ศูนย์ข่าวขอนแก่น-ประธานหอการค้าร้อยเอ็ด วอนรัฐบาล “สมัคร” หนุนยุทธศาสตร์ผลิต/แปรรูปข้าวหอมมะลิคุณภาพเพื่อการส่งออก” ในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ หลังราคาข้าวเปลือกหอมมะลิพุ่งถึงตันละ 13,000 บาท ชูแผนพัฒนาจังหวัดร้อยเอ็ดเป็นฐานผลิตเพื่อการส่งออก ขอรัฐทุ่มงบสร้างทางรถไฟบัวใหญ่-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร หวังเป็นเส้นทางลัดส่งออกตลาดโลกที่เวียดนาม มั่นใจเกิดกระตุ้นเศรษฐกิจจังหวัดอีสานตอนกลางให้รุดหน้า
นายสถาพร มงคลศรีสวัสดิ์ ประธานหอการค้าจังหวัดร้อยเอ็ด เปิดเผย “ผู้จัดการรายวัน” ถึงสถานการณ์การค้าข้าวหอมมะลิปี 2551 ว่า การค้าข้าวหอมมะลิในจังหวัดร้อยเอ็ดปีนี้ ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา ล่าสุดราคาข้าวเปลือกหอมมะลิปรับขึ้นถึงตันละ 13,000 บาท ถือเป็นราคาสูงที่สุดของการค้าข้าวหอมมะลิ
ถือเป็นปีทองของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวหอมมะลิในจังหวัดร้อยเอ็ดและหลายจังหวัด ในเขตทุ่งกุลาร้องไห้ เนื่องจาก เป็นแหล่งเพาะปลูกข้าวหอมมะลิที่มีชื่อเสียงมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยเกษตรกรในเขตทุ่งกุลาร้องไห้มีสัดส่วนการเพาะปลูกข้าวหอมมะลิมากกว่า 80%
ปี 50 ที่ผ่านมา สถานการณ์การค้าของไทยในตลาดโลกดีมาก ตลาดโลกต้องการสูง ทำให้ไทยสามารถส่งออกข้าวเปลือกทุกชนิดรวมกันมากกว่า 9.55 ล้านตัน หรือคิดเป็นมูลค่าส่งออกข้าวสูงถึง 134,000 ล้านบาท จากเดิมที่เคยส่งออกมากที่สุดไม่เกิน 8 ล้านตัน ส่งผลดีต่อกลไกราคารับซื้อข้าวหอมมะลิล่าสุดปรับขึ้นไปถึง 13,000 บาท/ตัน สูงกว่าราคาประกันข้าวเปลือกของรัฐที่ตั้งไว้ 9,300 บาท/ตัน
อย่างไรก็ตาม ในรอบหลายปีที่ผ่านมา เกษตรกรในเขตทุ่งกุลาร้องไห้ ไม่ได้รับประโยชน์จากการเพาะปลูกมากนัก เนื่องจาก มีข้อจำกัดด้านการจัดเก็บข้าว ทำให้ต้องเร่งขายผลผลิตให้แก่พ่อค้าคนกลาง มากกว่า 50% ข้าวเปลือกหอมมะลิขายให้แก่พ่อค้า นำไปแปรรูปในพื้นที่เขตภาคกลาง สต๊อกรอการส่งออก หรือบรรจุภัณฑ์เป็นข้าวถุง ผลประโยชน์ส่วนใหญ่จึงตกอยู่กับพ่อค้าคนกลาง
การนำข้าวเปลือกหอมมะลิจากแหล่งผลิตทุ่งกุลาร้องไห้ ไปแปรรูปพื้นที่อื่น ทำให้เกิดปัญหาต่อเนื่องตามมา เปิดโอกาสให้เกิดการปลอมปนข้าวหอมชนิดอื่น ที่ราคาต่ำกว่าข้าวหอมมะลิจากแหล่งผลิตทุ่งกุลาร้องไห้ เช่น ข้าวหอมปทุมธานี เพื่อหวังผลกำไรส่วนต่างด้านราคา จนกระทบต่อภาพลักษณ์ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ในตลาดโลกเสียหาย
“ปัญหาดังกล่าวรัฐบาล ควรให้ความสำคัญเข้ามาแก้ปัญหาและพัฒนาการค้าข้าวหอมมะลิเพื่อการส่งออกในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้อย่างจริงจัง จังหวัดร้อยเอ็ดซึ่งตั้งอยู่จุดกลางของภาคอีสาน ควรพัฒนาให้เป็นแหล่งผลิตและส่งออกข้าวหอมมะลิคุณภาพในตลาดโลกโดยตรง ซึ่งผลประโยชน์ที่เกิดขึ้น ย่อมเกิดกับคนในพื้นที่เต็มที่และสร้างเศรษฐกิจจังหวัดร้อยเอ็ดทัดเทียมจังหวัดอื่นๆ”นายสถาพรกล่าวและว่า
แนวทางการพัฒนาตามยุทธศาสตร์ดังกล่าว จะต้องเกิดการลงทุนแปรรูปข้าวหอมมะลิ ณ แหล่งผลิต ซึ่งรัฐควรมีมาตรการจูงใจให้นักลงทุนเข้ามาลงทุน ควรจะมีการลงทุนสร้างไซโลเก็บข้าวขนาดใหญ่ และโรงสีที่ทันสมัยแปรรูป ตั้งอยู่ในจังหวัดร้อยเอ็ด เพื่อเก็บผลผลิตข้าวเปลือกและแปรรูปข้าว ณ แหล่งผลิต เป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น ข้าวหอมมะลิบรรจุถุง
ขณะเดียวกันควรได้รับการสนับสนุนจากรัฐ ลงทุนพัฒนาด้านลอจิสติกส์เชื่อมเส้นทางรถไฟสายใหม่จากอ.บัวใหญ่ นครราชสีมา-มาที่จ.มหาสารคาม-จ.ร้อยเอ็ด-และจ.มุกดาหาร ระยะทางประมาณ 370 กิโลเมตร
สำหรับประโยชน์จากเส้นทางรถไฟสายดังกล่าว นอกจากการคมนาคมขนส่งของประชาชนในแถบอีสานตอนกลางแล้ว เส้นทางรถไฟดังกล่าว จะเกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจสูงมาก ในการขนส่งสินค้าเกษตร โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิจากแหล่งผลิตทุ่งกุลาร้องไห้ไปสู่ตลาดโลก จากจังหวัดร้อยเอ็ดไปสู่ท่าเรือด่าหนัง ประเทศเวียดนาม ซึ่งเป็นท่าเรือน้ำลึกขนถ่ายสินค้าสู่ตลาดโลกที่สำคัญอีกแห่ง
แม้ว่าระยะทางการขนส่งผลผลิตเกษตรไปสู่ท่าเรือด่าหนัง ประเทศเวียดนาม จะมีระยะทางไม่ต่างจากท่าเรือแหลมฉบังของไทยนัก แต่จุดขนถ่ายสินค้า ณ ท่าเรือด่าหนัง ไปสู่กลุ่มประเทศเป้าหมายที่นำเข้าข้าวหอมมะลิ ทั้งสหรัฐอเมริกา ฮ่องกง จีน ญี่ปุ่น ฯลฯ มีระยะทางขนส่งทางเรือที่ใกล้กว่าฝั่งอ่าวไทยมาก
นอกจากนี้ ภาครัฐ ควรให้การสนับสนุนจัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บนที่จังหวัดร้อยเอ็ด เพื่ออำนวยความสะดวก ในด้านเอกสารส่งออกสินค้าเกษตร อนุมัติได้โดยตรงที่จังหวัดร้อยเอ็ด เสริมศักยภาพในด้านการส่งออก
อย่างไรก็ตาม การพัฒนาจังหวัดร้อยเอ็ด ให้เป็นแหล่งผลิต และส่งออกข้าวหอมมะลิคุณภาพสู่ตลาดโลก จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ทั้งในแง่นโยบาย การจัดสรรงบประมาณเข้ามาพัฒนา กลไกขับเคลื่อนของหน่วยงานในพื้นที่ ฯลฯ ต้องอาศัยการตัดสินใจจากผู้นำประเทศและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง สนับสนุนอย่างจริงจัง จึงจะเกิดผลเป็นรูปธรรม
ทั้งนี้ ถือเป็นโครงการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดประโยชน์ต่อประชาชนส่วนใหญ่ในเขตจังหวัดอีสานตอนกลางมาก หากภาครัฐมีการดำเนินการตามยุทธศาสตร์การพัฒนาดังกล่าว เชื่อมั่นว่าจะเป็นกุญแจสำคัญ ในการพลิกฟื้นและพัฒนาเศรษฐกิจจังหวัดร้อยเอ็ดและหลายจังหวัดอีสานตอนกลางดีขึ้น
สำหรับจังหวัดร้อยเอ็ด มีพื้นที่อยู่ในเขตทุ่งกุลาร้องไห้มากที่สุดถึงร้อยละ 46 หรือประมาณ 9 แสนไร่ จากพื้นที่ทั้งหมดของทุ่งกุลาร้องไห้ 2.1 ล้านไร่ เป็นจังหวัดหลักที่ปลูกข้าวหอมมะลิส่งออกตลาดต่างประเทศ แต่ละปีมีผลผลิตข้าวเปลือกหอมมะลิโดยเฉลี่ยประมาณ 6 แสนตัน/ปี คิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับระดับราคาผลผลิตในปีนั้น