xs
xsm
sm
md
lg

สภาพวิชาการทางกฎหมายของประเทศไทย : สาเหตุแห่งความล้มเหลวของการปฏิรูปการเมือง ครั้งที่ 2

เผยแพร่:   โดย: ศ. ดร. อมร จันทรสมบูรณ์

โดย ศ. ดร.อมร จันทรสมบูรณ์

ศ.ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ ได้รับการยกย่องอย่างไม่เป็นทางการว่าเป็น “บิดาแห่งวิชากฎหมายมหาชนยุคใหม่” ของประเทศไทย และเป็นนักกฎหมายดีเด่น “รางวัลสัญญา ธรรมศักดิ์” ท่านเป็นผู้ยืนหยัดเสนอแนวความคิดจัดทำร่างรัฐธรรมนูญตามแนวทาง Constitutionalism มาตั้งแต่ปี 2534 ที่จะต้องยึดหลักเหตุผลและการวิเคราะห์สภาพสังคมวิทยาการเมือง โดยมีสารัตถะสำคัญที่อยู่ที่การปรับเปลี่ยนรูปแบบการปกครองให้พ้นไปจาก “ระบบเผด็จการรัฐสภาโดยพรรคการเมืองของกลุ่มทุน” แม้ไม่มีใครฟังเท่าที่ควร แต่ท่านก็ไม่เคยท้อถอย คงยืนหยัดเสนอแนวความคิดตามหลักการและเป้าหมายเดิมโดยประยุกต์ตามจังหวะสถานการณ์ในแต่ละช่วง ร่วมกับนักวิชาการกฎหมายมหาชนรุ่นใหม่จำนวนหนึ่ง อาทิ รศ.สมยศ เชื้อไทย, รศ.ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์, รศ.ดร.บรรเจิด สิงคเนติ เป็นต้น บทความขนาดยาวชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของบทความที่ท่านเขียนลงในเว็บไซต์ www.pub-law.net ตั้งแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2550 ตั้งแต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ฉบับปัจจุบันยังร่างไม่เสร็จ ซึ่งท่านยืนยันว่าจะไม่มีทางปฏิรูปการเมืองได้สำเร็จ ตรงข้าม กลับจะนำพาประเทศไทยกลับเข้าสู่ “วงจรอุบาทว์” อีกครั้ง ถือเป็นความล้มเหลวและบาปกรรมใหญ่หลวงที่คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) กระทำไว้ต่อแผ่นดิน เนื่องด้วยข้อจำกัดด้านเนื้อที่ “ผู้จัดการรายวัน” ไม่อาจย้อนตีพิมพ์ได้ตั้งแต่ต้น ขอเชิญท่านผู้อ่านที่สนใจความเป็นไปของบ้านเมืองในเชิงลึกได้จากเว็บไซต์ www.pub-law.net โดยสามารถเปิดเข้าไปได้อีกทางหนึ่งจาก link ที่จะทำไว้ให้ในหน้าแรกของเว็บไซต์ “ผู้จัดการออนไลน์” www.manager.co.th เป็นพิเศษ


[ หมายเหตุ : บทความในตอนนี้ เขียนเสร็จในราวกลางเดือนมกราคม ซึ่งเป็นเวลาที่ได้ทราบผลการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๐ และทราบแล้วว่า พรรคการเมืองใดมี ส.ส.ในสังกัดได้รับเลือกตั้ง เป็นจำนวนมากน้อยเพียงใด และพรรคการเมืองใดจะเป็นผู้ที่ฟอร์มรัฐบาล โดยขณะนี้ ได้มีการเปิดประชุมรัฐสภาสมัยสามัญทั่วไป ครั้งแรกไปแล้ว เมื่อวันที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๕๐

โดยที่บทความนี้ เป็นบทความทางวิชาการ ผู้เขียนคงจะเขียนบทความของผู้เขียนต่อไป สำหรับให้เรา(คนไทย) “คิด”แก้ปัญหาการเมืองของเราในอนาคต (ถ้าหากจะเกิดขึ้นอีก) สำหรับผู้เขียน ผู้เขียนเห็นว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นตาม รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๐ (ฉบับปัจจุบัน) ต่อจากนี้ไป ก็คือ สิ่งที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๔๐ ก่อนมีการรัฐประหารโดย“คณะปฏิรูปการปกครองฯ”เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ นั่นเอง เนื่องจาก(ตามความเห็นของผู้เขียน) เรา(ประเทศไทย) ยังไม่ได้มีการปฏิรูปการเมือง และยังไม่มีการปฏิรูประบบบริหาร

ข้างหน้านี้ เราก็จะมี “นายกฯ / ๑” “ นายกฯ / ๒” “ นายกฯ / ๓” และต่อ ๆ ไป และถ้าหากมีกรณีทุจริตคอร์รัปชั่นถูกเปิดเผยขึ้น ผู้เขียนก็คิดว่า คณะรัฐบาลของเราก็จะมีการสลับ“ขั้ว” และเปลี่ยน“ตัวบุคคล”ที่เป็นรัฐมนตรี กันเป็นครั้งคราว เพื่อให้คนทั่วไปและสื่อมวลชน ได้มี“เรื่องใหม่ ๆ”สำหรับถกเถียงกันเป็นประจำวัน(และลืมเรื่องเก่า) และในขณะเดียวกัน ก็คงจะเป็นการต่อเวลาของการทุจริตคอร์รัปชั่นและการแสวงหาประโยชน์ของบรรดา นักการเมือง(นายทุนธุรกิจ)ที่ผูกขาด “อำนาจรัฐ” ต่อไป ดังเช่นที่แล้ว ๆ มา และเราคงจะได้ยิน นายกรัฐมนตรีของเราพูดในสิ่งที่เราเคยได้ยินมาแล้ว ว่า “ใครว่ามีการทุจริตคอร์รัปชั่น ก็ขอให้ส่ง “หลักฐาน”มาให้รัฐบาล รัฐบาลจะได้สอบสวนให้ ”

หลังจากหนึ่งปีเศษของการรัฐประหาร(วันที่ ๑๙ กันยายน๒๕๔๙) “คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ก็ได้นำเรา(คนไทย)กลับมาสู่ “ที่เดิม” ก่อนการรัฐประหาร คือ การเมืองแห่งการต่อรองหาประโยชน์ ระหว่าง นายทุนธุรกิจ(ระดับท้องถิ่น) กับนายทุนธุรกิจ(ระดับชาติ) ซึ่งต่างคนต่างก็ลงทุนออกเงินล่วงหน้าในการจัดตั้งพรรคการเมืองและรวบรวม ส.ส. เข้ามาในสังกัด เพื่อเข้ามาผูกขาด“อำนาจรัฐ” (ตามที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้ให้) และต่างคนต่างก็แสวงหาประโยชน์และกำไรจากทรัพยากรของส่วนรวม ตามแต่โอกาสจะอำนวย
]

ประเด็นข้อสุดท้าย สรุป “ความผิดพลาด”ในการเขียนรัฐธรรมนูญ พ.ศ ๒๕๔๐ ที่นำไปสู่สิ่งที่ตามมา คือ “ความล้มเหลว”ในการร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบัน (พ.ศ. ๒๕๕๐) : ก่อนที่ผู้เขียนจะกล่าวต่อไปถึง ความล้มเหลวในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน(พ.ศ. ๒๕๕๐)ในข้อต่อไป ผู้เขียนขอสรุป (อย่างสั้น ๆ) เพื่อทบทวน “ประเด็น”สำคัญ ๆ ในความผิดพลาดครั้งที่สอง(การร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐) ที่ท่านผู้อ่านควรจะให้ความสนใจ โดยผู้เขียนจะทบทวนในช่วงเวลา จาก พ.ศ. ๒๕๓๔ ถึง พ.ศ. ๒๕๔๙ รวมเวลา ๑๕ ปีเศษ ใน ๓ ประเด็น คือ (๑) วิวัฒนาการของ“ระบบเผด็จการ(ในระบบรัฐสภา) โดยพรรคการเมือง” ซึ่งเป็นรูปแบบการปกครอง (form of government)ของเราในช่วงเวลาดังกล่าว และ (๒) พฤติกรรม(ทางสังคมวิทยา)ของกลุ่ม ชนชั้นนำ – eliteของสังคมไทย ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสร้าง “ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมือง”๒ กลุ่ม (นักกฎหมาย กับ นายทุนธุรกิจ – ระดับท้องถิ่น) และ (๓) ทำไมความผิดพลาดในการเขียนรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ ซึ่งใช้บังคับเพียง ๑๐ ปี จึงมีผลเสียหายแก่ประเทศมากกว่า ความผิดพลาด(ครั้งแรก)ของ “คณะราษฎร”ที่นำ “ระบบรัฐสภา”มาใช้ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๔๗๕ และใช้ต่อเนื่องกันมาถึง ๖๕ ปี

ทั้งนี้ เพื่อจะได้นำประสบการณ์นี้มาใช้ ในการศึกษาเปรียบเทียบหา “สาเหตุ”แห่ง ความล้มเหลวของการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (พ.ศ. ๒๕๕๐) ในข้อต่อไป

(๑) วิวัฒนาการของ“ระบบเผด็จการ(ในระบบรัฐสภา) โดยพรรคการเมือง” ; ขณะนี้ เรามี รูปแบบ form of government ตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับปัจจุบัน) เป็น “ระบบเผด็จการในระบบรัฐสภาโดยพรรคการเมือง” ซึ่งเริ่มต้นจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๑๗ ด้วยการ“การบังคับให้ ส.ส. ต้องสังกัดพรรคการเมือง”(แต่รัฐธรรมนูญยังเปิดโอกาสให้ ส.ส.ยังมีโอกาสหาพรรคการเมืองพรรคใหม่สังกัดได้ในกรณีที่ถูกพรรคการเมืองเดิมมีมติให้ออกจากพรรค)

ต่อมา เราก็กลายเป็น ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมืองอย่างสมบูรณ์แบบ นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๒๑ (ซึ่ง ส.ส. ไม่มีโอกาสหาพรรคการเมืองพรรคใหม่สังกัดในกรณีที่ถูกพรรคการเมืองเดิมมีมติให้ออกจากพรรค) และในรัฐธรรมนูญ(ถาวร)ที่ตามมาทุกฉบับ คือ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๓๔ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ จนถึงรัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๕๐

แต่ในที่นี้ เราลองมาพิจารณาดูว่า ในระยะเวลารวม ๑๕ ปี คือ นับตั้งแต่เวลาที่ทหารต้องถอนตัวจากการเมือง ใน ปี พ.ศ. ๒๕๓๕ (หลัง เหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ” ) จนถึง การ“รัฐประหาร”โดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ฯ ปี พ.ศ. ๒๕๔๙ (วันที่ ๑๙ กันยายน) มีอะไรเกิดขึ้น กับ “ ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมือง (สมบูรณ์แบบ)” ของเรา (?)

เราจะเห็นได้ว่า ในช่วงเวลาดังกล่าว “ระบบเผด็จการในระบบรัฐสภา โดยพรรคการเมือง” ได้มีวิวัฒนาการ ถึง ๓ ระยะด้วยกัน คือ เราเริ่มต้นด้วย “ระบบเผด็จการ – ทหาร” ไปสู่ “ระบบเผด็จการ – นายทุนธุรกิจ(ระดับท้องถิ่น)” ซึ่งเป็นระยะที่สอง และในระยะสุดท้าย คือ “ระบบเผด็จการ – นายทุนระดับชาติ

ณ จุดเริ่มต้น พ.ศ. ๒๕๒๑ เห็นได้ว่า “ระบบเผด็จการ (ในระบบรัฐสภา) โดยพรรคการเมือง” มีเจตนาให้เป็น “ระบบเผด็จการ - ทหาร” โดยมุ่งหมายให้ทหารและนักการเมืองที่เป็นพันธมิตรกับฝ่ายทหาร จัดตั้งพรรคการเมือง มาเป็นรัฐบาลร่วมกันภายไต้การนำของทหาร (เป็นนายกรัฐมนตรี) [หมายเหตุ เป็นที่สังเกตว่า รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๒๑ ได้แยก “ระบบสถาบันการเมือง”ออกเป็น ๒ ช่วงเวลา โดยในช่วงระยะเวลา ๔ ปีแรก (สิ้นสุดวันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๒๖) จะเป็นระยะเวลาที่รัฐบาล(ทหาร) มี“วุฒิสภา”(ที่มีสมาชิกมาจากการแต่งตั้งและมีอำนาจมาก )เป็นสถาบันที่เป็นฐานของเสถียรภาพของรัฐบาล(ทหาร) โดยไม่บังคับให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมือง และในช่วงที่สอง จีงกลับมาใช้ “วิธีการ”บังคับให้ ส.ส.(ในสภาผู้แทนราษฎร)ต้องสังกัดพรรคการเมืองและให้พรรคการเมืองมีอำนาจควบคุม ส.ส. เพื่อสร้างเสถียรภาพให้แก่รัฐบาล ]

ระยะที่สอง ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๓๕ ( หลังจากเหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ”) รูปแบบการปกครอง – form of government ก็เปลี่ยนจาก ระบบเผด็จการ - ทหาร มาเป็น “ระบบเผด็จการ – นายทุนธุรกิจ(ระดับท้องถิ่น)” ซึ่งอันที่จริงแล้ว ก็คือ กลุ่มนายทุนที่ครอบงำพรรคการเมือง (ที่อยู่ใน “ระบบการผูกขาดอำนาจรัฐโดยพรรคการเมือง” ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๓๔) อยู่แล้วในขณะนั้น ; การเปลี่ยนแปลง เกิดขึ้นเมื่อรัฐบาลในขณะนั้น (ที่มีนายกรัฐมนตรีพระราชทาน) พ.ศ. ๒๕๓๕ ได้ แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๓๔ (มาตรา ๑๕๙ โดย รธน. ฉบับที่ ๔ พ.ศ. ๒๕๓๕ ) กำหนด บังคับให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส. (เท่านั้น) ซึ่งการแก้บทบัญญัตินี้ มีผลทำให้ นายทุนธุรกิจ(ระดับท้องถิ่น)ได้ระบบการผูกขาดอำนาจรัฐโดยพรรคการเมือง (ตามรัฐธรรมนูญ) ไปจากฝ่ายทหาร

ดังนั้น ในระหว่าง ปี พ.ศ. ๒๕๓๕ จนถึง ปี พ. ศ. ๒๕๔๔ การบริหารประเทศของเรา ก็จะเป็น การเผด็จการโดยพรรคการเมือง –นายทุนธุรกิจ(ระดับท้องถิ่น) หลายพรรครวมกัน ทั้งนี้ เนื่องจากในขณะนั้น พรรคการเมือง(ที่อยู่ใน”ระบบการผูกขาดอำนาจรัฐโดยพรรคการเมือง”ตามรัฐธรรมนูญ) ไม่มีพรรคการเมืองใดที่มีเสียงข้างมากในสภาอย่างเด็ดขาด ( คือไม่มีพรรคการเมืองใดที่มี ส.ส.จำนวนเกินกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด); และในทางปฏิบัติ นายทุนธุรกิจ(ระดับท้องถิ่น)เจ้าของพรรคการเมืองเหล่านี้ ก็จะต่อรองซึ่งกันและกัน และสลับ“ขั้ว”กันเพื่อเข้ามาเป็น “นายกรัฐมนตรี”และแบ่งบันตำแหน่งรัฐมนตรี ซึ่งการบริหารประเทศในระยะนี้ ก็มีข่าวคราวการทุจริตคอร์รัปชั่นขนาดใหญ่ปรากฏให้เห็นกันแล้วในสื่อมวลชน

ในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ได้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ โดย “สภาร่างรัฐธรรมนูญ” ซึ่งนายทุนธุรกิจ – ระดับท้องถิ่นที่ครอบงำ “พรรคการเมือง(ต่าง ๆ)” ในสภาผู้แทนราษฎรอยู่ในขณะนั้น ก็ได้แสดงเจตนาอย่างชัดแจ้งว่า ตนเองยังต้องการ “ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจ)”; และรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ ได้กำหนดให้ “ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจ)”มีความเข้มงวดยิ่งขึ้น โดยได้เพิ่มมาตรการที่บังคับให้ “ส.ส.”ต้องผูกมัดอยู่กับพรรคการเมือง มากกว่ารัฐธรรมนูญฉบับเดิม ( คือ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๓๔ ประกอบกับที่แก้ไขเพิ่มเติมหลังพฤษภาทมิฬ พ.ศ. ๒๕๓๕)

ระยะที่สาม ต่อมา ในปี พ.ศ. ๒๕๔๔ รูปแบบการปกครอง – form of government ก็เปลี่ยนจากระบบเผด็จการ – นายทุนธุรกิจ (ระดับท้องถิ่น) เป็น “ระบบเผด็จการ – นายทุนธุรกิจ(ระดับชาติ)” โดยนายทุนระดับชาติ ได้มองเห็นโอกาสในการเข้าผูกขาด “อำนาจรัฐ” ในระบบรัฐสภา (และแสวงหาประโยชน์ได้) ; ดังนั้นนายทุนระดับชาติ จึงได้จัดตั้งพรรคการเมืองของตนเองขึ้นใน ปีพ.ศ. ๒๕๔๓ ; และ ด้วยจำนวนเงินทุนที่มากกว่า / ด้วยอิทธิพลที่เหนือกว่า/ ด้วยการใช้นโยบาย populist เอาใจประชาชนในขณะที่สภาพสังคมไทยอ่อนแอ ; พรรคการเมืองของนายทุนธุรกิจ(ระดับชาติ)ได้เริ่ม ยึดครอง “อำนาจรัฐ”จากพรรคการเมืองของนายทุนธุรกิจ(ระดับท้องถิ่น)ในปี พ.ศ. ๒๕๔๔ โดยในการเลือกตั้งทั่วไปใน พ.ศ. ๒๕๔๔ (วันที่ ๖ มกราคม) พรรคการเมืองของนายทุนระดับชาติ ได้ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร ๒๔๘ ที่นั่งในจำนวนทั้งหมด๕๐๐ ที่นั่งและได้เป็นรัฐบาล และต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๔๘ ก็ได้ยึดครอง “อำนาจรัฐ”ได้อย่างเบ็ดเสร็จสมบูรณ์ โดยในการเลือกตั้งทั่วไปใน ปี พ.ศ. ๒๕๔๘ (วันที่ ๖ กุมภาพันธ์) พรรคการเมืองได้ ส.ส. ๓๗๗ ที่นั่งในจำนวน ๕๐๐ ที่นั่ง

นี่ คือ สาเหตุของการทุจริตคอร์รัปชั่นครั้งมโหฬารของประเทศไทย เพราะในระบบรัฐสภา – parliamentary system ไม่มีกลไกใดของรัฐที่จะถ่วงดุลการใช้อำนาจของ “พรรคการเมือง” ที่คุมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรและเป็นรัฐบาลในขณะเดียวกันได้

(๒) Elite ที่สร้าง “ระบบเผด็จการ โดยพรรคการเมือง (นายทุนธุรกิจ) : รูปแบบการปกครอง – form of government เป็น“ระบบ”ที่สร้างขึ้นโดย “คน” และ “คน”ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสร้าง form of government ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ ของเรา ให้เป็น “ระบบเผด็จการในระบบรัฐสภาโดยพรรคการเมือง” ก็คือ ชนชั้นนำ – elite ของ เรา (คนไทย) ๒ ประเภท ; เรากล่าวกันว่า เรา (คนไทย)มีหน้าที่ส่งเสริม “คนดี”ให้ได้ปกครองบ้านเมือง ; เราลองมาพิจารณาดูว่า ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมือง (นายทุนธุรกิจ) เป็น “ระบบ”ที่ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมืองหรือไม่ (?)

(ก) Elite ประเภทแรก ได้แก่ นักวิชาการในวงการวิชาการทางกฎหมาย ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ และอันที่จริงแล้ว นักวิชาการจำนวนหนึ่งที่ร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ นี้ ก็คือ นักกฎหมายที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๒๑ ( และ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๓๔ ) ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศไทย ที่ สร้างระบบเผด็จการในระบบรัฐสภาโดยพรรคการเมือง (และเป็นฉบับแรกของโลก)

ระบบนี้เริ่มต้นมาจาก รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๑๗ ที่บังคับให้ ส.ส. ต้องสังกัดพรรคการเมืองและกำหนดให้ ส.ส. ต้องพ้นจากความเป็น ส.ส.ในกรณีที่ ส.ส.ต้องออกจาก(สมาชิก)พรรคการเมือง แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ร่างรัฐธรรมนูญ(ในขณะนั้น พ.ศ. ๒๕๑๗)ได้ผ่อนคลายไว้ให้ โดยบัญญัติเงื่อนไขไว้ว่า ถ้าพรรคการเมืองมีมติให้ ส.ส.ต้องออกจากพรรค ฯ ก็ให้ ส.ส.มีโอกาสที่จะหาพรรคการเมืองพรรคใหม่สังกัดให้ได้ภายใน ๖๐ วัน ดังนั้น จะเห็นได้ว่า รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๑๗ จึงยังไม่เป็น “ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมือง (อย่างสมบูรณ์)”; แต่อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๑๗ ก็ได้ “ตัด”บทบัญญัติที่ให้หลักประกันในความเป็นอิสระของ ส.ส.ในการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ต้องอยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมายใด ๆ ออกจากบทรัฐธรรมนูญ ตามที่เคยมีอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับ ก่อน ๆ ซึ่งเป็นบทบัญญัติมาตรฐานของประเทศ (เสรี)ประชาธิปไตย

รัฐธรรมนูญฉบับต่อมา คือ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๒๑ ปรากฏว่า ผู้ร่างรัฐธรรมนูญได้เพิ่มเติม “มาตรการ”ที่บังคับให้ ส.ส.ต้องอยู่ ภายไต้การควบคุมของพรรคการเมืองเข้มงวดยิ่งขึ้น กล่าวคือ นอกจากจะยึดถือแนวทางที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๑๗ คือ บังคับให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมือง ฯลฯ แล้ว รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๒๑ ได้บัญญัติให้ ส.ส. ต้องพ้นจากความเป็น ส.ส.ในทันทีที่พรรคการเมืองมีมติให้ ส.ส.ออกจากสมาชิกของพรรคการเมือง โดยไม่เปิดโอกาสให้ ส.ส. ไปหาพรรคการเมืองพรรคใหม่สังกัด และนอกจากนั้น รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๒๑ ได้เปลี่ยนคำปฏิญาณของ ส.ส. โดยตัดข้อความที่ว่า“ส.ส.จะต้องปฏิบัติหน้าที่ตามความเห็นของตนเองโดยสุจริตใจ” ออกจากคำปฏิญาณที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญฉบับถัดมา คือ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๓๕ ได้เขียนขึ้นตามแนวทางของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๒๑ โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง

ดังนั้น นักวิชาการในวงการกฎหมายของไทย จึง เป็นผู้ที่ต้องรับผิดชอบในการสร้าง “ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมือง(อย่างสมบูรณ์) ” ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๒๑ (หลังการปฏิวัติ โดย“คณะปฏิวัติ”ในเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๐) และเขียนต่อเนื่องกับ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๓๔ (หลังการปฏิวัติ โดย “คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ” ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๔) รวมถึง รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐

รูปแบบการปกครอง – form of government (ระบบเผด็จการในระบบรัฐสภา โดยพรรคการเมือง) ตามรัฐธรรมนูญของไทย ทั้ง ๓ ฉบับนี้ จึงเป็น “รูปแบบ”ที่ริเริ่มขึ้นในประเทศไทย เป็นประเทศแรกในโลก และเป็นรัฐธรรมนูญประเทศเดียวในโลกในขณะนี้ ที่ใช้ระบบนี้

การที่นักวิชาการในวงการวิชาการทางกฎหมายของเราเขียน(ออกแบบ)รัฐธรรมนูญเช่นนี้ อาจอธิบายได้ด้วยเหตุผลเพียง ๒ เหตุผล คือ เหตุผลประการแรก นักวิชาการในวงการกฎหมาย (ผู้ร่างรัฐธรรมนูญ)ของเราในขณะนั้น(พ.ศ. ๒๕๔๐) มี”ความรู้”ไม่พอ และไม่รู้ว่า ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจ)ที่มาจากการเลือกตั้งในสภาพที่สังคมไทยมีความอ่อนแอ จะก่อให้เกิด“ผล(เสียหาย)”แก่ประเทศ ได้อย่างไร หรือ เหตุผลประการที่สอง ก็คือ นักวิชาการในวงการกฎหมายของเราในขณะนั้น มี “ความรู้”พอและรู้ถึงผลเสียของ “การผูกขาดอำนาจรัฐโดยพรรคการเมือง” แต่อยากจะ “ช่วย”หรือให้ “บริการ”แก่นักการเมือง มากเกินไป โดยไม่สุจริตใจ (เพราะเหตุใดเหตุหนึ่ง) ; หรือมิฉะนั้น ก็เพราะเหตุผลทั้ง ๒ เหตุผลประกอบกัน คือ นักวิชาการของเราไม่มีทั้ง“ความรู้”และไม่มีทั้ง“ความสุจริตใจ”


(ข) Elite ประเภทที่สอง ที่เป็นผู้มีส่วนในการสร้างระบบเผด็จการในระบบรัฐสภาโดยพรรคการเมือง (อย่างสมบูรณ์)ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๔๐ ได้แก่ นายทุนธุรกิจ – ระดับท้องถิ่น ทั้งนี้ เราต้องไม่ลืมว่า ตามข้อเท็จจริงในขณะนั้นระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๓๕ - ๒๕๔๐ บรรดานายทุนธุรกิจที่เป็นเจ้าของ “ทุน”และครอบงำ “พรรคการเมือง” (ที่อยู่ระบบการผูกขาดอำนาจรัฐโดยพรรคการเมืองตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๓๔)ทั้งหมดในขณะนั้น ต่างก็เป็นนายทุนธุรกิจระดับท้องถิ่นทั้งสิ้น โดยในขณะนั้น นายทุนธุรกิจระดับชาติยังไม่ได้ตั้งพรรคการเมือง

เราคงจำได้ว่า ในปี พ.ศ. ๒๕๓๕ เมื่อเกิดเหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ”ขึ้น นายทุนธุรกิจ – ระดับท้องถิ่น (ในขณะนั้น)ได้เรียกร้องและปลุกระดมให้มีการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญว่า “นายกรัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส.(เท่านั้น)” โดยอ้างว่า ถ้าเราไม่เขียนเช่นนี้ เราก็ไม่เป็นประชาธิปไตย [หมายเหตุ : บทบัญญัตินี้ เป็นบทบัญญัติที่ไม่มีในรัฐธรรมนูญของประเทศที่พัฒนาแล้ว]

ผู้เขียนเห็นว่า การเรียกร้องของนายทุนธุรกิจ – ระดับท้องถิ่นนี้ มีอิทธิพลและทำให้คนไทยทั้งประเทศ เข้าใจผิดใน “หลักการ”และ “กลไก”ของ การปกครองระบอบประชาธิปไตยที่เป็นสากล และทำให้คนไทยเชื่อว่า ถ้ารัฐธรรมนูญของเราไม่มีบทบัญญัตินี้แล้ว ประเทศไทยไม่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งผู้เขียนไม่เห็นด้วย เพราะ ความจริง ไม่ใช่เช่นนั้น

ในทางสังคมวิทยา(ซึ่งเป็นพื้นฐานของกฎหมายมหาชน - ยุคใหม่) เห็นได้ชัดว่า การเรียกร้องของนายทุนธุรกิจ – ระดับท้องถิ่น เป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของตนเอง เพื่อเข้ามาผูกขาดอำนาจรัฐ ซึ่งนอกจากจะไม่มี “แบบอย่าง”ในรัฐธรรมนูญของประเทศที่พัฒนาแล้ว ยังเป็นบทบัญญัติที่จำกัดสิทธิของ “สภาผู้แทนราษฎร” ในการ“เลือก”บุคคลที่ดีกว่าหรือบุคคลดีที่สุดของประเทศ มาเป็นนายกรัฐมนตรี

(อ่านต่อวันพรุ่งนี้)

กำลังโหลดความคิดเห็น