ศูนย์ข่าวภูเก็ต -บีโอไอสรุปลงทุนภาคใต้ตอนบนไตรมาสแรกปีนี้ ตัวเลขโครงการลดลงจากปีที่แล้วเกือบครึ่ง เหตุไม่ได้เกิดจากนักลงทุนทิ้งพื้นที่ แต่ยังมีโครงการที่ยื่นขอส่งเสริมค้างพิจารณากว่า 20 โครงการ เผยทุนต่างชาติยื่นขอส่งเสริมเตรียมผุดโรงแรมหรูที่ภูเก็ตอีก 5,000 ล้านบาท ขณะที่การลงทุนด้านพลังงานทดแทนมาแรงควบคู่กับอุตสาหกรรมบริการและท่องเที่ยว
นางวนิดา ใหม่กิจเหมา ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ 6 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยถึงการส่งเสริมการลงทุนในช่วงไตรมาสแรกปี 2551 ว่า ช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม 2551 บีโอไอได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุน8 โครงการ และเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันปี 2550 แล้ว จำนวนโครงการลดลงร้อยละ 38.46 โดยเมื่อปี 2550 ในช่วงไตรมาสแรกได้อนุมัติโครงการไปทั้งสิ้น 13 โครงการ ส่วนเงินลงทุนมีทั้งสิ้น 3,128 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 54.49 และการจ้างงานคนไทยลดลงร้อยละ 47.48
สาเหตุที่ทำให้การอนุมัติส่งเสริมการลงทุนลดลง เนื่องจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ยังไม่ได้มอบอำนาจให้คณะอนุกรรมการพิจารณาส่งเสริมโครงการลงทุน ที่มีขนาดตั้งแต่ 80 ล้านบาท ถึง 750 ล้านบาท เป็นผลทำให้โครงการภาคใต้ตอนบนที่ได้ยื่นขอเข้ามาแล้วในช่วงไตรมาสแรกที่ยังรอการพิจารณากว่า 20 โครงการ จึงทำให้โครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในช่วงไตรมาสแรกของปี 2551 ลดลงจากปีที่แล้วมาก
ส่วนปัญหาอื่นๆ ที่จะส่งผลให้การลงทุนลดลงไม่มี เพราะโดยภาพรวมแล้วพื้นที่ภาคใต้ตอนบนยังมีศักยภาพในการดึงดูดนักลงทุนเข้ามาลงทุนอีกมาก โดยเฉพาะการลงทุนทางด้านบริการ และพลังงานทดแทน กำลังได้รับความสนใจจากนักลงทุน
ทั้งนี้ จะเห็นได้จากคำขอส่งเสริมการลงทุนที่เข้ามาในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ที่ยังไม่ได้พิจารณากว่า 20 โครงการ เป็นโครงการลงทุนด้านโรงแรมที่พัก เรือให้เช่า การผลิตพลังงานทดแทนจากวัสดุทางการเกษตรมีสัดส่วนที่สูงกว่าการลงทุนด้านอื่นๆ
การลงทุนด้านโรงแรมที่พัก ที่นักลงทุนจากต่างชาติยังให้การสนใจเข้ามาลงทุนในพื้นที่ภูเก็ตอย่างต่อเนื่อง ไตรมาสแรกได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุนไปแล้ว 1 ราย ที่บริเวณหาดกะรน ชื่อ โรงแรมสิริภูเก็ต ของทุนสิงคโปร์ มีห้องพักทั้งหมด 107 ห้อง ใช้เงินลงทุนกว่า 2,000 ล้านบาท และในคำขอที่ยังไม่ได้พิจารณายังมีอีก 2 โครงการ ลงทุนโรงแรมที่พักอีก 2 โครงการที่เป็นการลงทุนโดยชาวต่างชาติร้อยเปอร์เซ็นต์ จากทุนอังกฤษและทุนสิงคโปร์ ที่บริเวณหาดป่าตองและที่บริเวณอำเภอถลาง ซึ่งทั้ง 2 โครงการ เป็นโครงการขนาดใหญ่ใช้เงินลงทุนโครงการละ 2,600 ล้านบาท และ 2,800 ล้านบาท
นอกจากโรงแรมที่พักแล้ว การลงทุนในส่วนของพลังงานทดแทนก็ได้รับความสนใจจากนักลงทุนมากเช่นกัน เช่น การลงทุนโรงงานผลิตไฟฟ้าจากน้ำเสียจากโรงงานปาล์มหรือไบโอแก๊ส การผลิตไบโอดีเซลจากทะลายปาล์มที่บีบน้ำมันแล้ว ที่ยื่นขอส่งเสริมเข้ามาในขณะนี้มีประมาณ 4-5 โครงการ แต่ยังเป็นโรงงานขนาดเล็กอยู่ ใช้เงินลงทุนโรงงานละประมาณ 2 ล้านบาท ผลิตทั้งเพื่อจำหน่ายและใช้ในกิจการของตนเอง รวมไปถึงธุรกิจเรือให้เช่า การต่อเรือไฟเบอร์กลาส เป็นต้น
การลงทุนส่วนใหญ่ มีขนาดเงินลงทุนอยู่ระหว่าง 20 – 200 ล้านบาท จำนวน 7 โครงการ และมีเงินลงทุนมากกว่า 1,000 ล้านบาท จำนวน 1 โครงการ
สำหรับพื้นที่ที่มีการลงทุนจะอยู่ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี จำนวน 4 โครงการ จังหวัดกระบี่ จำนวน 2 โครงการ จังหวัดภูเก็ต มีจำนวน 2 โครงการส่วนจังหวัดพังงา นครศรีธรรมราช ชุมพร และจังหวัดระนอง ไม่มีโครงการที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมในช่วงไตรมาสแรกปี 2551
แนวโน้มลงทุนขยายตัว
นางวนิดา ยังเผยถึงแนวโน้มการลงทุนภาคใต้ตอนบนในอีก 3ไตรมาสหลังของปี 2551 คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่องและไม่ต่ำกว่าปี 2550 และคาดว่าช่วงกลางปีเป็นต้นไป การลงทุนในภาคใต้ตอนบนจะเริ่มคึกคัก ซึ่งเป็นผลบวกมาจากรัฐบาลได้ประกาศให้ปี 2551 – 2552 เป็น “ปีแห่งการลงทุนไทย” (Thailand Investment (Year 2008-2009) และยังมีแผนกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และเขตอุตสาหกรรมในพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ (Southern Seaboard) เพื่อรองรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมในอนาคต
สำหรับจังหวัดที่มีการลงทุนสูง ได้แก่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ภูเก็ต และกระบี่ ในประเภทกิจการบริการและสาธารณูปโภค รองลงไปได้แก่ ผลิตภัณฑ์จากการเกษตร โดยคาดว่าการลงทุนภาคใต้ตอนบนในปี 2551 จะมีโครงการลงทุนที่ได้รับอนุมัติไม่ต่ำกว่า 58 โครงการ เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านบาท