ศูนย์ข่าวเชียงใหม่– “หลินฮุ่ย” แพนด้าตัวเมียยังนิ่งไม่พร้อมผสมพันธุ์ ทั้งที่ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาส่งสัญญาณมีแนวโน้มสูงที่จะเป็นสัด ขณะที่ทีมงานสัตวแพทย์ต้องจัดคอร์สพิเศษกระตุ้นต่อเนื่อง ระบุยังคงมั่นใจเต็มเปี่ยมว่าการผสมพันธุ์ครั้งนี้จะประสบความสำเร็จ
สืบเนื่องจากที่ในช่วงสัปดาห์ที่แล้ว ที่ทีมงานสัตวแพทย์ที่ดูแลแพนด้าของสวนสัตว์เชียงใหม่ ตรวจสุขภาพ “หลินฮุ่ย” แพนด้าเพศเมีย แล้วพบว่าบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์มีการขยายตัว ซึ่งเป็นสัญญาณอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงแนวโน้ม ที่จะเป็นสัดและพร้อมผสมพันธุ์
นายประเสริฐศักดิ์ บุญตระกูลพูนทวี หัวหน้าโครงการวิจัยและจัดแสดงหมีแพนด้าในประเทศไทย เปิดเผยว่า แม้ว่าในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา “หลินฮุ่ย” จะส่งสัญญาณให้เห็นถึงแนวโน้มที่จะเป็นสัด แต่การตรวจวัดระดับฮอร์โมนล่าสุด พบว่า ยังคงอยู่ในระดับปกติ และไม่มีการแสดงพฤติกรรมหรือมีความเปลี่ยนแปลงทางร่ายกายใดๆ ที่บ่งชี้ถึงแนวโน้มที่จะเป็นสัดเพิ่มเติมอีก
อย่างไรก็ตาม การที่จนถึงเวลานี้ “หลินฮุ่ย” ยังไม่เป็นสัด ทั้งๆ ที่ในปีที่ผ่านมาเป็นสัดและทำการผสมพันธุ์ตั้งแต่วันที่ 2 เมษายนของปีที่แล้ว ไม่ได้หมายความว่า “หลินฮุ่ย” มีความผิดปกติ เพราะเวลานี้ยังคงอยู่ในช่วงฤดูผสมพันธุ์ของแพนด้า ที่จะสิ้นสุดในช่วงประมาณเดือนมิถุนายน และก็มีความเป็นไปได้อยู่แล้ว ที่ช่วงเป็นสัดของแพนด้าในแต่ละปี อาจจะเร็วขึ้นหรือช้ากว่าเดิม
ในส่วนของการกระตุ้นการเป็นสัดของ “หลินฮุ่ย” นายประเสริฐศักดิ์ กล่าวว่า ในช่วงนี้มีการเพิ่มช่วงเวลาในการนำ “หลินฮุ่ย” ออกมาอยู่บริเวณส่วนจัดแสดงข้างนอกให้มากขึ้น โดยจะนำตัวออกมาก่อนพระอาทิตย์ขึ้น และนำกลับเข้าคอกหลังพระอาทิตย์ตก เพื่อให้รับรู้โดยสัญชาตญาณว่า เวลานี้เข้าสู่ช่วงฤดูร้อน ที่เป็นช่วงผสมพันธุ์แล้ว เพราะกลางวันยาวนานกว่ากลางคืน
ขณะเดียวกัน จะมีการสร้างโอกาสให้ “ช่วงช่วง” แพนด้าตัวผู้ และ “หลินฮุ่ย” ได้อยู่ใกล้ชิดกันมากขึ้น เช่น ให้มองเห็นกัน การสลับคอกกัก การนำทั้งคู่มาอยู่เทียบกันภายในส่วนจัดแสดง เป็นต้น ซึ่งเชื่อว่าน่าจะมีส่วนช่วยกระตุ้นให้แพนด้าทั้งคู่ มีความพร้อมที่จะผสมพันธุ์มากขึ้น
สำหรับโอกาสประสบความสำเร็จในการผสมพันธุ์แพนด้า หัวหน้าโครงการวิจัยและจัดแสดงหมีแพนด้าในประเทศไทย กล่าวว่า ถึงเวลานี้ทางทีมงานยังคงมีความหวังอย่างเต็มเปี่ยม เพราะในปีนี้ได้มีการเตรียมความพร้อมไว้เป็นอย่างดีในทุกด้าน และพร้อมที่จะทำการผสมพันธุ์แพนด้าได้ในทันทีทุกเวลา
ทั้งนี้ สมมติว่า การผสมพันธุ์ในครั้งนี้ไม่สามารถทำให้ “หลินฮุ่ย” ท้องได้ ก็ไม่ได้หมายความว่า เป็นความล้มเหลวแต่อย่างใด เพราะจากข้อมูลพบว่าการผสมพันธุ์แพนด้า ที่อยู่นอกประเทศจีนนั้น ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2-3 ปีทั้งสิ้น จึงจะประสบความสำเร็จ ขณะที่ไทยเพิ่งทำการผสมพันธุ์ในปีนี้เป็นครั้งที่สองเท่านั้น แต่อย่างน้อยในปีนี้ก็จะทำให้ทราบข้อมูลใหม่เพิ่มขึ้น เกี่ยวกับช่วงเวลาการเป็นสัดของ “หลินฮุ่ย” ซึ่งสามารถนำไปใช้ในการคำนวณช่วงเวลามาตรฐานการเป็นสัดของ “หลินฮุ่ย” ได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ นายประเสริฐศักดิ์ แสดงความเชื่อมั่นว่า ในที่สุดแล้ว “หลินฮุ่ย” จะต้องเป็นสัดในเร็วๆ นี้อย่างแน่นอน เนื่องจากข้อมูลที่มีการบันทึกไว้ยังไม่เคยพบว่า มีแพนด้าสาวที่อยู่นอกประเทศจีนแม้แต่ตัวเดียวที่มีปัญหาการไม่เป็นสัดในช่วงฤดูผสมพันธุ์ ยกเว้นแพนด้าตัวเมียที่เคยมีลูกแล้ว