xs
xsm
sm
md
lg

นาข้าวเมืองลุงลดลงกว่าแสนไร่ ชาวนาหันไปปลูกพืชเศรษฐกิจอื่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พัทลุง – พบพื้นที่ปลูกข้าวในจังหวัดพัทลุงลดลงร่วมแสนไร่ เนื่องจากชาวนาจำนวนมากหันมาปลูกยางพาราและพืชเศรษฐกิจอื่นๆ เนื่องจากมีภาระน้อยกว่าทำนา ประกอบกับขาดการสืบทอดภูมิปัญญาจนทำให้การบริหารจัดการไม่มีประสิทธิภาพ ประสบปัญหาขาดทุน เชื่ออีก 2-3 ปี คนพัทลุงจะต้องซื้อข้าวจากพื้นที่อื่นมาบริโภคแน่นอน

จังหวัดพัทลุงได้ชื่อว่าเป็นเมือง “อู่นาข้าว” มาแต่โบราณ อาชีพทำนาเป็นอาชีพหลักของเกษตรกรจังหวัดพัทลุงมาหลายชั่วอายุคน แต่อาชีพทำนานั้นก็มีการเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอด เพื่อให้ทันกับกระแสการเปลี่ยนไปของโลก และกับการพัฒนาประเทศที่ไม่เคยเป็นตัวของตัวเองเท่าไหร่นัก จึงส่งผลให้กระบวนการทำนา และวิถีชีวิตชาวนา เปลี่ยนไปอีกเช่นกัน

นายสุรศักดิ์ สุวรรณวงศ์ เกษตรจังหวัดพัทลุง กล่าวว่า ในยุคก่อน ชาวนาพัทลุงทำนาอย่างพอเพียง ทำเพื่อบริโภค เหลือกิน ก็จะขายเป็นรายได้ โดยในแต่ละปีนั้นทำนาได้ครั้งเดียว แล้วหลังจากทำนา ก็มีการปลูกพืชในนา ที่สำคัญๆ เช่น ว่าน ถั่วเขียว และเลี้ยงวัวปล่อยทุ่ง เป็นรายได้เสริม แล้วก็ยังมีการใช้ชีวิตอยู่กันอย่างเรียบง่าย ยึดถือพุทธศาสนาและพิธีกรรมของชาวชนบท ที่แฝงไว้ด้วยคติธรรมสอนคนให้เป็นคนดี มีศีลธรรมประจำใจ สร้างความสมัครสมานสามัคคี เอื้อเฟื้ออาทรต่อกันอย่างจริงใจ

เมื่อ 10 ปี ที่แล้ว จังหวัดพัทลุงมีพื้นที่ทำนา 5.7 แสนไร่ ยางพารา 4 แสนไร่ แต่มาวันนี้พื้นที่ทำนาได้ลดลงอย่างมาก จาก 5.7 แสนไร่ เหลือเพียงไม่ถึง 4 แสนไร่ เท่ากับพื้นที่นาลดลงไปกว่า 10,000 ไร่ / ปี หากการลดลงของพื้นที่ทำนาอยู่ในอัตราเช่นนี้อีก 10 ปี คนพัทลุงคงต้องซื้อข้าวกินกันทั้งจังหวัดอย่างเลี่ยงไม่พ้น

สาเหตุที่ต้องเปลี่ยนที่นาเป็นอย่างอื่นมีหลายสาเหตุด้วยกัน แต่ที่สำคัญกว่าสิ่งอื่นใด คือการขาดผู้สืบทอดอาชีพทำนา เมื่อขาดผู้สืบทอดก็ไม่มีชาวนา มีแต่ผู้จัดการนา ที่ไม่เคยทำนา จึงบริหารจัดการนาจนขาดทุน จนต้องล้มเลิก และต้องเปลี่ยนแปลงไปเป็นพืชอย่างอื่น ไม่ว่าจะเป็นยางพารา ปาล์มน้ำมัน หรือไร่นาสวนผสมส่วนปัจจัยอื่นๆ นั้นเป็นตัวเสริม หรือตัวเร่งให้มีการเปลี่ยนแปลงเร็วยิ่งขึ้น ไม่ว่าราคายางพาราที่มีราคาเกือบ 100 บาท / กิโลกรัม ปาล์มน้ำมัน ที่มีราคาสูงขึ้นตลอดเวลา เนื่องจากผลิตเป็นพลังงานทดแทน

แต่ราคาข้าวที่ลดต่ำ สภาพอากาศที่แปรปรวน ปัจจัยการผลิตที่มีราคาแพงขึ้น โดยเฉพาะปุ๋ยเคมี ที่ราคาสูงลิบลิ่ว ตลอดถึงการบริโภคของคนที่มีรสนิยมสูงขึ้น จากบริโภคข้าวพื้นเมืองที่หันไปบริโภคข้าวหอมมะลิ

การผลิตข้าวของจังหวัดพัทลุงปี 2550 / 2551 ที่เริ่มเก็บเกี่ยวแล้วในวันนี้ มีพื้นที่ทำนาแค่ 289,241 ไร่ มีเกษตรกรชาวนา 40,221 ราย ผลผลิตข้าวทั้งหมดน่าจะอยู่ที่ 130,737 ตัน โดยใช้อัตราผลผลิตข้าวเฉลี่ยของปี 2549 / 2550 คือ 452กก. / ไร่ มีมูลค่าประมาณ 823,642,672 ล้านบาท โดยคิดที่ราคาขายที่แปลงนาต้นเดือน กุมภาพันธ์ 2551 เกวียนละ 6,300บาท

สำหรับพันธุ์ข้าวที่ปลูกแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ ข้าวพันธุ์พื้นเมือง (พันธุ์ส่งเสริม) ได้แก่ พันธุ์เล็บนก พื้นที่ 134,949 ไร่ เฉี้ยงพัทลุง 41,261 ไร่ และข้าวสังข์หยด 12,280 ไร่ ข้าวพันธุ์ส่งเสริมได้แก่พันธุ์ชัยนาท 1 28,341 ไร่ สุพรรณบุรี 13,926 ไร่ และหอมปทุมธานี 11,654 ไร่ และพันธุ์อื่นๆ นอกเหนือจากนี้ 26,280 ไร่ ส่วนอำเภอที่ปลูกข้าวมาก 5 อันดับ เช่น อำเภอเมือง พัทลุง 86,065 ไร่ ควนขนุน 67,236 ไร่ เขาชัยสน 40,708 ไร่ ปากพะยูน 31,938 ไร่ และป่าบอน 20,457 ไร่

สำหรับทางรอดของชาวนาพัทลุงวันนี้ คือ ต้องลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต ผสมผสานกันระหว่างเทคโนโลยีสมัยใหม่กับภูมิปัญญาชาวบ้าน และทำนาอย่างครบวงจร ลดต้นทุนการผลิตในทุกขั้นตอน หากชาวนาทำเองได้จะลดต้นทุนได้มากต้นทุนการทำนาไร่ละ 2,020 บาท หากจ้างคนอื่นต้นทุนตกไร่ละ 3,000 บาท

ถ้าได้ผลผลิตไร่ละ 800 กิโลกรัม ขายข้าวกิโลกรัมละ 6 บาท มีรายได้ 4,800 บาท หักต้นทุน 3,000 บาท ก็จะเหลือแค่ 1,800 บาท เท่านั้น ต้นทุนการผลิตอีกตัว ที่มีราคาแพงคือปุ๋ยเคมี หากเกษตรกรไม่เผาฟางข้าว มีการปรับปรุงบำรุงดิน ใช้ปุ๋ยอินทรีย์เพิ่มขึ้น ก็จะลดอัตราการใช้ปุ๋ยเคมีลงได้มาก

การเพิ่มผลผลิต ทำได้หลายวิธี แต่วิธีที่เห็นได้ชัดเจน คือการใช้พันธุ์ที่บริสุทธิ์ จะเพิ่มผลผลิตร้อยละ 5-10 การปรับพื้นที่นาให้สม่ำเสมอ เพิ่มผลผลิตอีกร้อยละ 5 การเพิ่มปริมาณเมล็ดพันธุ์ต่อไร่ จากอัตราแนะนำอีกหน่อยเพื่อให้มีปริมาณต้นข้าวต่อไร่มากขึ้น ก็ช่วยเพิ่มผลผลิตได้และสุดท้ายการใส่ปุ๋ยในช่วงที่เหมาะสม

ส่วนการผลิตอย่างครบวงจร ทำได้เป็นบางชนิดข้าว เช่น ข้าวเล็บนก ข้าวสังข์หยด เกษตรกรสามารถผลิตและแปรรูปได้ ไม่ว่าจะแปรรูปเป็นข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือและผลิตภัณฑ์เกี่ยวเนื่อง เช่น จมูกข้าว น้ำข้าวกล้องตลอดถึง การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์จากแป้งข้าว ใช้ ความโดดเด่นของพันธุ์ข้าว โดยเฉพาะข้าวสังข์หยด ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์หรือเป็นสินค้า (GI) ซึ่งเป็นข้าวที่มีคุณลักษณะเด่นเฉพาะตัวก็สามารถทำได้

"อาชีพทำนา เป็นอาชีพที่ยังมีกำไรสามารถเลี้ยงตัวเองได้ แต่ต้องรู้จักทำ รู้จักใช้ หากเราบริหาร จัดการดี สามารถลดต้นทุนได้ ในขณะเดียวกันหากมีผลผลิตเพิ่ม ยิ่งกำไรเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ แม้เรามีผลผลิตเท่าเดิมแต่ต้นทุนน้อยกว่าก็มีกำไรมากกว่า ที่สำคัญจะทำอย่างไรให้ เด็กรุ่นใหม่ ได้รู้ว่าข้าวที่กินและเลี้ยงตัวเองจนเติบใหญ่ ไม่ใช่มาจาก หม้อข้าวที่เสียบไฟฟ้า แล้วกด แต่เบื้องหลังมีความเป็นมาที่เหนื่อยยากลำเค็ญหลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน เพื่อให้ได้รู้คุณค่าของข้าว และคุณค่าของคนที่ผลิตอาหารเลี้ยงชาวโลก จนคนรุ่นใหม่มีใจรัก และสืบทอดอาชีพทำนาต่อไปได้ พัทลุงจึงจะเป็นเมืองอู่นาข้าวสืบไป”
กำลังโหลดความคิดเห็น