xs
xsm
sm
md
lg

ท่องเที่ยว-ค้าชายแดนมุกดาหารเฟื่อง แต่การลงทุนไม่ขยับรอนโยบายรบ.ใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวขอนแก่น-ธุรกิจท่องเที่ยว-บริการชายแดนมุกดาหารเฟื่อง หลังสะพานโขง 2 เปิดนักท่องเที่ยวทั่วสารทิศแห่เยือนไม่ต่ำกว่า 1.2 หมื่นคน/เดือน ขณะที่ภาคการลงทุนยังไม่กระเตื้องคาดรอความชัดเจนทิศทางส่งเสริมจากรัฐบาลชุดใหม่ ด้านตัวเลขการค้าชายแดนพุ่งเท่าตัว ผลจากความสะดวกเส้นทางคมนาคม

นายพิเชษฐ์ แสงนิสากร ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดมุกดาหารเปิดเผยถึงบรรยากาศการลงทุนในพื้นที่ชายแดนมุกดาหารหลังเปิดใช้สะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 2 ว่ายังไม่มีความเคลื่อนไหวของกลุ่มทุนใหม่ๆมากนัก โดยมากจะเป็นการศึกษาสำรวจข้อมูลหรือลู่ทางการลงทุน มากกว่าที่จะมีการลงทุนจริง ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะสถานการณ์การเมือง-เศรษฐกิจภายในประเทศยังไม่นิ่ง แต่เชื่อว่าในอนาคต2-3 ปีรูปธรรมของการลงทุนอุตสาหกรรมในพื้นที่ชายแดนแห่งนี้น่าจะชัดเจนมากขึ้น ขณะนี้นักธุรกิจนักลงทุนต่างรอดูจังหวะที่เหมาะสม

นายพิเชษฐ์กล่าวว่า โครงการที่น่าจะมีผู้สนใจลงทุนในอันดับแรกๆในพื้นที่ชายแดนมุกดาหาร เพื่อหนุนให้ระบบการขนส่งสินค้าในภูมิภาคนี้มีประสิทธิภาพมากขึ้น คือ การสร้างศูนย์กระจายสินค้า (Distribution Center-DC )โดยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.)ให้การสนับสนุนเต็มที่ เนื่องจากมุกดาหารเป็นเหมือนประตูการค้าสู่ประเทศเพื่อนบ้าน มีศักยภาพโครงข่ายคมนาคมที่จะเชื่อมโยงไทย-ลาว กัมพูชาและเวียดนามสูง

สะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 2 ถือเป็นเส้นทางสำคัญที่เชื่อมไทย – สปป.ลาว ไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ได้อย่างสะดวก ที่ผ่านมาขนส่งสินค้า ในภูมิภาคต้องใช้เส้นทางเดินเรืออ้อมคาบสมุทรยาวไกล สูญเสียทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายมหาศาล แต่เส้นทางเศรษฐกิจใหม่ในแนว East west Economic Corridor จะร่นการเดินทางการขนส่งให้สั้นขึ้น จาก ประเทศพม่า – อ.แม่สอด จ.ตาก – จ.พิษณุโลก – ขอนแก่น – กาฬสินธุ์ – มุกดาหาร – สะหวันนะเขต สปป.ลาว – ท่าเรือน้ำลึกด่าหนัง เวียดนาม

นายพิเชษฐ์เปิดเผยว่า สำหรับโครงการศูนย์กระจายสินค้า จ.มุกดาหาร ถือว่าคืบหน้าไปมาก คณะทำงานของกนอ.ได้ศึกษาวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของโครงการเสร็จเรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงแต่รอนักลงทุนเข้ามาพัฒนาเพิ่มมูลค่าเท่านั้น ทั้งนี้ กนอ. ได้ข้อสรุปว่าพื้นที่ที่มีศักยภาพต่อการพัฒนาเป็นศูนย์กระจายสินค้ามีอยู่ 3 แห่ง พร้อมทั้งระบบสาธารณูปโภค ทำเลที่ตั้งและขนาดพื้นที่ที่เหมาะสม

สำหรับพื้นที่ที่ผ่านการพิจารณาของ กนอ.ทั้ง 3 แห่งดังกล่าวประกอบด้วย 1.ที่ดินของศูนย์บริการวิชาการเกษตร ขนาดกว่า 500 ไร่ ตั้งอยู่บริเวณถนนบายพาสมุกดาหาร 2.ที่ดินเอกชนในอำเภอหว่านใหญ่ ขนาดราว 1,000 ไร่ ตั้งอยู่ทางทิศเหนือสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 2 ออกไปราว 15 กิโลเมตร และ 3.ที่ดินขนาด 2,000 กว่าไร่ของบริษัท สหเรือง ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามสะพานฯห่างออกไปราว 3 กิโลเมตร

จากการศึกษารอบด้านของกนอ.ได้ระบุว่าพื้นที่ของบริษัท สหเรือง ที่อยู่ตรงข้ามทางเข้าสู่สะพานฯไปราว 3 กิโลเมตรนั้นมีความเหมาะสมมีศักยภาพที่จะพัฒนาลงทุนจัดตั้งเป็นศูนย์กระจายสินค้ามากที่สุด โดยเฉพาะขนาดพื้นที่และที่ตั้งไม่ไกลจากสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 2

“โครงการสร้างศูนย์กระจายสินค้าอยู่ระหว่างการรอผู้สนใจจะเข้ามาลงทุน คิดว่าหลังจากจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารประเทศแล้ว และมีการประกาศนโยบายด้านการส่งเสริมลอจิสติกส์ชัดเจน น่าจะมีคนสนใจเข้ามาลงทุน เพราะอนาคตการขนส่งสินค้าส่งออกผ่านเส้นทางหมายเลข 9 เพื่อไปลงท่าเรือด่าหนังจะเติบโตอย่างมาก” นายพิเชษฐ์กล่าว

นายพิเชษฐ์กล่าวว่า แม้ความเคลื่อนไหวของทุนด้านอุตสาหกรรม ยังไม่ค่อยมีความก้าวหน้ามากนักหลังเปิดใช้สะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 2มาได้ร่วม 2 ปีแล้ว แต่ธุรกิจด้านบริการ การท่องเที่ยวในจังหวัดมุกดาหารกลับคึกคักเป็นอย่างมาก ทั้งที่พักโรงแรม ร้านอาหาร กิจการทัวร์ โดยเฉพาะจำนวนนักท่องเที่ยวได้เดินทางเข้ามายังมุกดาหารเพิ่มมากขึ้นเป็นเท่าตัว จากเดิมก่อนเปิดสะพานเฉลี่ยมีจำนวนนักท่องเที่ยวราว 5-6 พันคน/เดือนแต่หลังเปิดสะพานฯตัวเลขพุ่งถึงเดือนละ 1.2-1.5 หมื่นคนเป็นอย่างน้อยต่อเดือน

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่จังหวัดมุกดาหารประสบอยู่ในขณะนี้คือ กลุ่มนักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังมุกดาหารเกือบจะ 100 % ต่างมีเป้าหมายปลายทางที่เวียดนามมากกว่าที่จะแวะค้างคืนในมุกดาหารหรือแขวงสะหวันนะเขต ทำให้เงินใช้จ่ายของท่องเที่ยวไม่สะพัดในพื้นที่อย่างที่ควรจะเป็น มูลเหตุที่ทำให้นักท่องเที่ยวเดินทางข้ามผ่านตรงไปยังเวียดนาม เนื่องจากทั้งมุกดาหารและแขวงสะหวันนะเขตยังไม่มีจุดขายการท่องเที่ยวที่ดึงดูดมากพอที่จะให้แวะค้างคืนท่องเที่ยว อย่างมากก็เพียงแต่แวะรับประทานอาหารหรือซื้อสินค้าในตลาดอินโดจีนก่อนเดินทางกลับเท่านั้น

“ธุรกิจด้านการท่องเที่ยว ถือเป็นธุรกิจหลักที่จังหวัดมุกดาหารคาดหวังว่า จะช่วยให้เงินสะพัดในพื้นที่มากขึ้น แต่ทั้งนี้คงต้องหารือในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า จะทำอย่างไรที่จะดึงนักท่องเที่ยวที่เข้ามาพื้นที่ใช้เวลาพักผ่อนค้างคืนภายในจังหวัด ก่อนที่จะเดินทางต่อไปยังลาวหรือกลับภูมิลำเนา เพราะที่ผ่านมาสัดส่วนนักท่องเที่ยวที่ค้างคืนในพื้นที่ยังถือว่าน้อย”ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดมุกดาหารกล่าว

นําเข้า-ส่งออกสินค้าเพิ่มเกือบ100%

รายงานข้อมูลของสำนักงานศุลกากรมุกดาหารระบุว่าในปีงบประมาณ 2550 การค้าชายแดนทางด่านศุลกากรมุกดาหารมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น15,749.980 ล้านบาท สูงกว่า ปีที่แล้ว 7,290.204 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 86.17 โดยแยกเป็นมูลค่าการนําเข้า 9,604.945 ล้านบาท และมูลค่าการส่งออก 6,145.035 ลานบาท

ทั้งนี้หากเปรียบเทียบมูลคาการคาชายแดนก่อนและหลังการเปิดใช้สะพานมิตรภาพ 2 พบว่าการค้าชายแดนในช่วง 6 เดือนหลังการเปิดใช้สะพาน ( 9 มกราคม 50 ) มีมูลค่า7,869.820 ล้านบาท สูงกว่า ช่วง 6 เดือนก่อนเปิดสะพาน 2,769.248 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 54.29 การค้าชายแดนตั้งแต่ มกราคม –กันยายน 50 มีมูลค่ารวม 13,271.624 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 6,414.937 ล้านบาทคิดเป็นร้อยละ 93.56

ขณะที่มูลค่าการค้าผ่านแดน ในปีงบประมาณ 2550 มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 5,534.809 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 1,429.041 ล้านบาท หรือคิดเป็น ร้อยละ 34.81 โดยแยกเป็นมูลค่าการนําเข้าจาก สปป.ลาวผ่านไทยไปประเทศที่ 3 จํานวน 183.823 ล้านบาท และจากประเทศที่ 3 ผ่านไทยออกไปยัง สปป.ลาว จํานวน 5,350.986 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น