสียภาษีนำเข้าให้จีนเกือบ 200% ซึ่งถือว่าสูงมาก อีกทั้งต้องขายผ่านคู่ค้าเท่านั้น ไม่ได้ขายปลีกด้วยตนเอง
ล่าสุด เมื่อเขาผ่านการศึกษารายละเอียดพิกัดภาษีของจีน จาก Customs Import and Export Tariff of the people’s Republic of China ที่ จีน จะกำหนด และจัดพิมพ์เป็นรูปเล่มปีละครั้ง จำหน่ายเล่มละ 260 หยวน ก็สามารถแจ้งเปลี่ยนพิกัดมาอยู่ในหมวดสินค้าหัตถกรรม ซึ่งเสียภาษีนำเข้าเพียง 5% เท่านั้น
ทั้งนี้ มีข้อสรุปจากกลุ่มผู้ส่งออกไทยหลายรายมองว่า แนวทางการค้ากับจีน ผู้ประกอบการไทยต้องรับรู้ว่า
1. ประเทศจีนห้ามต่างชาติทำการค้าปลีกในประเทศ (TRADING) แม้จะเข้าร่วมทุนกับคนจีน ก็มีข้อแม้มากมาย ดังนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับระบบการซื้อขายสินค้าในประเทศจีน จำเป็นจะต้องจัดหาตัวแทนจำหน่ายสินค้าที่มีประสิทธิภาพสูงสุด และเพื่อให้การแสวงหาตัวแทนจำหน่ายสินค้าทำได้ในวงกว้าง จำเป็นจะต้องมีสถานที่ทางการค้าที่ถาวร (Follow up Office) ในประเทศจีน
2. ประเทศจีนมีระบบใบอนุญาตนำเข้าและระบบการค้าโควตา โดยเฉพาะสินค้าเกษตรกรรม ซึ่งเป็นสินค้าหลักของไทย ได้แก่ ข้าว น้ำตาล ยางพารา มันสำปะหลัง น้ำมันปาล์ม ฯลฯ แม้ในหลักการระบบนี้จะต้องลดลงตามข้อตกลง WTO แต่ในข้อเท็จจริงก็ยังคงมีอยู่ จำเป็นต้องจัดหาหลักแหล่งของการติดต่อการค้า (จุดพบปะระหว่างผู้ซื้อผู้ขาย) เพื่อช่วยให้หน่วยงานของประเทศจีน สามารถรวบรวมปริมาณความต้องการสินค้าและจัดระดับความต้องการสินค้า และจัดช่องทางนำเข้าให้ได้
3. พ่อค้าจีนไม่นิยมในการใช้บริการของธนาคาร-สถาบันการเงิน ในการค้าขายระหว่างประเทศ เพราะความซับซ้อนในเรื่องระบบบัญชี และการตรวจสอบทางการเงิน ซึ่งเป็นระบบภายในของประเทศจีนเอง
4. จากอุปสรรคทางด้านภาษา วัฒนธรรมทางสังคม ทำให้การค้าขายกับประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ จำเป็นต้องมีความเอาใจใส่คุ้นเคยกับลูกค้าในระดับสูงมาก การมีสถานที่ทางการค้าที่เป็นหลักแหล่งในประเทศจีน (Follow up Office) จะทำให้เกิดความคล่องตัวในการค้าสูงขึ้น
5. มณฑลหยุนหนัน เป็นมณฑลชายแดน จะมีระบบการค้าพิเศษที่เรียกว่า การค้าชายแดน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลในรูปแบบต่างๆ เป็นจำนวนมาก
นางกัลยาณี รุทระกาญจน์ ประธานกรรมการบริษัท มณีต้าหมิง จำกัด ผู้ได้รับใบอนุญาตจัดงานแสดงสินค้า-ขายปลีก จากรัฐบาล จีน ตามนโยบายเปิดพื้นที่ฝั่งตะวันตกเชื่อมกับอาเซียน เพียงรายเดียวอยู่ในขณะนี้ และเป็นนิติบุคคลสัญชาติจีน ที่ถือหุ้นโดยคนไทย 100% มี SMEs แบงก์ร่วมถือหุ้นอยู่ด้วย เปิดเผยว่า อีกประเด็นที่ผู้ประกอบการไทยจะต้องรับรู้ก็คือ กฎหมายการค้าของจีน ซึ่งยึด 1 ไลเซนส์ ต่อ 1 ตัวสินค้า
นางกัลยาณี กล่าวว่า บทเรียนการนำเข้าสินค้าไทยทำตลาดในจีนเคยปรากฏให้เห็นแล้ว คือ หลังจากบริษัทได้ไลเซนส์แสดงสินค้า-ค้าปลีกจากรัฐบาลจีน แล้ว ก็ได้ขอสัมปทานพื้นที่ของการเคหะจีนประมาณ 5,000 กว่า ตร.ม.จัดตั้งเป็นศูนย์แสดงสินค้าไทย-จีน ณ นครคุนหมิง มณฑลหยุนหนัน โดยวางเป้าหมายที่จะให้เป็น “premanent exhibition center” ขนาดเล็ก
ต้นเดือนธันวาคม 2547 บริษัทได้ทดลองเปิดจำหน่ายสินค้าเกษตรและประมงเป็นเวลา 3 วัน ปรากฏว่าสินค้าเกษตรและอาหารแปรรูปของไทยหลายชนิดได้รับความสนใจจากผู้ซื้อชาวจีนจำนวนมาก มียอดสั่งซื้ออยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาท ทำให้บริษัทเตรียมจะเปิดศูนย์แห่งนี้อย่างเป็นทางการอีกครั้งในเดือนมีนาคม 2548 รวมทั้งตั้งเป้าหมายว่าจะมีการจัดแสดงสินค้าไทยในกลุ่มสินค้าเกษตร อาหารแปรรูป และกลุ่มสินค้าแฟชั่นหมุนเวียนอย่างต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 11 ครั้ง/ปี
แต่ปรากฏว่าในการจัดงานเมื่อ 25 มีนาคม 2548 การนำเข้าสินค้าเข้ามานั้น ต้องถูกตรวจสอบทั้งน้ำหนัก ไม่ว่าจะเป็นลำไยสด ที่ไม่มีใบรับรองผ่านการตรวจโรคพืช สินค้าไทยที่นำมาแสดงกว่า 72% ที่ถูกทางการจีนสุ่มตรวจ มีปัญหาน้ำหนักไม่ตรงกับที่ฉลากระบุ เป็นต้น
นายโสรัต พรหมนารท รองประธานบริษัท มณีต้าหมิง จำกัด บอกว่า บริษัท มณีต้าหมิง มีธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) ร่วมถือหุ้นอยู่ส่วนหนึ่ง ดังนั้น หนึ่งในวัตถุประสงค์ของบริษัท คือ ต้องการพัฒนาผู้ประกอบการขนาดเล็ก ซึ่งการนำเอสเอ็มอีและโอทอปมาเปิดแสดงสินค้าที่คุนหมิง ก็เพื่อตอบสนองวัตถุประสงค์ข้างต้น อย่างไรก็ตาม แม้บริษัทจะดำเนินงานตามเป้าหมายอย่างเต็มที่ แต่ดูเหมือนว่าขาดกระบวนการสนับสนุนจากภาครัฐ
“มณีต้าหมิง เป็นบริษัทต่างชาติ 100% แห่งเดียวที่ได้รับใบอนุญาตจัดงานแสดงสินค้าจากรัฐบาลจีน โดยจุดเริ่มก่อตั้งบริษัทเกิดขึ้นจากนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการเปิดตลาดสินค้าไทยในจีน และเมื่อเราลงทุนไปแล้ว ก็อยากให้หน่วยงานรัฐบาลไทยที่เกี่ยวข้องสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพราะอย่างที่รู้กันว่าภาคเอกชนทำฝ่ายเดียวทำได้ระดับหนึ่ง แต่หากมีภาครัฐคอยหนุนความสำเร็จก็จะเร็วยิ่งขึ้น”
ผู้ประกอบการขนาดเล็ก และโอทอป ได้รับประสบการณ์มากมายในการแสดงสินค้าที่คุนหมิง แต่มีเพียงบางรายเท่านั้นที่สามารถเปลี่ยนประสบการณ์ให้เป็นมูลค่าทางการค้า และอีกจำนวนไม่น้อยที่ความฝันในการโกอินเตอร์ต้องสลายไป ถึงเวลาหรือยังที่รัฐบาลต้องกลับมาดูว่านโยบายเอสเอ็มอี และโอทอป ที่สวยหรูมีความบกพร่องตรงไหน
“หน่วยงานรัฐของไทยบางหน่วยพยายามบอกว่า การค้ากับจีนต้องยึดหลักความสัมพันธ์ส่วนบุคคล หรือกวนซี่ พร้อมกับส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยนำสินค้าไปใส่โสร่ง เป็นสินค้าพม่า เพื่อใช้สิทธิ์เป็นสินค้าชายแดน แต่ในความเป็นจริงแนวทางนี้หากินได้ระยะสั้นๆ เท่านั้น แต่ถ้าเราทำตามกฎหมายของจีน ได้จากนั้นค่อยใช้กวนซี่ ก็จะกินได้ยาวไม่มีที่สิ้นสุด”
รวมถึงการนำสินค้าไทยเข้าร่วมงานแสดงสินค้าต่างๆ ในจีน โดยแท้จริงแล้วไม่สามารถขายปลีกได้ เป็นการนำเข้าสินค้าไทยไปเพื่อ “โชว์-ให้ทดลองชิม” เพื่อทดลองตลาดเท่านั้น หากจะ “ขายปลีก” จะต้องยื่นขออนุญาตจากหน่วยงานที่รับผิดชอบของ จีน ตามกฎหมายก่อน
นางกัลยาณี กล่าวเสริมอีกว่า มีคำกล่าวในแวดวงการค้ากับจีนว่า ที่จริงแล้วข้าราชการไทย เป็นประเทศที่ไปเยือนจีนมากที่สุด และจีนเองก็รักประเทศไทยมากที่สุด แต่ก็เป็นไทยเองที่ไม่ได้ผลประโยชน์ทางการค้ามากที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ
ตามตัวเลขมูลค่าการค้าระหว่างจีน-ไทย จากกรมพาณิชย์ มณฑลหยุนหนัน ระบุว่า การส่งออกสินค้าจากมณฑลหยุนหนัน ผ่านเข้าชายแดนเชียงราย ปี 2005 มีมูลค่า 129.52 ล้านเหรียญสหรัฐ ปี 2006 มูลค่า 109.19 ล้านเหรียญสหรัฐ ปี2007 มีมูลค่า 156.80 ล้านเหรียญสหรัฐ (ปี 2007 มูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น 43.60% เมื่อเทียบกับปี 2006) ขณะที่การนำเข้าสินค้าจากไทย ปี 2005 มีเพียง 21.50 ล้านเหรียญสหรัฐ ปี 2006 มีมูลค่า 63.41 ล้านเหรียญสหรัฐ และปี 2007 มีมูลค่า 63.41 ล้านเหรียญสหรัฐ
หลายคนเชื่อว่า หลังจากถนนคุน-มั่ง กงลู่ เปิดใช้อย่างเป็นทางการ มูลค่าการส่งออกของหยุนหนัน หรือจีนตอนใต้ ผ่านเข้าสู่ประเทศไทย จะเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว จากเดิมที่เทียบสัดส่วนได้เพียง 1% ของมูลค่าการค้ารวมระหว่างไทย-จีนเท่านั้น แต่มูลค่าสินค้าจากไทยเข้า จีน ผ่านพรมแดนด้านนี้ยังเป็นปัญหาอยู่
เพราะนอกจากกฎระเบียบภายในของ จีน ที่เป็นอุปสรรคต่อการส่งสินค้าเข้า และแม้ว่าข้อตกลงเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน จะมีผลบังคับใช้ก็ตาม แต่สินค้าไทยยังต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มของ จีน ที่กำหนดไว้ที่ สินค้าเกษตรกรรม 13% สินค้าอุตสาหกรรม 17% ซึ่งจะเป็นต้นทุนสำคัญของสินค้าไทยภายใต้ข้อตกลงเขตการค้าเสรี
สิ่งที่ต้องจับตากันต่อก็คือ “ศูนย์กระจายสินค้าไทยในจีน” โดยเฉพาะกรณีของศูนย์กระจายสินค้าไทยในคุนหมิง ที่กระทรวงพาณิชย์ การันตีสนับสนุนอยู่ ดำเนินการโดย “Yunnan Textile Corporation and Ms Xie Huiqin” ที่ในเอกสารเผยแพร่โครงการะบุตำแหน่งเป็น (a Thailand friend) ในพื้นที่ “Kunming Yunfang Southeast Asia Commercial Center” เนื้อที่ 91,000 ตารางเมตร (ตร.ม.) ซึ่งกำลังถูกร้องเรียนเข้าสู่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน-ป.ป.ช.
ล่าสุด ระหว่าง 17-22 เมษายน 2551 ที่ผ่านมา พ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์ รมช.พาณิชย์ เพิ่งนำคณะ 40 ชีวิต เยือนกรุงปักกิ่ง และคุนหมิง อันมีโปรแกรมเยี่ยมชมศูนย์กระจายสินค้าไทย ณ นครคุนหมิง ด้วย
นัยว่า โครงการนี้มีการผลักดันให้เกษตรกรในเครือข่ายกองทุนฟื้นฟูฯ รวมตัวกันกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินในเครือข่ายของรัฐ เพื่อร่วมกันเช่าซื้อพื้นที่ภายในศูนย์กระจายสินค้าฯดังกล่าว นำสินค้าผลผลิตทางการเกษตรเข้าไปวางทำตลาดใน จีน ผ่านศูนย์ฯ
แต่ว่ากันว่า ในการประชาสัมพันธ์ต่อกลุ่มเป้าหมายในประเทศหลายต่อหลายครั้ง ดูเหมือนยังไม่สามารถชี้แจงถึงความเป็นไปได้ ที่จะนำสินค้าเกษตรไทย ไป “ขายปลีก-ขายส่ง” ผ่านศูนย์ฯ แห่งนี้ นอกจากเป็นการ “ขายฝาก” เท่านั้น