xs
xsm
sm
md
lg

ปชป.บุก"HI 5"สร้างฐานเสียงสู่เป้าหมายรัฐบาลพรรคเดียว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปชป. รุกคืบยึดฐานเสียงจากเว็ปไซด์สุดฮอต "HI 5" หวังเป็นตัวช่วยเพิ่มที่นั่งส.ส.ให้ถึง 240 เสียง หลังประเมินอุณหภูมิการเมืองไทยสุดร้อน อาจส่งให้เลือกตั้งครั้งใหม่มาเร็วกว่าที่คาดคิด

ท่ามกลางเสียงอึกทึก ครึกโครม ที่ฝ่ายรัฐบาล และพรรคพลังประชาชน กำลังประโคมเร่งรัดให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2550 โดยด่วน ขณะเดียวกันก็มีเสียงคัดค้านอย่างหนักจากหลายฝ่าย ประกอบกับจะมีการตัดสินคดีความผิดต่างๆ ที่ค้างคาอยู่ในศาล ของนักการเมืองบางกลุ่ม ก็กำลังทยอยออกมาในเร็วๆนี้ ดูจะเป็นตัวเร่งให้ปรอททางการเมืองไทยพุ่งปรี๊ด หลายปัจจัยเกิดขึ้นอย่างควบคุมไม่ได้ จนผู้สันทัดกรณีหลายคนวิเคราะห์ว่า การเลือกตั้งครั้งใหม่อาจจะมาเร็วกว่าที่คาดการณ์กันไว้
ไม่เว้นแม้แต่แกนนำของพรรคประชาธิปัตย์เอง ก็มีการประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ชนิดวันต่อวัน ประเด็นเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมือง จึงถูกนำมาพิจารณาในที่ประชุม ส.ส.ของพรรคทุกสัปดาห์ เพื่อซาวเสียงจากสมาชิกพรรค ก่อนนำมาประกอบการจัดทัพ เพื่อเตรียมรับมือหากสถานการณ์สุกงอมจนนำไปสู่การยุบสภา ซึ่งเป็นทางออกสุดท้าย ที่ผู้นำในระบอบประชาธิปไตยนิยมทำกัน
แม้พรรคประชาธิปัตย์ จะเป็นพรรคที่มีวัฒนธรรมเก่าแก่ มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว อยู่คู่บ้านคู่เมืองมาเป็นเวลากว่า 60 ปี ฉะนั้นการเปลี่ยนแปลงความคิด แนวทางการต่อสู้ ย่อมต้องใช้เวลา เปรียบเหมือนรถสิบล้อ จะเบรก จะเลี้ยวอาจจะไม่คล่องตัวเหมือนกับรถเล็ก แต่ท้ายที่สุดก็จะไปถึงจุดมุ่งหมาย วันนี้พรรคฯได้ปรับตัวไประดับหนึ่งแล้ว และในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ก็ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า พรรคฯได้นำนโยบายมาเป็นจุดขาย และก็ได้ประสบความสำเร็จไปอีกขั้นหนึ่ง โดยสามารถนำส.ส. เข้าสภามากที่สุดในประวัติศาสตร์ของพรรคฯ คือได้ถึง 164 คน
ถึงวันนี้ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกมาประกาศตั้งเป้าหมายในการต่อสู้ทางการเมืองว่า ในการเลือกตั้งครั้งหน้า พรรคประชาธิปัตย์ จะเป็นรัฐบาลพรรคเดียว นั่นคือต้องมีเสียงในสภาอย่างน้อย 240 เสียง
มีหลายคนตั้งคำถามตามมาทันทีว่า พรรคประชาธิปัตย์จะทำได้อย่างไร ขนาดได้เปรียบทุกอย่างในการเลือกตั้งคราวที่แล้ว ยังทำได้แค่ 164 เสียง แล้วการเลือกตั้งคราวหน้า ที่อาจจะเกิดขึ้นอีกครั้งในไม่ช้า พรรคจะทำได้อย่างไร เพราะต้องต่อสู้กับพรรครัฐบาลที่จะต้องเป็นรัฐบาลรักษาการ ซึ่งได้เปรียบทุกประตู
อย่างไรก็ตาม แกนนำพรรคประชาธิปัตย์ วิเคราะห์ในประเด็นนี้ว่า จริงๆ แล้วหลักการชนะการเลือกตั้ง อยู่ที่ว่า จะทำอย่างไรจึงจะเข้าไปนั่งอยู่ในใจประชาชนให้ได้มากที่สุด พรรคการเมืองในต่างประเทศจึงมีการจ้างผู้เชี่ยวชาญทางการตลาด มาทำการรณรงค์การหาเสียง โดยมีการกำหนดกลุ่มเป้าหมาย และพฤติกรรมของผู้ใช้สิทธิ์ โดยมีการใช้เทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์ หลักวิชาการ เข้ามาเสริมอย่างเห็นได้ชัด พรรคประชาธิปัตย์ ก็เช่นกัน มีการใช้หลักวิชาการเพิ่มมากขึ้น ฉะนั้นจึงมีการกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนขึ้น โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ
1. กลุ่มที่เลือกพรรค คู่แข่งอย่างพรรคพลังประชาชน 2. กลุ่มที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด และ3 . กลุ่มที่เป็นแฟนพันธุ์แท้ของพรรคประชาธิปัตย์
ดังนั้น โจทย์ที่พรรคประชาธิปัตย์ ต้องตีให้แตกคือ ทำอย่างไรให้คนที่เลือกพรรคพลังประชาชน หรือกลุ่มที่ 1 ย้ายมาอยู่กลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด และทำให้กลุ่มที่ 2 ย้ายมารวมกลุ่มที่ 3 คือ เลือกพรรคประชาธิปัตย์เท่านั้น
ทั้งนี้ หากวิเคราะห์ตามหลักของพฤติกรรมผู้บริโภคแล้ว การที่จะทำให้คนที่อยู่ในกลุ่มที่เลือกพรรคพลังประชาชน ย้ายมาอยู่กลุ่มที่เลือกพรรคประชาธิปัตย์ ถือเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากมาก เพราะฉะนั้นเป้าหมายที่พรรคประชาธิปัตย์ จะต้องทำคือ ทำอย่างไร จึงจะจัดการได้ตามแผนกลยุทธ์ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น
แนวทางในการกำหนดยุทธศาสตร์ดังกล่าว หนีไม่พ้นที่จะต้องใช้รูปแบบของการหาเสียงทางอ้อม คือ ทำอย่างไรให้คนเหล่านี้รู้สึกว่า ไม่ควรที่จะเลือกพรรค พรรคพลังประชาชนอีกต่อไป แต่ไม่จำเป็นต้องเลือกพรรคประชาธิปัตย์ ก็ได้ เรียกได้ว่าเป็นการตัดตอน ซึ่งวิธีการก็คือ การใช้เวทีสภาสะท้อนให้ประชาชนได้เห็นข้อมูล ข้อเท็จจริงทางการเมืองที่เกิดขึ้น ว่า "เลือกใครจึงจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติมากที่สุด" แทนที่จะเป็นการหาเสียงในลักษณะยัดเยียดว่า พรรคประชาธิปัตย์ ดีกว่าคนอื่น และต้องเลือกพรรคนี้เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงทางการเมืองนั้น ต้องให้เกียรติว่า ประชาชนชอบที่จะคิด และตัดสินใจเอง ดังนั้นยุทธศาสตร์ จึงต้องเปลี่ยนไปตามพัฒนาการทางการเมืองของประชาชน
ถึงเวลาแล้ว ที่แกนนำพรรคประชาธิปัตย์ จะต้องปรับแผนยุทธศาสตร์ให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง จากเดิมที่พรรคใช้เวทีสภาเพียงอย่างเดียว เพื่อแสดงผลงาน เก็บเกี่ยวคะแนนนิยมไปเรื่อย ๆ ก็ควรจะหาช่องทางอื่นๆ ที่จะสามารถสื่อสารกับประชาชนทุกกลุ่มให้ได้มากที่สุด ซึ่งจะสังเกตได้จากการที่พรรคปรับยุทธศาสตร์เน้นให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งในท้องถิ่นมากขึ้น เพื่อที่จะสร้างเครือข่ายให้ได้มากที่สุด อันจะเป็นประโยชน์ในการเชื่อมโยงการทำงานระหว่างส่วนกลางกับประชาชนระดับรากแก้ว รากหญ้า และเมื่อพรรคสามารถแทรกซึมเข้าไปอยู่ในใจของคนระดับล่างได้มากขึ้น ก็เท่ากับว่า พรรคประสบความสำเร็จในการชิงพื้นที่ จากพรรคพลังประชาชน
นอกจากการหาเสียงทางตรงแล้ว พรรคประชาธิปัตย์จะต้องเน้นแนวทางการหาเสียงทางอ้อม เหตุเพราะยังมีคนไทยอีกเป็นจำนวนมาก ที่ไม่ค่อยสนใจสถานการณ์การเมืองเท่าที่ควร จึงมีความจำเป็นที่จะต้องอาศัยกลวิธีแฝงเข้าไปกับสื่อต่างๆ เพื่อที่จะเชื่อมไปถึงคนกลุ่มนั้นๆ ซึ่งในอดีต พรรคประชาธิปัตย์ค่อนข้างจะละเลยในเรื่องนี้อยู่พอสมควร แต่ปัจจุบันพวกเขาเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับคนกลุ่มนี้เพิ่มมากขึ้น จะเห็นได้จากการที่พลพรรคของประชาธิปัตย์ จากที่เคยไม่มีความรู้ในด้านเทคโนโลยีเท่าที่ควร ก็เริ่มหันมาให้ความสำคัญ และศึกษาอัพเกรดให้กับตนเองกับการใช้เครื่องมือไฮเทคโนโลยี กันอย่างคึกคัก
ยกตัวอย่าง การหันมาจับกระแสวัยรุ่น ตามเว็บไซต์ต่างๆ อาทิ HI 5 ที่มีสมาชิกเข้าอ่านจำนวนมหาศาล จะเห็นว่ามี ส.ส.หลายคนอาศัยช่องทางนี้เข้าหาคะแนนนิยมจากประชาชนอย่างทั่วถึง อาทิ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคที่มีแฟนคลับเข้าอ่านเป็นแสนคน ขณะที่ลูกพรรคคนอื่นไม่ว่าจะเป็น นายศิริโชค โสภา นายกรณ์ จาติกวณิช นายนิพนธ์ บุญญามณี นายสาธิต ปิตุเตชะ นายนราพัฒน์ แก้วทอง ฯลฯ
หลายคนมีสมาชิกร่วมหลักหมื่น ทำให้ลูกพรรคคนอื่นเริ่มใช้แนวทางนี้เจาะกลุ่มเป้าหมายวัยรุ่น เพื่อเพิ่มความนิยมให้กับตัวเอง และพรรคประชาธิปัตย์มากขึ้นเป็นลำดับ
กลยุทธ์เหล่านี้อาจเรียกได้ว่า ประสบความสำเร็จพอสมควร เพราะทำให้พรรคได้รับความสนใจจากคนรุ่นใหม่มากขึ้น จากเดิมที่แฟนพันธุ์แท้ของประชาธิปัตย์ จะอยู่ในช่วงวัยกลางคนขึ้นไป ดังนั้นหากยึดตามแนวทางนี้ฐานเสียงของพรรคก็จะขยายมากขึ้น เพียงแต่ว่าโจทย์สำคัญที่ตามมาคือ จะทำอย่างไร ให้ความสนใจนั้นแปรเปลี่ยนมาเป็นคะแนนเสียง และความยึดมั่นต่อพรรคในภายภาคหน้า
ไม่เพียงแค่การนำไฮเทคโนโลยีมาใช้ให้เป็นประโยชน์ทางการเมืองเท่านั้น ประชาธิปัตย์ ยังมีการปรับโครงสร้างพรรค โดยใช้จังหวะที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 กำหนดให้พรรคการเมือง ต้องทำข้อบังคับขึ้นใหม่ ปรับองคาพยพกันครั้งใหญ่ โดยลดจำนวนกรรมการบริหารพรรค จากเดิมที่มี 49 คน ให้เหลือเพียง 19 คน ซึ่งหากมองผิวเผินแล้ว คนอาจคิดว่า พรรคปรับโครงสร้างครั้งนี้เพื่อรับมือกับกฎหมายเลือกตั้ง ที่เมื่อมีการทุจริตแล้วอาจลามไปถึงยุบพรรค และตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรค เพื่อจะได้ลดจำนวนผู้ที่เสี่ยงต่อการถูกตัดสิทธิ์ ให้ลดลง
อย่างไรก็ตาม ระดับแกนนำของพรรค ได้อธิบายว่า จุดประสงค์ที่แท้จริงคือ การเปิดโอกาสให้หัวหน้าพรรคฯได้สร้างทีมงานของตนเอง จากเดิมที่โครงสร้างเก่าไม่เปิดโอกาสเท่าที่ควร ทำให้หัวหน้าพรรคไม่มีทีมงานที่แข็งแกร่งในการช่วยคิด หรือแม้แต่วางแผนในเชิงรุก ซึ่งถือเป็นการแปรวิกฤตให้เป็นโอกาส แต่จะทำได้มากน้อยเพียงใด ก็คงต้องขึ้นอยู่กับความเป็นผู้นำของหัวหน้าพรรคด้วย เพราะองค์ประกอบของพรรค หัวหน้าไม่ได้มีสิทธิ์ตัดสินใจเด็ดขาดเหมือนกับพรรคการเมืองอื่น
การที่พรรคจะก้าวหน้าไปได้อย่างเต็มที่ จึงขึ้นอยู่กับการเมืองภายในพรรค ที่ต้องรู้จักสงบศึกภายใน เพื่อไปรบกับศัตรู แทนที่จะตั้งแง่ระหว่างกัน เพราะหากเป็นเช่นนั้น ไม่ว่าจะปรับโครงสร้างหรือวิธีการทำงานอย่างไร สุดท้ายกับดักที่พรรคไม่สามารถก้าวพ้น คือ ตัวเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น