xs
xsm
sm
md
lg

มึน!เหล็กจ่อขึ้นกว่า20% จีสตีลโกยรายได้3หมื่นล.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน - ราคาเหล็กในประเทศจ่อขยับอีกไม่ต่ำกว่า20 % หลังต้นทุนสินแร่ เศษเหล็กและถ่านหินพุ่งไม่หยุด ผู้ผลิตมึนทำธุรกิจลำบากต้องประเมินราคากันเดือนต่อเดือนหวั่นขาดทุน ด้านจีสตีล ชี้ราคาเหล็กอยู่ในระดับสูงต่อไปอีก 6เดือน หลังการบริโภคเหล็กเบนเข็มจากสหรัฐฯไปตะวันออกกลาง รัสเซียและอินเดีย มั่นใจปีนี้จีสตีลโกยรายได้แตะ 3หมื่นล้านบาท สูงขึ้น 20-30% มั่นใจขยายกำลังการผลิตเพิ่มเป็น 3.4ล้านตันเสร็จปลายปีนี้ดันรายได้พุ่งเท่าตัว เล็งหาพันธมิตรข้ามชาติร่วมทุนโครงการถลุงเหล็ก ฟุ้งสิ้นมี.ค.ถือหุ้นใหญ่ NSM 49.5%และบันทึกงบกำไรเข้ามาในไตรมาส 2 นี้

นายวิกรม วัชรคุปต์ ผู้อำนวยการสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ราคาเหล็กสำเร็จรูปจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า20% เนื่องจากราคาวัตถุดิบปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น อาทิ แร่เหล็กจะปรับราคาขึ้นอีก 60%ในเดือนเม.ย.นี้ และถ่านหินได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นหลังจากเกิดน้ำท่วมที่รัฐควีนสแลนด์ ออสเตรเลีย ทำให้ปริมาณถ่านหินหายไปจากตลาด และค่าขนส่งได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันที่สูง ทำให้เดือนหน้ามีแนวโน้มผู้ประกอบการหล็กในประเทศจะขอปรับราคาเพิ่มขึ้น

จากสถานการณ์นี้จะสร้างความยากลำบากให้กับผู้ใช้เหล็กในภาพรวม เพราะราคาส่งมอบเอฟโอบีเหล็กรีดร้อนจีนที่นำเข้ามาราคาอยู่ที่ 27-28 บาท/กก. เมื่อถึงไทยราคาน่าจะอยู่ที่ 30 บาท/กก. ซึ่งไทยยังมีความจำเป็นต้องนำเข้าเหล็กอยู่จึงไม่มีทางเลือกมากนัก โดยปีนี้ไทยมีความต้องการใช้เหล็กโตขึ้น 5-6% จากปีที่แล้วที่มีความต้องการใช้อยู่ 13 ล้านตัน

ปัญหาเหล็กแพงสืบเนื่องมาจากปัญหาซับไพร์มในสหรัฐ ทำให้นักลงทุนหันมาลงทุนในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งเหล็กก็ถูกเก็งกำไร ทำให้ปรับราคาสูงขึ้น หากปัญหาซับไพร์มลามไปจนทำให้เศรษฐกิจสหรัฐชะลอลง ส่งผลต่อการใช้เหล็กและสินค้าอื่นๆลดลง เชื่อว่าราคาเหล็กก็น่าจะชะลอตัวลงตาม และยังต้องจับตาเหตุการณ์ความไม่สงบในทิเบต ว่าจะส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจจีนทำให้ชะลอตัวลง หากส่งผลให้ราคาเหล็กลดลง

" ราคาเหล็กในปัจจุบันไม่เคยปรากฏมาก่อน โดยราคาเศษเหล็กอยู่ที่ 17-18 บาทต่อกิโลกรัม และอีก 5 ปีข้างหน้า จะมีการเปิดเหมืองสินแร่เหล็กใหม่ เชื่อว่าราคาเหล็กก็จะเริ่มลดลง"นายวิกรมกล่าว

วัตถุดิบเหล็กราคาพุ่งผู้ผลิตจ่อขึ้น25-30%

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานกลุ่มเหล็กสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้คงจะต้องติดตามสถานการณ์ภาวะราคาวัตถุดิบเหล็กทั้งระบบตั้งแต่สินแร่ เศษเหล็ก เหล็กแท่ง (บิลเล็ต) และ เหล็กแท่งแบน(สแลป) ที่มีปัญหาปรับราคาเฉลี่ยทุกผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 250 เหรียญต่อตันหรือ 25-30% นับตั้งแต่ต้นปีนี้ ดังนั้นราคาขายเหล็กเกือบทุประเภทของไทยอย่างต่ำจะต้องทยอยปรับราคาเพิ่มขึ้นอีกในระดับเท่ากับต้นทุนดังกล่าวคือ 25-30%

“ เวลานี้ผู้ผลิตเหล็กในไทยต้องระมัดระวังตัวมาก เพราะไม่กล้าที่จะสต็อกของไว้ เนื่องจากไม่แน่ใจว่าท้ายสุดราคาจะแกว่งไปอยู่ระดับใดแน่ ทำให้เราต้องระเฝ้าระวังพอสมควรต้องประเมินกันเดือนต่อเดือนเพราะวัตถุดิบเหล็กขณะนี้ยอมรับหาไม่ง่ายนัก ขณะที่ราคาขายในประเทศหากไม่สามารถขยับสะท้อนกลไกตลาดการผลิตก็อาจจะไม่คุ้มทุนก็จะเป็นปัญหาต่ออุตสาหกรรมเหล็กโดยรวม ”นายพยุงศักดิ์กล่าว

ปัจจุบันราคาบิลเล็ต และสแลปนำเข้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้พุ่งสูงขึ้นเฉลี่ย 780-800 เหรียญสหรัฐต่อตันที่ท่าปลายทาง ขณะที่สินแร่เหล็กปรับขึ้นไปถึง 65% เศษเหล็กขยับไปอยู่ที่ราว 600 เหรียญต่อตันหรือประมาณ 18-19 บาทในญี่ปุ่นซึ่งถือว่าสูงสุดในประวัติศาสตร์ สาเหตุสำคัญมาจากสต็อกเหล็กทั่วโลกตกต่ำ ประกอบกับจีนที่เคยเป็นผู้ส่งออกเหล็กต้นน้ำเหล่านี้ได้ลดการส่งออกลง และจีนมีปัญหาหิมะตกหนักทำให้การส่งออกเหล็กของจีนสองเดือนแรกลดลงเหลือ 7.25 ล้านตันหรือลดลง 17.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ประเทศผู้ผลิตแร่เหล็กรายใหญ่มีเพียงบราซิล ออสเตรเลีย อินเดีย แอฟริกาใต้ และจีนเท่านั้น ซึ่งคาดว่าราคาเหล็กทั้งระบบที่แกว่งตัวสูงดังกล่าวจะเป็นปัญหาระยะยาว ซึ่งประเทศไทยไม่มีโรงถลุงเหล็กหรือเหล็กต้นน้ำจะมีผลให้ต้องรับภาระกับราคาเหล็กแกว่งตัวระดับสูงค่อนข้างมาก

จีสตีลชี้เหล็กราคาสูงต่อไป 6เดือน

นายสมศักดิ์ ลีสวัสดิ์ตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จี สตีล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ราคาวัตถุดิบในการผลิตเหล็กสูงขึ้นส่งผลให้ต้นทุนการผลิตเหล็กสูงขึ้นตาม จากสภาพดังกล่าวทำให้ผู้ผลิตเหล็กจำนวนหนึ่งย้ายไปตั้งโรงงานใกล้แหล่งสินแร่ เชื่อว่า ราคาเหล็กจะมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องไปอีก 6 เดือนข้างหน้า ส่วนกรณีที่ผู้ประกอบการจะขออนุมัติปรับขึ้นราคาขายเหล็กแผ่นรีดร้อนต่อกรมการค้าภายในอีกหรือไม่นั้น ยังไม่ได้ตัดสินใจ แต่จะพยายามแบกรับภาระให้นานที่สุด

ปัจจุบัน จีสตีลมีการนำเข้าเศษเหล็กและแร่เหล็กจากต่างประเทศ 70% ที่เหลือเป็นการใช้เศษเหล็กในประเทศ โดยบริษัทฯมีความได้เปรียบเนื่องจากมีโรงเตาหลอมเอง ทำให้ปรับอัตราการใช้เศษเหล็กและแร่เหล็กได้ ส่งผลให้บริษัทมีส่วนต่างระหว่างเศษเหล็กและเหล็กแผ่นรีดร้อน(สเปรด)ใกล้เคียงปีที่แล้วอยู่ที่ 200 เหรียญสหรัฐ/ตัน ขณะที่คู่แข่งบางรายที่มีเฉพาะโรงรีดทำให้ประสบปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบ

" จากปัจจัยด้านสินแร่ปรับขึ้นอย่างมาก ถ่านหินก็แพงมาก สถานการณ์ผู้ผลิตจึงค่อนข้างลำบาก เพราะควบคุมปัจจัยเหล่านี้ไม่ได้ ในต่างประเทศพบว่ามีหลายโรงงานเริ่มปิด เนื่องจากไม่ได้เตรียมสต็อกวัตถุดิบไว้ "

ปัจจุบันความต้องการใช้เหล็กทั่วโลกอยู่ที่ 1.3 พันล้านตัน/ปี เติบโตเฉลี่ย 8% แต่เนื่องจากปีนี้เศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวลงจากปัญหาซับไพร์ม ทำให้ดีมานด์เหล็กไปอยู่ที่ตะวันออกกลาง รัสเซีย และอินเดีย เนื่องจากมีโครงการก่อสร้างจำนวนมาก ขณะที่ไทยความต้องการใช้เหล็กปีนี้น่าจะขยายตัว 6-8% (ไม่รวมโครงการเมกะโปรเจ็กต) หลังจากมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เชื่อว่าภายใน 1-2 ปีข้างหน้า ความต้องการใช้เหล็กในไทยยังขยายตัวต่อเนื่อง

ตั้งเป้าปีนี้รายได้แตะ 3หมื่นล้าน

นายสมศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับแผนธุรกิจใน ปีนี้ บริษัทฯตั้งเป้าหมายรายได้เพิ่มขึ้น 20-30% จากปีที่แล้วที่มีรายได้รวม 2.35 หมื่นล้านบาทเป็น 3 หมื่นล้านบาท เนื่องจากราคาเหล็กแผ่นฯได้ปรับตัวสูงขึ้น โดยล่าสุดราคาเหล็กแผ่นรีดร้อนอยู่ที่ตันละ 850-900 เหรียญสหรัฐ ซึ่งมีแนวโน้มจะปรับขึ้นไปอีกตามต้นทุนที่สูงขึ้น ส่วนโครงการขยายกำลังการผลิตแบบคอขวดจะแล้วเสร็จในปลายปี 2552 ทำให้จีสตีลมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจาก 1.8 ล้านตันเป็น 3.4 ล้านตัน/ปี ทำให้ให้รายได้ปรับขึ้นไปอีก 25%ในปี 2552 และปีถัดไปรายได้ขยายตัวเพิ่มเป็น 6 หมื่นล้านบาท และกำไรสุทธิน่าจะปรับขึ้นไปอยู่ที่ 2.5 พันล้านบาท จากปีที่แล้ว บริษัทฯมีกำไรสุทธิ 1.55 พันล้านบาท

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า บริษัทฯจะเข้าไปถือหุ้นในบมจ.นครไทยสตริปมิล (NSM) 49.5% จากปัจจุบันที่ถือหุ้นอยู่ 33% หลังจากNSM ดำเนินการแปลงหนี้เป็นทุนเสร็จในเดือนมี.ค.นี้ ซึ่งการเข้าไปถือหุ้นใหญ่ในNSM จะทำให้ธุรกิจของจีสตีลมีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น เนื่องจาก NSM จะมีกำลังการผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อน 1.5 ล้านตันและจะเพิ่มเป็น 3 ล้านตันในอนาคต โดยบริษัทฯจะมีการบันทึกงบการเงินของNSM เข้ามาในไตรมาส 2 /2551 หลังปีนี้คาดว่า NSM จะมีรายได้ประมาณ 30,000 ล้านบาท

ส่วนความคืบหน้าโครงการโรงถลุงเหล็กขนาด 2.5 ล้านตัน มูลค่า 3 หมื่นล้านบาท ที่ได้รับอนุมัติจากบีโอไอ นายสมศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการหาพันธมิตรร่วมทุนจากต่างประเทศ 1-2 รายจากปัจจุบันที่เจรจาอยู่ 4 รายมาจากรัสเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีและอินเดีย พร้อมทั้งศึกษาความเหมาะสมของโครงการอีกครั้ง หลังจากต้นทุนด้านโลจิสติกส์สูง เพราะโครงการนี้จะห่างจากท่าเทียบเรือถึง 22 กม. คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายใน 6 เดือนข้างหน้า

สำหรับโครงการผลิตเหล็กแผ่นรีดเย็นนั้น ยังไม่มีแผนลงทุนในช่วงนี้ เนื่องจากความต้องการใช้เหล็กแผ่นรีดร้อนในไทยอยู่ที่ 10 ล้านตัน ขณะที่บริษัทเหล็กของญี่ปุ่น 2รายสนใจเข้ามาลงทุนอยู่แล้ว จึงไม่คุ้มทุนหากโครงการดังกล่าวผลิตเพื่อส่งออก

ถ่ายทอดเทคโนฯให้ดองบูสตีลจากเกาหลีใต้

วานนี้ (18มี.ค.) บริษัท จี สตีล จำกัด (มหาชน) ได้ลงนามในสัญญาความร่วมมือกับบริษัท ดองบู สตีล ประเทศเกาหลีใต้ โดยจี สตีล จะถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตเหล็กรีดร้อนชนิดม้วนแบบครบวงจรให้กับดองบูสตีล ซึ่งเป็นผู้ผลิตเหล็กรีดเย็นรายใหญ่ของเกาหลีใต้ ซึ่งรายละเอีดยข้อตกลงนั้น ทางดองบูสตีลจะส่งพนักงานเข้ามาฝึกอบรมการผลิตจริงที่โรงงานเหล็กแผ่นรีดร้อนของจีสตีล จังหวัดระยอง เนื่องจากดองบู สตีลก่อสร้างโรงงานผลิตเหล็กรีดร้อนแบบครบวงจรขนาดกำลังการผลิต 2.5 ล้านตันต่อปี และในอนาคตจะมีการร่วมมือด้านการตลาดระหว่างจีสตีลและดองบูสตีลด้วย

สำหรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตเหล็กรีดร้อนครบวงจรครั้งนี้จะเริ่มกลางปีนี้ คาดว่าน่าจะแล้วเสร็จปลายปี 2552 ซึ่งก่อนหน้านี้ จีสตีลเคยถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตเหล็กให้กับจีนและเวียดนาม
กำลังโหลดความคิดเห็น