xs
xsm
sm
md
lg

สศช.ร่วมเอดีบีทำยุทธศาสตร์พัฒนาภาคใต้ เน้นอุตฯเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์-พัฒนาท่าเรือ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวภูเก็ต-สภาพัฒน์จับมือเอดีบีทำกรอบยุทธศาสตร์พัฒนาพื้นที่ภาคใต้ ลงพื้นที่สำรวจฝั่งอ่าวไทยพบระยะแรกต้องเน้นส่งเสริมอุตสาหกรรมที่เพิ่มมูลค่าให้แก่ผลิตภัณฑ์ พร้อมพัฒนาท่าเรือน้ำลึกเป็น gateway ส่วนอุตฯหนักๆต้องทำความเข้าใจกับประชาชนต่อเนื่อง เตรียมรับฟังความคิดเห็นหน่วยงานเกี่ยวข้องในภาคใต้เมษายนนี้

นางนิตยา กมลวัทนนิศา ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาพื้นที่ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวถึงการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ ในการประชุมคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคใต้ หอการค้าไทย ครั้งที่1/2551 ที่โรงแรมรอยัล ภูเก็ต ซิตี้ จ.ภูเก็ต เมื่อเร็วๆนี้ ว่า

รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้มาก โดยได้มีการศึกษาเพื่อพัฒนาพื้นที่ภาคใต้มาตั้งแต่ปี 2518 โดยอาศัยศักยภาพและความได้เปรียบด้านที่ตั้ง ซึ่งมีพื้นที่เป้าหมายครอบคลุม 5 จังหวัด คือ ภูเก็ต พังงา กระบี่ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ภายใต้กรอบแนวคิด “การพัฒนาสะพานเศรษฐกิจ” เชื่อมโยงฝั่งอันดามันกับฝั่งอ่าวไทยด้วยระบบขนส่งแบบผสมผสานทั้งถนน รถไฟ ท่อน้ำมันและท่าเรือน้ำลึก

รวมทั้งกรอบข้อตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน IMT-GT ครอบคลุม 14 จังหวัดภาคใต้ โดยเฉพาะโครงการสะพานเศรษฐกิจหรือโครงการเซาเทิร์นซีบอร์ด มีการลงทุนในส่วนของถนนสี่เลนที่มีเกาะกลางขนาดใหญ่ที่สามารถรองรับทั้งท่อน้ำมัน รถไฟ ตั้งแต่อำเภอขนอม จ.นครศรีธรรมราชไปจนถึงอ่าวท่าเลน จ.กระบี่ ซึ่งหลังจากเกิดสึนามิ ก็มีแนวคิดที่จะเปลี่ยนแปลงในส่วนของท่าเรือน้ำลึกทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน โดยอันดามันได้เลื่อนมาเป็นที่ทับละมุและอ่าวไทยที่สิชล เป็นต้น

เน้นส่งเสริมอุตฯเพิ่มมูลค่าให้แก่ผลิตภัณฑ์พื้นที่

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาพื้นที่เพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ สศช.จึงได้ร่วมกับทางธนาคารพัฒนาเอเชีย ในการจัดทำกรอบแนวทางการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้อย่างยั่งยืนและสำรวจพื้นที่จังหวัดปัตตานี สงขลา สตูล ตรัง นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ชุมพร ซึ่งได้ข้อสรุปในเบื้องต้น ว่า ในการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ในระยะแรก ควรจะพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่องเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ พัฒนาท่าเรือน้ำลึกเป็น Gateway

ส่วนการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ต้องเริ่มทำ Public Consultation อย่างต่อเนื่อง การแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อาจจะพิจารณาความเป็นไปได้ของการลงทุนเชิงยุทธศาสตร์ โดยความร่วมมือรัฐต่อรัฐ และนักลงทุนจากตะวันออกกลาง

ทั้งนี้ สศช.และเอดีบีจะลงพื้นที่ภาคใต้ เพื่อรับฟังความคิดเห็นและความต้องการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่อีกหลายครั้ง โดยเริ่มตั้งแต่เดือนเมษายน 2551 เนื่องจากขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่า ในการพัฒนาภาคใต้ยังคงมีแลนด์บริดจ์อยู่หรือไม่ และจะมีการย้ายอุตสาหกรรมหนักลงมาสู่พื้นที่ภาคใต้หรือไม่ เพราะจากการสำรวจของสศช.พบว่าพื้นที่บริเวณแหลมช่องพระ อ.ปากคลอง อ.ปะทิว จ.ชุมพร มีความเหมาะสมที่สุด สำหรับการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกและโรงงานอุตสาหกรรมเหล็กขั้นต้น รวมถึงพื้นที่บริเวณบ้านแหลมทวด ต.ดอนสัก จ.สุราษฎร์ธานีและบริเวณบ้านบางปอ ต.ทุ่งใส อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช

ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มให้เพียงพอ

นางนิตยา กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ภาคใต้จะต้องเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับการขยายตัวการพัฒนาในอนาคต ว่าจะเป็นโครงข่ายการขนส่งทางถนนสามารถขนส่งผู้โดยสารและสินค้าได้ในระดับหนึ่ง เนื่องจากข้อจำกัดเรื่องการเชื่อมโยง เช่น ในแนวตะวันตก-ตะวันออก โดยถนนแนวตะวันตก-ตะวันออกส่วนใหญ่เป็นทางหลวงขนาด 2 ช่องทางจราจร ซึ่งจะต้องพัฒนาเส้นทางเชื่อมโยงระหว่างฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกเพิ่มเติม โครงข่ายรถไฟไม่สามารถให้บริการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากปัญหาความจุและสภาพรางที่ทรุดโทรม รวมทั้งไม่มีการเชื่อมโยงเส้นทางรถไฟกับท่าเรือหลักในพื้นที่ ได้แก่ ท่าเรือน้ำลึกสงขลาและท่าเรือน้ำลึกระนอง ดังนั้นจะต้องเชื่อมเส้นทางรถไฟกับท่าเรือสำคัญ ควบคู่กับการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งสินค้าเพิ่มเติม เพื่อลดต้นทุนลอจิสติกส์

ด้านท่าอากาศยานและท่าเรือในพื้นที่ยังสามารถให้บริการได้อย่างเพียงพอ ท่าอากาศยานภูเก็ต ต้องเตรียมแผนขยายท่าอากาศยานเพิ่มเติม เนื่องจากเริ่มมีความคับคั่งในชั่วโมงเร่งด่วน รวมทั้งจะต้องศึกษาเพิ่มขีดความสามารถการให้บริการ เนื่องจากปริมาณสินค้าผ่านท่าสูงกว่าขีดความสามารถในการให้บริการ รวมทั้งจะต้องพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่และแหล่งน้ำในพื้นที่บนเกาะรองรับการขยายตัวในช่วงหน้าแล้งทั้งภาคการเกษตรและท่องเที่ยว เป็นต้น

รัฐยังลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่อเนื่อง

นางนิตยา ยังกล่าวถึงโครงการสำคัญที่อยู่ระหว่างการเตรีมการในพื้นที่ภาคใต้ ว่า มีหลายโครงการด้วยกัน เช่น โครงการก่อสร้างถนนสายหลักเป็น 4 ช่องทางจราจร ระยะที่ 2 วงเงินรวม 1,500 ล้านบาท ได้แก่ สายทางพังงา-กระบี่ ตอน 3 เชื่อมโยงระหว่างกระบี่-พังงา-ภูเก็ต ระยะทาง 27 กิโลเมตร และสายทางนครศรีธรรมราช-สงขลา รวมทั้งใช้เป็นเส้นทางเชื่อมโยงท่าเรือน้ำลึกสงขลา ระยะทาง 36 กิโลเมตร โครงการก่อสร้างทางรถไฟคู่ในเส้นทางภาคใต้ช่วงสุราษฎร์ธานีบ้านนาระยะทาง 29 กิโลเมตร เส้นทางเขาชุมทอง-ชะอวด ระยะทาง 27 กิโลเมตร และเส้นทางแหลมโตนด-บ้านต้นโดน ระยะทาง 33 กิโลเมตร

โครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกในภาคใต้ ได้แก่ โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา และโครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสมและออกแบบรายละเอียด โครงการพัฒนาท่าอากาศยานในภาคใต้ ได้แก่ โครงการขยายขีดความสามารถท่าอากาศยานภูเก็ต เกาะสมุย โครงการพัฒนาท่าอากาศยานเบตง โดยขณะนี้บริษัทท่าอากาศยานไทยและกรมขนส่งทางอากาศ อยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสมของโครงการ

นอจากนี้ ยังมีโครงการด้านพลังงานการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนจะนะ ชุดที่ 1 และชุดที่ 2 โครงการพัฒนาแหล่งน้ำในภูเก็ต สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช รวมถึงโครงการขยายประปา 13 โครงการวงเงินประมาณ
กำลังโหลดความคิดเห็น