xs
xsm
sm
md
lg

ขึ้นเงินเดือนอุดปาก ขรก."หมอเลี้ยบ"สั่งคลังเร่งมือ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รัฐบาลใช้เงินอุดปาก ข้าราชการอย่าหือ ภายใน 2 เดือนจะขึ้นเงินเดือนให้ "เลี้ยบ"เผยกระทรวงการคลังกำลังเร่งศึกษาแนวทางขึ้นเงินเดือน เน้นข้าราชการขั้นผู้น้อย อ้างปรับให้ตามราคาน้ำมันที่แพงขึ้น เชื่อไม่กระทบเงินเฟ้อ ขณะที่ ก.พ. เดินหน้ายกระดับเงินเดือนอิงเอกชน สนใจระบบ mid point กระตุ้นการทำงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เปิดเผยว่า จากราคาน้ำมันที่ไม่มีวี่แววว่าจะลดลง กระทรวงการคลังจึงเร่งศึกษาการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการ และเพิ่มรายได้ให้ประชาชนทุกกลุ่ม ก่อนกำหนดเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่จะออกอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี โดยเห็นว่าการขึ้นเงินเดือนข้าราชการ ก็เป็นการสร้างรายได้ใหม่

รมว.คลังย้ำว่า นอกจากเอกชนแล้ว กลุ่มข้าราชการ โดยเฉพาะข้าราชการชั้นผู้น้อยเป็นกลุ่มที่รัฐบาลต้องดูแลเรื่องรายได้ อย่างไรก็ตามงบประมาณจะรองรับไหวหรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่กำลังศึกษารายละเอียด

"เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างรายจ่าย และรายได้ของประชาชน รัฐบาลต้องเพิ่มรายได้ให้ประชาชนในระยะยาว มากกว่าเข้าแทรกแซงราคาน้ำมันด้วยการลดภาษี เพราะจะทำให้เกิดการบิดเบือนราคา และไม่ใช่การแก้ปัญหาระยะยาวด้วย คาดว่าจะใช้เวลาศึกษาเรื่องการขึ้นเงินเดือนอีก 1-2 เดือน น่าจะได้ข้อสรุป"

นอกจากนี้ในช่วง 3-6 เดือน กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงพลังงาน จะมีมาตรการต่างๆ ออกมาเพื่อบรรเทาผลกระทบให้ประชาชนในระยะสั้น ระยะต่อไปหรือหลังจาก 6 เดือนไปแล้ว รัฐบาลต้องหันไปเน้นการปรับเพิ่มฐานรายได้ให้ประชาชน ทั้งส่งเสริมการสร้างงานใหม่ สร้างรายได้จากอาชีพเสริม ผ่านกลไกสถาบันการเงินของรัฐ อาทิ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาระยะยาว อย่างยั่งยืนมากกว่า

ส่วนแรงกดดันอัตราเงินเฟ้อ นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่า ขณะนี้เงินเฟ้อเกิดจากต้นทุนด้านพลังงานที่เพิ่มขึ้น หากรัฐบาลไม่ดูแลด้านรายได้ ก็จะทำให้คนที่มีรายได้คงที่ อาจประสบปัญหาค่าครองชีพ ดังนั้น จึงต้องปรับรายได้ ทั้งนี้ เปรียบเทียบว่าจากเมื่อก่อนก๋วยเตี๋ยว ชามละ10-15 บาท ขณะที่เงินเดือนข้าราชการ 3,000-4,000 บาท ส่วนพ่อค้าแม่ค้า ก็มีรายได้วันละไม่ถึง 100 บาท แต่ปัจจุบันก๋วยเตี๋ยวชามละ 20-30 บาท หรือ อนาคตจะแพงขึ้นไปอีก ดังนั้นรายได้ต้องปรับขึ้นมาให้ทัดเทียมกัน เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างรายได้กับรายจ่าย

**ฟุ้งมาตรการ 30% คุมบาทอยู่หมัด

รมว.คลังได้ประเมินสถานการณ์ช่วงสัปดาห์แรกหลังประกาศยกเลิกมาตรการสำรอง30% ว่าไม่พบความผิดปกติใดๆ อย่างที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ โดยเห็นได้ว่านักลงทุนและผู้ส่งออกไม่ได้ตื่นตระหนก และไม่พบการไหลบ่าของเงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามาเก็งกำไรมากนัก ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็รายงานให้ทราบว่า มีการแทรกแซงค่าเงินบาทน้อยมาก แสดงให้เห็นว่ามาตรการการเงินการคลังที่นำมาใช้นั้น รองรับสถานการณ์ได้ดี ทำให้เงินบาทผันผวนน้อยมาก ซึ่งขณะนี้เงินบาทมีเสถียรภาพเคลื่อนไหวอยู่ที่ 31.60 บาทต่อดอลลาร์

"ทั้งในส่วนของแบงก์ชาติ กระทรวงการคลัง ทำงานร่วมกันมาตลอด เราได้ประสานข้อมูลกัน เรื่องการเข้าไปแทรกแซนั้น มีน้อยมาก ไม่พบความผิดปกติ ไม่พบการไหล่บ่าของเงินที่เข้ามาเก็งกำไร ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกก็ไม่ตื่นตระหนก คิดว่าแบงก์ชาติรับมือได้ดี โดยค่าเงินบาท 31 กว่าบาท ถือว่าเป็นระดับปกติ และเป็นไปในทิศทางเดียวกับภูมิภาค"

ส่วนกรณีที่นายกรณ์ จาติกวณิช รมช.คลังเงา ยืนหนังสือแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น เห็นว่าเป็นเรื่องดีที่พรรคฝ่ายค้านจะให้ข้อเสนอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจกับรัฐบาล ซึ่งวันนี้สิ่งที่ต้องการคือ การปรองดองกันให้มีการขับเคลื่อนประเทศไปได้อย่างสร้างสรรค์ และรัฐบาลพร้อมที่จะรับฟังข้อมูลของฝ่ายค้าน โดยได้ตรวจสอบข้อเสนอของฝ่ายค้านที่สอดคล้องกับมาตรการของรัฐบาลที่จะออกมาใหม่ในหลายประเด็น เกี่ยวกับการกระตุ้นเศรษฐกิจระดับฐานรากเป็นหลัก ดังนั้นรัฐบาลจะนำข้อมูลที่ได้จากฝ่ายค้านมาประมวลและปรับปรุงให้สอดคล้อง ก่อนนำมาจัดทำมาตรการฯ ระยะต่อไป

**ก.พ.ปรับขึ้นเงินเดือนอิงเอกชน

นายปรีชา วัชราภัย เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) กล่าวว่า วานนี้ (7 มี.ค.) ก.พ.ได้หารือกับภาคเอกชน อาทิ บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน ) บริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด(มหาชน) บริษัทผลิตไฟฟ้าจำกัด (มหาชน ) บริษัทปตท. เคมีคอล จำกัด(มหาชน ) และบริษัท กระจกไทย-ฮาซาฮี จำกัด รวมทั้งสำนักงบประมาณ และกรมบัญชีกลาง เพื่อศึกษาแนวทางพิจารณาเลื่อนเงินเดือนข้าราชการ ตามพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551

"จากการหารือ ผู้บริหารจากภาคเอกชนให้ความเห็นว่า กรอบการพิจารณาค่าตอบแทนของภาคธุรกิจส่วนใหญ่คำนึงถึงตลาดแรงงานโดยรวม และตลาดเฉพาะแต่ละอุตสาหกรรมในขณะนั้น การคำนึงถึงสถานการณ์หรือผลกำไรของบริษัท รวมทั้งการพิจารณาจากผลงานและพฤติกรรรมของพนักงานแต่ละคนเป็นสำคัญ" นายปรีชากล่าว

เลขาธิการก.พ. กล่าวว่า ภาคเอกชนส่วนใหญ่มีความเห็นเสนอต่อที่ประชุมว่าก.พ.ควรเพิ่มผู้เชี่ยวชาญ และเกี่ยวข้องในการดำเนินงานเรื่องนี้ในคณะทำงานย่อย เรื่องการบริหารค่าตอบแทน ซึ่งประกอบด้วย ตัวแทนจากสำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลาง และสำนักงานก.พ. เพื่อร่วมดำเนินการศึกษาวิเคราะห์แนวทางการดำเนินงาน เพื่อปรับใช้กับระบบบริหารทรัพยากรบุคคล ตาม พ.ร.บ.ใหม่

"การเลือกใช้ระบบบริหารค่าตอบแทนใดๆ ควรคำนึงถึงบุคลากรส่วนใหญ่ ว่ามีค่าตอบแทนอยู่ในระดับใด และระบบใดจะสามารถสร้างแรงจูงใจในการทำงาน และสะท้อนค่างานหรือผลงานได้อย่างดี เช่นการคิดค่าตอบแทนแบบ mid point ในบริษัทเอกชน ซึ่งบุคลากรส่วนใหญ่มีฐานเดือนต่ำกว่าระดับ mid point ทำให้การเลื่อนเงินเดือนไปได้เร็ว กระตุ้นการทำงานที่มีประสิทธิภาพ พนักงานส่วนใหญ่ จึงเห็นด้วยและสนับสนุนระบบดังกล่าว"

ทั้งนี้ ภาคเอกชนเสนอว่าวิธีการเลื่อนขั้นเงินเดือน ควรดำเนินการแบบค่อยเป็นค่อยไป และมีการทบทวนการดำเนินงานเป็นระยะ เพื่อปรับให้เหมาะสมกับระบบบริหารราชการมากที่สุด พร้อมกับสร้างการมีส่วนร่วมและคำนึงถึงข้าราชการทุกระดับ โดยสามารถสร้างแรงจูงใจให้เกิดขึ้นในการทำงาน ขณะเดียวกัน ต้องใช้การสื่อสารเป็นเครื่องมือทำความเข้าใจกับข้าราชการอย่างทั่วถึง ซึ่งในขณะนี้ ถือเป็นช่วงของการเปลี่ยนผ่าน โดยการปรับเปลี่ยนระบบบริหารทรัพยากรบุคคลตามพ.ร.บ.ใหม่ ถือเป็นเรื่องใหญ่และมีความสำคัญ ถือเป็นการเปลี่ยนวิธีคิด ปรับวัฒนธรรมไปจากเดิมอย่างมาก" นายปรีชากล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น