xs
xsm
sm
md
lg

ภารกิจศักดิ์สิทธิ์กับบทเรียนการกู้ชาติทางจิตวิญญาณของ ศรี อรพินโธ (ตอนที่ 50)

เผยแพร่:   โดย: ดร.สุวินัย ภรณวลัย

50. บทส่งท้าย : วิถีแห่งยามเฝ้าแผ่นดิน

“ความสำเร็จและชัยชนะขอมอบให้แก่ปวงชน ส่วนความพ่ายแพ้ความสูญเสีย และความปวดร้าวทั้งปวงยินดีน้อมรับไว้กับตนเอง”


จิตปณิธานข้างต้นคือ วิถีของยามเฝ้าแผ่นดิน! ปุถุชนคนธรรมดามักโอดครวญคร่ำครวญอยู่เสมอว่า ลำพังตนเองก็มีความทุกข์มากเกินพออยู่แล้ว จึงไม่อยากแบกรับความทุกข์ของคนอื่นอีก แต่ผู้ที่เดินอยู่บน วิถีแห่งยามเฝ้าแผ่นดิน นี้กลับยินดีอาสาเข้ามาแบกรับความทุกข์ยากของผู้คนทั้งแผ่นดิน โดยเต็มใจที่จะมอบความสุขสงบในตัวเขา ในจิตใจของเขาให้แก่ผู้อื่นโดยไม่คิดเสียดายเลยแม้แต่น้อยนิด

ทำอย่างไรถึงจะกลายเป็นผู้ที่พร้อมแล้วสำหรับการจะเดินอยู่บน วิถีแห่งยามเฝ้าแผ่นดิน ได้?

ก่อนอื่นผู้นั้นจะต้องเริ่มจากการเรียนรู้ที่จะจัดการกับ จิต ของตนเอง โดยเรียนรู้การไม่ยึดติดกับมัน และการที่จะสลายความคิดและอารมณ์กลับเข้าสู่ สภาวะของจิตว่าง ให้ได้อยู่เสมอ จากนั้นก็ต้องเรียนรู้ที่จะผ่อนคลายร่างกาย ทำจิตให้เบาสบายเปิดกว้าง แต่กระจ่างแจ้งในทุกๆ อิริยาบถ และการปฏิบัติฝึกฝนตนเองของผู้นั้น

การปฏิบัติฝึกฝนบน วิถีแห่งยามเฝ้าแผ่นดิน บุคคลผู้นั้นจะต้องทำด้วยความพึงพอใจที่จะทำ ไม่ใช่ฝืนใจทำ เพราะมีแต่ จิต ที่พึงพอใจกับสิ่งที่ จิต กำลังทำอยู่เท่านั้น จิต ถึงจะสามารถเข้าร่วม และเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับการปฏิบัติได้

***

...ต้นเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2550 กรุงเทพฯ

เช้าตรู่วันนั้น “เขา” ยังคงนั่งขัดสมาธิตัวตน หลับตาฝึกสมาธิภาวนาเหมือนเช่นเคย ต่างกันตรงที่ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมานี้ เวลาฝึกเจริญสมาธิภาวนา “เขา” ได้ใช้ พระผงสุริยัน-จันทรารุ่นยามเฝ้าแผ่นดิน 3 สี (ขาว แดง และดำ) อย่างละองค์มาร่วมเจริญสมาธิภาวนาด้วย โดย “เขา” วางพระผงสุริยันจันทรา (พระผงจตุคามรามเทพ) สีขาว ไว้บนกลางกระหม่อม ส่วน สีดำ “เขา” คล้องคอไว้ที่กลางอก และ สีแดง “เขา” วางไว้บนฝ่ามือที่วางซ้อนกันบริเวณท้องน้อย ตำแหน่ง กลางกระหม่อม อยู่ตรงบริเวณ จุดตันเถียนบน หรือจักร 7 (จักรมงกุฎ) ใน วิชาโยคะ ตำแหน่ง กลางอก อยู่ตรงบริเวณ จุดตันเถียนกลาง หรือจักร 4 (จักรหัวใจ) ใน วิชาโยคะ ตำแหน่ง ท้องน้อย อยู่ตรงบริเวณ จุดตันเถียนล่าง หรือจักร 2 (จักรท้องน้อย) ใน วิชาโยคะ

ก่อนอื่น “เขา” ค่อยๆ ส่งความรู้สึกลึกๆ เข้าไปภายในกายให้กล้ามเนื้อทุกส่วนในร่างกายผ่อนคลาย “เขา” ค่อยๆ เดินลมหายใจผ่านจุดต่างๆ ในร่างกายตาม เคล็ดวิชาอักษรสวรรค์ ของ หลวงปู่พุทธะอิสระ ผู้เป็นคุรุคนหนึ่งของ เขา โดย เขา ค่อยๆ สูดลมหายใจเข้า ลมขึ้นจมูก ผ่านหน้าผาก กระหม่อม กะโหลกศีรษะด้านหลัง ท้ายทอย หัวไหล่สะบัก 2 ข้าง กระดูกสันหลังลงไปที่ก้นกบ ทะลุมาที่ช่องท้อง ขึ้นมาที่หน้าอก ลำคอแล้วหายใจออกทางปาก

ครั้งที่สอง ก็หายใจแบบเดียวกับครั้งแรก คือ หายใจเข้าลมขึ้นจมูก หน้าผาก กระหม่อม...ฯลฯ ลงไปที่ก้นกบ ทะลุมาที่ช่องท้อง ขึ้นมาที่หน้าอก ลำคอ แต่คราวนี้หายใจออกทางจมูก

ครั้งที่สาม คราวนี้ “เขา” สูดลมหายใจเข้าจมูก ลำคอ หน้าอก ช่องท้องทะลุไปที่กระดูกสันหลัง ขึ้นมาตามไขสันหลัง แผ่ซ่านไปที่หัวไหล่ สะบัก 2 ข้างขึ้นมาที่ต้นคอ กะโหลกศีรษะด้านหลัง กลางกระหม่อม หน้าผาก โหนกคิ้ว หว่างคิ้ว แล้วหายใจออกทางจมูก

“เขา” เดินลมหายใจผ่านจุดต่างๆ ตาม เคล็ดวิชาอักษรสวรรค์ ทั้ง 3 แบบนี้วนเวียนสลับกลับไปกลับมาได้สักพัก จิต ของ เขา ก็ดิ่งนิ่งสู่ความสงบเป็นสมาธิ จากนั้น เขา จึงสูดลมหายใจเข้าไปลึกๆ อีกคราวนี้ เขา ให้ลมปราณแผ่ซ่านไปทั่วร่างกาย ด้วยการดึงลมปราณให้หลั่งไหลเข้ามาที่กระหม่อมของ เขา จากหลายทิศทางโดยไหลกรองผ่าน พระผงสุริยัน-จันทรารุ่นยามเฝ้าแผ่นดิน ที่วางอยู่บนกลางกระหม่อมของ เขา

ขณะที่หายใจเข้า ก็ให้กำหนดรู้ว่า ลมปราณได้ไหลเทเข้ามาเป็นลำ ครอบลำตัวของเขาจากข้างบนลงข้างล่าง และขณะที่หายใจออกก็ให้กำหนดรู้ว่า ลมปราณได้ไหลออกเป็นลำจากข้างล่างไปทางข้างบน พุ่งออกไปสู่ท้องฟ้ากว้าง

การเดินลมปราณให้แผ่ซ่านและครอบคลุมไปทั่วร่าง โดยดูดซับลมปราณเข้ามาผ่าน จุดตันเถียน ทั้ง 3 แห่งในร่างกาย ซึ่งแต่ละจุดก็มี พระผงสุริยัน-จันทรา แต่ละสีวางอยู่เพื่อเพิ่มประสิทธิผลในการดูดซับพลังจากจักรวาลเข้าสู่ตัวผู้ฝึก และเพื่อหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกับ จิตศักดิ์สิทธิ์ เมื่อมาถึงจุดหนึ่ง “เขา” ก็เริ่มทิ้งลมหายใจมาอยู่กับ “ความว่าง” อย่างเป็นไปเอง

บัดนี้ “เขา” กำลังเพ่ง ความว่าง เป็นอารมณ์ จิตที่เป็นสมาธิของเขายืนอยู่บน ความว่าง ตั้งอยู่บน ความว่าง และมั่นคงอยู่ใน ความว่าง จิตของ เขา ว่างเพราะวางและสงบนิ่ง แต่เปี่ยมไปด้วยความตระหนักรู้

ในห้วงยามนั้น “เขา” มีลมหายใจเป็นใหญ่กับความว่าง รู้แค่ลมกับรู้ว่าง สุดท้ายแม้แต่ลมก็ยังวางเหลือไว้แต่ว่างเท่านั้น

สภาวะของ ความว่าง คือสภาวะที่สมองไม่ต้องคิด ใจไม่ต้องนึก และกายไม่ต้องเครียด ทุกอย่างผ่อนคลายหมดและปราศจากมลทินใดๆ เมื่อทุกอย่างมันไม่มีอะไรปรากฏอยู่หลังจากลมหายใจ ในขณะที่ลมกำลังออกก็มีแต่ลมกับความว่างไม่มีอย่างอื่น เมื่อส่งความรู้สึกเข้าไปข้างในดูตั้งแต่หัวจดเท้า พร้อมกับรับรู้ความเป็นไปของลมที่เดินออกจนหมด เมื่อลมออกหมดมันก็จะเหลือทิ้งไว้แต่ความว่าง

เมื่อนั้น “เขา” ได้แลเห็น ความว่าง แค่ชั่วขณะหนึ่งของจิตและบังเกิด ความเบาสบาย ปรากฏขึ้นภายหลังจากแลเห็น ความว่าง จิตใจที่ เบาสบาย หลังจากที่ได้แลเห็น ความว่าง นี้แหละที่เป็น จิตใจของผู้ชนะที่แท้จริง

บัดนี้ “เขา” กำลังเสพ ความว่าง อันเป็น รสชาติของชัยชนะแห่งชีวิตอยู่ และเป็นชัยชนะที่ค่อนข้างจะมั่นคงและถาวร เพราะ เขา เสพ ความว่าง ด้วยความตระหนักรู้อยู่เสมอเป็นประจำ รสชาติของความพ่ายแพ้แห่งชีวิต ที่ปรากฏออกมาในรูปของความทุกข์ ทรมาน เครียด ปวดหัว กระสับกระส่าย ร้อนรุ่ม กลัดกลุ้ม กังวล ว้าวุ่น สับสน ฯลฯ จึงยากที่จะกล้ำกรายเข้าสู่จิตใจเขาได้โดยง่าย

“เขา” รู้ดีกว่าใครๆ ว่า คนเราสามารถมุ่งสู่ความเป็นอริยะ และการมีชีวิตที่ศักดิ์สิทธิ์ได้ในทันทีที่ผู้นั้น เลือก และ เต็มใจ ที่จะทำเช่นนั้นโดยสมัครใจ การเติบโตทางจิตวิญญาณจะไม่ใช้เวลานานเกินไปเลย ถ้าหากคนผู้นั้นมีความชัดเจนในตัวเอง ถ้าหากคนผู้นั้นมีจิตที่ตั้งมั่นเป็นหนึ่งเดียว และมีเป้าหมายเพียงอย่างเดียวต่อสิ่งที่คนผู้นั้นจดจ่อมุ่งมั่นจนกระทั่งสามารถกระทำให้มันกลายเป็นจริงขึ้นมาได้ในที่สุด

คนเราจะสามารถได้ทุกอย่างในสิ่งที่คนผู้นั้นได้ เลือกที่จะเป็น เสมอ แต่คนเรามักไม่ได้ในสิ่งที่ “ต้องการ” หรือ “อยากได้” เฉยๆ ทั้งนี้ก็เพราะว่า การเลือกที่จะเป็น มันสามารถกลายเป็นประสบการณ์ที่เกิดขึ้นได้ในทันที ณ ที่นี่ และเดี๋ยวนี้ จากสิ่งที่คนผู้นั้นกำลังคิด กำลังรู้สึก กำลังพูด และกำลังกระทำอยู่นั่นเอง

โดยการเป็นหนึ่งเดียวกับ ปัจจุบันขณะ คนเราย่อมสามารถสร้างสรรค์ ตัวตนแห่งตนเอง ขึ้นมาใหม่ได้เท่าที่ มโนคติสูงสุด ที่คนผู้นั้นมีต่อตัวเองจะสามารถจินตนาการและนึกถึงได้

เพราะฉะนั้น คนผู้นั้นจะต้อง เลือกที่จะเป็น สิ่งนั้น ที่สำคัญก็คือคนผู้นั้นจะต้อง เลือกที่จะเป็น เช่นนั้นเหมือนเดิมซ้ำแล้วซ้ำเล่า เลือกเช่นนั้นเหมือนเดิมทุกวัน ทุกเวลา ทุกลมหายใจเข้าออกของตัวเขา จนกระทั่งมันกลายมาเป็นทั้งวิถี ทั้งเป้าหมาย และสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตของตัวเขา

จิตสำนึก จึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก สำคัญอย่างที่สุด เพราะมันคือทุกสิ่งทุกอย่าง และเป็นตัวสร้างประสบการณ์ทั้งหมดให้แก่ชีวิตของคนเรา

ยิ่ง จิตสำนึก นั้น แผ่ขยายจาก จิตสำนึกแห่งปัจเจก ไปเป็น จิตสำนึกรวมหมู่ ด้วยแล้ว มันก็ยิ่งมีพลังเพิ่มมากขึ้นไปอีกเป็นทวีคูณ

ด้วยเหตุนี้ หากมีผู้เข้ามาเดินอยู่บน วิถีแห่งยามเฝ้าแผ่นดิน ร่วมกันมากๆ เข้าจนกระทั่งสามารถก่อตัวเป็น จิตสำนึกรวมหมู่ที่ทรงพลัง ขึ้นมาได้ จงรู้ไว้เถิดว่า เมื่อนั้น พวกเราทั้งหลายแห่ง ขบวนการยามเฝ้าแผ่นดิน นี้ก็ย่อมสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมนี้ให้ดีงามขึ้น และเป็นธรรมยิ่งขึ้นอย่างที่ได้ตั้งใจเอาไว้ได้อย่างแน่นอน

“เขา” และผู้คนอีกเป็นจำนวนมากกำลังใช้ชีวิตแห่งการเป็น ยามเฝ้าแผ่นดิน โดยเห็นว่า วิถีแห่งยามเฝ้าแผ่นดิน นี้สามารถเป็นส่วนหนึ่งของการบรรลุ มโนคติสูงสุด ที่พวกเขามีต่อตนเองได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับตัว “เขา” แล้ว การมาเป็น “ยามเฝ้าแผ่นดิน” ถือเป็นส่วนหนึ่งแห่งการบรรลุ วิถีโพธิสัตว์ อันเป็น มโนคติสูงสุดแห่งความเป็นตัวตนเชิงบูรณาการ (Integral Self) ของตัวเขา

“เขา” หวนนึกถึงคำพูดที่ คำนูณ สิทธิสมาน เคยกล่าวกับเขาเมื่อไม่นานมานี้ว่า

“อาจารย์ครับ โปรดมาช่วยเขียนนโยบายให้ พรรค ของพวกผมที่จะก่อตั้งขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ด้วยเถิดครับ”

“เขา” ยิ้มให้กับตัวเองพร้อมกับพูดกับตนเองในใจว่า

“บางที คงถึงเวลาแล้วกระมังที่แม้แต่ผู้ที่มี วิสัยของโพธิสัตว์ และมุ่งมั่นที่จะเจริญรอยตาม วิถีแห่งโพธิสัตว์ ก็จำเป็นที่จะต้องกระโจนเข้ามาร่วมสร้าง พรรคการเมืองแบบใหม่ อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในสังคมนี้ขึ้นมา”

“...ทั้งนี้ก็เพื่อความอยู่รอด และความยั่งยืนสถาพรของชาติบ้านเมืองนี้ ในท่ามกลางยุคสมัยที่กำลังเป็น กลียุค อย่างทุกวันนี้”

“...พรรคการเมืองแบบใหม่ ที่ว่า ถ้าหากจะก่อตั้งขึ้นมาในอนาคตอันใกล้นี้ มันจะเป็นพรรคอื่นไปไม่ได้ นอกจาก พรรคเทียนแห่งธรรม เท่านั้น!”
กำลังโหลดความคิดเห็น