xs
xsm
sm
md
lg

“เลี้ยบ”ไฟเขียว กลต.สอบ “เพ็ญ” รมว.ปากมากส่อผิด รธน.ซ้ำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รมว.คลังเปิดทางให้ ก.ล.ต.สอบความผิด ‘เพ็ญ’ โทษฐานปล่อยข่าวข้อมูลภายในอสทมทขาดทุน-ปลด ‘วสันต์’ กระทบซื้อขายหุ้น ย้ำไม่ปกป้อง ขณะที่หุ้นป่วนต่อ ราคารูดลงเป็นวันที่สอง ตลาดหลักทรัพย์ฯเผย ‘จักรภพ’ เป็น ‘คนนอก’ ไม่มีหน้าที่เปิดเผยข้อมูล ด้านก.ล.ต.รอให้ตลาดหุ้นชงเรื่องก่อนตั้งแท่นสอบเข้าข่าย อินไซต์เดอร์ หรือไม่ เผยพฤติกรรมรมว.ปากสว่างสั่งปลดผู้บริหารอสมท เข้าข่ายผิดรัฐธรรมนูญมาตรา 268 มีสิทธิ์พ้นตำแหน่ง

นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง กล่าวถึงกรณีที่นายจักรภพ เพ็ญแข รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมาเปิดเผยข้อมูลผลประกอบการไตรมาส 1/51 ของ บมจ.อสมท (MCOT) ว่ามีผลขาดทุนจากการดำเนินการปกติถึง 27 ล้านบาท โดยที่บริษัทยังไม่ได้นำส่งข้อมูลต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แล้วยังระบุจะปลดนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ออกจากตำแหน่งในฐานะผู้รับผิดชอบ ว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มีอิสระ ในการพิจารณาว่าเข้าข่ายการเปิดเผยข้อมูลภายในหรือไม่

"ไม่ว่าจะเป็นใครก็จะต้องถูกลงโทษตามกฎหมาย หากมีใครกระทำผิดตามระเบียบ ก.ล.ต.ก็ต้องว่ากันไปนั้น ขึ้นกับดุลพินิจของ ก.ล.ต." นพ.สุรพงษ์กล่าวและว่า แม้ว่าตนจะทำหน้าที่ประธาน ก.ล.ต.โดยตำแหน่ง แต่ที่ผ่านมาก็ไม่ได้เข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมการ ก.ล.ต.เพราะต้องการให้ ก.ล.ต.ทำงานอย่างอิสระ โดยเห็นว่า ก.ล.ต.มีบทบาทสำคัญต่อตลาดทุน ยิ่งขณะนี้อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านเข้าสู่กฎหมาย ก.ล.ต.ฉบับใหม่ที่ไม่ได้กำหนดให้ รมว.คลังเป็นประธาน ก.ล.ต.อีกต่อไปแล้ว รมว.คลังจึงไม่มีอำนาจไปชี้นำคณะกรรมการ ก.ล.ต..

รายงานข่าวแจ้งว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)ได้สั่งส่วนงานที่เกี่ยวข้องให้ตรวจสอบกรณีนี้แล้วเข้าข่ายองค์ประกอบความผิดตามกฎหมายหลักทรัพย์หรือไม่

ตลาดหลักทรัพย์ฯ ...ราคาหุ้นร่วงอีก

ด้านความเคลื่อนไหวราคาหุ้นบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) หรือ MCOT ยังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 จากราคาปิดเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 50 ที่ราคาหุ้นละ 29.25 บาท โดยวานนี้ (26 มี.ค.) ปิดที่หุ้นละ 28.00 บาท ลดลงจากวันก่อนหน้า 1 บาท คิดเป็น 28.19% มูลค่าการซื้อขายรวม 26.7 ล้านบาท เมื่อรวมทั้ง 2 วัน ราคาหุ้น MCOT ปรับตัวลดลงถึง 1.25 บาท หรือคิดเป็น 4.25%

นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) หรือ MCOT ได้ชี้แจงต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หลังจากที่นายจักรภพ ออกมาระบุอสมท ประสบปัญหาขาดทุนในเดือนมกราคม 50 กว่า 27 ล้านบาท เมื่อมีรวมรายไดจากการร่วมดำเนินกิจการกับช่อง 3 และทรูวิชั่นส์ ว่าที่ผ่านมาบริษัทมีผลประกอบการที่ดี มีกำไรมาโดยตลอด และไม่เคยประสบภาวะขาดทุนแต่อย่างใด

ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งหลังของ ปี 50 อสมท มีรายได้รวมเพิ่มขึ้นจากครึ่งปีแรกถึง 24% และมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 35% ขณะที่ในเดือนมกราคม 51 นั้นบริษัทได้งดรายการบันเทิงทั้งหมดในช่วงสองสัปดาห์แรก ประกอบกับต้องผลิตรายการอื่นเพื่อทดแทนรายการบันเทิงดังกล่าว ทำให้บริษัทมีต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาในภาพรวมแล้ว อสมทยังคงมีกำไรอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มการประกอบการที่ดี โดยคาดว่าบริษัทจะมีรายได้รวมในปี 2551 เพิ่มขึ้นจากปี 2550 ประมาณ 15-20%

ตลท.สั่งห้ามคนนอกให้ข้อมูล

นางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ กล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่ได้มีคำสั่งให้ อสมท ชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติม เพราะผู้บริหารอสมทไม่ได้เป็นผู้ให้ข่าว

ขณะเดียวกันจากการติดตามดูความเคลื่อนไหวราคาหุ้นของอสมทแล้ว พบว่า เรื่องดังกล่าวยังไม่ได้มีผลกระทบต่อการซื้อขายอย่างมีนัยสำคัญ แต่หากราคาหุ้นได้รับผลกระทบมากตลาดหลักทรัพย์ฯ จะมีการให้อสมทชี้แจงในเรื่องดังกล่าวออกมา

"ช่วงเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการกลุ่มทีวีต่างปรับลดเป้ารายได้ลงทั้งหมด เนื่องจากมีการถ่ายทอดพิธีสำคัญเกือบตลอดทั้งเดือน รวมทั้งมีการออกอากาศรายการพิเศษ การถวายความอาลัย สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของอสมท"

นางภัทรียา กล่าวเพิ่มเติม ข้อมูลภายในเรื่องผลการดำเนินงานของบริษัทนั้น ผู้บริหารบริษัทเท่านั้นที่จะเป็นผู้เปิดเผยตามระยะเวลาที่กำหนด ดังนั้นการที่มีบุคคลอื่นนำข้อมูลดังกล่าวมาเปิดเผย บริษัทจะต้องทำความเข้าใจกับผู้ที่เกี่ยวข้องในการควบคุมดูแล ไม่ให้นำเรื่องข้อมูลภายในมาเปิดเผยโดยที่ไม่ได้เป็นผู้บริหารของบริษัท เพราะ ผู้ที่จะมาเปิดเผยได้จะต้องเป็นผู้บริหารของบริษัทเท่านั้น

"อสมท จะต้องทำความเข้าใจกับผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อไม่ให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับบริษัทนำข้อมูลภายในเรื่องผลการดำเนินงานออกมาเปิดเผย ยกเว้นเฉพาะผู้บริหารอสมทเท่านั้น เพราะผู้ที่จะสามารถเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวได้จะต้องเป็นผู้บริหารของบริษัทเท่านั้น" นางภัทรียา กล่าว

ก.ล.ต.รอตลาดหุ้นชงเรื่อง

ด้านนางจารุพรรณ อินทรรุ่ง ผู้อำนวยการ ฝ่ายงานเลขา-ธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า จากกรณีของนาย จักรภพ เพ็ญแข นำข้อมูลในเรื่องผลขาดทุนของMCOT มาเปิดเผยทั้งที่ไม่ได้เป็นผู้บริหารของบริษัทนั้น นั้น จากข้อตกลงกับตลาดหลักทรัพย์ฯในการดูแลบริษัทจดทะเบียนนั้น ตลาดหลักทรัพย์ฯถือเป็นด่านแรกในการที่จะเข้าไปตรวจสอบดูแลก่อน ซึ่งหากข้อมูลที่เปิดเผยมาไม่ชัดเจนก็จะให้บริษัทจดทะเบียนมีการชี้แจง

ทั้งนี้ หากข้อมูลดังกล่าวมีผลกระทบต่อราคาหุ้นและมีผู้ที่ได้ประโยชน์จากการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวเข้าข่ายที่ผิดพรบ.หลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์ฯก็จะต้องมีการส่งข้อมูลดังกล่าวให้ก.ล.ต.เป็นผู้ตรวจสอบข้อมูลในเชิงลึก ว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นการสร้างข่าวเท็จ ข่าวลือ ปั่นหุ้น ที่มีความผิดต่อพรบ.หลักทรัพย์

อย่างไรก็ตามหากข้อมูลที่เปิดเผยมาไม่เข้าองค์ประกอบความผิดพรบ.หลักทรัพย์ นั้น ก็จะต้องมาพิจารณาในเรื่องความเหมาะสม ว่าควรที่จะนำข้อมูลมาเปิดเผยข้อมูลหรือไม่

ชี้อีกพฤติกรรม ‘เพ็ญ’ ผิด รธน. ม.268

ด้าน นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่เกิดขึ้นโดยมีหลายฝ่ายมองว่าเป็นการแทรกแซงการทำงานของอสมท ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 268 หรือไม่ ซึ่งหากพบว่าเข้าข่ายความผิด ส.ส.ก็มีสิทธิ์เข้าชื่อให้วินิจฉัยคุณสมบัติรัฐมนตรี ซึ่งอาจมีผลให้นายจักรภพต้องพ้นจากตำแหน่งรมว.โดยทันที ว่า ไม่สามารถตอบได้ ต้องถามนายจักรภพและขึ้นอยู่กับการตีความของกฎหมาย

รัฐธรรมนูญ มาตรา 268 ระบุว่า “รัฐมนตรีต้องไม่ใช้สถานะ หรือตำแหน่งเข้าไปก้าวก่ายหรือแทรกแซงเพื่อประโยชน์ของตนเองของผู้อื่น หรือของพรรคการเมือง ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อมในเรื่องการให้ข้าราชการ ซึ่งดำรงตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำและมิใช่ข้าราชการ การเมือง พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ กิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่หรือราชการส่วนท้องถิ่น พ้นจากตำแหน่ง”

“หากนายจักรภพ คิดจะปลด ผอ.อสมท. ก็ต้องดูว่ากฎหมายให้อำนาจหรือไม่ และต้องดูว่า เขาทำงานหน้าที่บกพร่องอะไรหรือไม่ ท้ายที่สุด ทุกคนก็ต้องมีหน้าที่ตามกฎหมาย สมมติว่าตนทำงานอยู่ดีๆ แล้วใครจะมาปลด ก็ต้องมีเหตุตามกฎหมายที่จะปลด หากกฎหมายไม่ให้อำนาจ ก็คงโดนฟ้อง” นายชูศักดิ์กล่าว

วิเคราะห์ รมว.ปากมาก สมควรพ้นตำแหน่ง

แหล่งข่าวกล่าวว่า เมื่อพิจารณาในรายละเอียดพฤติกรรมของนายจักรภพครั้งนี้ มี 2 ประเด็น คือ 1.คำพูดที่อ้างถึงผลประกอบการของอสมทมาแล้วกดดันและต้องการให้นายวสันต์ พ้นจากตำแหน่ง และ 2.การที่รมว.ผู้นี้ให้สัมภาษณ์ยอมรับว่าได้สั่งให้กรมประชาสัมพันธ์แห่งประเทศไทย ยึดคืนคลื่นวิทยุ 5 สถานีกลับมาบริหารเอง

ทั้งนี้ ในกรณีแรก อสมท มีสถานะเป็นบริษัทมหาชนจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย การพิจารณาตำแหน่งของนายวสันต์ ต้องเป็นไปตามขั้นตอน ข้อบังคับของบริษัทและ ตามระเบียบของตลาดหลักทรัพย์ฯ อาทิ เป็นวาระของที่ประชุมคณะกรรมการ แล้วเสนอต่อผู้ถือหุ้น นายจักรภพพูดออกมา เท่ากับเป็นการแทรกแซงการทำงานของอสมท

“รัฐมนตรีไม่มีอำนาจหน้าที่ใดๆ ในการปลด เปลี่ยนแปลงกรรมการผู้ อำนวยการใหญ่ มีอำนาจหน้าที่เพียงกำกับดูแลผ่านคณะกรรมการบริษัทให้การดำเนินการของ อสมท เป็นไปตามกฎหมายและนโยบายของรัฐบาลเท่านั้น”

ดังนั้น การที่นายจักรภพ ออกมาให้สัมภาษณ์ให้นายวสันต์พิจารณาตัวเอง หรือสั่งล่วงหน้าให้คณะกรรมการบริษัท อสมท ชุดใหม่เปลี่ยนแปลงตัวกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ จึงเป็นการเข้าไปแทรกแซงก้าวก่ายให้พนักงานหรือลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจ พ้นจากตำแหน่งทั้งๆ ที่ไม่มีอำนาจตามกฎหมาย อันเป็นการกระทำต้องห้ามตาม มาตรา 268

เมื่อนายจักรภพ มีการกระต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ดังกล่าว ข้างต้นผลที่ติดตามมาคือ อาจจะทำให้นายจักรภพต้องหลุดจาก ตำแหน่ง รัฐมนตรีทันทีตามมาตรา 182(7)ที่บัญญัติว่า ความเป็นรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัวเมื่อกระทำการอันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 268

แต่ถ้านายจักภพ อ้างว่า ไม่ได้แทรกแซงหรือก้าวก่าย การเปลี่ยนแปลงตัวกรรมการผู้อำนวยการใหญ่หรือการปฏิบัติราชการของข้าราชการประจำ ก็มีกระบวนการวินิจฉัยชี้ขาดซึ่งทำได้ 2 แนวทางคือ

หนึ่ง ส.ส.จำนวน 1 ใน 10 ของจำนวน ส.ส.ทั้งหมดที่มีอยู่หรือเพียง 48คน (จากจำนวน 480คน)เข้าชื่อกัน ยื่นเรื่องให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเพื่อส่งเรื่อง ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสถานภาพของนายจักรภพว่า ต้องพ้นจากตำแหน่งเพราะกระทำอันเป็นการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญหรือไม่(มาตรา 182 วรรคสามประกอบ มาตรา 91)

สอง ส.ว.จำนวน 1 ใน 10 ของจำนวน ส.ว.ที่มีอยู่ทั้งหมดหรือเพียง 15คน (จากทั้งหมด 150)เข้าชื่อกันเสนอต่อประธานวุฒิสภาเพื่อส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยสถานภาพของนายจักรภพในลักษณะเดียวกัน

การดำเนินการในส่วนของ ส.ว.นี้มีความชอบธรรมเพราะ ส.ว.มีหน้าที่ในการตรวจสอบการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารเช่นเดียวกับ ส.ส.

นอกจากนั้ยังเป็นบททดสอบกลไกการตรวจสอบอำนาจรัฐตามรัฐธรรมนูญว่า มีประสิทธิภาพเพียงใดและยังเป็นการทดสอบตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นใหม่ในเร็วๆ นี้ด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น