xs
xsm
sm
md
lg

บิทไว้ส์ทุ่ม 10 ลบ.เพิ่มพื้นที่โรงงาน รองรับการผลิตแผงวงจรป้อนโซนี่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บิทไว้ส์ หว่านพืชหวังผล ยอมขยายพื้นที่โรงงานในจีนอีก 10 ล้านบาท สร้างมาตรฐานรองรับการผลิตแผงวงจรเครื่องใช้ไฟฟ้าป้อนโซนี่ พร้อมเดินหน้าพัฒนาไลน์สินค้าใหม่รองรับตลาดตู้แช่แข็ง มั่นใจรายได้จากจีนปีนี้ทะลุ 2,000 ล้านบาทแน่

นายสมยศ กีรติชีวนันท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บิทไว้ส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องปรับอากาศ แบรนด์ ทาซากิ เปิดเผยว่า หลังจากที่ทางบิทไว้ส์ ได้ลงทุนสร้างโรงงาน Shanghai Bitwise Electric Motor & Appliances Co.,Ltd.ณ เมืองเซียงไฮ้ ประเทศจีน ซึ่งใช้งบประมาณไปแล้วกว่า 500 ล้านบาท ขณะนี้มีการผลิตอยู่ทั้งหมด 3 ไลน์ โดยในปีก่อนมีเพียง 2ไลน์ คือ มอเตอร์เครื่องปรับอากาศ และอิเล็กโทรนิคเกี่ยวกับแผงวงจรรีโมต รวมทั้งจอพลาสม่า ทำรายได้ให้เท่าๆกัน มูลค่ากว่า 2,000 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นรายได้ที่ค่อนข้างก้าวกระโดดในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา จากการเพิ่มไลน์การผลิตด้านอิเล็กโทรนิค ส่วนไลน์ที่ 3 เพิ่งเริ่มในปีนี้กับการร่วมทุนกับทางโรงงานในประเทศจีนด้านการผลิตการฉีดพลาสติกขึ้นรูป

และล่าสุดในปีนี้ทางบริษัทฯยังได้รับความไว้วางใจจากทาง โซนี่ ในการให้ทางโรงงานดังกล่าวเป็นฐานการผลิตชิ้นส่วนแผงวงจรอิเล็กโทรนิคให้ ซึ่งการร่วมมือครั้งนี้ ทางบริษัทฯจะต้องเพิ่มพื้นที่โรงงานอีกเล็กน้อย พร้อมทั้งต้องทำให้พื้นที่ดังกล่าวนี้ให้ได้มาตรฐานตามที่ทางโซนี่กำหนดไว้ด้วย จึงจะมีการเจรจากันอีกครั้งถึงรายละเอียดการผลิตต่อไป ซึ่งขณะนี้ทางบริษัทฯได้ใช้เงินลงทุนเพิ่มอีกประมาณ 10 ล้านบาท ในการขยายพื้นที่โรงงาน คาดว่าไม่เกินกลางปีนี้น่าจะเรียบร้อย

นอกจากนี้ทางบริษัทฯยังเดินหน้าพัฒนาไลน์สินค้าใหม่ต่อเนื่อง ซึ่งยังคงเป็นสินค้าที่เกี่ยวข้องกับความเย็น ล่าสุดกับการผลิตฟิซเซอร์แช่แข็ง หรือตู้แช่แข็งขนาดใหญ่ เรียกว่า IQF ฟิซเซอร์ ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาตลาดและทดลองจำหน่ายได้ไม่นานนี้ โดยขนาดเล็กสุดคือ 1 ตัน จำหน่ายในราคา 4 ล้านบาท เชื่อว่าน่าจะได้รับการตอบรับที่ดีต่อไปกับตลาดในประเทศจีน

อย่างไรก็ตามโรงงานดังกล่าวถือเป็นฐานการผลิตหลักในการสร้างรายได้ให้บิทไว้ส์ ขณะที่โรงงานในไทยมีรายได้ประมาณ 1,000ล้านบาทในปีที่ผ่านมา ซึ่งแต่ละไลน์การผลิตที่มีอยู่ จะเน้นจำหน่ายในจีนเป็นหลัก และส่งออกเพียงเล็กน้อย เช่น มอเตอร์เครื่องปรับอากาศ และบางส่วนเป็นชาร์ตเตอร์มอเตอร์สำหรับจักรยาน เฉลี่ยต่อปีมีกำลังการผลิตไม่เกิน1.5 ล้านเครื่อง แต่ถ้าหากขยายกำลังการผลิตเต็มกำลัง สามารถทำได้ถึง 2.5 ล้านเครื่อง โดยกว่า 95% ของกำลังการผลิตจะป้อนให้กับลูกค้าในจีน ซึ่งได้แก่ แบรนด์ทีซีแอล และซางหลาง ส่วนอีก5% ส่งกลับมายังโรงงานที่ประเทศไทย ขณะที่ไลน์อิเล็กทรอนิค จะเป็นผลิตแผงวงจรรีโมต ซึ่งมีลูกค้าหลักอย่างแบรนด์ฮิตาชิ และอีกหลายๆแบรนด์ อีกทั้งยังมีการผลิตจอพลาสม่าซึ่งเป็นเทคโนโลยีของทางบิทไว้ส์พัฒนาขึ้น ให้กับลูกค้าบางแบรนด์ด้วย

นายสมยศ กล่าวต่อว่า การลงทุนสร้างฐานการผลิตชิ้นส่วนต่างๆในจีนนี้ เกิดจากต้องการกลับมาลงทุนในแผ่นดินเกิดของครอบครัว อีกทั้งมองว่าปริมาณความต้องการสินค้าในประเทศจีนมีสูงมาก ถึงแม้ว่าทางด้านต้นทุนของวัตถุดิบจะสูง แต่เมื่อเน้นจำหน่ายในจำนวนมากๆ ก็จะทำให้มีรายได้สูงตามไปด้วย แม้ว่าเมื่อคิดเป็นต่อชิ้นแล้ว จะมีกำไรน้อยกว่า ที่จำหน่ายในประเทศไทยก็ตาม ขณะเดียวกันทางด้านแรงงานของที่นี่ ถือว่าอยู่ในอัตราที่ใกล้เคียงกับในไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น