xs
xsm
sm
md
lg

ยอดลงทุน 14 จว.ใต้ไม่สดใส

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - สถานการณ์การลงทุนในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ไตรมาสแรกลดลง BOI คาดไตรมาส 2 สดใสต้อนรับปีแห่งการลงทุนไทย

นายจำรัส ศรีประสม ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ 5 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ เปิดเผยถึงภาวะการลงทุนใน 14 จังหวัดภาคใต้ไตรมาส 1 ปี 51 และแนวโน้มการลงทุนไตรมาส 2 ว่า

โครงการที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุน 14 จังหวัดภาคใต้ไตรมาสแรกของปีนี้เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกปีที่แล้ว พบว่ามี จำนวน 15 โครงการ ลดลงร้อยละ 28.57 เงินลงทุน 4,795.70 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 46.57 การจ้างแรงงานไทย 3,450 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 34.45 ในขณะที่จำนวนโครงการในไตรมาสแรกของปีที่แล้วมี 21 โครงการ เงินลงทุน 8,975.90ล้านบาท จ้างแรงงานไทย 2,566 คน

สำหรับโครงการที่มีขนาดการลงทุนสูงสุดของไตรมาสคือ โครงการของ บริษัทสิริภูเก็ต จำกัด เป็นโรงแรมขนาด 107 ห้อง เงินลงทุน 2,584 ล้านบาท จ้างแรงงานไทย 408 คน ถือหุ้นโดยชาวสิงคโปร์ทั้งสิ้น ตั้งโครงการที่ จ.ภูเก็ต

รองลงมาคือ โครงการของ บริษัทเซาท์แลนด์รีซอร์ซ จำกัด ผลิตยางแท่ง เงินลงทุน 850 ล้านบาท จ้างแรงงานไทย 266 คน ถือหุ้นโดยคนไทยทั้งหมด ตั้งโครงการที่ จ.สงขลา และอันดับ 3 คือ โครงการของ บริษัทเซาท์แลนด์รับเบอร์ จำกัด ผลิตยางแผ่นรมควัน เงินลงทุน 312 ล้านบาท จ้างแรงงานไทย 397 คน ถือหุ้นโดยคนไทยทั้งหมด ตั้งโครงการที่ จ.ยะลา

ในขณะที่สถานที่ตั้งโครงการอยู่ในพื้นที่ จ.สงขลา 5 โครงการ เงินลงทุน 1,044.10 ล้านบาท สุราษฎร์ธานี 4 โครงการ เงินลงทุน 351 ล้านบาท กระบี่ 2 โครงการ เงินลงทุน 140 ล้านบาท ภูเก็ต 2 โครงการ เงินลงทุน 2,637 ล้านบาท ยะลา 1 โครงการ เงินลงทุน 312 ล้านบาท ตรัง 1 โครงการ เงินลงทุน 1,752 ล้านบาทโดยมี 8 จังหวัดที่ยังไม่มีโครงการที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุน คือ พังงา นครศรีธรรมราช ชุมพร ระนอง พัทลุง นราธิวาส ปัตตานี และสตูล

ในจำนวนโครงการที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนทั้ง 15 โครงการ เป็นโครงการที่มีคนไทยถือหุ้นทั้งสิ้น 6 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 40 ได้แก่ การผลิตเนยขาวและเนยเหลือง ยางแท่ง ยางแผ่นรมควัน ของเล่นจากไม้ การขนถ่ายสินค้าทั่วไป และเรือเฟอร์รี่ การร่วมทุนระหว่างคนไทยกับต่างชาติ (มาเลเซีย อินเดีย) 6 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 40 ได้แก่ น้ำยางข้น 2โครงการ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน การผลิตโครงสร้างโลหะ ที่ใช้ในการก่อสร้าง การผลิตพลังงานไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ 2 โครงการ และต่างชาติถือหุ้น (อังกฤษ สิงคโปร์) 3 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 20 ได้แก่ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เรือยอชต์ และโรงแรม

ทางด้านพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สถิติโครงการที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนตั้งแต่ปี 48-51 (ม.ค.-มี.ค.) มีโครงการที่ได้รับอนุมัติ 56 โครงการ เงินลงทุน 22,335.50 ล้านบาท จ้างแรงงานไทย 11,476 คน โดยโครงการส่วนใหญ่จะมีการลงทุนในจ.สงขลา เป็นหลัก ปี 51 (ม.ค.-มี.ค.) มีโครงการที่ได้รับอนุมัติ 6 โครงการ เงินลงทุน 1,356.10 ล้านบาท การจ้างงานคนไทย 1,157 คน ประกอบด้วย โครงการที่ตั้งใน จ.สงขลา 5 โครงการ ได้แก่ การผลิตน้ำยางข้น ยางแท่ง เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน 2โครงการ และโครงการสร้างโลหะที่ใช้ในการก่อสร้าง และโครงการที่ตั้งใน จ.ยะลา 1 โครงการ คือ การผลิตยางแผ่นรมควัน

นายจำรัส กล่าวอีกว่า สำหรับแนวโน้มการลงทุน 14 จังหวัดภาคใต้ไตรมาส 2 คาดว่าในช่วงกลางปีเป็นต้นไป การลงทุนน่าจะเริ่มคึกคักมากขึ้น เป็นผลมาจากรัฐบาลได้ประกาศให้ปี 51-52 เป็นปีแห่งการลงทุนไทย (Thailand Investment Year 2008-2009) เพื่อเร่งรัดฟื้นฟูความเชื่อมั่นของนักลงทุน และส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย กระตุ้นให้ผู้ประกอบการเดิมปรับตัวเพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทย โดยยังมีมาตรการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและเขตอุตสาหกรรมในพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ (Southern Seabord) และพื้นที่อื่นที่เหมาะสม เพื่อรองรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมในอนาคต

อย่างไรก็ตาม การลงทุนในภาคใต้ ยังมีปัจจัยที่เป็นตัวแปรสำคัญในด้านต่าง ๆ เช่น ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัญหาขาดแคลนแรงงานและวัตถุดิบ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารทะเล ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่เด่นในภาคใต้ รวมถึงสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการตัดสินใจของนักลงทุนทั้งสิ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น