xs
xsm
sm
md
lg

ส.นักข่าววิทยุฯ แถลงจวก "เพ็ญ" บีบให้เป็นพวก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน - สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ ออกแถลงการณ์ประฌาม "จักรภพ" ใช้อำนาจมิชอบหวัง บีบบังคับทางอ้อมหวังควบคุมวิทยุชุมชน ด้วยการยื่นเงื่อนไขไม่จับกุมหากเข้ามาเป็นพวก จี้คลอดอนุกก.ออกใบอนุญาตวิทยุชุมชนให้ถูกต้อง ด้าน "พิเชียร" จองกฐินฟัด "จักรภาพ" กลางบอร์ด อสมท แทรกแซงการทำงานของสื่อรัฐ แถมปูดข้อมูลจนทำให้องค์กรเสียหาย พร้อมเรียกร้องให้รับผิดชอบ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (23 เม.ย.) สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ออกแถลงการณ์เรื่อง "ค้าน จักรภพ จัดระเบียบวิทยุชุมชนโดยดึงเข้าร่วมโครงการรัฐเพื่อต่อรองไม่จับกุม ชี้กำลังจะทำผิดกฎหมาย" โดยมีเนื้อความดังนี้

กรณีที่ นายจักรภพ เพ็ญแข รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มีแนวคิด แก้ไขปัญหาวิทยุชุมชน โดยจะจัดทำโครงการทดลองพัฒนาความร่วมมือระหว่างภาครัฐและวิทยุชุมชน โดยเปิดให้ผู้สนใจเข้าร่วมโครงการ อีกทั้งมีข้อเสนอจะเจรจากับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อละเว้นการจับกุมในช่วงสุญญากาศ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าวด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

1.รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ กำลังใช้อำนาจโดยมิชอบเพื่อควบคุม วิทยุชุมชน การอ้างว่าจะดำเนินมาตรการอย่างเข้มงวดกับผู้ไม่เข้าร่วมโครงการ เท่ากับใช้อำนาจบีบบังคับทางอ้อมให้ผู้ที่ต้องการดำเนินกิจการต่อไป เข้ามาเป็นพวกพ้อง กีดกันผู้ที่มีความเห็นแตกต่างและปฏิเสธความหลากหลาย และการมีข้อต่อรองจะเสนอมิให้ตำรวจจับกุมหากได้เข้าร่วมโครงการก็หมิ่นเหม่ต่อการฝ่าฝืนกฎหมายและส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่รัฐ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

2.บทเฉพาะกาลใน พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เมื่อ 5 มีนาคม 2551 ในมาตรา 78-79 ระบุชัดเจนว่า ระหว่างที่ยังไม่มีองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 เพื่อจัดสรรคลื่นความถี่วิทยุโทรทัศน์และโทรคมนาคม ให้คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนเฉพาะออกใบอนุญาตประกอบกิจการฯ ชั่วคราวมีอายุไม่เกิน 1 ปี

รวมทั้งการกำหนดสัดส่วนผังรายการ โดยทำงานผ่านคณะอนุกรรมการ วิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจากหลายฝ่าย แต่จนถึงขณะนี้คณะอนุกรรมการดังกล่าวยังไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ เพราะคณะรัฐมนตรียังไม่แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 6 คน ตามที่กฎหมายกำหนด ทั้งๆ ที่ กทช. ได้ส่งเรื่องไปให้พิจารณาก่อนหน้านี้แล้ว

ดังนั้น ภารกิจที่สำคัญของรัฐบาลคือการเร่งรัดให้เกิดคณะอนุกรรมการกิจการ กระจายเสียงฯ ซึ่งมีหน้าที่โดยตรงในการแก้ปัญหาวิทยุชุมชนมากกว่าการใช้อำนาจรัฐเข้าไปแทรกแซงหรือกระทำการแทน

3.ปัญหาวิทยุชุมชนเกิดขึ้นยืดเยื้อยาวนานนับตั้งแต่ พ.ศ.2545 การแก้ไขระยะยาว รัฐบาลควรเร่งแก้ไข พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และโทรคมนาคม พ.ศ.2543 เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ที่ระบุให้มีองค์กรอิสระองค์กรหนึ่ง กำกับดูแลการจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ทั้งนี้ ตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญได้ระบุให้เป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลที่จะต้องเร่งรัดให้เกิดกฎหมายเพื่อรองรับองค์กรอิสระ เพื่อจัดสรรคลื่นความถี่วิทยุโทรทัศน์และโทรคมนาคม ภายใน 180 วัน นับตั้งแต่แถลง นโยบายต่อสภาผู้แทนราษฎร แต่จวบจนบัดนี้ ยังไม่มีการดำเนินงานใดๆ จากรัฐบาลชุดปัจจุบัน

สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เห็นว่า หากรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ต้องการแสดงความจริงใจในการแก้ปัญหาวิทยุชุมชนไม่ควรใช้แนวทางแก้ปัญหา โดยสร้างความแตกแยกระหว่างผู้ที่ยอมเป็นพวก กับผู้ที่มีความเห็นแตกต่าง แต่ควรเร่งผลักดันให้เกิดคณะอนุกรรมการกิจการกระจายเสียงฯ ซึ่งมีหน้าที่โดยตรง เพื่อดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามพ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ พ.ศ.2551

นอกจากนี้ ควรต้องเร่งผลักดันกฎหมายเพื่อรองรับองค์กรอิสระดังกล่าว เพื่อให้ การปฏิรูปสื่อวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์เป็นจริง และสามารถแก้ปัญหา วิทยุชุมชนได้โดยเร็ว ไม่เช่นนั้นการกระทำของรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ อาจเข้าข่ายการกระทำผิดกฎหมายและผิดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

อนึ่ง เมื่อวันเสาร์ที่ 19 เม.ย.ที่ผ่านมา นายจักรภพได้เรียกประชุมผู้กอบการ วิทยุชุมชนกว่า 500 แห่งในภาคอีสานที่ จ.ขอนแก่น และเชิญชวนให้วิทยุชุมชนเหล่านั้นเข้าร่วมเป็นเครือข่ายสื่อของรัฐบาล โดยการถ่ายทอดรายการของรัฐบาลวันละ 2-3 ชั่วโมง ซึ่งหากวิทยุชุมชนรายใดเข้าร่วมก็จะช่วยเจรจากับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่ให้เอาผิดกรณีที่วิทยุชุมชนเหล่านั้นยังไม่ได้รับใบอนุญาตตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงฯ ฉบับใหม่

นายพิเชียร อำนาจวรประเสริฐ อดีตสภาร่างรัฐธรรมนูญ 2550(ส.ส.ร.) กล่าวว่าในฐานะเป็นผู้ถือหุ้นรายย่อยของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) จำนวน 2,000 หุ้น จะเล่นงานนายจักรภพ เพ็ญแข ต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นในวันนี้ (24 เม.ย.) ว่า ในการกำกับดูแล อสมท ของ นายจักรภพ เป็นการ ดำเนินการไม่ถูกต้องและสร้างความเสียหายให้แก่องค์กรอย่างมาก เริ่มตั้งแต่เรื่องการส่งสัญญาณปลดนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ ผอ.อสมท. ด้วยการกล่าวคำพูดจูงใจให้บอร์ด อสมท มีความเข้าใจผิด และ เป็นการใช้อำนาจเข้าไปแทรกแซงสื่อโดยตรง

นอกจากนี้ยังมีเรื่องการเปิดเผยข้อมูลลับขององค์กรที่เกี่ยวกับผลประกอบการ ด้วยการนำความลับขององค์กรมาเปิดเผยโดยไม่ได้รับอนุญาต ถือว่าเป็นการทำลาย ความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างประเทศและผู้ถือหุ้นรายย่อย จนทำให้หุ้น อสมท ตกลงไป 1.50 สต. หรือ จาก 29.50 สต. เป็น 28 บาท สร้างความเสียหายกว่า 100 ล้านบาทตามมาในวันถัดไป ดังนั้น นายจักรภพ ในฐานะกำกับดูแลสื่อรัฐต้องรับผิดชอบต่อความเสียหาย ที่เกิดขึ้น

"การปลด ผอ.อสมท. หรือไม่เป็นหน้าที่ของบอร์ด ไม่ใช่หน้าที่หรืออำนาจของ นายจักรภพ ซึ่งการแสดงท่าและคำพูดออกมาแบบนี้ถือเป็นแทรกแซงการทำงานสื่อรัฐ"
กำลังโหลดความคิดเห็น