xs
xsm
sm
md
lg

แฉซื้อหัวละล้านเลือก ปธ.วุฒิ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศึกชิงประธานวุฒิสภาฝุ่นตลบ วิ่งล็อบบี้อุตลุต แฉ ส.ว.เชื้อโรคเสนอเงินหัวละ 1 ล้าน แลกคะแนน "เนวิน" ออกโรงเอง ช่วย "ทวีศักดิ์" เต็มที่ แต่ "ประสพสุข" ยังมาแรง หลัง "ทวีศักดิ์" เคลียร์ "มาโนช" ไม่ลงตัว ด้านการสมัครรับการสรรหาตุลาการศาล รธน.คนดังลงเพียบ "ศักดิ์-มานิต" อดีตตุลาการศาล รธน.ที่ลงมติให้ "แม้ว" พ้นผิดคดีซุกหุ้นภาคแรก พร้อม "สมชัย" โผล่ร่วมชิงเก้าอี้

นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา กล่าวว่า การเลือกประธานวุฒิสภา วันนี้ (14 มี.ค.) มีความสำคัญอย่างยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบัน เพราะจะเป็นการส่งสัญญาณไปสู่ประชาชนว่า ส.ว.ชุดใหม่จะสามารถทำหน้าที่ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญได้อย่างเป็นอิสระ เป็นกลางและกล้าหาญหรือไม่ ท่ามกลางวิกฤตศรัทธาที่ประชาชนมีต่อองค์กรทางการเมืองต่างๆ วุฒิสภา น่าจะเป็นความหวังสุดท้ายที่ประชาชนเห็นว่า จะเป็นองค์กรที่สามารถแก้วิกฤติการณ์ในระบอบการเมืองได้ หาไม่แล้วการเมืองนอกระบบอาจจะกลับขึ้นสู่กระแสสูงอีกครั้ง

"โดยส่วนตัวของผมคิดว่า การเลือกประธานวุฒิสภาไม่ควรจะพิจารณาว่า มาจากการสรรหาหรือมาจากเลือกตั้ง แต่ควรพิจารณาคุณสมบัติเฉพาะด้าน และบทบาทของประธานวุฒิสภาในสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งถือได้ว่ามีสถานการณ์พิเศษ เพราะเชื่อว่าในช่วง 2-3 เดือนจากนี้ ไปผู้ได้รับเลือกเป็นประธานวุฒิสภาจะทำหน้าที่รักษาการประธานรัฐสภาโดยตำแหน่งด้วย"

นายคำนูณ ยังกล่าวถึงกระแสข่าวมีการเสนอให้เงินหัวละ 1 ล้านบาท เพื่อล็อบบี้ เลือก ส.ว.บางคนเป็นประธานวุฒิสภาว่า สำหรับตนไม่มีใครติดต่อในเรื่องเงินทอง ซึ่งความรู้สึกแรกที่ได้ยินข่าวนี้ รู้สึกว่ามีการเอาเงินมาล็อบบี้ถึงขนาดนี้เชียวหรือ แต่ก็มีสมาชิกบางคนที่ได้รับการติดต่อมาเล่าให้ฟัง ทั้งนี้ ในเรื่องของการรับหรือไม่รับเงินนั้น เชื่อใน ส.ว.ทุกคนว่าจะไม่หวั่นไหว การล็อบบี้หรือวิ่งเต้นไม่เป็นเรื่อง ที่น่าเกลียด ซึ่งสมาชิกแต่ละคนก็จะจับกลุ่มรับประทานอาหารกันเพื่อล็อบบี้ซึ่งก็ถือเป็นปกติ ยกเว้นมีการเสนอผลประโยชน์ เพราะเท่ากับแสดงให้เห็นว่าทรยศต่อประชาชนที่เลือกเข้ามาและทรยศต่อประเทศชาติ

"มีเพื่อนสมาชิกมาเล่าให้ฟังว่า มีคนมาเสนอผลประโยชน์ ซึ่งพูดทำนองว่า ให้ช่วยสนับสนุนคนนี้หน่อย แล้วจะช่วยดูแลคุณตลอดอายุการทำงาน อย่างไรก็ตาม ผลจะออกมาอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับการเลือกในวันนี้ และขึ้นอยู่กับว่าประธานที่ได้รับเลือกนั้นจะทำงานออกมาอย่างไร เวลาจะเป็นตัวพิสูจน์ เพราะตำแหน่งประธานวุฒิสภา เป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญ"

ด้าน นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา ยอมรับว่า ได้รับการติดต่อจาก ส.ว.ท่านหนึ่งจากภาคอีสาน ซึ่งเป็นอดีต ส.ส.หลายสมัย โดยเสนอเงินให้เป็นรายเดือน เพื่อให้เลือกประธานวุฒิสภาคนที่ส.ว.ท่านนี้สนับสนุน และจากการได้พูดคุยกับ ส.ว.หลายท่านก็ได้รับทราบว่ามีการติดต่อในลักษณะเดียวกันเข้ามาเช่นกัน

"ผมเห็นว่า ถ้ายังมี ส.ว.ประเภทนี้อยู่ในวงการ ก็ทำให้ภาพ ส.ว. ไม่แตกต่างจาก ในอดีตยุคก่อนมีการปฎิวัติ ซึ่งจะทำให้ประชาชนไม่ศรัทธาวุฒิสภา และจะเกิดปัญหาการเมืองตามมาอีกมากมาย"

ด้าน นางนฤมล ศิริวัฒน์ ส.ว.อุตรดิตถ์ กล่าวยอมรับว่า มีการล็อบบี้กันจริง เพราะตนก็ถูกล็อบบี้เหมือนกัน เป็นเรื่องที่น่าเสียใจ และคิดว่าถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องออกมาตีแผ่ เปิดโปงตัวคนที่ล็อบบี้ เพราะสภาแห่งนี้เป็นสภาอันทรงเกียรติ กลุ่มการเมืองไม่ควรเข้ามาแทรกแซง เพราะหน้าที่ของคนที่เป็น ส.ว.มีหน้าที่เอาใจประชาชน เอาใจประเทศชาติ ไม่ได้มีหน้าที่เอาใจรัฐบาล ส่วนตำแหน่งรองประธานวุฒิ สภาคนที่ 2 จากการตกลงในการประชุมนอกรอบ ที่เปิดโอกาสให้ ส.ว.หญิงนั่งในตำแหน่งนี้ เมื่อตกลงกันแล้วก็ไม่อยากเห็นว่า มีการตีรวน หรือคนที่พลาดจากตำแหน่งประธานสภาแล้วลงมาแข่งชิงตำแหน่งรองประธาน

รายงานข่าวระบุว่า การดำเนินการลักษณะนี้เป็นรูปแบบของนายหน้า ที่ซึ่งมีหลายกลุ่มทั้งที่เป็น ส.ว.ด้วยกันหรือมาจากกลุ่มการเมืองอื่นๆทำหน้าที่ ไปล็อบบี้ ส.ว.เพื่อให้สนับสนุน ส.ว.คนหนึ่งให้ได้รับเลือกเป็นประธานวุฒิสภา โดยการล็อบบี้ดังกล่าวได้เสนอเงินเดือนประจำเดือนให้ โดยเมื่อรวบรวม ส.ว.ได้จำนวนหนึ่งแล้วก็จะนำเข้าสังกัดกลุ่มการเมืองซึ่งจะมีลักษณะเหมือนกับ ส.ว.ในอดีตก่อนการยึดอำนาจ

"ประสพสุข" ส่อเข้าป้าย

สำหรับความเคลื่อนไหวของ ส.ว. กลุ่มต่างๆในการเดินเกมล็อบบี้ขอเสียงสนับสนุนชิงตำแหน่งประธานวุฒิสภา ตลอดทั้งวานนี้ (13 มี.ค.) บรรดาแกนนำผู้สนับสนุนของแต่ละฝ่าย ได้มีการโทรศัพท์ล็อบบี้กันอย่างหนัก และมีการนัดทานข้าวกลางวันกับสมาชิกในกลุ่ม ขณะที่มีส.ว.ภาคกลางได้ส่งข้อความผ่านมือถือ ของส.ว.ทุกคน เพื่อขอคะแนนสนับสนุนบุคคลที่ตนเองผลักดันอยู่ ซึ่งขณะนี้ในส่วนของส.ว.สายสรรหา นายประสพสุข บุญเดช ส.ว.สรรหา แคนดิเดตประธานวุฒิสภา ค่อนข้างมั่นใจเต็มที่ว่า จะได้รับเลือก เพราะมีเสียงสนับสนุนกว่า 60-70 เสียง แต่ยังต้องการให้ได้คะแนน 80 คะแนน เพื่อเอาชนะในรอบแรก ดังนั้นได้ต่อสายไปยังกลุ่มนายนิคม ไวยรัชพานิช ส.ว.ฉะเชิงเทรา ที่มีเสียงอยู่ในมือ 10 เสียง เพื่อขอสนับสนุน

ในส่วนของ ส.ว.ภาคใต้ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากฐานเสียงพรรคการเมืองใหญ่ในพื้นที่ เกิดคะแนนแตกกัน เนื่องจากมีส.ส.สายมุสลิมเดินเกมล็อบบี้ส.ว.ใน3 จังหวัดภาคใต้ ให้สนับสนุนนายทวีศักดิ์ คิดบรรจง ส.ว.บุรีรัมย์ ทำให้คะแนนของนายทวีศักดิ์เริ่มตีตื้นขึ้นมา โดยมีเสียงจากส.ว.เลือกตั้งภาคเหนือ อีสาน และภาคกลางบางส่วน ประมาณ 40 เสียงรวมกับสายสรรหาอีกประมาณ 10 เสียงบวกกับเสียงสนับสนุน พล.อ. เลิศรัตน์ รัตนวานิช ส.ว.สรรหา ที่พร้อมจะเทให้ในรอบ 2 อีกประมาณ 20 เสียง รวมแล้วประมาณ 70 เสียง

นอกจากนี้ มีรายงานว่า นายเนวิน ชิดชอบ อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ได้ขอให้ส.ส.พรรคพลังประชาชนช่วยประสานงานส.ส.ในพื้นที่ ช่วยต่อสายกับส.ว.เลือกตั้งในพื้นที่ให้สนับสนุนนายทวีศักดิ์ด้วย

ขณะที่คะแนนของ ส.ว.49 ที่สนับสนุน พล.ต.ท.มาโนช ไกรวงศ์ ส.ว.สุราษฎร์ธานี เป็นประธานวุฒิสภา ได้นัดหารือกันที่ห้อง 309 อาคารรัฐสภา 3 ซึ่งมีการถกกันเครียด โดยเฉพาะประเด็นที่ว่าหากนายทวีศักดิ์ และพล.ต.ท.มาโนช ยังคงเดินหน้าสู้กันต่อ จะเป็นการตัดคะแนนกันเอง ไม่สามารถสู้กับนายประสพสุขที่ส.ว.สรรหาสนับสนุนอยู่ได้ แต่การประชุมตกลงกันไม่ได้ ว่าจะส่งใครเข้าชิง ทำให้แกนนำกลุ่ม ส.ว.49 ได้โทรศัพท์ต่อสายไปยังกลุ่มของนายประสพสุขว่า พร้อมจะเทคะแนน 20 เสียงให้ในรอบ 2 เพื่อชิงเก้าอี้กับนายทวีศักดิ์

22 ผู้ทรงคุณวุฒิชิง ตลก.ศาล รธน.

ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า ในการเปิดรับสมัครผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อเข้ารับการสรรหาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งวุฒิสภาจะต้องเป็นผู้เลือกในขั้นสุดท้าย และการเลือกประธานวุฒิสภา จะมีผลต่อการคัดเลือกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอย่างมาก วานนี้ (13 มี.ค.) ซึ่งเป็นวันสุดท้ายในการรับสมัคร ปรากฎว่ามีผู้สมัครเพิ่มเติมอีก 11 คน รวมแล้วตั้งแต่วันที่ 7-13 มี.ค.มีผู้สมัครทั้งสิ้น 22 คน ประกอบด้วย

1.นายสามารถ ศรียายงค์ อดีตรองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ 2.นายมานิต วิทยาเต็ม อดีตอธิบดีกรมศุลกากรและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 3.นายวิทย์ ลิมานนท์วราไชย อดีตผู้ว่าราชการจ.มหาสารคาม 4.นายจรัญ ภักดีธนากุล ปลัดกระทรวงยุติธรรม 5.พล.ท.เดชพันธุ์ ดวงรัตน์ อดีตผู้ทรงคุณวุติ บก.สูงสุด 6.นายศักดิ์ เตชาชาญ อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 7.นายจิรศักดิ์ อดีตผู้ว่าฯอุบลราชธานี 8.นายวิสุทธิ์ โพธิแท่น อดีตกรรมการป.ป.ช.และอดีต กกต. 9. นายวสันต์ พานิช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ10.นายเฉลิมพล เอกอุรุ อดีตรองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ

11.นายจเด็จ อินสว่าง อดีตปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และอดีตเลขาธิการพรรคมหาชน 12.พล.ต.อ.ดรุณ โสตถิพันธุ์ อดีตผู้ช่วย ผบ.ตร. 13.นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอุทธรณ์ภาค 4 14.นายวิจิตร วิชัยสาร อดีตผู้ว่าฯสุราษฎร์ธานี 15.นายอานนท์ พรหมนารท ผู้ว่าฯฉะเชิงเทรา 16.นายเมฆินทร์ เมธาวิกูล ผู้ว่าฯปทุมธานี 17.นายสุพจน์ ไข่มุกข์ อดีตเอกอัครราชฑูต สาธารณรัฐโปแลนด์และอดีตสสร. 18.พ.อ.พัฒนพงษ์ เกิดอุดม ตุลาการพระธรรมนูญในศาลทหารสูงสุด 19.นายธีระภัทร์ เสรีรังสรรค์ อดีตรมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี 20.นายสมชัย จึงประเสริฐ กรรมการการเลือกตั้ง 21.พล.อ.เกษมชาติ นเรศเสนีย์ อดีตจเรทหารทั่วไป 22.นายไพบูลย์ วราหะไพฑูรย์ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ

เป็นที่น่าสังกตว่า ในบรรดาผู้สมัครเพื่อรับการสรรหาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้ มีหลายท่านเป็นที่กังขาของสังคม เช่น นายศักดิ์ เตชาชาญ ซึ่งสมัยเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เป็นตุลาการเสียงข้างมากที่ระบุว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ไม่มีความผิดฐานจงใจยื่นบัญชีทรัพย์สิน ด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบต่อ ป.ป.ช. และเป็นเสียงข้างมากในทุกกรณีเช่นเดียวกับนายมานิต วิทยาเต็ม อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

นอกจากนี้ กรณีของนายมานิต วิทยาเต็ม ยังเป็นตุลาการเสียงข้างน้อย เห็นว่า การดำเนินการของ กกต.ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส.ส.ตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน 2549 ไม่มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แต่เป็นเสียงข้างมากในการสั่งเพิกถอนการเลือกตั้ง 2 เม.ย. 2549 และสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่

และเป็นเสียงข้างมากที่วินิจฉัยว่า พ.ร.ก. 2 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับการเก็บภาษี ธุรกิจโทรคมนาคมของรัฐบาล คือ พ.ร.ก. แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.พิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 (ฉบับที่ 4) และ พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 ไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ ใช้บังคับได้

รวมทั้งเป็นเสียงข้างมากที่มีมติไม่รับคำร้องกรณีคณะ 27 ส.ว.นำโดย นายแก้วสรร อติโพธิ์ ส.ว.สมัยนั้น ขอให้วินิจฉัยคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 209 เนื่องจากมีพฤติการณ์เข้าข่ายซุกหุ้น และมีอำนาจครอบงำ กิจการบริษัทในเครือชินคอร์ป (ซุกหุ้นภาค 2) และล่าสุดถูกป.ป.ช. ชี้มูลว่ามีความผิดในการออกระเบียบขึ้นค่าตอบแทนตนเองฯ สมัยที่ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

ขณะที่นายสมชัย จึงประเสริฐ กกต.ก็แสดงท่าทีต่อการวินิจฉัยคดีเกี่ยวกับพรรคพลังประชาชนจนเป็นที่ครหาล่าสุดยังเป็น กกต.เพียงคนเดียวที่ลงมติไม่ให้ใบแดง นายยงยุทธ ติยะไพรัช ประธานสภาฯ กรณีซื้อเสียงที่ จ.เชียงราย
กำลังโหลดความคิดเห็น