สมาคมนักข่าววิทยุ ออกแถลงการณ์ประณาม “เจ๊เพ็ญ” ใช้อำนาจโดยมิชอบบีบวิทยุชุมนุม ยื่นเงื่อนไขร่วมโครงการสื่อรัฐ สุมกำลังถ่ายทอดเสียงรัฐบาล ปลอดถูกจับกุม
วันนี้ (23 เม.ย.) สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ได้ออกแถลงการณ์เรื่อง “ค้าน จักรภพ จัดระเบียบวิทยุชุมชนโดยดึงเข้าร่วมโครงการรัฐเพื่อต่อรองไม่จับกุม ชี้กำลังจะทำผิดกฎหมาย” โดยมีเนื้อความดังนี้
กรณีที่ นายจักรภพ เพ็ญแข รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มีแนวคิดแก้ไขปัญหาวิทยุชุมชน โดยจะจัดทำโครงการทดลองพัฒนาความร่วมมือระหว่างภาครัฐและวิทยุชุมชน โดยเปิดให้ผู้สนใจเข้าร่วมโครงการ อีกทั้งมีข้อเสนอจะเจรจากับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อละเว้นการจับกุมในช่วงสูญญากาศ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าวด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
1.รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ กำลังใช้อำนาจโดยมิชอบเพื่อควบคุมวิทยุชุมชน การอ้างว่าจะดำเนินมาตรการอย่างเข้มงวดกับผู้ไม่เข้าร่วมโครงการ เท่ากับใช้อำนาจบีบบังคับทางอ้อมให้ผู้ที่ต้องการดำเนินกิจการต่อไป เข้ามาเป็นพวกพ้อง กีดกันผู้ที่มีความเห็นแตกต่างและปฏิเสธความหลากหลาย และการมีข้อต่อรองจะเสนอมิให้ตำรวจจับกุมหากได้เข้าร่วมโครงการก็หมิ่นเหม่ต่อการฝ่าฝืนกฎหมายและส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่รัฐ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
2.บทเฉพาะกาลในพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เมื่อ 5 มีนาคม 2551 ในมาตรา 78-79 ระบุชัดเจนว่า ระหว่างที่ยังไม่มีองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 เพื่อจัดสรรคลื่นความถี่วิทยุโทรทัศน์และโทรคมนาคม ให้คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนเฉพาะออกใบอนุญาตประกอบกิจการฯ ชั่วคราวมีอายุไม่เกิน 1 ปี รวมทั้งการกำหนดสัดส่วนผังรายการ โดยทำงานผ่านคณะอนุกรรมการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจากหลายฝ่าย แต่จนถึงขณะนี้คณะอนุกรรมการดังกล่าวยังไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ เพราะคณะรัฐมนตรียังไม่แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 6 คน ตามที่กฎหมายกำหนด ทั้งๆ ที่ กทช.ได้ส่งเรื่องไปให้พิจารณาก่อนหน้านี้แล้ว ดังนั้น ภารกิจที่สำคัญของรัฐบาลคือการเร่งรัดให้เกิดคณะอนุกรรมการกิจการกระจายเสียงฯ ซึ่งมีหน้าที่โดยตรงในการแก้ปัญหาวิทยุชุมชนมากกว่าการใช้อำนาจรัฐเข้าไปแทรกแซงหรือกระทำการแทน
3.ปัญหาวิทยุชุมชนเกิดขึ้นยืดเยื้อยาวนานนับตั้งแต่ พ.ศ.2545 การแก้ไขระยะยาว รัฐบาลควรเร่งแก้ไขพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และโทรคมนาคม พ.ศ.2543 เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ที่ระบุให้มีองค์กรอิสระองค์กรหนึ่ง กำกับดูแลการจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ทั้งนี้ ตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญได้ระบุให้เป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลที่จะต้องเร่งรัดให้เกิดกฎหมายเพื่อรองรับองค์กรอิสระ เพื่อจัดสรรคลื่นความถี่วิทยุโทรทัศน์และโทรคมนาคม ภายใน 180 วัน นับตั้งแต่แถลงนโยบายต่อสภาผู้แทนราษฎร แต่จวบจนบัดนี้ ยังไม่มีการดำเนินงานใดๆ จากรัฐบาลชุดปัจจุบัน
สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เห็นว่า หากรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ต้องการแสดงความจริงใจในการแก้ปัญหาวิทยุชุมชน ไม่ควรใช้แนวทางแก้ปัญหาโดยสร้างความแตกแยกระหว่างผู้ที่ยอมเป็นพวก กับผู้ที่มีความเห็นแตกต่าง แต่ควรเร่งผลักดันให้เกิดคณะอนุกรรมการกิจการกระจายเสียงฯ ซึ่งมีหน้าที่โดยตรงเพื่อดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ พ.ศ.2551
นอกจากนี้ ควรต้องเร่งผลักดันกฎหมายเพื่อรองรับองค์กรอิสระดังกล่าว เพื่อให้การปฏิรูปสื่อวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์เป็นจริง และสามารถแก้ปัญหาวิทยุชุมชนได้โดยเร็ว ไม่เช่นนั้นการกระทำของรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ อาจเข้าข่ายการกระทำผิดกฎหมายและผิดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
อนึ่ง เมื่อวันเสาร์ที่ 19 เมษายน ที่ผ่านมา นายจักรภพ ได้เรียกประชุมผู้ประกอบการวิทยุชุมชนกว่า 500 แห่งในภาคอีสานที่ จ.ขอนแก่น และเชิญชวนให้วิทยุชุมชนเหล่านั้นเข้าร่วมเป็นเครือข่ายสื่อของรัฐบาล โดยการถ่ายทอดรายการของรัฐบาลวันละ 2-3 ชั่วโมง ซึ่งหากวิทยุชุมชนรายใดเข้าร่วมก็จะช่วยเจรจากับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่ให้เอาผิดกรณีที่วิทยุชุมชนเหล่านั้นยังไม่ได้รับใบอนุญาตตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงฯ ฉบับใหม่