xs
xsm
sm
md
lg

ครม.เงาหวั่นรัฐแทรกแซงแบงก์ปล่อยกู้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ครม.เงาหวั่นรัฐบาลโดยกระทรวงการคลังใช้แบงก์รัฐปล่อยกู้ 1 ล้านล้าน กระตุ้นเศรษฐกิจอาจส่งผลหนี้เสียขยายวงกว้าง เสียหายซ้ำรอยอดีต วอนแบงก์ชาติดูแลอย่างใกล้ชิด

นายศิริโชค โสภา โฆษกพรรคประชาธิปัตย์แถลงภายหลังการประชุม ครม.เงาว่า ที่ประชุมฯ เป็นห่วงกรณีที่กระทรวงการคลัง สั่งให้สถาบันการเงินของรัฐ เป็นเครื่องมือในการสนองนโยบายรัฐโดยการปล่อยสินเชื่อเป็นเงินประมาณ 1.1 ล้านล้านบาท ซึ่งเมื่อ ครม.เงาได้ศึกษาข้อเท็จจริงคิดว่าเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เพราะเมื่อนำเงินส่วนเกินของทุกธนาคารเอกชนมารวมกัน สภาพคล่องส่วนเกินของธนาคารในประเทศทั้งเอกชนและของรัฐมีแค่ 1 ล้านล้านบาท ดังนั้นการที่ธนาคารของรัฐจะสนองนโยบายรัฐบาลโดยการปล่อยสินเชื่อตามจำนวนเงินดังกล่าว ดูแล้วแทบจะเป็นไปไม่ได้
"เมื่อดูประวัติของธนาคารของรัฐที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันธนาคารของรัฐตั้งแต่ตั้งขึ้นมาจนถึงทุกวันนี้ปล่อยสินเชื่อไปปล่อยสินเชื่อไปเพียง 1.3 ล้านล้านบาท ดังนั้นการที่รัฐบาลจะบังคับให้ธนาคารของรัฐปล่อยสินเชื่อในปีเดียว 1.1 ล้านล้านบาทนั้น ย่อมเป็นไปได้ยาก ดังนั้น อยากให้รัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการใช้เงินงบประมาณดีกว่า เพราะการที่รัฐบาล ใช้การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านมาตราการการคลัง โดยบังคับให้ธนาคารของรัฐปล่อยสินเชื่อ เพราะ สั่งง่ายผ่านไม่กี่คน"
ที่ผ่านมา พรบ.หนี้สาธารณะสมัย พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ไม่รวมเอาหนี้จากสถาบันการเงินของรัฐเข้าไปรวม เพราะฉะนั้นก็ดูเหมือนว่ารัฐบาลสามารถที่จะให้ธนาคารทำอะไรก็ได้ เพราะหนี้สาธารณะไม่เคยปรากฎในบัญชีงบประมาณมาก่อน
"ครม.เงาอยากเรียกร้องว่า ถ้ารัฐบาลจะดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านมาตรการคลังโดยการปล่อยกู้เป็นเงิน 1.1ล้านล้านบาท ก็ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้ากำกับมาดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายเหมือนในอดีตที่ผ่านมา" นายศิริโชคกล่าวและว่า หากดูหนี้ของโครงการที่ปล่อยกู้ไปแล้ว 9 โครงการ ของธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) ธนาคารกรุงไทย จำนวน 230,000 ล้าน ที่มีปัญหาหนี้เสียตามมาเป็นจำนวนมาก โดยยังไม่รวมกองทุนหมู่บ้าน ซึ่งตัวเลขหนี้เสียอยู่ที่ประมาณ 35% โครงการพัฒนาวิสาหกิจชุมชน โดย ธ.ก.ส. มีอยู่ 38% เอสเอ็มอีแบงก์ หนี้เสียประมาณ 40 % แต่ตัวเลขหนี้เสียที่ผ่านมารัฐบาลก็มักจะปกปิด ครม.เงาจึงมีความเป็นห่วงว่ารัฐบาลมีมาตราการใดในการแก้ไขปัญหาหนี้เสีย เพราะท้ายที่สุดก็ต้องใช้เงินภาษีของประชาชนเข้าไปดำเนินการ และปัญหาดังกล่าวก็จะส่งผลกระทบต่อการจัดอันดับของประเทศไทยโดยรวม
ผู้สื่อข่าวรายงานกรณีที่กระทรวงการคลังจะสนับสนุนเพิ่มทุนให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐว่า ยังไม่มีความคืบหน้า โดยสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ได้แจ้งขอสนับสนุนการเพิ่มทุนรวม 20,900 ล้านบาท เพื่อรองรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ประกอบด้วย ธอส.ขอเพิ่มทุน 10,000 ล้านบาท เพื่อใช้ปล่อยสินเชื่อให้แก่ประชาชนผู้มีรายได้น้อยได้มีที่อยู่อาศัย ธ.ก.ส.ขอเพิ่มทุน 1,800 ล้านบาท เพื่อใช้เพิ่มขนาดเงินกองทุนให้เพียงพอต่อการขยายการดำเนินงานตามนโยบาย เช่น การปล่อยสินเชื่อให้กับกลุ่มฐานราก การขยายสินเชื่อโครงการกองทุนหมู่บ้าน และโครงการพักชำระหนี้ให้แก่เกษตรกรรายย่อย เป็นต้น ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) ขอเพิ่มทุน 5,000 ล้านบาท เพื่อขยายสินเชื่อแก่ผู้ส่งออก 113,000 ล้านบาท ภายในปี 55 ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ขอเพิ่มทุน 3,000 ล้านบาท.
กำลังโหลดความคิดเห็น