xs
xsm
sm
md
lg

แก้รัฐธรรมนูญ : 1 ในบาป 7 ประการของรัฐบาลที่ไม่มีหลักการ

เผยแพร่:   โดย: ภาณุเบศร์ มหาเรือนขวัญ

จริงทีเดียวที่ภายใต้ความกดดัน แรงจูงใจแห่งผลประโยชน์ และความต้องการเบื้องลึกได้ขับเคลื่อนให้นักการเมืองเลือกการหลีกเลี่ยงจากความรับผิด ถูกตำหนิ และทำตามกฎระเบียบ (blame avoidance) เป็นลำดับเร่งด่วนแรกๆ

แม้ว่าการปัดปฏิเสธการรับผิดและหลีกเลี่ยงจากการตำหนิจะเป็นหนึ่งในความต้องการที่แฝงฝังอยู่ลึกๆ และพร้อมที่จะตอบสนองต่อสถานการณ์นั้นๆ ในระดับจิตไร้สำนึกซึ่งเรียกกันว่าเป็นจิตวิทยาความต้องการ (psychological needs) ที่พบได้เสมอในความปรารถนาและการกระทำของปุถุชนคนธรรมดา หากกระนั้นสำหรับนักการเมืองที่ชอบกล่าวอ้างความเสียสละว่าเข้ามาทำงานเพื่อประเทศชาติประชาชนโดยไม่มีผลประโยชน์ซ่อนเร้นนั้น พวกเขาย่อมไม่อาจแสดงพฤติกรรมตรงกันข้ามด้วยการพยายามหลีกเลี่ยงจากความรับผิดที่เกี่ยวเนื่องกับการกำหนดนโยบายสาธารณะที่ไร้วุฒิภาวะหรือขาดการศึกษาข้อเท็จจริงไปได้

ไม่เพียงเท่านั้นในห้วงสถานการณ์ "ผลประโยชน์ขัดกัน" อบอวลผ่านการคอร์รัปชันเชิงนโยบาย การเอื้อประโยชน์ครอบครัวพวกพ้อง และล่าสุดกับการพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ที่สาธารณชนพลเมืองผู้มีความเป็นวิญญูชนต่างครหานั้น นักการเมืองที่มีวุฒิภาวะต้องไม่มีมุมมองคับแคบตื้นเขินเห็นคนคิดต่างเป็นปฏิปักษ์หรือลุแก่อำนาจเสียงข้างมาก

ด้วยนักการเมืองไม่อาจเลี่ยงที่จะต้องรับผิดชอบ (accountable) ต่อประชาชน ไม่ว่าพวกเขาจะเลือกพรรคการเมืองต่างขั้วหรือตัวเองเข้ามาบริหารชาติบ้านเมือง

สารัตถะสำคัญของการรวมกลุ่มกันคัดค้านการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2550 โดยเฉพาะมาตรา 237 จึงไม่ผิดแผกจากการผสานพลังกันขัดขวางกระบวนการคอร์รัปชันเชิงนโยบาย ด้วยเป้าหมายสุดท้ายคือต่อต้านไม่ให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองใช้กลไกและอำนาจรัฐคิดคำนึงหรือถึงขั้นกระทำการที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนมากกว่าประโยชน์สาธารณะ

ด้วยเมื่อใดก็ตามที่ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์สาธารณะจะทำให้ “ต่อมจริยธรรม” ของนักการเมืองจำนวนมากทำงานได้ไม่เต็มที่ ส่งผลให้สถานการณ์ขาดจริยธรรมนำการเมืองผู้ขาดหลักการและจุดยืนหนักแน่นไปสู่จุดจบของการเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนมากกว่าประโยชน์สาธารณะเป็นส่วนใหญ่

การขัดกันระหว่างผลประโยชน์ (conflict of interests) ที่เคียงคู่มากับการเลี่ยงความรับผิดย่อมเป็นการละเมิดหลักการที่ควรปฏิบัติ และความจริงที่ได้กระทำผิดพลาดลงไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม “ความจริงทางการเมือง” มักถูกสังคมมองในเชิงสัมพัทธ์และอัตวิสัยเป็นส่วนใหญ่ ยิ่งได้เชื้อไฟจากการตีความเข้าข้างตนเองแบบศรีธนญชัยในหมู่นักการเมืองด้วยแล้ว ความวุ่นวายของสังคมไทยอันสืบเนื่องมาจากการมองความจริงทางการเมืองแตกต่างกันจึงยากยุติ

ในขณะที่ความจริงอีกแบบที่เรียกว่า “ความจริงเชิงข้อเท็จจริง” (factual truth) กลับมอบผลตรงกันข้าม ด้วยยืนหยัดกับการถูกจัดการเพื่อปกปิดหรือบิดเบือนข้อมูลให้เป็นไปตามความต้องการของนักการเมืองได้ระดับหนึ่ง ด้วยข้อเท็จจริงที่ปรากฏย่อมไม่อาจโต้เถียงหรือประนีประนอมได้นัก ดังกรณีการใช้อำนาจของตุลาการในการตัดสินคดีความต่างๆ ทางการเมือง ถึงแม้นว่าถึงที่สุดแล้วตามตรรกะความจริงเชิงข้อเท็จจริงที่ส่งผลกระทบต่อสังคมอย่างกว้างขวางจะกลายเป็นความจริงที่ถูกจัดการมาแล้วไม่ทางใดก็ทางหนึ่งก็ตามที

ความจริงเชิงข้อเท็จจริงจึงนับเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย ด้วยไม่ว่าจะมองเหลี่ยมไหนมุมใดโดยใครกลุ่มใดก็ตามย่อมประจักษ์ชัดกับ “ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในประเทศไทย” ว่าการเมืองไทยในอดีตและกาลข้างหน้าจะยังคงล้มเหลวต่อไปจากการซื้อสิทธิขายเสียงแน่นอน หากยังไม่มียาแรงเยียวยานักการเมืองวิปริตวิปลาสที่คิดว่าเงินซื้อได้ทุกอย่าง

บทลงโทษขนาดเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรค รวมทั้งอาจรุนแรงถึงขั้นสั่งยุบพรรคด้วยถือว่าพรรคการเมืองนั้นกระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศด้วยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนั้นจึงเป็นไปเพื่อป้องปรามไม่ให้การซื้อสิทธิขายเสียงยังคงหลอกหลอนสังคมไทยที่ขยับเข้าใกล้ธนาธิปไตยแทนที่ประชาธิปไตยขึ้นเรื่อยๆ ได้ ด้วยการให้นักการเมืองสอดส่องพฤติกรรมกันเองทางหนึ่ง

ฉะนั้นการให้เหตุผลทางการเมือง (political justification) ในการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 237 วรรคสองของวิปรัฐบาลที่ระบุว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 ได้บัญญัติเหตุของการยุบพรรคการเมืองไว้อย่างกว้าง และไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรมทำให้การมีคำสั่งหรือคำพิพากษาให้ยุบพรรคการเมืองกระทำได้โดยง่าย อันขัดต่อวัตถุประสงค์ของการจัดให้มีและการดำรงอยู่ของพรรคการเมืองที่เป็นองค์กรสำคัญองค์กรหนึ่งในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข นั้นเนื้อแท้แล้วจึงเป็นแค่ความพยายามรักษาผลประโยชน์ส่วนตนมากกว่าประโยชน์สาธารณะในห้วงยามที่ผลกรรมแห่งการกระทำกำลังไล่ทันเท่านั้น

การปฏิเสธความรับผิดของพรรคการเมืองที่กระทำไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการซื้อสิทธิขายเสียงด้วยข้ออ้างความเป็น “สถาบัน” ที่มิได้กระทำผิดร่วมกับ “หัวหน้าพรรคหรือกรรมการพรรค” จึงไม่ถูกต้องทั้งหลักรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ที่ดำรงเป้าหมายร่วมกันในการสร้างสรรค์สังคมยุติธรรมนิติธรรม อีกทั้งยังขัดกับเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญมาตรา 237 ที่บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อลดปัญหาการตีความบังคับใช้รัฐธรรมนูญไว้ว่าพรรคการเมืองเป็นนิติบุคคล หัวหน้าพรรคการเมืองเป็นผู้แทนนิติบุคคล กรรมการบริหารพรรคเป็นผู้มีอำนาจบริหารพรรค ฉะนั้นหากสมาชิกพรรคกระทำการทุจริต ก็ควรมีส่วนร่วมรับผิดชอบในการกระทำนั้นด้วย

ยังมิเอ่ยว่านักการเมืองต่างทราบและยอมรับที่จะเล่นตามกฎกติกาเข้มข้นของรัฐธรรมนูญฉบับนี้กันถ้วนทั่วแล้วก่อนกระโดดลงสนามเลือกตั้ง

ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าจะแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไม่ได้ ด้วยในบทบัญญัติมาตรา 291 ก็วางหลักเกณฑ์และวิธีการไว้ชัดแจ้งแล้ว แต่ทว่าการแก้ไขต้องดำเนินการก่อนที่จะมีการกระทำผิดรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายเกิดขึ้น ดังแถลงการณ์เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 237 ของคณาจารย์นิติศาสตร์ที่ยืนยันว่าหากประเทศสามารถเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายได้หลังจากการกระทำผิดแล้ว หลักเรื่องความถูกผิด หลักเรื่องการปกครองโดยกฎหมาย หลักนิติธรรมที่ใช้ในการปกครองประเทศก็จะพังทลายอย่างไม่เป็นท่า

การพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยไม่คำนึงถึงหลักความถูกต้องหรือล่มสลายของคุณธรรมจริยธรรมนั้นจึงสอดคล้องกับบาปประการที่ 1 จาก 7 ประการที่ท่านมหาตมะ คานธี อรรถาธิบายไว้ลุ่มลึกว่า “เล่นการเมืองโดยไม่มีหลักการ” (politics without principle) อย่างปฏิเสธไม่ได้

ความพ่ายแพ้แก่แรงขับภายในที่ปัดความจริงและต้องการปัดความรับผิดของบรรดานักการเมืองจึงไม่กระทบแค่ชะตาชีวิตพวกเขาเท่านั้น หากยังสร้างบรรทัดฐานด้านคุณธรรมจริยธรรมที่ไม่พึงประสงค์อย่าง “ทำผิดแล้วไม่ต้องรับโทษหากกุมอำนาจ” ขึ้นมาโลดแล่นในทุกองคาพยพของสังคมไทยด้วย เพราะหากยอมรับได้กับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 237 เพื่อให้ตัวเองและพวกพ้องพ้นจากความรับผิดภายหลังกระทำผิดไปแล้วนั้น จะรับประกันอะไรได้กับกฎหมายลูกและนโยบายที่คลอดออกมาเล่า

ดั่งทราบกันว่าหากกฎหมายสูงสุดของชาติอย่างรัฐธรรมนูญบิดเบี้ยวเสียแล้ว ผลพวงจากความคลาดเคลื่อนในมาตรฐานความถูกผิดของสังคมย่อมกระเพื่อมขยายวงกว้างขวางไม่ต่างจากการปาหินลงสระน้ำ ที่ยิ่งก้อนใหญ่และขว้างแรงก็กระทบชายฝั่งรวดเร็วรุนแรงเท่านั้น

ความยั่งยืนในการธำรงไว้ซึ่งความชอบธรรมทางการเมือง (political legitimacy) จึงไม่อาจอวดอ้างจากคะแนนเสียงเลือกตั้งที่ได้รับมามากกว่าเท่านั้น หากผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองยังต้องเรียนรู้ลึกซึ้งกับ “หลักการใช้ธรรมเป็นอำนาจ ไม่ใช่ใช้อำนาจเป็นธรรม” ด้วย หาไม่แล้วเสียงข้างมากที่กุมอยู่ก็ไม่อาจประคับประคองให้อยู่ในอำนาจได้ยาวนานแต่อย่างใด

แม้นหลักการความถูกต้องที่ถ้อยถักจากความ “ยุติธรรม” อาจจะถูกทำลายลงไปด้วยอานุภาพของเสียงข้างมาก (majority) ตามระบอบประชาธิปไตยทั้งในรัฐสภาและเสียงของประชาชนผู้ขาดข้อมูลข่าวสารได้ในที่สุด แต่ท้ายที่สุดคงไม่อาจปลาสนาการความเป็นวิญญูชนผู้รู้ผิดรู้ชอบตามปกติ และใช้ชีวิตด้วยความกล้าหาญทางจริยธรรมของสังคมไทยลงไปได้ แม้ว่าในวันนี้จำนวนจะลดน้อยถอยลงจนเป็นเสียงข้างน้อยในสังคมและรัฐสภา (minority) แล้วก็ตามที

ความภาคภูมิใจในความเป็น “วิญญูชน” และ “ตัวแทนประชาชน” ย่อมเกี่ยวข้องกับการดำรงตนอยู่ในครรลองของหลักความเป็นอิสระของสมาชิกรัฐสภา (free mandate) ที่จะต้องปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้แทนของประชาชนทุกคน ไม่ใช่แค่คนในสังกัดพรรคพวกของตนเท่านั้น รวมถึงรับผิดและเรียนรู้ที่จะใช้ความผิดพลาดจากการกระทำความผิดของตนเอง และพวกพ้องมาขับเคลื่อนกงล้อประวัติศาสตร์การเมืองไทยไม่ให้ซ้ำรอยวงจรอุบาทว์

ไม่เช่นนั้น การเล่นการเมืองโดยไม่มีหลักการผ่านการพยามยามแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 237 จะทำให้สังคมคลางแคลงใจว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันนั้นเข้าข่ายใดระหว่าง “มืดมา มืดไป, มืดมา สว่างไป, สว่างไป มืดมา และสว่างมา สว่างไป”

คอลัมน์เวทีนโยบายสาธารณะ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) www.nhf.org

กำลังโหลดความคิดเห็น