ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - กรมชลประทาน เดินหน้าผลักดันโครงการปรับปรุงเขื่อนลำพระเพลิงโคราชกว่า 1,200 ล้านบาท เพิ่มความจุอ่างอีก 50 ล้าน ลบ.ม. แก้ปัญหาน้ำท่วม-ภัยแล้งซ้ำซาก เผยจ้าง 2 บริษัท 16 ล้าน ศึกษาความเหมาะสมเสร็จสมบูรณ์ปลายเดือน มี.ค.นี้ เตรียมเสนอกระทรวงเกษตรฯ ชงรัฐบาลอนุมัติงบฯก่อสร้างปีหน้า ระบุใช้เวลาก่อสร้าง 2 ปีแล้วเสร็จ ด้านผู้ว่าฯ โว ปชช.ทุกคนหนุนเต็มที่ต้องการให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว
วันนี้ (13 มี.ค.) นายสุธี มากบุญ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยถึงโครงการศึกษาความเหมาะสมการปรับปรุงโครงการเขื่อนลำพระเพลิง อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา ว่าอ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง เป็นโครงการส่งน้ำที่สำคัญแห่งหนึ่งของ จ.นครราชสีมา นอกจากเป็นแหล่งน้ำต้นทุนในการทำอาชีพการเกษตรของประชาชนใน อ.ปักธงชัย, อ.โชคชัย และพื้นที่ใกล้เคียงแล้ว ยังเป็นแหล่งน้ำดิบผลิตประปาของเทศบาลทั้ง 2 อำเภอ รวมทั้งการประปาหมู่บ้านอีกหลายตำบล
ทั้งนี้ เนื่องจากอ่างเก็บน้ำลำพระเพลิงก่อสร้างมานานกว่า 40 ปี จากเดิมมีความจุ 110 ล้าน ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) แต่ปัจจุบันสามารถกับเก็บได้เพียง 104 ล้าน ลบ.ม. เพราะมีตะกอนสั่งสมอยู่เป็นจำนวนมากทำให้เกิดปัญหาตื้นเขิน ส่งผลให้ในช่วงฤดูแล้งเกิดปัญหาขาดแคลนน้ำไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน มีปัญหาการแย่งน้ำเกิดขึ้นเนื่องจากพื้นที่ใต้เขื่อนประชาชนปลูกข้าวนาปรังหลายพันไร่ ขณะที่ในช่วงฤดูฝนกลับมีปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ใต้เขื่อนอยู่เป็นประจำ แม้ทางอำเภอต่างๆ จะเตรียมแผนรับมือกับสถานการณ์ไว้แล้ว แต่ก็ไม่สามารถแก้ไขทั้งปัญหาน้ำท่วม และขาดแคลนน้ำดังกล่าวได้
จากปัญหาดังกล่าวทางกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พยายามแก้ไข โดยได้จัดทำโครงการปรับปรุงโครงการลำพระเพลิง จ.นครราชสีมา เพื่อเพิ่มขนาดความจุให้มากขึ้น ซึ่งได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาจำนวน 16 ล้านบาท ให้ทำการศึกษาความเหมาะสมของโครงการ คือ บริษัท แอสดีคอน คอร์ปอเรชั่น จำกัด และ บริษัท เอ กรุ๊ป คอนซัลแตนท์ จำกัด เริ่มศึกษาเมื่อเดือน ตุลาคม 2549 และ จะสิ้นสุดในวันที่ 31 มีนาคม 2551 นี้
ล่าสุดกรมชลประทานและบริษัทที่ปรึกษาทั้ง 2 บริษัทได้จัดการสัมมนาครั้งที่ 3 ซึ่งป็นครั้งสุดท้ายของการศึกษาโครงการ เพื่อนำเสนอผลการศึกษาโครงการที่ดำเนินการศึกษาจนจะสิ้นสุดโครงการให้ทุกหน่วยงาน และประชาชนชาวจังหวัดนครราชสีมาได้รับทราบ พร้อมรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากประชาชนในพื้นที่ 3 อำเภอที่ได้รับผลกระทบจากโครงการ ประกอบด้วย อ.ปักธงชัย อ.โชคชัย และ อ. เฉลิมพระเกียรติ เพื่อนำข้อเสนอแนะกลับไปทบทวนปรับปรุงผลการศึกษาให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
“ประชาชนชาวโคราชส่วนใหญ่เห็นด้วยกับผลการศึกษาที่นำเสนอ เนื่องจากจะเกิดประโยชน์ต่อประชาชนทั้งในด้านการอุปโภคบริโภคและเพิ่มพื้นที่การเกษตรได้อีกกว่า 18,000 ไร่ ทุกคนจึงต้องการให้โครงการนี้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว” นายสุธี กล่าว
ยันแนวทางเสริมเขื่อนเพิ่มความจุดีสุด
ยาหอมเกษตรกรผลผลิตเพิ่ม-รายได้พุ่ง
ด้าน นายทรรศนันทน์ เถาหมอ ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 8 นครราชสีมา กล่าวว่า ผลการศึกษาความเหมาะสมโครงการปรับปรุงโครงการลำพระเพลิง ได้สรุปแนวทางเลือกในการดำเนินงานเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำให้กับเขื่อนลำพระเพลิงแล้ว คือ การเพิ่มปริมาณกักเก็บน้ำในเขื่อนลำพระเพลิงได้อีก 50 ล้าน ลบ.ม. จากเดิมที่เคยเก็บกับไว้ 104 ล้านลบ.ม. จะได้เพิ่มเป็น 154 ล้าน ลบ.ม. สามารถส่งน้ำให้พื้นที่การเกษตรจำนวน 84,000 ไร่ได้เพียงพอ แล้วยังสามารถเพิ่มพื้นที่ชลประทานด้านท้ายน้ำอีกไม่น้อยกว่า 10,000 ไร่
จากการลงพื้นที่ศึกษาตลอดระยะเวลา 18 เดือน กรมชลประทานและบริษัทที่ปรึกษาได้หารูปแบบการปรับปรุงหลายแนวทาง ไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำเพิ่มเติม , การผันน้ำจากแหล่งอื่นมาเสริม หรือแม้แต่การหาทางปรับปรุงวิธีการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนลำพระเพลิงใหม่ ซึ่งแต่ละวิธีก็มีข้อดีและข้อด้อยแตกต่างกัน แต่วิธีที่คุ้มค่าและมีประสิทธิภาพมากที่สุดคือ การเพิ่มปริมาณการเก็บกักน้ำ ในเขื่อนลำพระเพลิงให้สูงขึ้นจากเดิมอีก 4 เมตร เพราะนอกจากจะสามารถเพิ่มปริมาณน้ำแล้วยังมีค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงค่อนข้างต่ำ อีกทั้งยังมีความปลอดภัยสูงสุดเช่นเดิม
“รวมทั้งเมื่อปรับปรุงเขื่อนลำพระเพลิงแล้วเสร็จ จะทำให้เกษตรกรผู้ใช้น้ำเพื่อการเกษตร การอุปโภค บริโภคในเขตพื้นที่ อ.เมือง อ.ปักธงชัย,อ.โชคชัย และ อ.เฉลิมพระเกียรติของ จ.นครราชสีมา มีน้ำใช้อย่างเพียงพอ ส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรสูงขึ้นและทำให้มีรายได้ต่อครัวเรือนมากยิ่งขึ้น” นายทรรศนันทน์ กล่าว
เผยถลุงงบฯ 1,200 ล้านบาท
ชง รบ.ไฟเขียวก่อสร้างปีหน้า
ด้าน ดร.จีราเกียรติ อภิบุญโยภาส ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ บริษัท แอสดีคอน คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า จากผลการศึกษาแผนการปรับปรุงโครงการฯ ได้เลือกแนวทางเพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง เนื่องจากมีศักยภาพและมีความพร้อมในการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้กับเขื่อนลำพระเพลิงมากกว่าแนวทางอื่นๆ การเพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำลำพระเพลิงทำได้โดยการปรับปรุงยกระดับเก็บกักจากเดิม +263 .00 ม.รทก. เป็น +267.00 ม. รทก. ความจุอ่างเก็บน้ำ จากเดิม 105 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มเติม 155 ล้าน ลบ.ม. ความจุเพิ่ม 50 ล้าน ลบ.ม.
สำหรับการออกแบบปรับปรุงตัวเขื่อน จากผลการศึกษาได้กำหนดให้เขื่อนที่ปรับปรุงต้องมีความมั่นคงปลอดภัยเพียงพอที่ระดับน้ำเก็บกับ +267.00 ม.รทก. และมีอัตราการรั่วซึมของน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้เป็นสำคัญ ซึ่งแนวทางในการปรับปรุงตัวเขื่อนที่มีศักยภาพมากที่สุด คือ การปรับปรุงลาดเขื่อน ด้วยการก่อสร้างขยายลาดเขื่อนทางด้านท้ายน้ำออกไปเพื่อเพิ่มความมั่นคงของตัวเขื่อน
โดยการเพิ่มระดับเก็บกักน้ำนั้น มีการปรับปรุงที่สำคัญ ประกอบด้วย การถมหินเพิ่มด้านเหนือน้ำ เพื่อเพิ่มความมั่นคงด้านเหนือน้ำ, ขยายลาดด้านท้ายน้ำโดยการถมดิน พร้อมก่อสร้างชั้นกรอง เพื่อเพิ่มความมั่นคงด้านท้ายน้ำ และปรับปรุง Rock Toe ให้มีประสิทธิภาพการการระบาย และการกรองชั้นดินฐานรากเพิ่มขึ้น เพื่อลดระดับน้ำในตัวเขื่อนด้านท้ายน้ำ
นอกจากนี้ ต้องมีการปรับปรุงอาคารระบายน้ำล้นของเขื่อนลำพระเพลิง ทั้ง 1.อาคารระบายน้ำล้นใช้การ (Service Spillway) ซึ่ง เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ตั้งอยู่ทางฝั่งขวาของตัวเขื่อน ไม่มีบานควบคุม ระบายน้ำสูงสุดได้ 360 ลบ.ม./วินาที ที่ระดับน้ำ +273.00 ม. (รทก.) ระดับสันฝายที่ปากอาคาร +263.00 ม.(รทก.) ซึ่งเป็นระดับเก็บกักปกติเดิมของเขื่อนลำพระเพลิง และ 2. อาคารระบายน้ำล้นฉุกเฉิน (Emergency Spillway) เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ไม่มีบานระบายควบคุม ตั้งอยู่ทางฝั่งขวาของตัวเขื่อน ระบายน้ำได้สูงสุด 1,338 ลบ.ม./วินาที ที่ระดับน้ำ +273.00 ม.(รทก.)
ดร.จีราเกียรติ กล่าวอีกว่า ผลการศึกษาและวิเคราะห์ด้านเศรษฐกิจของโครงการปรังปรุงเขื่อนลำพระเพลิงดังกล่าว มีมูลค่าการลงทุนรวมทั้งสิ้นประมาณ 1,239.41 ล้านบาท แบ่งเป็นทั้งการปรับปรุงตัวเขื่อนเพื่อเพิ่มความมั่นคงและเพิ่มระดับกักเก็บน้ำ, การปรับปรุงอาคารระบายน้ำล้น รวมถึงการจ่ายค่าชดเชยให้แก่ประชาชน ที่จะได้รับผลกระทบจากการถูกน้ำท่วมประมาณ 30 หลังคาเรือน ซึ่งจากผลการวิเคราะห์พบว่ามีอัตราผลตอบแทนทางด้านเศรษฐกิจของโครงการเท่ากับ 12.44% อัตราผลประโยชน์ต่อค่าลงทุนเท่ากับ 1.0 และค่าลงทุนต่อลูกบาศก์เมตรของน้ำเท่ากับ 4.39 บาท
“เมื่อสิ้นสุดการศึกษาโครงการนี้แล้ว กรมชลประทานจะนำแผนการปรับปรุงโครงการเพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำลำพระเพลิงดังกล่าวนี้เสนอกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อเสนอต่อรัฐบาลให้พิจารณาจัดสรรงบประมาณดำเนินการก่อสร้างต่อไป ซึ่งตามแผนที่กำหนดไว้ หากไม่มีปัญหาอะไรจะสามารถดำเนินการได้ในปีงบประมาณ 2552 และ ใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างแล้วเสร็จประมาณ 2 ปี” ดร.จีราเกียรติ กล่าว