เลขาฯ ก.ล.ต.ชี้ “จักรภพ” เปิดเผยข้อมูล MCOT ส่งผลต่อหุ้นในกระดานร่วงลงติดต่อกัน 2 วันซ้อน ยังไม่ถือว่าทำผิด กม.ตลาดหุ้น เพราะไม่ใช่ผู้บริหาร พร้อมยอมรับว่า พฤติกรรมไม่เหมาะสม
วันนี้ (27 มี.ค.) นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวถึงกรณีที่นายจักรภพ เพ็ญแข รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมาเปิดเผยถึงผลประกอบการในเดือน ม.ค.51 ของบรฺษัท อสมท จำกัด (มหาชน) หรือ MCOT แล้วมีผลให้ราคาหุ้นร่วงลงติดต่อกัน 2 วันซ้อน โดยวานนี้ราคาหุ้นอยู่ที่ระดับ 28.00 บาท ลดลง 3.45% นั้น
นายธีระชัย ระบุว่า กรณีที่เกิดขึ้นดังกล่าวไม่น่าจะผิดกฎหมายแต่เป็นเพียงไม่เหมาะสม เนื่องจากนายจักรภพไม่ได้เป็นผู้บริหาร MCOT แค่เป็นผู้กำกับดูแลเท่านั้น
“ค่อนข้างจะไปทางนั้น เพราะว่าคุณจักรภพไม่ได้เป็นผู้บริหาร ไม่ได้เป็นกรรมการอยู่ใน อสมท เป็นเพียงรัฐมนตรีที่กำกับดูแล และในแง่การบริหารราชการแผ่นดิน รัฐมนตรีอาจได้ข้อมูลต่างๆ ของบริษัท แต่จริงๆ แล้วเป็นข้อมูลเบื้องต้น ดูแล้วไม่น่าจะถือว่าเป็นบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการบริหารบริษัทโดยตรง”
เนื่องจากมีกฎหมายห้ามไม่ให้ผู้บริหารออกมาเปิดเผยข้อมูลของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ต่อสาธารณชนก่อนที่จะรายงานต่อ ตลท.ไม่ได้ เพื่อให้นักลงทุนส่วนใหญ่ได้รับทราบข้อมูลอย่างกว้างขวาง
“ความจริงกรณี การปูดข้อมูลภายในของ อสมท ของคุณจักรภพในเคสนี้ ต้องยอมรับว่าการให้ข้อมูลในลักษณะนี้เนื่องจากคุณจักรภพเป็นรัฐมนตรีที่มีสื่อติดตามอยู่ตลอดเวลา การให้ข้อมูลก็ต้องถือว่ามีความกว้างขวางไม่แพ้ ตลท. ซึ่งต้องตีความให้ชัดเจนว่าเป็นผู้บริหารหรือไม่ ผมคิดว่ามันค่อนไปในทางที่มองว่าไม่น่าจะใช่”
นายธีระชัย ยังระบุอีกว่า คงเป็นเรื่องที่กว้างเกินไปหากกฎหมายจะครอบคลุมไปถึงคณะรัฐมนตรี เนื่องจากการให้สัมภาษณ์ในแต่ละวันอาจไม่ได้พูดถึงผลประกอบการโดยตรง แต่อาจมีมาตรการบางอย่างที่เป็นนโยบายของรัฐบาลซึ่งรอนสิทธิหรือให้สิทธิพิเศษแก่บุคคล อุตสาหกรรม หรือธุรกิจกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ซึ่งอาจมีผลทำให้ราคาหุ้นเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้
“สำหรับในส่วนนี้คงต้องตรวจสอบว่าคนที่รู้ข้อมูลวงในแล้วนำไปให้บุคคลอื่นเพื่อฉวยโอกาสเข้าไปทำการซื้อขายหรือไม่ แต่กรณีนี้ราคาไม่ได้กระเพื่อมอะไร”
อย่างไรก็ตาม นายธีระชัย กล่าวยืนยันทิ้งท้ายว่า การให้สัมภาษณ์ของคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับรัฐวิสาหกิจที่จดทะเบียนใน ตลท.เป็นเรื่องที่นักลงทุนทั่วไปตระหนักดีว่าไม่ใช่เรื่องที่จะสั่งได้ เช่น เศรษฐกิจจะโตกี่เปอร์เซ็นต์ หรือให้ทำกำไรเพิ่มอีกกี่เปอร์เซ็นต์