xs
xsm
sm
md
lg

"ประสพสุข"ยื่นศาล รธน.ตีความคุณสมบัติ"ไชยา"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประธานวุฒิฯยื่นหนังสือถึงประธานศาลรธน. ชี้ขาด"ไชยา" ขาดคุณสมบัติเรียบร้อยแล้ว "คำนูญ" เผย ส.ว.เข้าชื่อ 36 คน ย้ำไม่ใช่เป็นประเด็นการถอดถอน แต่ขณะนี้บ้านเมืองอึมครึม ต้องทำความชัดเจน ส่วนศาลจะวินิจฉัยอย่างไรให้เป็นหน้าที่ศาล "ไพบูลย์" ยันศาลรธน. พร้อมพิจารณาคำร้องถอดถอน หากปธ.วุฒิส่งเรื่องถึงมือ

วานนี้ (18 เม.ย.) ตัวแทนกลุ่ม ส.ว.นำโดย นายประสาร มฤคพิทักษ์ นาย คำนูณ สิทธิสมาน นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา และนางนฤมล ศิริวัฒน ์ส.ว.อุตรดิตถ์ ร่วมแถลงข่าว กรณีที่ได้ยื่นหนังสือต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยคุณสมบัติของนายไชยา สะสมทรัพย์ รมว.สาธารณสุข โดยนายประสาร กล่าวว่าส.ว.ได้เข้าชื่อกันรวม 36 คน โดยมีส.ว.จากการเลือกตั้ง 7 คน และส.ว.สรรหา 29 คน

ขณะนี้นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา ได้ส่งหนังสือไปยังศาลรัฐธรรมนูญเรียบร้อยแล้ว

"ในเมื่อนายไชยา เรียกร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้วินิจฉัย ดังนั้นส.ว.จึงอาศัยช่องทางตรงนี้ เป็นการตั้งเรื่องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ หยิบยกขึ้นมาวินิจฉัย ซึ่งจะเห็นได้ว่า ในสมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรี ก็มีรัฐมนตรีที่มีปัญหาในทำนองนี้เกิดขึ้นเช่นกัน สุดท้ายรัฐมนตรีเหล่านั้นก็ลาออกทันที" นายประสานกล่าว

ด้านนายคำนูณ กล่าวว่า กรณีนี้ ไม่ใช่เป็นประเด็นเรื่องการถอดถอน แต่เป็นเรื่องของคุณสมบัติของรัฐมนตรี ที่ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นลง ตามมาตรา 182 (7) และวรรค 3 ได้กำหนดในบทบัญญัติในมาตรา 91 และ มาตรา 92 มาบังคับใช้ กับการสิ้นสุดของรัฐมนตรี มาตรา 182 วรรค 1 (2),(3) (5) หรือ (7) โดยให้ ส.ส.หรือ ส.ว.จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา มีสิทธิเข้าชื่อร้องต่อประธานแห่งสภาที่ตนเป็นสภามาชิก ว่า สมาชิกภาพของสมาชิกคนใดคนหนึ่งแห่งสภานั้นสิ้นสุดลง

ดังนั้นเมื่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) มีมติว่านายไชยา มีความผิด มาตรา 269 ว่าขาดคุณสมบัติ ซึ่งป.ป.ช.ไม่มีหน้าที่ที่จะชี้ขาดได้ ดังนั้น ป.ป.ช.จึงได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อพิจารณาตามอำนาจหน้าที่ของแต่ละองค์กร

"สิ่งที่วุฒิสภา สามารถทำได้คือ ทำหนังสือถึงศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เพราะขณะนี้บ้านเมืองเกิดความอึมครึมขึ้นมา เพื่อให้ประชาชนเกิดความชัดเจน และสมาชิกวุฒิสภาทั้ง 36 คนจึงทำตามหน้าที่ สุดท้ายศาลจะพิจารณาอย่างไร ก็ให้เป็นหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ" นายคำนูณกล่าว

ด้านนายไพบูลย์ วราหะไพฑูรย์ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ตามตามกระบวนการเมื่อคำร้อง ส่งถึงสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ที่ประชุมคณะตุลาการ จะต้องดำเนินการแต่งตั้งตุลาการประจำคดี เพื่อพิจารณาตรวจสอบที่มาของคำร้อง ว่ามาตามช่องทางตามรัฐธรรมนูญ ถูกต้องหรือไม่ ซึ่งขั้นตอนนี้ตุลาการประจำคดี จะมีเวลาในการพิจารณา 15 วัน หากเห็นว่าควรรับคำร้องไว้วินิจฉัย ก็จะส่งสำเนาคำฟ้องไปยังผู้ถูกร้อง เพื่อให้รับทราบข้อกล่าวหาทันที แต่หากเห็นว่าไม่ควรรับคำร้องไว้พิจารณา ก็จะต้องนำคำร้องเข้าสู่ที่ประชุมตุลาการรัฐธรรมนูญ เพื่อรับทราบต่อไป

เมื่อถามว่า การพิจารณาคำร้องดังกล่าวจะบรรจุไว้เป็นวาระด่วนหรือไม่และการที่ตุลาการรัฐธรรมนูญ ชุดปัจจุบันใกล้จะหมดวาระ จะเป็นปัญหาใน การพิจารณาคดีหรือไม่ นายไพบูลย์ กล่าวว่า เมื่อคดีเข้าสู่ศาลรัฐธรรมนูญ การพิจารณาจะต้องเป็นไปตาม มาตรา 300 วรรค 4 ของรัฐธรรมนูญ เมื่อมีการแต่งตั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญใหม่ ให้โอนบรรดาคดี หรือการที่ค้างดำเนินการให้ไปอยู่ในอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญที่แต่งตั้งขึ้นใหม่ ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องชะลอการพิจารณา ทุกอย่างสามารถดำเนินการไปได้ทันที
กำลังโหลดความคิดเห็น