xs
xsm
sm
md
lg

พบพะยูนตายอีก 1 ตัวในพื้นที่สิเกา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตรัง – ชาวประมงอำเภอสิเกา จังหวัดตรัง พบพะยูนเกยตื้นบริเวณชายหาดของหมู่บ้าน พยายามเข้าช่วยเหลือ แต่พะยูนอ่อนแอมากและเสียชีวิตในเวลาต่อมา เจ้าหน้าที่คาดน่าจะเกิดจากเครื่องมือประมงบางประเภท ทำให้พะยูนจมน้ำ และเข้ามาเกยบนฝั่ง

วันนี้ (21 ธ.ค.) นางสาวกาญจนา อดุลยานุโกศล นักวิชาการ 8 กลุ่มสัตว์ทะเลหายาก สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน (สวพ.) กล่าวว่า ตนได้รับแจ้งจาก นายสมหมาย หมาดทิ้ง ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 5 ต.เขาไม้แก้ว อ.สิเกา จ.ตรัง ว่า พบพะยูนเสียชีวิตเกยตื้นบริเวณชายหาดของหมู่บ้าน ซึ่งจากการตรวจสอบ เป็นพะยูนเพศผู้ อายุประมาณ 3 ปี มีความยาว 1.61 เมตร และมีน้ำหนัก 96.5 กิโลกรัม

สำหรับผู้ที่พบพะยูนตัวนี้เป็นคนแรกคือ นายไพรัตน์ ธัญวาศรี มีอาชีพทำลอบปูม้า อยู่บ้านเลขที่ 34 หมู่ที่ 5 ต.เขาไม้แก้ว อ.สิเกา จ.ตรัง โดยในตอนแรกที่พบพะยูนยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งนายไพรัตน์ ก็ได้พยายามช่วยพะยูนกลับลงน้ำ แต่เนื่องจากพะยูนอ่อนแอมาก ไม่สามารถว่ายน้ำได้เอง และได้เสียชีวิตลงในที่สุด ต่อมานายไพรัตน์ได้ประสานไปยังผู้ใหญ่บ้านสมหมาย นักวิชาการประมงจังหวัดตรัง และประมงอำเภอสิเกา จากนั้นผู้ใหญ่บ้านสมหมาย ได้นำซากพะยูนมามอบให้กับ สวพ.ภูเก็ต โดยนำเข้าตู้แช่แข็ง -20 องศาเซลเซียส

ทั้งนี้ ผลการผ่าชันสูตรซากอย่างละเอียด พบรอยแผล 3 จุดด้วยกัน ได้แก่ 1.พบรอยแผลเป็นที่ผิวหนัง ความยาวตั้งแต่ 7-22 ซม.กระจายทั่วลำตัว โดยเกิดจากเขี้ยวของพะยูนตัวอื่น ซึ่งเป็นพฤติกรรมปกติของพะยูน 2.พบรอยแผลที่แพนหางด้านขวา ขนาด 10x1 ซม. แผลตื้นแค่ชั้นผิวหนัง และไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่เป็นแผลใหม่ยังมีเลือดไหลอยู่ขณะที่ได้รับซาก คาดว่าแผลอาจเกิดระหว่างพยายามลาก เพื่อช่วยพะยูนกลับลงทะเลก่อนเสียชีวิต 3.พบแผลและรอยช้ำบริเวณรอบโคนหาง ซึ่งเกิดจากการมัดเชือกและลากเพื่อขนย้าย


ขณะเดียวกัน ยังพบเพรียงไม่ทราบชนิด บนผิวหนังบริเวณหลัง จำนวน 11 ตัว และยังพบพยาธิตัวแบนไม่ทราบชนิด ในโพรงจมูกทั้งสองข้าง ขนาดเฉลี่ย 0.5 ซม. จำนวน 19 ตัว พบพยาธิตัวกลมไม่ทราบชนิดในกระเพาะอาหารจำนวน 1 ตัว ความยาว 5 ซม. กว้าง 0.1 ซม. ส่วนในกระพุ้งลำไส้ใหญ่ พบพยาธิตัวแบนไม่ทราบชนิด ความยาวเฉลี่ย 1 ซม. กว้างเฉลี่ย 0.3 ซม. จำนวน 32 ตัว ซึ่งการพบพยาธิดังกล่าว เป็นลักษณะปกติของพะยูนในธรรมชาติ และไม่ส่งผลต่อสุขภาพแต่อย่างใด

นอกจากนั้นยังพบหญ้าทะเลหลายชนิดอัดแน่นเต็มกระเพาะอาหาร น้ำหนักรวม 6 กิโลกรัม ส่วนในลำไส้เล็กและลำไส้ใหญ่ มีเศษอาหารที่ย่อยแล้วอยู่เต็มตลอดทั้งลำไส้ ซึ่งการที่พบหญ้าทะเลจำนวนมากตลอดทั้งทางเดินอาหารเป็นข้อบ่งชี้ว่า พะยูนยังกินอาหารได้ปกติก่อนเสียชีวิตไม่กี่ชั่วโมง และไม่ได้ป่วยเรื้อรัง พร้อมทั้งพบการคั่งของของเหลวสีแดงใสในเนื้อปอด โดยเฉพาะบริเวณรอบๆ แขนงหลอดลม แต่สภาพเนื้อปอดส่วนอื่นยังอยู่ในสภาพปกติ ส่วนน้ำสีแดงใสเกิดจากการแช่แข็งซาก แล้วนำมาละลายอีกครั้ง ทำให้มีของเหลวออกจากเซล

อย่างไรก็ตาม จากการผ่าชันสูตรซาก ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดที่ทำให้พะยูนตัวนี้เข้ามาเกยฝั่ง แต่เนื่องจากพบว่าสุขภาพโดยรวมสมบูรณ์ดี และยังกินอาหารได้เป็นปกติไม่กี่ชั่วโมงก่อนเสียชีวิต ฉะนั้น การเสียชีวิตจึงน่าจะเป็นสาเหตุที่ค่อนข้างเฉียบพลัน ไม่ใช่การป่วยเรื้อรัง จึงคาดว่าน่าจะเกิดจากเครื่องมือประมงบางประเภท ทำให้พะยูนจมน้ำ และเข้ามาเกยฝั่งใน อ.สิเกา ถึงแม้ชาวบ้านจะพยายามช่วยพะยูนกลับลงทะเล แต่เนื่องพะยูนอ่อนแอจนไม่สามารถว่ายน้ำเองได้ จึงทำให้สำลักน้ำเข้าในปอดและเสียชีวิตในที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น