xs
xsm
sm
md
lg

ชาวนาสระบุรี-กรุงเก่าบุกกรุง จี้ สผ. สอบอีไอเอโรงไฟฟ้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เกษตรกรจาก อ.หนองแซง จ.สระบุรี และ อ.ภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา ในนามกลุ่มอนุรักษ์วิถีเกษตรกรรมประมาณ 500 คน ชุมนุมที่บริเวณหน้าก.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยื่นหนังสือให้นางอนงค์วรรณ เทพสุทิน รมว.ตรวจสอบและระงับอีไอเอโรงไฟฟ้า
ผู้จัดการรายวัน – ชาวนาสระบุรี-อยุธยาใส่เสื้อเขียวผนึกตัวยกพลชุมนุมหน้ากระทรวงทรัพย์ฯ ดักคอสผ.ตรวจสอบอีไอเอโรงไฟฟ้าไอพีพีระบุพื้นที่ตั้งขัดกับผังเมืองจังหวัดที่จัดให้เป็นพื้นที่สีเขียวและพื้นที่อนุรักษ์หวั่นโรงไฟฟ้ามาชิงน้ำ ทำให้อาชีพทำนาต้องสูญสลาย "เกษมสันต์"ระบุตีกลับอีไอเอให้ไปทำใหม่เพราะข้อมูลไม่ครบ ส่วนที่ปรึกษา "อนงค์วรรณ"รับปากไปเล่นน้ำสงกรานต์พร้อมฟังปัญหาในพื้นที่

วานนี้ (9 เม.ย.)เกษตรกรจาก อ.หนองแซง จ.สระบุรี และ อ.ภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา ในนามกลุ่มอนุรักษ์วิถีเกษตรกรรมประมาณ 500 คนเดินทางมาชุมนุมที่บริเวณหน้ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อยื่นหนังสือร้องเรียนกับนางอนงค์วรรณ เทพสุทิน รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งเรียกร้องให้สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.)ตรวจสอบและระงับการจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ของโครงการโรงไฟฟ้าหนองแซง

นางปฐมมน กัณหา ผู้ใหญ่บ้าน ม.7 ต.หนองกบ อ.หนองแซง แกนนำผู้ชุมนุม กล่าวว่า โครงการโรงไฟฟ้าหนองแซงของบริษัท เพาเวอร์ เจเนอรัล ซัพพลาย จำกัด เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมที่ใช้ก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดีเซลเป็นพลังงานขนาด 1,650 เมกะวัตต์ โดยมีแผนจะก่อสร้างขึ้นในพื้นที่ อ.หนองแซง จ.สระบุรี และ อ.ภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา ขณะนี้อยู่ในระหว่างการจัดทำรายงาน EIAโดยบริษัท อีเอม สยาม จำกัด แต่เนื่องจากพื้นที่ อ.หนองแซงเป็นเขตอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม ในขณะที่ อ.ภาชี เป็นพื้นที่สีเขียวตามผังเมืองรวมของแต่ละจังหวัดที่ประชาชนมีอาชีพทำนาเป็นหลักจึงเกรงว่าหากมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าจริงจะทำให้วิถีชีวิตของชาวบ้านต้องเปลี่ยนไป

นางปฐมมน กล่าวด้วยว่า ประชาชนในพื้นที่ทำนาเป็นอาชีพหลัก มีคลองระพีพัฒน์เป็นแหล่งน้ำหลัก โดยยุทธศาสตร์จังหวัดกำหนดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เป็นแหล่งผลิตข้าวเจ๊กเชยหรือข้าวเสาไห้ที่รู้จักกันทั้งประเทศ อีกทั้งยังเป็นแหล่งผลิตข้าวในโครงการข้าวปลอดสารพิษที่ส่งให้กับมูลนิธิชัยพัฒนาอีกด้วย ก่อนนี้บริษัทฯ บอกว่าโรงไฟฟ้าจะทำให้เจริญแต่พวกตนไม่ต้องการความเจริญที่มาพร้อมกับมลพิษเหมือนหลายๆ พื้นที่ที่มีโรงงานอุตสาหกรรมตั้งอยู่

ด้านนายอนุเทพ หอมทอง ชาวบ้านวัย 41 ปี จาก ม.3 ต.หนองน้ำใส อ.ภาชี ระบุว่า ในพื้นที่ของตนปลูกข้าวเป็นหลักเพราะมีน้ำและดินอุดมสมบูรณ์ ในช่วงเวลา 2 ปี จึงสามารถปลูกข้าวได้ถึง 5 รอบ ตนกังวลว่าหากมีโรงไฟฟ้าที่ต้องใช้น้ำจำนวนมหาศาลอาจส่งผลกระทบต่อการทำนาของชาวบ้านเพราะต้องใช้น้ำสูงถึงวันละ 5.4 หมื่นลูกบาศก์เมตร อีกทั้งหากอากาศไม่ดีอาจส่งผลต่อผลผลิตที่ไม่ได้คุณภาพ นอกจากนี้หากโรงไฟฟ้าต้องเปิดไฟตลอดทั้งคืนเหมือนที่แก่งคอยจะส่งผลให้ข้าวไม่ออกรวงซึ่งจะกระทบต่ออาชีพหลักของชาวบ้านโดยตรง

นายเกษมสันต์ จิณณวาโส เลขาธิการ สผ. กล่าวกับผู้ชุมนุมว่า รายงาน EIA ของโครงการดังกล่าวยังไม่ได้ผ่านความเห็นชอบจาก สผ. เนื่องจากรายงานฉบับแรกพบว่ายังมีความไม่สมบูรณ์ของเนื้อหา โดยเฉพาะในประเด็นที่ตั้งโครงการซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่สีเขียวตามผังเมืองจังหวัด ประเด็นการใช้น้ำที่อาจมีผลกระทบต่อชุมชนโดยรอบ นอกจากนี้ยังมีประเด็นคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ยังไม่มีรายละเอียดชัดเจน เช่น เรื่องผลกระทบด้านอากาศ เป็นต้น สผ.จึงได้ส่งเรื่องกลับไปให้ทางบริษัทที่ปรึกษาปรับปรุง ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้า

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายธนพร ศรียางกูร ที่ปรึกษา รมว.ทรัพยากรฯ เป็นผู้รับหนังสือร้องเรียนดังกล่าวและยืนยันกับผู้ชุมนุมว่า วันที่ 13 เมษายน เวลา 10.00 น. ตนพร้อมทั้งเลขาธิการ สผ.จะเดินทางไปรับฟังความคิดเห็นจากชาวบ้านในพื้นที่
กำลังโหลดความคิดเห็น