xs
xsm
sm
md
lg

“พลังแม้ว”อีสานโหมตีปี๊บสนอง“หมัก” ดันผัน‘โขง-เลย-ชี-มูล’ผลาญ 72,500 ล.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

น้ำโขงช่วงที่ผ่านจ.เลย จุดเริ่มของโครงการผันน้ำโขง เลย ชี มูล เมกะโปรเจกต์ของพลังประชาชน ที่คาดว่าจะผลาญงบประมาณของชาติมากถึง  7 หมื่นกว่าล้านบาท
ศูนย์ข่าวนครราชสีมา – กลุ่มนักการเมืองและส.ส.พลังแม้วอีสานร่วมองค์กรเครือข่ายและผู้ว่าฯ สัมมนาพร้อมลงนามผลักดันโคตรเมกะโปรเจกต์ ผันน้ำโขงลอดอุโมงค์สู่ลำน้ำสายหลักภาคอีสาน ภายใต้“โครงการเลย-ชี-มูล” สนองลมปาก“หมัก”รัฐบาลหุ่นเชิด อ้างต่อยอด “โครงการโขง-ชี-มูล”ผลาญงบฯ 72,500 ล้าน ชี้ผันผ่านน้ำท่อและคลองเปิดด้วยระบบแรงโน้มถ่วงโลกป้อนพื้นที่เกษตร 35 ล้านไร่ สร้างฝันเนรมิตคนอีสานหลุดพ้นความยากจนเข้าสู่ยุคเจริญรุ่งเรืองถ้วนหน้า

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็วๆนี้ ที่ ห้องประชุมสระหงส์ 1 มหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ อ.เมือง จ.ชัยภูมิ องค์กรที่ใช้ชื่อว่า “สหพันธ์เกษตรกรและผู้ชำนาญการภาคอีสาน” ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ จัดสัมมนา เรื่อง “รวมใจผันน้ำโขงลอดอุโมงค์ ลงลำน้ำสายหลักของภาคอีสาน” มี นายประจวบ ไชยสาส์น อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานเปิดการสัมมนาและบรรยายพิเศษ เรื่องความเป็นมา ของ “โครงการ เลย ชี มูล” ในฐานะผู้ริเริ่มโครงการฯ

โดยมี นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ ส.ส.ชัยภูมิ พรรคพลังประชาชน (พปช.) ผู้ผลักดันโครงการ นายถาวร พรหมมีชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ , นายสุธี มากบุญ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา , ตัวแทนสหพันธ์เกษตรกรและผู้ชำนาญการภาคอีสาน, องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดภาคอีสาน เข้าร่วมสัมมนา

ทั้งนี้เพื่อรับทราบความเป็นมาของโครงการฯ พร้อมระดมความคิดเห็น จัดทำข้อเสนอแนะแนวทางที่เหมาะสมของคนอีสาน และร่วมกันทำพิธีลงนามสนับสนุน “โครงการผันน้ำโขง ลอดอุโมงค์ ลงลำน้ำสายหลักของภาคอีสาน” เพื่อนำเสนอต่อรัฐบาล ตามที่ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีปรารภไว้

นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ ส.ส.ชัยภูมิ พรรค พปช. เปิดเผยว่า โครงการ เลย ชี มูล เป็นโครงการต่อเนื่องจากโครงการโขง ชี มูล ที่ได้ดำเนินการมาก่อนแล้ว แต่เป็นการปรับปรุง จากการศึกษาวิจัยติดตามความเป็นไปได้ทั้งในเรื่องเทคนิคก่อสร้าง การดำเนินการโครงการ งบประมาณ และผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นแก่พี่น้องชาวอีสาน ซึ่งดีใจแทนพี่น้องชาวอีสาน ที่รัฐบาล นำโดย นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ได้หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมา

“อย่างน้อยที่สุดเราเชื่อว่าโครงการนี้สามารถดำเนินการได้ เพราะเป็นโครงการที่ศึกษาความเป็นไปได้มาก่อน และงบประมาณก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถจะดำเนินการได้ ซึ่งประโยชน์จะตกแก่พี่น้องประชาชนชาวอีสานทุกจังหวัด” นพ.สุวิทย์ กล่าว
สหพันธ์เกษตรกรและผู้ชำนาญการภาคอีสาน ร่วม ม.ราชภัฎชัยภูมิและ ส.ส.พรรคพปช. จัดสัมมนาผลักดันโครงการ ผันน้ำโขงลอดอุโมงค์ ลงลำน้ำสายหลักของภาคอีสาน
นพ.สุรวิทย์ กล่าวต่อว่า การบริหารจัดการน้ำของโครงการฯ จะผันน้ำจากลำน้ำโขงลอดผ่านอุโมงค์ เข้ามาที่ อ.เชียงคาน จ.เลย แล้วผันน้ำต่อไป 3 เส้นทาง คือ เส้นทางที่ 1 ไปที่ จ.อุดรธานี ลงลำน้ำโขงที่ จ.หนองคาย เส้นทางที่ 2 ผ่านลำพะเนียง จ.หนองบัวลำภู มาที่อ่างน้ำพอง (เขื่อนอุบลรัตน์) จ.ขอนแก่น ซึ่งตรงนี้จะใช้น้ำผลิตกระแสไฟฟ้าเพราะระดับการผันน้ำแตกต่างกันค่อนข้างสูง

ส่วนเส้นทางที่ 3 จากลำน้ำพองก็จะสามารถส่งน้ำไปได้อีก 2 เส้นทาง คือ เส้นทางที่ 1 ไปที่เขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ ไปลงที่ จ.อุบลราชธานี อีกเส้นหนึ่ง จะผันมาลงที่บึงละหาน จ.ชัยภูมิ สามารถผันน้ำลงลำน้ำชี ลำน้ำสามหมอ จ.ชัยภูมิ จากบึงละหานจะมีการส่งน้ำต่อไปที่ลำเชียงไกร จ.นครราชสีมา จากลำเชียงไกรจะผันน้ำลงน้ำมูล จากลำน้ำมูลก็จะทำคลองไปถึง จ.อุบลราชธานี

“ตลอดเส้นทางการผันน้ำ แต่ละสาย จะมีงบประมาณสำหรับทำคลองสายหลัก คลองสายรอง คลองไส้ไก่ การจัดทำแหล่งกักเก็บน้ำ แก้มลิง เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่พี่น้องประชาชน โดยโครงการนี้ใช้งบประมาณทั้งหมด 72,500 ล้านบาท จะมีพื้นที่การเกษตรเพิ่มเติมประมาณ 35 ล้านไร่ ” นพ.สุรวิทย์ กล่าว

นายถาวร พรหมมีชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ กล่าวว่า จ.ชัยภูมิ มีแม่น้ำสายหลัก และเป็นต้นกำเนิด คือ แม่น้ำชี ที่หล่อเลี้ยง 9 จังหวัดภาคอีสาน หรือครึ่งหนึ่งของภาคอีสานใช้แม่น้ำชี ซึ่งมีความยาวที่สุดในประเทศไทย ถึง 765 กิโลเมตร ถ้าทำเรื่องน้ำได้ ปัญหาความยากจนของพี่น้องชาวชัยภูมิและพี่น้องภาคอีสานก็จะหมดไปหรือลดน้อยลง ทำให้สามารถประกอบอาชีพได้ มีรายได้เพิ่มขึ้น สภาพเศรษฐกิจดี ปัญหาเรื่องอพยพแรงงานของภาคอีสานก็จะลดลง พี่น้องภาคอีสานก็จะกลับคืนถิ่น มาอยู่กับครอบครัว ทำให้ครอบครัวอบอุ่น เรื่องการศึกษา สุขภาพอนามัย สุขภาพจิตก็ดีขึ้น เมื่อดีขึ้นทุกภาคส่วน ในทุกมิติ เศรษฐกิจของประเทศก็จะดีขึ้น ความเจริญรุ่งเรืองของประเทศก็ตามมา

“เชื่อว่าโครงการนี้พี่น้องชาวชัยภูมิต้องการ เพราะในปัจจุบันเราพยายามแก้ปัญหาเรื่องน้ำ แต่เรามีข้อจำกัด เมื่อรัฐบาลเห็นความสำคัญมาเป็นเจ้าภาพหลัก เชื่อว่าโครงการนี้จะเกิดมรรค เกิดผลสัมฤทธิ์และในอนาคตข้างหน้าเมื่อโครงการนี้เกิดขึ้น พี่น้องชาวชัยภูมิ และชาวอีสานทั้ง 19 จังหวัด จะมีคุณภาพชีวิตและมีความสุขในการดำเนินชีวิตมากขึ้น” นายถาวร กล่าว

ด้าน นายสุธี มากบุญ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า โครงการนี้เป็นโครงการที่ดีมาก ซึ่งต้องยอมรับว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้ง 19 จังหวัด เราขาดแคลนน้ำ และในขณะเดียวกันก็มีพื้นที่การเกษตรสูงมากคิดเป็น 1 ใน 3 ของประเทศ สำหรับ จ.นครราชสีมา จะได้รับประโยชน์จากการผันน้ำต่อจาก จ.ชัยภูมิ ที่ลำน้ำชี บ้านค่าย หรือที่บึงละหาน ซึ่งจะสามารถเชื่อมโยงไปถึงลำเชียงไกร ที่เป็นแหล่งต้นน้ำ สามารถระบายน้ำลงสู่ลำน้ำมูล

ขณะเดียวกันเราอยากจะเห็นความต่อเนื่องไปถึงเขื่อนลำตะคอง ที่สามารถกักเก็บน้ำได้เต็มที่ 314 ล้านลูกบาศ์กเมตร (ลบ.ม.) และไหลผ่านพื้นที่ใจกลางโคราช สู่ลำน้ำมูล ลงไปที่ จ.บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีษะเกษ และ จ.อุบลราชธานี

นายสุธี กล่าวอีกว่า จ.นครราชสีมา กำหนดวิสัยทัศน์ว่า เป็นประตูสู่อีสาน เป็นศูนย์กลางผลิตสินค้าเกษตร อุตสาหกรรม ผ้าไหม และการท่องเที่ยว เพราะฉะนั้นถ้าลำตะคอง และลำเชียงไกรมีระดับน้ำที่ดีจะทำให้ภาคเกษตรดีขึ้น ภาคอุตสาหกรรมสมบูรณ์แบบขึ้น จะสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิต เพิ่มศักยภาพเศรษฐกิจ หรือเพิ่มภาวการณ์ลงทุนของประเทศได้อย่างสมบูรณ์ ในขณะเดียวกันปัญหาการขาดแคลนเรื่องน้ำก็จะหมดไป

นอกจากนี้ ขอฝากว่าที่เขื่อนลำตะคอง เราได้ปัจจัยเสริมขึ้นมาอีกหนึ่งตัวคือ ขณะนี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ใช้เครื่องจักรผลิตกระแสไฟฟ้าได้วันละ 500 เมกะวัตต์ หากมีการผันน้ำเข้ามาสู่ลำตะคอง มากยิ่งขึ้น ก็จะสามารถติดตั้งเครื่องจักรได้อีก 2 ตัว เพิ่มการผลิตอีกเป็นวันละ 1000 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นพลังงานสีขาว ทำให้ลดการสูญเสียเงินตราจากการซื้อน้ำมันจากต่างประเทศได้เป็นอย่างดี

“จึงขอความกรุณาในทุกภาคส่วนได้ช่วยในสิ่งต่างๆ เหล่านี้ เพราะเป็นประโยชน์แก่พี่น้องประชาชนทั้ง 19 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” นายสุธี กล่าว
ประจวบ ไชยสาส์น อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
เปิดรายละเอียดเมกะโปรเจกต์ 72,500 ล้าน

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า จากเอกสารประกอบการสัมมนาของกรมชลประทาน ระบุรายละเอียดว่า ลักษณะและแนวทางการดำเนิน “โครงการเลย ชี มูล” เป็นการผันน้ำจากลำน้ำโขงผ่านแม่น้ำเลย โดยปรับและพัฒนาปากแม่น้ำเลยลึกเข้ามาในเขตประเทศไทย ที่ อ.เชียงคาน จ.เลย ประมาณ 15 กิโลเมตร ที่ความลึกระดับเดียวกับท้องแม่น้ำโขง (190 ม.รทก.) และ ขุดเจาะอุโมงค์ขนาดกว้างประมาณ 20-30 เมตร เพื่อวางท่อ 3 เมตร จำนวน 8 ท่อ ความยาว 45 กิโลเมตร มายังพื้นที่ จ.หนองบัวลำภู และ เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น

จากนั้นทำการส่งน้ำในระบบท่อและระบบคลองเปิดตามแนวลำน้ำเดิมมายัง จ.ชัยภูมิ และ จ.นครราชสีมา โดยตามแนวทางที่ท่อส่งน้ำและคลองเปิดผ่านให้มีประตูเปิดสำหรับเติมน้ำให้ลุ่มน้ำต่างๆ ในพื้นที่ เช่น ลุ่มน้ำชี น้ำมูล และลำน้ำอื่นๆ ก็จะทำให้การกระจายน้ำได้ทั่วภาคอีสาน โดยระบบแรงโน้มถ่วงของโลก ไม่ต้องใช้พลังงานไฟฟ้า หรือน้ำมันเชื้อเพลิงในการสูบน้ำ

จากการศึกษาความเป็นไปได้เบื้องต้นของกรมชลประทาน ในการผันน้ำไปใช้งานจะมีความแตกต่างไปตามแต่ละปี เนื่องจากมีปริมาณน้ำที่แตกต่างกัน ในการกำหนดขนาดคลองผันน้ำและระบบชลประทานที่เหมาะสมจะต้องใช้ข้อมูลปริมาณน้ำโขงรายวันในระยะยาว 20-30 ปี โดยเฉพาะครอบคลุมในช่วงปีหลังๆ ซึ่งมีการพัฒนาเก็บกักน้ำในต้นน้ำโขง จึงจะสามารถกำหนดอัตราการผันน้ำและขนาดพื้นที่ชลประทานที่เหมาะสมได้

ทั้งนี้ผลการศึกษาพบว่า แนวผันน้ำมีความเป็นไปได้ในด้านเทคนิค ระดับที่จุดต่างๆ สามารถผันได้โดยระบบแรงโน้มถ่วง ปริมาณน้ำโขงมีศักยภาพมากและเพียงพอต่อการพัฒนาพื้นที่ชลประทานขนาดใหญ่

อย่างไรก็ตามแนวคลองผันน้ำ นอกจากขุดคลองเปิดแล้ว ในพื้นที่ที่ผ่านสันปันน้ำลุ่มน้ำโขง-ชี-มูล และสันปันน้ำระหว่างลุ่มน้ำย่อยภายในลุ่มน้ำหลักนั้น อาจต้องขุดคลองลึกมาก ทำให้สิ้นเปลืองค่าขุด ค่าเวนคืนที่ดิน และมีผลกระทบสิ่งแวดล้อมหากผ่านพื้นที่ ดังนั้น กรมชลประทานเห็นว่า เพื่อส่งน้ำโดยระบบแรงโน้มถ่วงควรจะพัฒนาเป็นคลองขุดร่วมกับท่อส่งน้ำ (ไหลในท่อแบบทางน้ำเปิดโดยแรงโน้มถ่วง-ไม่ใช้แรงดันจากเครื่องสูบ) และพัฒนาจุดส่งน้ำออกมายังลำน้ำเดิม หรือจุดแบ่งน้ำที่เหมาะสม ซึ่งอาจจะทำให้ลดค่าเวนคืน ป้องกันปัญหาการแพร่กระจายของดินเค็ม น้ำเค็มจากคลองส่งน้ำ และลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมได้

ทั้งนี้ต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมในรายละเอียดถึงแนววางท่อและคลองขุด รวมทั้งเปรียบเทียบราคาและผลกระทบในขั้นต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น