xs
xsm
sm
md
lg

อัด “มิ่ง” ปั่นราคา-พ่อค้ากักตุน “ลาว” แบกข้าวสารขายฝั่งไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้ส่งออกอัด “มิ่งขวัญ” ส่งสัญญาณผิด ตั้งคำถามปั่นราคาข้าวเอื้อประโยชน์ใคร ชี้ชาวนาไม่ได้อะไร เพราะพ่อค้าคนกลางแห่กักตุนข้าวไว้หมดแล้ว เตรียมขอเข้าพบเสนอมาตรการกำหนดเพดานส่งออกข้าวลดความร้อนแรงของการส่งออก สอนมวยหัดคิดก่อนแล้วค่อยทำ แต่ในประเทศขาดแคลนจะทำยังไง เพราะสต๊อกรัฐ 2.1 ล้านตัน กินแค่ 3 เดือนก็หมดแล้ว ขณะที่เอเย่นต์ค้าข้าวรายใหญ่ และผู้ค้ารายย่อย ร่วมกันกักตุนข้าวหวังฟันกำไรตากราคาข้าว ส่วนคนลาวแห่แบกข้าวสารข้ามโขงขายตลาดถนนคนเดินชายแดนไทย-ลาว

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกสมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศ เปิดเผยว่า ขณะนี้ ตลาดการค้าข้าวภายในประเทศกำลังเกิดความปั่นป่วนอย่างหนัก มีการเก็งกำไรเกิดขึ้น ไม่มีใครยอมขายข้าว หลังจากที่นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ออกมาระบุว่าอีก 3 เดือน ราคาข้าวจะขึ้นอีก 2-3 เท่า หรือมีราคาสูงถึงตันละ 3 หมื่นบาท ทำให้พ่อค้าคนกลางรีบเก็บกักตุนข้าวเอาไว้ ส่วนเกษตรกรที่นายมิ่งขวัญบอกว่าจะมีกำไร คงไม่เป็นเช่นนั้น เนื่องจากเกษตรกรไม่สามารถชะลอการขายข้าวได้ เพราะไม่มีพื้นที่เก็บข้าว

สำหรับผู้ส่งออกต่างก็ไม่กล้ารับคำสั่งซื้อ เพราะเกรงว่าจะได้รับผลกระทบจากราคาข้าวที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น โดยมีการชะลอรับคำสั่งซื้อ หรือจะรับคำสั่งซื้อก็รับในปริมาณไม่มาก เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการขาดทุนจากการรับคำสั่งซื้อล่วงหน้า ยิ่งในสถานการณ์เช่นนี้ หากรับมาแล้ว ราคาข้าวเพิ่มสูงขึ้นก็จะทำให้ขาดทุนทันที

“ขณะนี้ราคาส่งออกข้าวหอมมะลิอยู่ที่ 980 เหรียญสหรัฐ/ตัน และข้าวขาว อยู่ที่ 700 เหรียญสหรัฐ/ตัน ไม่ต้องรอถึง 3 เดือน ราคาข้าวก็จะทะลุ 1 พันเหรียญสหรัฐฯอยู่แล้ว แต่ภาครัฐก็ยังมัวหลงกับราคาข้าวที่ขึ้นสูงอย่างนี้อยู่ได้ โดยไม่ดูว่าระบบข้าวจะได้รับผลกระทบอย่างไร ซึ่งถ้าเซ็คเตอร์ใดเซ็คเตอร์หนึ่งพัง ระบบธุรกิจข้าวจะอยู่ได้อย่างไร ขณะที่ทั่วโลกเขาก็มีมาตรการที่จะส่งสัญญาณชะลอส่งออกข้าวกันหมดแล้วไม่ว่าจะเป็นเวียดนามหรืออินเดีย” นายชูเกียรติ กล่าว

นายชูเกียรติ กล่าวว่า เร็วๆ นี้ สมาคมฯ จะทำหนังสือขอเข้าพบนายมิ่งขวัญเพื่อขอให้ทบทวนเรื่องนโยบายการผลักดันส่งออกข้าว โดยจะเสนอให้พิจารณามาตรการกำหนดเพดานราคาส่งออกข้าว เหมือนอย่างที่ประเทศอินเดียดำเนินการ โดยล่าสุดเพิ่มประกาศเพดานส่งออกข้าวขั้นต่ำที่ตันละ 1 พันเหรียญสหรัฐขึ้นไป ซึ่งเป็นการเพิ่มเพดานราคาส่งออกอีกครั้ง หลังจากเมื่อ 1-2 เดือนก่อน ประกาศเพดานส่งออกข้าวขั้นต่ำที่ 700 เหรียญสหรัฐไปแล้ว

ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวเป็นการนำมาใช้เพื่อลดความร้อนแรงของปริมาณส่งออกข้าว โดยเป็นมาตรการที่ไม่ผิดระเบียบองค์การการค้าโลก (WTO) เพราะไม่ได้กีดกันการส่งออกหรือนำเข้า แต่หากใครอยากได้ข้าวก็ต้องจ่ายแพง ซึ่งเชื่อว่ามาตรการนี้จะทำให้สถานการณ์ข้าวภายในประเทศดีขึ้น ราคาไม่ผันผวนจนเกินไป แม้ภาครัฐเตรียมทำข้าวถุงราคาถูกเพื่อช่วยผู้บริโภค แต่สต๊อกข้าวที่มี 2.1 ล้านตัน คงไม่เพียงพอกับการบริโภคภายในประเทศ เพราะปริมาณข้าวเพียงแค่นี้ ใช้ 3 เดือนก็หมดแล้ว

แฉเอเยนต์ใหญ่กักตุนหวังฟันกำไร

แหล่งข่าวจากเอเยนต์ค้าข้าวสารรายใหญ่ของนครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า แนวโน้มของราคาข้าวสารในอีก 1-2 เดือนข้างหน้าจะมีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างน้อยกระสอบละ 200-300 บาท ทำให้ระยะนี้มีการกว้านซื้อจากผู้ค้าทั้งรายใหญ่และรายย่อยจำนวนมากนำไปกักตุนไว้บางรายนับ 100 กระสอบ ส่วนรายย่อยนั้นประมาณ 40-50 กระสอบ บางรายถึงขั้นไปเช่าห้องเช่าเพื่อเก็บตุนข้าวสารไว้โดยเฉพาะ ปัจจุบันนั้นราคาจะอยู่ที่ 1,100-1,200 บาท ขณะเดียวกัน ในเครือญาติของผู้ค้าจากส่วนกลางบางรายได้ลงทุนสั่งซื้อข้าวสารบรรจุกระสอบกักตุนไว้ในปริมาณมากเพื่อทำกำไรในส่วนนี้เช่นกัน

สำหรับปัญหาข้าวในสต็อกในโกดังของกระทรวงพาณิชย์ที่หายไปนั้นเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี ซึ่งกรมการค้าภายในฐานะผู้ควบคุมและดูแลปรากฏว่าปล่อยให้เกิดปัญหาขึ้นทุกปี และมีการตั้งกรรมการขึ้นสอบสวนแต่ก็ไม่เคยมีความคืบหน้าออกมาแต่อย่างไร

“ปัญหาข้าวหาย มีอดีตอธิบดีกรมการค้าภายใน และอดีตรองปลัดกระทรวงพาณิชย์เคยเป็นคณะกรรมการตรวจสอบข้าวหายในรัฐบาลชุดที่แล้ว แต่ก็ไม่มีความคืบหน้าของผลการสอบสวน หรือเอาผิดกับผู้ทุจริตข้าวได้เลย มายุคนายมิ่งขวัญเป็น รมว.พาณิชย์ ข้าวก็หายอีก เป็นการหายซ้ำซากทำให้เห็นถึงความบกพร่องในการควบคุมข้าวในสต็อกที่หายเป็นประจำทุกปี ซึ่งมั่นใจว่ามีขบวนการลักลอบแต่ไม่สามารถทำอะไรได้เลยทำให้รัฐเกิดความเสียหาย” แหล่งข่าวคนเดียวกัน กล่าว

นายบริรักษ์ ชูสิทธิ์ หัวหน้าการค้าภายในจังหวัดนครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้ติดตามประเด็นการกักตุนอย่างเข้มงวดทั้งข้าวเปลือกและข้าวสารยอมรับว่าแนวโน้มของราคาข้าวสารเพิ่มขึ้นตามลำดับแน่นอน มาตรการในขณะนี้จะต้องนำเข้าหารือกับจังหวัดในเรื่องของการควบคุมเพราะข้าวสารถือเป็นสินค้าควบคุมเช่นกัน เบื้องต้นนั้นอาจจะพิจารณามาตรการเดียวกับปุ๋ยคือการแจ้งการครอบครองเกิน 100 ตันต้องแจ้งต่อเจ้าหน้าที่

คนลาวแห่แบกข้าวสารขายฝั่งไทย

ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.เชียงรายว่า ในงานถนนคนเดินทุกวันอาทิตย์ บริเวณตลาดชายแดนไทย-ลาว ริมแม่น้ำโขง ในเขตเทศบาลตำบลเวียงเชียงแสน อ.เชียงแสน จ.เชียงราย จะมีประชาชนชาวลาวเดินทางมาซื้อขายสินค้ากันอย่างคึกคัก โดยเฉพาะในช่วงที่ราคาข้าวพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์อยู่ในขณะนี้ ปรากฏว่า เกษตรกรลาว นิยมแบกข้าวสาร ทั้งข้าวเจ้า-ข้าวเหนียว ลงเรือหางยาว ข้ามแม่น้ำโขงมาขายในตลาดถนนคนเดินฝั่งไทยกันอย่างหนาตามากขึ้น ตามสถิติ ตม.พบว่า มีการผ่านแดนมากกว่า 1 พันคน/วัน

โดยข้าวสารจากลาวที่นำมาจำหน่ายนั้น มีราคาถังละ 220-230 บาท ขณะที่ข้าวไทยซื้อขายกันที่ 300 บาทต่อถัง นอกจากนี้ยังมีการนำน้ำผึ้ง, รวงผึ้ง, ของป่า มาขายด้วยบ้าง ส่วนเนื้อสุกร ไม่พบว่ามีการนำเข้าหรือส่งออก เพราะราคาแพง

นางหล้า อายุ 56 ปี ชาวลาว จากบ้านหลวงสิงห์ เมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว กล่าวว่า ตนกับลูกๆ ทำนา และเห็นว่าราคาข้าวในฝั่งไทยสูง จึงนำมาขาย ขากลับก็ซื้อสินค้า ของใช้ต่างๆ กลับบ้าน

ขณะที่ นายพร วงศ์เรือน อายุ 59 ปี พ่อค้าไทย กล่าวว่า ข้าวสารจาก สปป.ลาว อาจจะมีคุณภาพต่ำกว่าข้าวไทย แต่ก็มีคนซื้อไปรับประทานเองเพราะราคาถูก อย่างไรก็ตาม ไม่ได้นำมาขายปนกับข้าวไทยในตลาดสด นอกจากนี้ พบว่า ยังมีผลไม้จากประเทศจีน เช่น แอปเปิล สาลี่ ทับทิม วางขายปนกับผลไม้ไทย เช่น มะม่วง มะพร้าว รวมถึงสาหร่ายแม่น้ำโขง หรือที่เรียกว่า “เตา หรือไก” มาวางขายด้วย ซึ่งยอมรับว่าตลาดถนนคนเดินวันอาทิตย์ชายแดนไทย-ลาว มีการค้าค่อนข้างคึกคัก ทำให้ร้านขายทองคำ-โทรศัพท์มือถือ มีลูกค้าชาวลาวเนืองแน่นตามไปด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น