xs
xsm
sm
md
lg

ส.ว.ลูกผสม : สงครามศักดิ์ศรี

เผยแพร่:   โดย: สำราญ รอดเพชร

ทราบว่าวันที่ 12 มี.ค.2551 เขาจะจัดให้มีการประชุมพบปะนอกรอบของ 150 สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ก่อนที่วันที่ 14 มี.ค. “สงครามศักดิ์ศรี” จะระเบิดขึ้น เนื่องจากวันดังกล่าวจะเป็นการเลือกประธาน- รองประธานวุฒิสภา..

ประเมินภาพรวมขณะปั่นต้นฉบับ (9 มี.ค.) ยุทธการชิงตำแหน่งประธาน – รองประธาน ส.ว.เป็นไปอย่างดุเดือดแหลมคมกว่าที่นึก ลึกล้ำกว่าที่คิด

อดีต ส.ว.2549 อย่างคุณน้องสิริวัฒน์ ไกรสินธุ์ ส.ว.นครศรีธรรมราช บ้านเกิดของกระผมยืนหยัดยืนยันว่า ประธาน ส.ว.ต้องมาจากซีกเลือกตั้ง ต้องเป็นกลาง และสังคมยอมรับหรือไม่ยี้

ชัดเจนว่าตอนนี้ มีการแบ่งข้างแบ่งขั้วระหว่าง ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้ง (76คน) กับ ส.ว.ที่มาจากการสรรหา (74 คน) ค่อนข้างชัดเจน โดยแต่ละฝ่ายก็มีชื่อ ส.ว.ที่เป็น(ข่าว)แคนดิเดตเข้าชิงประธานฝ่ายละ 3-4 คน

ฝ่ายส.ว.เลือกตั้ง อาทิ พล.ต.ท.มาโนช ไกรวงศ์ ส.ว.สุราษฎร์ธานี, ทวีศักดิ์ คิดบรรจง ส.ว.บุรีรัมย์ (ตามข่าวระบุว่าได้รับแรงหนุน จากนายเนวิน ชิดชอบ คนนั้น...), นายดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว.นนทบุรี

ฝ่ายส.ว.สรรหา อาทิ นายประสบสุข บุญเดช อดีตประธานศาลอุทธรณ์, พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช “เสธ.อู้” อดีตจเรทหารทั่วไป, สมัคร เชาวภานันท์ อุปนายกฝ่ายบริหารสภาทนายความ เพื่อนร่วมรุ่นวปรอ. 4212 ของพล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตประธาน คมช.

สมมติว่าวันที่ 14 มี.ค.ถ้าคนลงชิงจริงๆ เหลือ 3 ท่านคือ พล.ต.ท.มาโนช,นายประสบสุข และพล.อ.เลิศรัตน์ คะแนนจะออกมาอย่างไร..ผมก็ไม่อยากวิเคราะห์เจาะลึกกันตรงนี้

ปล่อยให้มือที่มองเห็นกันแบบเห็นๆ และมือที่มองไม่เห็นต่อสู้กันเองก็แล้วกัน จะได้ประธานที่มาจากเลือกตั้งหรือสรรหาก็ได้ ขอให้เป็นคนดี ตรงไปตรงมา ยึดผลประโยชน์ชาติ – ประชาชน ไม่ขายตัวขายตนให้กับบางพรรคการเมืองหรือ “อำนาจที่มองไม่เห็น” ก็แล้วกัน

ครับ บทเรียนจาก ส.ว.ปี 2543 ประมาณ 60 กว่าคนจาก 200 คน ถอดรหัสขายวิญญาณให้กับระบอบทักษิณอย่างสิ้นศักดิ์ศรี ส.ว.นั้นยังเป็นฝันร้ายที่จะยากจะลบเลือน...

ถ้าส.ว.2551 แม้เพียงครึ่งเดียว มาสร้างประวัติศาสตร์ซ้ำรอย...หัวใจน้อยๆ ของไอ้เรืองคงย่อยยับเป็นแน่แท้..

วันนี้เมื่อพูดถึง ส.ว.และวุฒิสภาในวงสนทนา เมื่อพรรคพวกเพื่อนฝูงถามว่า..ในอนาคตยังจำเป็นต้องมีอีกหรือไม่ จะมีสภาเดียวคือ “สภาผู้แทนราษฎร” ได้หรือไม่? ผมยอมรับว่ามีความรู้สึกก้ำกึ่งค่อนข้างมาก...แต่ดูเหมือนจะโอนเอียงไปทางด้านที่เห็นว่า...วุฒิสภาอาจจะไม่จำเป็น..!!??

แต่ต้องขอย้ำว่ายังเป็นเรื่องของ “ความรู้สึก” มากกว่าเหตุผลทางด้านวิชาการ ไม่แน่ว่าหาก ส.ว.ชุดปัจจุบันได้โชว์ผลงาน บรรลุเป้าซึ่งภารกิจหน้าที่ 4 -5 ประการหลักๆ อย่างเป็นอิสระจริง ๆ “ความรู้สึก”ของผมก็อาจจะเอนเอียงไปทางด้าน “ยังจำเป็นต้องมี” ก็ได้...

เอาเป็นว่าในวันนี้ เมื่อยังมีวุฒิสภาหรือสภาสูงที่หลายคนเรียกว่าสภาลูกผสม ผมก็เป็นคนหนึ่งที่ขอส่งกำลังใจ ส่งแรงเชียร์ให้ทุกท่านได้ทุ่มเททำงานกันให้สนุกและเข้าตาประชาชนให้มากๆ

แม้จะไม่ได้เป็นคนเขียนรัฐธรรมนูญ แต่สารภาพว่าในฐานะอดีต สนช.เมื่อตอนที่ประชุมอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญว่าด้วยส่วนที่เกี่ยวกับวุฒิสภา ผมเป็นหนึ่งในหลาย ๆ คนที่เสนอสูตร ส.ว.ลูกผสม เพียงแต่อัตราส่วนของ ส.ว.เลือกตั้งไม่ได้น้อยแค่ 76 คน...

สารภาพต่อว่า เหตุผลส่วนหนึ่งที่เสนอสูตร ส.ว.พันธุ์ผสมก็เพราะความวิตกกังวลเรื่อง...สภาผัวสภาเมีย..ซึ่งโอกาสเกิดสูงมากหากปล่อยให้ ส.ว.ทั้งหมดมาจากการเลือกตั้ง

เมื่อร่างรัฐธรรมนูญอยู่ในมือของคณะกรรมาธิการยกร่างและได้ยินข่าวว่า อ.วุฒิสาร ตันไชย เสนอสัดส่วน ส.ว.เลือกตั้ง –ส.ว.สรรหา ด้วยสูตร 100: 50 ผมก็ดีใจ แต่สุดท้ายเมื่อเสียงส่วนใหญ่จอดป้ายด้วยสูตร 76:74 แถมยังมีกฎกติกาในการเลือกตั้ง – สรรหา และคุณสมบัติข้อห้ามที่ค่อนข้างหยุมหยิมและรุงรัง..

ยอมรับว่าค่อนข้างผิดหวัง...เพราะ ส.ว.เลือกตั้ง นอกจากจำนวนน้อยเกินไปแล้ว ยังสร้างเงื่อนไข-บรรยากาศให้คนมีชื่อเสียง มีความรู้ความสามารถลงสมัครกันน้อยอีกต่างหาก..บางจังหวัดมีผู้สมัครคนเดียว ต้องแข่งกับตัวเองเพื่อให้ผ่านกฎ 20% !!

และพูดก็พูดเถอะ...ดีที่สนาม กทม. ยังมีหญิงเหล็กหญิงกล้าอย่าง คุณรสนา โตสิตระกูล ลงสมัครรับเลือก ไม่อย่างนั้น ผู้สมัครชื่อ “นายประสงค์ ไม่ลงคะแนน” อาจคะแนนท่วมก็ได้ ใครจะไปรู้..

ครับ ผมสนับสนุนเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ว่า ในวันที่รัฐสภาชุดนี้จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 เรื่องของวุฒิสภาเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่จะต้องหยิบยกมาทบทวนแก้ไข...อย่างน้อยก็ใน 2 ประเด็นที่ผมกล่าวมา..

0 ยังจำเป็นต้องมีอีกหรือไม่ และ

0 ถ้ายังต้องมีวุฒิสภา ที่มาควรมาจาก 2 ส่วนเหมือนชุดปัจจุบันหรือมาจากการสรรหาหรือเลือกตั้งอย่างใดอย่างหนึ่งล้วน ๆ...


ดูฝนที่ตั้งเค้า ศึกใหญ่ในการเลือกประธาน แม้ ส.ว.ลูกผสมจะไม่ถึงขั้น “ตีกันตาย” อย่างที่ท่าน มีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธาน สนช. เคยเป็นห่วง แต่ความแปลกแยกที่เกิดขึ้นเพราะคำว่า “เลือกตั้ง” กับ “แต่งตั้ง” ไม่ยากที่จะพัฒนาไปสู่ความแตกแยก..

เช่นนี้แล้ว ในสมัยต่อไปถ้ายังจำเป็นต้องมีวุฒิสภา...ผมว่าถึงเวลาที่ต้องเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง ระหว่างการสรรหา (แต่งตั้ง) กับเลือกตั้ง...

แต่ถ้าไม่ต้องมีก็ไม่น่าจะเป็นอะไรมาก...เพราะอีก 5-6 ปีข้างหน้าการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจทั้งต่อฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารจากภาคประชาชนน่าจะดำเนินไปอย่างเข้มข้น และหากประเทศไทยไม่โชคร้ายจนเกินไป เราก็น่าจะมีทั้ง ส.ส.ที่เปี่ยมล้นด้วยประสบการณ์ และส.ส.คุณภาพใหม่มากกว่าเดิม..

ส.ว.ที่กำลังเปิดศึก “สงครามศักดิ์ศรี” โดยไม่ประกาศในวันนี้...อาจจะเป็นชุดสุดท้ายว่าด้วย ส.ว.ลูกผสม!!??
กำลังโหลดความคิดเห็น