xs
xsm
sm
md
lg

เร่งสรุปต้นทุนรถไฟ้าสายสีม่วงหลังรัฐเร่งก่อสร้างเร็วขึ้น 1 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"รฟม." เร่งที่ปรึกษาคำนวนต้นทุนค่าก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง เพิ่มหลัง "สันติ" สั่งบีบเวลาก่อสร้างเหลือ 2 ปี สรุปภายในสัปดาห์หน้าก่อนเซ็นเงินกู้กับเจบิก เหตุต้องเพิ่มทั้งเครื่องมือเครื่องจักรและคนเพื่อเร่งงาน ด้าน "สันติ" เชิ่อต้นทุนค่าวัสุที่เพิ่มขึ้นไม่กระทบถึงขึ้นเพิ่มกรอบวงเงินลงทุนโครงการ ด้านสนข.เร่งออกแบบ สีแดงช่วง จิตรลดาและ ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสันเสร็จ มิ.ย.นี้

แหล่งข่าวจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ขณะนี้รฟม.ได้เร่งรัดให้บริษัทที่ปรึกษาโครงการรถไฟฟ้าสีม่วงช่วงบางซื่อ-บางใหญ่ ระยะทาง 23 กม.ในการคำนวนต้นทุนค่าก่อสร้างงานโยธาที่อาจจะต้องปรับเพิ่มขึ้นตามนโยบายของนายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่ต้องการให้ลดระยะเวลาการก่อสร้างงานโยธาลงจาก 3 ปีเหลือ 2 ปี ซึ่งจะทำให้ผู้รับเหมาต้องเพิ่มจำนวนเครื่องมือ เครื่องจักร อุปกรณ์ รวมถึงคนงาน เพื่อเร่งงานก่อสร้างให้เร็วขึ้นจากตารางการทำงานเดิมที่มีการคำนวนไว้

โดยจะสรุปให้เสร็จภายในสัปดาห์หน้า ก่อนที่ทางผู้แทนสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) และผู้ว่าการฯ รฟม.จะเดินทางไปลงนามในสัญญาเงินกู้กับเจบิกในวันที่ 31 มี.ค.นี้ ซึ่งเจบิกตกลงให้กู้เพื่อใช้ในการดำเนินโครงการในงวดแรก วงเงิน 62,442 ล้านเยน หรือประมาณ 8,733 ล้านบาท มีเงื่อนไขผ่อนปรน ในส่วนของอัตราดอกเบี้ยสำหรับการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการ ในอัตราร้อยละ 1.4 ต่อปีนอกจากนี้ในวันที่ 27 มี.ค.นี้ นายสันติ รมว.คมนาคมมีกำหนดที่จะตรวจเส้นทางตามแนวก่อสร้างครงการสายสีม่วงเพื่อดูปัญหาและอุปสรรคด้วย

ส่วนกรณีที่ต้นทุนวัสดุค่าก่อสร้างในปัจจุบันปรับเพิ่มขึ้นนั้น แหล่งข่าว กล่าวว่า ในส่วนของโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางซื่อ-บางใหญ่ ได้มีการปรับปรุงตัวเลขให้สอดคล้องกับต้นทุนในภาวะปัจจุบันไปแล้วก่อนที่จะเสนอขออนุมตจากคณะรัฐมนตรี นอกจากนี้ โครงการยังมีค่า เค เผื่อไว้ซึ่งยังสามารถเจรจากันได้อีกในช่วงทำสัญญาก่อสร้าง

ด้าน นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมว.คมนาคม ยืนยันว่า ขณะนี้ยังไม่มีการปรับเพิ่มกรอบวงเงินค่าก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าทั้งสายสีม่วง(บางซื่อ-บางใหญ่) และสีน้ำเงิน( หัวลำโพง -ท่าพระ– บางแค) เนื่องจากสาเหตุต้นทุนค่าวัสดุก่อสร้างเหล็ก ปูนซีเมนต์ เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด ซึ่งขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังจัดทำรายละเอียดในทุกประเด็นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกระทรวงมีหน้าที่ให้นโยบาย ส่วนหน่วยงานมีหน้าที่ในการดำเนินงานและเร่งรัดโครงการให้เป็นไปตามกรอบเวลาที่กำหนด

โดยในส่วนโครงการสายสีน้ำเงินนั้นขณะนี้ อยู่ระหว่างการออกแบบรายละเอียด โดยมีกรอบงบประมาณลงทุน 75,317 ล้านบาท ซึ่งรฟม.แจ้งว่าจะสามารถนำเสนอให้ครม.อนุมัติโครงการได้ในเดือนพ.ค. 2551 สำหรับแหล่งเงินลงทุนโครงการนั้นกรณีที่ใช้เงินลงทุนในประเทศจะขายเอกสารประกวดราคาในเดือนมิ.ย. 2551 และเริ่มก่อสร้างในเดือนพ.ค. 2552 แต่ถ้าใช้เงินกู้จากเจบิกจะเริ่มกระบวนการเริ่มคัดกรองผู้รับเหมาในขั้นต้น ในเดือนก.ย. 2551 และขายเอกสารประกวดราคาเดือนก.พ. 2552 เริ่มก่อสร้างเดือนก.พ.2553

สำหรับรถไฟสายสีม่วง คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติเมื่อวันที่ 2 ต.ค. 2550 ให้รฟม.ดำเนินการก่อสร้างวงเงิน 31,217 ล้านบาท และค่าจ้างที่ปรึกษาบริหารโครงการ สำหรับงานโยธาวงเงิน 1,248 ล้านบาท รวมเป็นกรอบวงเงินดำเนินการ 32,465 ล้านบาท และเมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2550 ครม.ได้อนุมัติในหลักการกรอบวงเงินค่าจัดกรรมการสิทธิ์ที่ดินโครงการ จำนวน 9,209 ล้านบาท โดยรฟม.กำหนดจะเปิดขายเอกสารการประมูลในช่วงปลายเดือนมี.ค.- ต้นเดือนเม.ย.2551

วันเดียวกัน ที่สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้จัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในโครงการศึกษารูปแบบที่เหมาะสมของระบบรถไฟสายสีแดงผ่านบริเวณสถานีรถไฟจิตรลดา และการออกแบบรายละเอียดระบบรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน ระยะทางรวม 19 ก.ม. โดย นายประณต สุริยะ รองผู้อำนวยการสนข. กล่าววว่า การออกแบบรายละเอียดจะเสร็จภายในเดือนมิ.ย.นี้ ซึ่งโครงการนี้จะเป็นส่วนที่ทำให้ครงข่ายรถไฟฟ้าสายสีแดงมีประสิทธิภาพและเชื่อมต่ออย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งมีมูลค่าประมาณมูลค่าประมาณ 3.7 หมื่นล้านบาท และคาดว่าจะประกวดราคาได้ประมาณปลายปี 2551

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก จะรองรับการเดินรถไฟ 3 ระบบ ในโครงสร้างเดียวกัน ประกอบด้วย ระบบรถไฟทางไกล ระบบรถไฟฟ้าชานเมือง และระบบรถไฟขนส่งสินค้า โดยบริเวณหน้าสถานีจิตรลดา ได้รับการออกแบบที่เหมาะสมไม่กระทบต่อโครงสร้างสถานีรถไฟปัจจุบัน ซึ่งการออกแบบเป็นลักษณะโครงสร้างต่ำกว่าระดับดิน (Open Trench) จุดเริ่มต้นโครงการบริเวณสถานียศเส มีลักษณะเป็นโครงสร้างทางรถไฟระดับดิน และช่วงที่ผ่านสถานีสามเสนไป มีลักษณะโครงสร้างเป็นทางยกระดับ
กำลังโหลดความคิดเห็น