xs
xsm
sm
md
lg

ถึง คุณมิ่งขวัญ กับ หมอสุรพงษ์

เผยแพร่:   โดย: วริษฐ์ ลิ้มทองกุล

นับถึงเมษายนนี้รัฐบาลชุดนายสมัคร สุนทรเวช ก็ดำรงตำแหน่งมาได้ 2 เดือนกว่าๆ แล้ว ......

ผมคงไม่ต้องกล่าวตอกย้ำให้เกิดความซ้ำซ้อนและความรู้สึกน่าเบื่อหน่ายว่า ตอนนี้บ้านเมืองภายใต้การบริหารของนายสมัครก็นำพาประเทศวนเวียนอยู่ในอ่างน้ำเดิมๆ นั่นก็คือ ตกเข้าสู่วังวนของ “วิกฤตการณ์ทางการเมือง” อย่างเช่นในสมัยเมื่อปี 2548 และ 2549 โดยปมปัญหาสำคัญนั้นเปลี่ยนไปเล็กน้อยคือ ปมการไม่เสียภาษีหุ้นชินฯ ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรและครอบครัว มาเป็น ประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 โดยที่ “ต้นเหตุ” แห่งปัญหานั้นยังคงเดิม คือ พ.ต.ท.ทักษิณและพรรคพวก

ตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปลายปี 2550 ก็เป็นที่รับรู้-รับทราบโดยทั่วกันว่า ณ วันนี้ประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่ไม่ได้คาดหวังอะไรกับรัฐบาลชุดนี้มากเกินกว่าคำว่า “ปากท้อง”

เมื่อดูตัวเลขจากการสำรวจ (โพล) ของหลายๆ สำนักแล้ว ผลก็ชี้ออกมาชัดว่าประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศไม่ได้สนใจหรอกว่ารัฐบาลชุดแรกที่คลอดออกมาจากรัฐธรรมนูญ 2550 นั้นจะเป็น ‘รัฐบาลประชาธิปัตย์’ หรือ ‘รัฐบาลพลังประชาชน’ พวกเขาเพียงหวังว่า รัฐบาลชุดใหม่นี้จะสามารถแก้ไขปัญหาเรื่องค่าครองชีพ ปัญหาเรื่องรายได้ และปัญหาเรื่องสวัสดิการให้เขาได้บ้าง เพราะ ศักราชนี้ ประเทศไทยไม่ได้เผชิญหน้ากับวิกฤตการเมืองแต่เพียงอย่างเดียวแต่ปัญหาจากวิกฤตการเมืองได้แผ่ขยายไปกระทบกับระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ผลการสำรวจของเอแบคโพลล์ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2551 ระบุชัดเจนว่า ปัญหาแรกที่ประชาชนต้องการให้รัฐบาลเร่งแก้ไขในทันทีก็คือปัญหาราคาสินค้าและบริการในชีวิตประจำวันที่สูงขึ้น โดยประชาชนที่เป็นกลุ่มสำรวจมากถึงร้อยละ 75.4 กล่าวถึงเรื่องนี้ เดือนต่อมา ผลสำรวจของกรุงเทพโพลล์ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2551 ก็ออกมาตอกย้ำอีกว่า ประชาชนในกลุ่มสำรวจร้อยละ 40.5 และ ร้อยละ 12.9 ต้องการให้รัฐบาลชุดนี้เข้ามาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และ ปัญหาค่าครองชีพ-หนี้สินอย่างเร่งด่วน (ถือเป็นปัญหาเร่งด่วนอันดับที่ 1 และ 3 ตามลำดับ ส่วนอันดับที่ 2 นั้นคือการแก้ปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้)

ขณะที่ผลสำรวจล่าสุดของเอแบคโพลล์ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 9 มี.ค. 2551 ก็ชี้ให้เห็นว่าประชาชนในกลุ่มสำรวจส่วนใหญ่หรือร้อยละ 78.1 เห็นว่า ปัญหาราคาสินค้าและบริการที่สูงขึ้นเป็นปัญหาสำคัญที่ประชาชนในประเทศกำลังประสบอยู่ ......

สำหรับผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบกับประเด็นปัญหาเศรษฐกิจของประเทศในขณะนี้โดยตรง นอกจากนายสมัครเองที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว บุคคลอีก 2 คนที่มิสามารถหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบในเรื่องนี้ได้เลย คนแรกก็คือ คุณมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ผู้รับผิดชอบปัญหาเรื่องราคาสินค้า ค่าครองชีพ ส่วนอีกคนหนึ่งก็คือ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ผู้รับผิดชอบการดูแลภาวะเศรษฐกิจในภาพรวม

ต้องยอมรับว่า ทั้งคุณมิ่งขวัญ และ นพ.สุรพงษ์นั้นล้วนแล้วแต่เป็นรัฐมนตรีที่มีใบสั่งมาจากนายใหญ่-นายหญิง อย่างไรก็ตามทั้งคู่มีที่มาที่ไปแตกต่างกันอย่างชัดเจน โดยคนหนึ่งมีภาพลักษณ์ของความเป็นมืออาชีพ ส่วนอีกคนนั้นมีภาพลักษณ์ของความเป็นเด็กในบ้านจันทร์ส่องหล้า

ภาพลักษณ์ของความเป็นมืออาชีพของคุณมิ่งขวัญสะท้อนออกมาจากประวัติชีวิตของเขา ...

คุณมิ่งขวัญ เป็นศิษย์เก่าคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ เริ่มชีวิตการทำงานครั้งแรกในแผนกการตลาดที่บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ส ประเทศไทย ก่อนที่จะย้ายไปดูแลงานด้านประชาสัมพันธ์ในระดับผู้อำนวยการฝ่าย ก่อนกระโดดขึ้นไปรั้งตำแหน่งกรรมการบริหาร

ทั้งนี้นอกจากงานในตำแหน่งลูกจ้างที่โตโยต้าแล้ว คุณมิ่งขวัญยังมีหัวทางธุรกิจไม่น้อยด้วยการประกอบธุรกิจรถบรรทุกขนส่ง ธุรกิจค้าเพชร และธุรกิจปั้นดารา โดยอย่างหลังนี่เองที่ทำให้เขาได้รับฉายา “นักสร้างภาพ (Image Maker)” ก่อนที่ในปี 2545 เขาจะเบนเข็มเข้าใกล้ชิดกับวงการเมืองโดยการไปช่วยงานนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านการท่องเที่ยว และในท้ายที่สุดขยับไปคว้าตำแหน่งผู้อำนวยการองค์กรสื่อยักษ์ใหญ่อย่าง อสมท

เมื่อพิจารณาจากประวัติชีวิตของคุณมิ่งขวัญแล้ว ไม่น่าแปลกใจเลยว่า ทำไมในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา รมว.พาณิชย์ผู้นี้จึงออกนโยบายอย่างเช่น การตรึงราคาเนื้อหมูกิโลกรัมละ 98 บาทเป็นเวลา 2 เดือน, SIM มือถือธงฟ้า 1 แสนใบ, การประกาศตรึงราคาสินค้าในรูปแบบโปรโมชันของห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ รวมไปถึงล่าสุดคือการออกลูกโฉ่งฉ่างด้วยการประกาศว่าราคาข้าวน่าจะสูงถึงตันละ 30,000 บาท ซึ่งเป็นการชี้นำตลาดและส่งผลให้เกิดการกักตุนข้าว

ด้วยผลงานการดูแลราคาสินค้า-ค่าครองชีพ อันล้มลุกคลุกคลานและล้มเหลวอย่างต่อเนื่องเช่นนี้ ทำให้ประชาชนจำนวนไม่น้อยเริ่มเห็นแล้วว่า คุณมิ่งขวัญเหมาะที่จะเป็นนักการตลาด-นักโฆษณา-นักประชาสัมพันธ์มากกว่า ผู้ที่เหมาะสมจะมาดูแลกระทรวงพาณิชย์ ดูแลเรื่องปัญหาราคาสินค้าและค่าครองชีพของประชาชน เพราะนโยบายแต่ละอย่างที่ออกมาล้วนแล้วแต่เป็นนโยบายสร้างภาพหรือนโยบายที่แตะเพียงเปลือกของปัญหาเท่านั้น แต่ไม่ได้เคยที่จะมีการแก้ไขในระดับโครงสร้างหรือแก่นแกนของปัญหาราคาสินค้าเลย

นอกจากนี้ ในส่วนของปัญหาราคาสินค้าที่สำคัญและส่งผลกระทบต่อประชาชนมากที่สุดอย่าง ราคาก๊าซ ราคาน้ำมัน คุณมิ่งขวัญก็ไม่เคยที่จะแสดงทีท่าไป แทรกแซง ขอความร่วมมือหรือขอดูต้นทุนการผลิตจากพล.ท.หญิง พูนภิรมย์ ลิปตพัลลภ รมว.กระทรวงพลังงาน หรือ ปตท. บริษัทผู้ผูกขาดการผลิต การกลั่น และการจำหน่ายก๊าซและน้ำมันแต่อย่างใดเลย

นี่แหละที่ประชาชนทั่วไปเขากังขา!


ด้าน นพ.สุรพงษ์ ลูกพ่อค้า อดีตคนเดือนตุลาฯ ที่เบนเข็มจากการประกอบวิชาชีพแพทย์มาประกอบธุรกิจ และ เบนเข็มจากผู้ต่อต้านอำนาจรัฐมาสู่ตำแหน่งผู้กุมอำนาจรัฐ ในช่วง 6-7 ปีที่ผ่านมา นพ.สุรพงษ์ได้พิสูจน์ตัวเองแล้วว่าเขาเป็นคนของบ้านจันทร์ส่องหล้าตัวจริง เพราะ ไม่ว่า พ.ต.ท.ทักษิณและคุณหญิงพจมานจะจับไปนั่งตรงไหนจุดใดเขาก็ยินยอมพร้อมใจไปหมด ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่ง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (พ.ศ.2544-2545) , รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (2545-2548) , โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (2548-2549) และล่าสุดในตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

กระนั้นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ผลงานในกระทรวงการคลังก็เป็นที่พิสูจน์แล้วว่า ตำแหน่ง “ขุนคลัง” ของสยามประเทศนั้นไม่ใช่ว่าใครหน้าไหนก็สามารถมานั่งได้ อย่าว่าแต่ “หมอ” หรือ “พยาบาล” เลย เพราะแม้แต่นักเศรษฐศาสตร์เข้ากระดูกดำอย่าง นายธารินทร์ นิมมานเหมินท์, นายทนง พิทยะ, ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล หรือ นายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ ต่างก็เคยตกม้าตายกับปัญหา การเงิน-การคลัง ตลาดเงิน-ตลาดทุน ของประเทศไทยในยุคโลกาภิวัตน์มาแล้วทั้งสิ้น

ยังมิพักต้องกล่าวถึง สถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยในปัจจุบัน ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยที่ซับซ้อนเกินกว่า คนทั่วๆ ไปจะมองออก ซึ่งในที่สุดแล้วคนที่ไม่ประสีประสาเรื่องเศรษฐกิจมหภาคอย่าง นพ.สุรพงษ์ ก็คงได้แต่ทำตามกรอบใบสั่งของนายใหญ่และข้าราชการประจำ คือ การปล่อยให้ธนาคารแห่งประเทศไทยบริหารนโยบายการเงินไปเรื่อยๆ ส่วนตัวเองก็ดำเนินนโยบายการคลังแบบประชานิยม ไม่ว่าจะเป็นการลดภาษี, การปล่อยสินเชื่อให้รากหญ้า และเงินกองทุนประเภทต่างๆ

ในฐานะขุนคลังเบอร์ 1 ของ นพ.สุรพงษ์มิอาจปฏิเสธการแบกรับภาระเศรษฐกิจอันหนักอึ้งของประเทศ ณ เวลานี้ได้เลย เพราะ หากกวาดตามองไปยัง ขุนคลังเบอร์รองอย่าง นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ และนางระนองรักษ์ สุวรรณฉวีแล้ว ทั้งคู่ต่างก็เป็นตัวปลอมด้านเศรษฐกิจและการคลังทั้งสิ้น อีกทั้งยังเป็นรัฐมนตรีโควตาพรรคร่วมรัฐบาลที่ไม่มีแรงกดดันเป็น ความคาดหวังของกลุ่มผู้ที่เลือกพรรคพลังประชาชนอีกด้วย

สุดท้าย ในฐานะประชาชนคนหนึ่งตัวผมเองก็ยังคงมีความหวังนะครับ หวังว่าภายในวาระครบรอบ 6 เดือนของการบริหารงานของรัฐบาลชุดนี้หรือภายในไตรมาสที่สามของปี 2551 นี้ หากไม่เกิดจุดหักเหทางการเมืองเสียก่อน ผมและประชาชนชาวไทยคงจะได้เห็นผลลัพธ์และพัฒนาการของการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจจากคุณมิ่งขวัญและคุณสุรพงษ์ที่เป็นชิ้นเป็นอันบ้าง มิฉะนั้น ก็คงได้แต่อวยพรให้ทั้งสองท่านไปที่ชอบๆ ล่ะครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น