xs
xsm
sm
md
lg

สภาพวิชาการทางกฎหมายของประเทศไทย : สาเหตุแห่งความล้มเหลวของการปฏิรูปการเมือง ครั้งที่ ๒(จบ)

เผยแพร่:   โดย: ศ.ดร.อมร จันทรสมบูรณ์

(ต่อจากเมื่อวานนี้)

ศ.ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ ได้รับการยกย่องอย่างไม่เป็นทางการว่าเป็น “บิดาแห่งวิชากฎหมายมหาชนยุคใหม่” ของประเทศไทย และเป็นนักกฎหมายดีเด่น “รางวัลสัญญา ธรรมศักดิ์” ท่านเป็นผู้ยืนหยัดเสนอแนวความคิดจัดทำร่างรัฐธรรมนูญตามแนวทาง Constitutionalism มาตั้งแต่ปี 2534 ที่จะต้องยึดหลักเหตุผลและการวิเคราะห์สภาพสังคมวิทยาการเมือง โดยมีสารัตถะสำคัญที่อยู่ที่การปรับเปลี่ยนรูปแบบการปกครองให้พ้นไปจาก “ระบบเผด็จการรัฐสภาโดยพรรคการเมืองของกลุ่มทุน” แม้ไม่มีใครฟังเท่าที่ควร แต่ท่านก็ไม่เคยท้อถอย คงยืนหยัดเสนอแนวความคิดตามหลักการและเป้าหมายเดิมโดยประยุกต์ตามจังหวะสถานการณ์ในแต่ละช่วง ร่วมกับนักวิชาการกฎหมายมหาชนรุ่นใหม่จำนวนหนึ่ง อาทิ รศ.สมยศ เชื้อไทย, รศ.ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์, รศ.ดร.บรรเจิด สิงคเนติ เป็นต้น บทความขนาดยาวชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของบทความที่ท่านเขียนลงในเว็บไซต์ www.pub-law.net ตั้งแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2550 ตั้งแต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ฉบับปัจจุบันยังร่างไม่เสร็จ ซึ่งท่านยืนยันว่าจะไม่มีทางปฏิรูปการเมืองได้สำเร็จ ตรงข้าม กลับจะนำพาประเทศไทยกลับเข้าสู่ “วงจรอุบาทว์” อีกครั้ง ถือเป็นความล้มเหลวและบาปกรรมใหญ่หลวงที่คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) กระทำไว้ต่อแผ่นดิน เนื่องด้วยข้อจำกัดด้านเนื้อที่ “ผู้จัดการรายวัน” ไม่อาจย้อนตีพิมพ์ได้ตั้งแต่ต้น ขอเชิญท่านผู้อ่านที่สนใจความเป็นไปของบ้านเมืองในเชิงลึกได้จากเว็บไซต์ www.pub-law.net โดยสามารถเปิดเข้าไปได้อีกทางหนึ่งจาก link ที่จะทำไว้ให้ในหน้าแรกของเว็บไซต์ “ผู้จัดการออนไลน์” www.manager.co.th เป็นพิเศษ


ในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ในการร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ พ.ศ. ๒๕๔๐ (โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๓๙) นายทุนธุรกิจ -ระดับท้องถิ่น( ซึ่งครอบงำพรรคการเมืองต่าง ๆในสภาผู้แทนราษฎรในขณะนั้น) ก็ยัง ยืนยันแนวความคิดในการรักษาผลประโยชน์ของกลุ่มของตนเอง คือ ให้ใช้ “ระบบเผด็จการ(ในระบบรัฐสภา) โดยพรรคการเมือง” เป็นรูปแบบการปกครอง – form of government ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ คือ มีบทบัญญัติบังคับให้ ส.ส. ต้องสังกัดพรรคการเมือง / ให้พรรคการเมืองมีอำนาจบังคับให้ ส.ส. ต้องปฏิบัติตามมติของพรรค. / และต้องมีบทบัญญัติบังคับให้นายกรัฐมนตรีต้องแต่งตั้งมาจาก ส.ส. (เท่านั้น)

ในขณะนั้น (พ.ศ. ๒๕๓๙ – ๒๕๔๐) นายทุนธุรกิจ – ระดับชาติ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ “การสร้าง” ระบบผูกขาดอำนาจรัฐโดยพรรคการเมือง แต่อย่างใด ; นายทุนธุรกิจ – ระดับชาติ เป็นเพียงผู้เข้ามาฉวยเอาประโยชน์จาก“ระบบผูกขาดอำนาจ” ที่นายทุนธุรกิจ – ระดับท้องถิ่น ได้สร้างไว้สำหรับตนเอง

[หมายเหตุ : ในปี พ.ศ. ๒๕๔๙ในขณะที่มีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (พ.ศ. ๒๕๕๐ ที่เพิ่งผ่านมา ปรากฏว่า ได้มีกรณี “ตัวอย่าง – case”ที่น่าสนใจกรณีหนึ่ง ที่เกี่ยวกับพฤติกรรมของ eliteที่เป็นนักเลือกตั้ง ของเรา ดังนั้น เพื่อประโยชน์ในการศึกษาทางสังคมวิทยา - sociology ซึ่งนับวันแต่จะเพิ่มความสำคัญมากขึ้นใน “หลักกฎหมายของกฎหมายมหาชน” เพื่อการออกแบบ(เขียน) กฎหมาย ผู้เขียนจึงขออนุญาตบันทึกกรณีดังกล่าวไว้ในบทความนี้ด้วย

กรณีนี้ เป็นกรณีที่เกี่ยวกับพฤติกรรมของ นายทุนธุรกิจ – ระดับท้องถิ่น ที่ได้ออกมาเรียกร้องให้แก้ไขบทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่ตนเองได้เคยเขียนไว้สำหรับตนเอง แต่ในเวลาต่อมา เหตุการณ์ได้กลายเป็นว่า บทบัญญัติดังกล่าวได้ถูกนายทุนธุรกิจ – ระดับชาติได้นำไปใช้ประโยชน์ที่เป็นผลเสียแก่ตนเอง(นายทุนธุรกิจ – ระดับท้องถิ่น ; โดย มีข้อเท็จจริง ดังต่อไปนี้

ตามที่ได้กล่าวมาแล้วว่า ในการร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ. ๒๕๔๐ นั้น นายทุนธุรกิจ – ระดับท้องถิ่น ซึ่งเป็นผู้ที่อาศัย “โอกาส” จากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พ.ศ. ๒๕๓๕ ขอแก้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๓๔ นำเอา “ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมืองที่บังคับให้ ส.ส. ต้องสังกัดพรรค ฯลฯ” (ที่นักวิชาการเขียนขึ้นไว้เพื่อประโยชน์ของทหาร) มาเป็นประโยชน์แก่ตนเอง ได้เพิ่มเติม “มาตรการ” ที่ผูกมัด ส.ส.ไว้กับพรรคการเมืองให้มากขึ้นกว่าเดิม ด้วยการเพิ่มบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ (มาตรา ๑๐๗ (๔))ว่า “ผุ้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง จะต้องเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า ๙๐ วัน จึงจะมีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งได้” ทั้งนี้ เนื่องจากนายทุนท้องถิ่น(ในขณะนั้น) เกรงว่า จะมีบุคคลอื่นจะมาแย่ง ส.ส.ไปจากการสังกัดพรรคการเมืองของตน

แต่เหตุการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป เพราะหลังจากที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ บังคับใช้ในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ และนายทุนธุรกิจ (ระดับชาติ) ได้ตั้งพรรคการเมือง ในปี พ.ศ. ๒๕๔๓แล้ว ปรากฏว่า พรรคการเมืองของนายทุนระดับชาติได้ “ดูด”ส.ส.จากพรรคการเมืองของนายทุนธุรกิจ(ระดับท้องถิ่น)ไปเป็นจำนวนมาก และได้เป็น “รัฐบาล”ถึง ๒ สมัยติดต่อกัน (ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๔๔ ถึง พ.ศ. ๒๕๔๙) ; “รัฐบาล”ของพรรคการเมืองของนายทุนธุรกิจ(ระดับชาติ) จึงกลับเป็นฝ่ายที่ได้ประโยชน์ จาก “มาตรการ”นี้ และผลเสียของ “มาตรการ”นี้ ตกอยู่กับ “พรรคการเมืองของนายทุนธุรกิจ(ระดับท้องถิ่น)” ที่เป็นผู้ที่เขียนมาตรการนี้ขึ้นเอง (ใน พ.ศ. ๒๕๔๐) ; โดยพรรคการเมืองของนายทุนธุรกิจ(ระดับชาติ) ได้ใช้วิธีการ “ยุบสภา”และ “การกำหนดวันเลือกตั้ง”ให้มีการเลือกตั้งทั่วไปภายในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งเป็นการบีบบังคับมิให้ ส.ส.ในสังกัดพรรคการเมืองของตนลาออกจากพรรคและไปสังกัดพรรคการเมืองพรรคอื่น(ของนายทุนธุรกิจ – ระดับท้องถิ่น) โดยถ้าลาออกไป ก็จะไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเพราะไม่มีเวลาทันพอที่เข้าสังกัด “พรรคใหม่”ได้ครบ ๙๐ วันก่อนวันสมัครรับเลือกตั้ง ( นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้ยุบสภาทันที ใน วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙ และกำหนดวัน เลือกตั้งทั่วไป วันที่ ๒ เมษายน ๒๕๔๙ ซึ่งห่างกันเพียง ๓๖ วัน และการยุบสภาในครั้งนั้น เป็นการยุบสภาในขณะที่พรรคการเมืองของนายกรัฐมนตรี มีจำนวน ส.ส. ที่ควบคุมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรโดยเด็ดขาด คือ ๓๗๔ เสียง –จำนวนในขณะยุบสภา ต่อจำนวน ส.ส.ทั้งหมด ๕๐๐ เสียง และเป็นการยุบสภาเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้มีการอภิปรายในประเด็นที่เกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชั่นของนักการเมืองในพรรคการเมืองของนายกรัฐมนตรี ตามที่พรรคการเมืองฝ่ายค้านได้ขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจในรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลไว้ )

ด้วยเหตุนี้ ในปี พ.ศ. ๒๕๔๙ หลังจากวิกฤตการณ์ทางการเมือง ในขณะที่มีการร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบัน(พ.ศ. ๒๕๕๐) นายทุนธุรกิจ(ระดับท้องถิ่น) จีงได้หวนกลับมาเรียกร้อง (ในปี พ.ศ. ๒๕๔๙) ขอแก้ไขมาตรการ ที่ “ตนเอง”ได้เขียนไว้เอง (ในปี พ.ศ ๒๕๔๐). อีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้ผ่อนคลายระยะเวลาที่บังคับให้ ส.ส. ต้องสังกัดพรรค (ติดต่อกัน)ของ ส.ส.ก่อนการเลือกตั้ง ให้สั้นลง ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (พ.ศ. ๒๕๕๐) ก็ได้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ตามการเรียกร้องของนายทุนธุรกิจ(ระดับท้องถิ่น)ดังกล่าว โดยรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้แก้ระยะเวลาดังกล่าวให้สั้นลง คือ กำหนดให้ระยะเวลา(ที่ ส.ส.จะต้องสังกัดพรรคติดต่อกันก่อนวันสมัครรับเลือกตั้ง) ให้เหลือเพียง ๓๐ วันในกรณีที่มีการยุบสภา แทน ๙๐ วันตามที่กำหนดไว้เดิม (มาตรา ๑๐๑ (๓) )

และเป็นที่น่าสังเกตว่า แม้ในปี พ.ศ. ๒๕๕๐ นี้ นายทุนธุรกิจ (ระดับท้องถิ่น ) ก็ยังคงยืนยันและยังต้องการ “ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจ)อยู่ ทั้ง ๆ ที่ระบบนี้ ตนเอง (นายทุนธุรกิจ - ระดับท้องถิ่น ได้เคยเสียการครอง “อำนาจรัฐ” ไปให้แก่ พรรคการเมืองของนายทุนนักธุรกิจระดับชาติ ในการเลือกตั้งทั่วไป แล้ว ถึง ๒ ครั้ง ก็ตาม (?) (?) ; เพราะเหตุใด นายทุนธุรกิจ – ระดับท้องถิ่น จึง “คิด”เช่นนี้ เราจะได้พิจารณาศึกษา “พฤติกรรม”ต่อไป ในหัวข้อที่ว่าด้วย “ความผิดพลาด (ซ้ำ) ครั้งที่สาม”
]


(๓) ทำไม ความผิดพลาดในการเขียนรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ (๑๐ ปี) จึงทำความเสียหายต่อสังคมและต่อทรัพยากรของประเทศ มากกว่าความผิดพลาดของ “คณะราษฎร”ในการเขียนรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๔๗๕ (๖๕ ปี) : เท่าที่กล่าวมาข้างต้นนี้ เป็นการสรุปสภาพการเมืองของประเทศไทยในช่วงเวลา ๑๐ ปีของการเมืองไทยในระหว่าง พ.ศ. ๒๕๔๐ ถึง พ.ศ. ๒๕๔๙ อันเป็นช่วงที่สอง (ของการเมืองไทย) ต่อจากช่วงเวลาแรก ซึ่งเป็นช่วงของความผิดพลาดในการ ออกแบบรัฐธรรมนูญ โดย “คณะราษฎร” ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๕ ที่นำ ระบบรัฐสภา ในรูปแบบที่ไม่สอดคล้องกับสภาพสังคมของไทยมาใช้บังคับ โดยคณะราษฎรไม่ยอมรับอำนาจของสถาบันกษัตริย์ในช่วงระยะเวลาของการเปลี่ยนผ่านจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมาสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตย – ซึ่งแตกต่างกับประเทศที่มีกษัตริย์ในยุโรป

ในช่วงแรกของการเมืองไทย (ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๗๕ จนถึง พ.ศ. ๒๕๔๐) ผลของการผิดพลาดของคณะราษฎร์ ได้ ก่อให้เกิดการแย่ง “อำนาจรัฐ” ระหว่างบุคคล ๒ กลุ่ม คือ กลุ่มนักการเมืองที่ได้อำนาจรัฐ มาด้วยการ “การเลือกตั้ง”ที่ต้องใช้เงินลงทุน(ในสภาพของสังคมไทยที่อ่อนแอ) กับ กลุ่มนักการเมืองที่ได้อำนาจรัฐมาด้วย “การรัฐประหาร” ที่จะทำการรัฐประหารในโอกาสที่คนทั่วไปเบื่อการทุจริตคอร์รัปชั่นของนักการเมือง(ที่มาจากการเลือกตั้ง)ที่ต่อเนื่องกันมา โดยไม่มีนักการเมือง(ที่มาจากการเลือกตั้ง)คนใดเอาใจใส่ต่อการปราบปราม(การกระทำตัวเอง) ตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น

ช่วงที่สองของสภาพการเมืองไทย( ๑๐ ปี)นี้ แต่ถ้านับตั้งแต่เวลาเริ่มต้น ตั้งแต่เวลาที่ทหารได้ถอนตัวจากการเมืองใน พ.ศ. ๒๕๓๕ หลังเหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ ๒๕๓๕ ก่อนที่จะมีรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ รวมเข้าไว้ด้วย จนถึง การที่ต้องกลับมามีการรัฐประหารอีกครั้งหนึ่งโดย “คณะปฏิรูปการปกครองฯ” พ.ศ. ๒๕๔๙นี้ ก็จะเป็นเวลาประมาณ ๑๕ ปี ; ในช่วงเวลานี้ ปรากฏว่า เราได้มีการเปลี่ยนแปลง form of government ในสาระสำคัญของ ที่วงการวิชาการของเราไม่ได้สังเกตเห็น ( เพราะนักวิชาการของเราเป็นคนเขียนขึ้นเอง โดยไม่รู้ถึงความสำคัญและผลเสียของการเปลี่ยนแปลง) คือ เราได้เปลี่ยนจาก “ระบบรัฐสภา – parliamentary system”แบบเดิม ๆ ( conventional system) มาเป็นระบบเผด็จการในระบบรัฐสภา โดยพรรคการเมือง (นายทุนธุรกิจ)” ที่มีการบังคับ (ในรัฐธรรมนูญ)ให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมือง / ให้พรรคการเมืองมีอำนาจบังคับให้ ส.ส. ต้องปฏิบัติตามมติของพรรค / และจำกัดว่า นายกรัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส. เท่านั้น

ระบบเผด็จการในระบบรัฐสภา โดยพรรคการเมือง (นายทุนธุรกิจ)”ของเราเริ่มต้นจาก การผูกขาดอำนาจรัฐโดยพรรคการเมืองของกลุ่มนายทุนธุรกิจ – ระดับท้องถิ่น ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๓๕ ถึง พ.ศ. ๒๕๔๔ รวม ๙ ปี และต่อจากนั้น ก็เป็นการผูกขาดอำนาจรัฐโดยพรรคการเมืองของกลุ่มนายทุนธุรกิจ – ระดับชาติ ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๔๔ ถึง พ.ศ. ๒๕๔๙ รวม ๕ ปี ซึงผลของการบริหารประเทศในช่วงนี้ เต็มไปด้วยการทุจริตคอร์รัปชั่นและการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ ทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งโดยผิดกฎหมายและการคอร์รัปชั่นทางนโยบาย และจบลงด้วยการรัฐประหาร ในวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ [ หมายเหตุ : และขณะนี้ หลังการเลือกตั้งทั่วไป วันที่ ๒๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ (หนึ่งเดือนที่เพิ่งผ่านมา) ข้อเท็จจริง ก็ปรากฏให้เห็นแล้วว่า ประเทศไทยยังคงอยู่ใน “ระบบเผด็จการ – นายทุนธุรกิจ(ระดับชาติ)” และ ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ เนื่องมาจากความล้มเหลวของการออกแบบในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน(พ.ศ. ๒๕๕๐) ซึ่งจะได้พิจารณาต่อไป]

คำถามมีว่า ทำไม ความผิดพลาดในการเขียนรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ ซึ่งใช้บังคับเพียง ๑๐ ปี จึงมีผลเสียและ(ได้)ทำให้ประเทศไทยและคนไทยเสียหาย (ทั้งในด้านที่เป็นทรัพยากรของชาติ และในด้านสภาพและวัฒนธรรมสังคมไทย) มากกว่าความผิดพลาดของ “คณะราษฎร” ในการเขียนรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๔๗๕ ที่ใช้ “ระบบรัฐสภา”แบบเดิม ๆ ต่อเนื่องกันมาถึง ๖๕ ปี เพราะเหตุใด (?)

คำตอบอย่างง่าย ๆ และเข้าใจอย่างง่าย ๆ ก็คือ ในช่วง ๖๕ ปีแรกของการเมืองไทย เป็นเพียงช่วงของ “การไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง” (เนื่องจากการแก่งแย่งอำนาจ ระหว่าง elite สองกลุ่ม ) แต่ในช่วง ๑๐ ปีที่แล้วมา (พ.ศ. ๒๕๔๐ – ๒๕๔๙) เป็นช่วงของ “การผูกขาดอำนาจรัฐในระบบรัฐสภาโดยพรรคการเมือง – ของนักทุนธุรกิจ” (ไม่ว่าจะเป็น “นายทุนท้องถิ่น”หรือ “นายทุนระดับชาติ”) เพราะเหตุการณ์ พฤษภาทมิฬได้ทำให้ elite กลุ่มทหาร (ซึ่งเป็นปัจจัยในการถ่วงดุลอำนาจเผด็จการของกลุ่มนักธุรกิจนายทุน)ต้องยุติบทบาททางการเมือง กลุ่มนายทุนธุรกิจ เป็นกลุ่มบุคคลที่ใช้ “เงิน”ในการเลือกตั้ง(ในสภาพของสังคมไทยที่อ่อนแอ)และมีพฤติกรรมที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว ต้องการผูกขาดอำนาจรัฐไว้กับกลุ่มของตนเอง ; ระบบเผด็จการโดยกลุ่มนายทุนธุรกิจ จึงแตกต่างและมีความเลวร้าย (vice)มากกว่า ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมืองพรรคเดียว(พรรคคอมมิวนิสต์) – one party system เพราะในระบบพรรคการเมืองพรรคเดียว จะมีพรรคคอมมิวนิสต์เป็น “องค์กร”ที่ทำหน้าที่คัดสรร eliteของชาติ (ซึ่งกำหนดไว้ว่าจะต้องไม่ใช่ elite ประเภท “นายทุนธุรกิจ”) ก่อนที่ elite นั้น ๆ จะเข้ามาใช้ อำนาจในทางการเมือง ซึ่งทำให้ elite ( worker – peasant – intellectual) ที่เป็น “คนไม่ดี” ถูกคัดออกไปจากบทบาททางการเมือง

รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ ดูว่าจะเป็น รัฐธรรมนูญที่ยาวมากฉบับหนึ่ง(เมื่อเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญของประเทศต่าง ๆ โดยทั่วไป ) แต่ความยาวและความสั้นของรัฐธรรมนูญมิใช่สาระสำคัญ ; สาระสำคัญของบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ อยู่ที่ “ความจำเป็นและความเหมาะสม”ว่า สมควรจะต้องมีบทบัญญัตินั้น ๆ หรือไม่ และ อยู่ที่ “คุณภาพ” ของบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญว่า การเขียน(ออกแบบ)รัฐธรรมนูญ ทำได้ดี เพียงใด ; เช่น ถ้าหากประเทศไทยเป็นประเทศที่มี “ความพิกลพิการ”ใน(กฎหมาย)ระบบบริหารพื้นฐานของประเทศ (ซึ่งความจริงก็เป็นเช่นนี้ ) รัฐธรรมนูญของไทยก็คงจะต้องเขียนยาว ทั้งนี้ เพื่อเสริมสร้างหรือนำทางให้แก่ การพัฒนา “กฎหมาย”ที่เป็นระบบบริหารพื้นฐานของประเทศ เป็นต้น

ปัญหาการเขียน(ออกแบบ)รัฐธรรมนูญของไทย จึงอยู่ที่ “คุณภาพ”ของบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มากกว่า จะพิจารณาถึงความยาวความสั้นของรัฐธรรมนูญ ; และ “คุณภาพของบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ” ขึ้นอยู่กับ คุณภาพและพฤติกรรมของ “คน” ซึ่งเป็น elite ของสังคม ที่เขียนรัฐธรรมนูญ

จากเหตุการณ์ที่ผ่านมา elite ของสังคมไทยได้แสดงตนและพิสูจน์ตนเองให้เห็นได้ ว่า elite ของเรา มีพฤติกรรม(ในทางสังคมวิทยา)ที่เห็นแก่ตัว และไม่มี “ความรู้”พอที่จะเขียน(ออกแบบ)รัฐธรรมนูญที่ดี ได้ ; และ elite เหล่านี้นี่เอง ได้ชักนำให้คนไทยเข้าใจผิดใน “หลักการ” และ “กลไก”ในระบอบประชาธิปไตย จนถึงขั้น ที่ทำให้คนไทยยอมรับว่า “ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมือง (นายทุนธุรกิจ)” ว่าเป็นระบอบประชาธิปไตย ทั้ง ๆ ที่ ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในโลก ที่มีรัฐธรรมนูญเช่นนี้

รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ ได้ผิดพลาดใน “ส่วน(สำคัญที่สุด)” ของรัฐธรรมนูญ คือผิดพลาดใน “ส่วน”ที่กำหนด “รูปแบบการปกครอง – form of government” ; ผู้เขียนได้เคยเรียนให้ท่านผู้อ่านทราบในบทความนี้ (ตั้งแต่ตอนที่ว่าด้วย การวิเคราะห์ คำชี้แจงสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญฯ ของสภาร่างรัฐธรรมนูญ ชุด พ.ศ. ๒๕๕๐) แล้วว่า บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญสามารถแยกออกได้เป็นส่วน ๆ (เช่น บทบัญญัติว่าด้วยประมุขของรัฐ / บทบัญญัติทั่วไปว่าด้วยสิทธิเสรีภาพ / บทบัญญัติว่าด้วยการปกครองส่วนท้องถิ่น / ฯลฯ) และบทบัญญัติส่วนที่สำคัญที่สุด ก็คือ ส่วนที่ว่าด้วย “ระบบสถาบันการเมือง” หรือ “form of government” เพราะเป็นส่วนที่ ว่าด้วย สถาบันการเมืองสูงสุด ที่ใช้ “อำนาจรัฐ” ; หากมีความผิดพลาดในส่วนที่เป็นระบบสถาบันการเมืองนี้แล้ว บทบัญญัติส่วนอื่นของรัฐธรรมนูญก็จะมีความไม่แน่นอน (ไม่ว่าจะเขียนดีหรือไม่ดี มีคุณภาพหรือไม่มีคุณภาพ) เพราะสถาบันการเมืองเป็นองค์กรที่มีอำนาจสูงสุดที่สามารถแทรกแซงองค์กรต่าง ๆตามรัฐธรรมนูญได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม และมีอำนาจแม้แต่จะแก้ไขตัวบทรัฐธรรมนูญนั้นเอง


“คำพังเพย - แมวกับปลาย่าง ” กับ ความเป็นจริง – reality ที่เกิดขึ้น : ผู้เขียนไม่เห็นด้วยกับการเขียน(ออกแบบ)รัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร ที่เอา “อำนาจรัฐ”ไปขึ้นอยู่กับจำนวน “เสียงข้างมาก”ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ; เราทราบอยู่แล้วว่า ในระบบรัฐสภานั้น เมื่อพรรคการเมืองใดคุมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร พรรคการเมืองนั้นก็จะได้เป็นรัฐบาลด้วย และนอกจากนั้น รัฐธรรมนูญของเราก็ยังมีบทบัญญัติกำหนดไว้ด้วยว่านายกรัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส. (เท่านั้น) (ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญประเทศเดียวในโลก) ; ดังนั้น การบังคับให้ ส.ส. ต้องสังกัดพรรคการเมือง ในระบบรัฐสภา จึงเป็นการเอาอำนาจรัฐทั้งฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ ไปขึ้นอยู่กับ “ พรรคการเมือง”ของนายทุนธุรกิจที่ลงทุนตั้งพรรคการเมือง ที่ได้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ; การมีบทบัญญัติเช่นนี้ เปรียบเสมือน เป็นการเอาปลาย่างไปวางไว้ในกลุ่มแมว (นายทุนนักธุรกิจ) แล้วออก “กฎ”ห้ามไม่ให้แมวมากินปลาย่าง ด้วยการเขียนรัฐธรรมนูญ สร้างองค์กรต่าง ๆ ขึ้นมากมาย เพื่อคอยจับแมว ไม่ให้แมวมากินปลาย่าง

ผู้เขียนเห็นว่า การเขียนกฎหมายที่ขัดแย้งกับ “พฤติกรรม”ตามธรรมชาติของคน(มนุษย์) ดูจะเป็น “ความไม่ฉลาด”ของนักกฎหมายมหาชน (ของเรา)หรือนักกฎหมายที่ชอบอ้างตนเองว่าเป็นนักกฎหมายมหาชน(ของเรา) ; การที่แมวมากินปลาย่าง คงไม่ใช่ “ความผิด”ของแมว เพราะเป็นพฤติกรรมตามธรรมชาติของแมวที่ชอบกินปลาย่าง แต่เป็นความผิดของคน ที่เอา “ปลาย่าง”มาวาง

กฎหมายไม่สามารถเอาชนะพฤติกรรมตามธรรมชาติของคน(มนุษย์)ได้ และตราบใดที่ยังวาง “ปลาย่าง”ไว้ ตราบนั้นแมวก็ต้องแย่งกันเข้ามากิน องค์กรต่าง ๆ จะไล่จับอย่างไรก็ไม่หมดและไม่รู้จักจบสิ้น (และเผลอ ๆ บางที เจ้าหน้าที่ที่มี “หน้าที่”ไล่จับแมว ก็อาจจะช่วยกินปลาย่างไปกับแมวด้วย) ; ไม่มีประเทศใดในโลกที่เขียนรัฐธรรมนูญ ด้วย “ความไม่ฉลาด” เหมือนนักวิชาการของประเทศไทย ; สิ่งที่นักกฎหมายมหาชนจะต้องทำ ก็คือ ต้องทำให้ “ปลาย่าง”ไม่ให้เป็นปลาย่าง นั่นก็คือ ต้องเขียน(ออกแบบ)รัฐธรรมนูญไม่ให้เกิด “การผูกขาดอำนาจรัฐ โดย พรรคการเมือง” ที่นายทุนธุรกิจจะอาศัยระบบการบังคับให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรค ฯลฯ ประกอบกับอาศัยการเลือกตั้งที่ใช้เงินและอิทธิพลทางการเงิน (ในสภาพที่สังคมไทยอ่อนแอ) มา เป็นเครื่องมือในการเข้ามาผูกขาดอำนาจรัฐ


และ ก็ดูจะเป็น “ความไม่ฉลาด”ของรัฐบาล (ชั่วคราว)ของเรา อีกเช่นเดียวกัน ที่”รัฐบาล”ของเราจะคาดหวังว่า ผู้มีสิทธิออกเสียง(ที่ยากจน) ส่วนมากของเรา จะไม่รับเงินซื้อเสียงหรือไม่รับประโยชน์จากนายทุนธุรกิจ ด้วยการที่รัฐบาลออกมาโฆษณาประชาสัมพันธ์ ให้ประชาชนไปเลือก “คนดี” ด้วยการติดตั้งป้ายโฆษณาขนาดใหญ่และด้วยการร้องเพลง (ทั้งเพลงสากล – เพลงลูกทุ่ง – และลิเก) ในเมื่อตามความเป็นจริง (reality)ตามธรรมชาติของคนเรา “ผู้มีสิทธิออกเสียง”เหล่านั้น ต้องการสิ่งที่จำเป็นแก่การดำรงชีวิตประจำวันและเป็นสิ่งที่ใกล้ตัว ไม่ใช่ต้องการ “ประโยชน์ส่วนรวม”ด้วยการเลือกคนดี ที่มองไม่เห็นว่า ประโยชน์จะมาถึงตนเองเมื่อใด

ภารกิจของ “รัฐบาล” มิใช่อยู่ที่การตั้งเป้าหมายว่า ถ้าประชาชนออกมาใช้สิทธิออกเสียง มาก ๆ ถึง ๖๐ – ๗๐ เปอร์เซ็นต์แล้ว ถือว่า เป็นผลสำเร็จของการเป็น“รัฐบาล”เพื่อความเป็นประชาธิปไตย แต่ความสำเร็จของรัฐบาล อยู่ที่การทำงานแก้ไข “ปัญหาของประเทศ”


ผู้เขียนมีความเห็นว่า ถ้าตราบใดที่ชนชั้นนำ – elite ของสังคมไทย ยังมีคุณภาพ (พฤติกรรม)และความรู้ ดังเช่นที่ปรากฏจากการร่างรัฐธรรมนูญ ในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ตราบนั้น ประเทศไทยก็ไม่สามารถดำรงอยู่ได้ในโลกของการแข่งขันในยุคโลกาภิวัตน์ และ ถ้าเรา(คนไทย)ไม่สามารถแสวงหา “รูปแบบการปกครอง – form of government”ในระบอบประชาธิปไตย ที่เหมาะสมกับสภาพสังคมไทยและเป็นระบอบที่มีประสิทธิภาพได้ ประเทศไทยก็เป็นประเทศที่ “ไร้อนาคต” ต่อไปนี้ ผู้เขียนคิดว่า เราลองมาศึกษา ดูการร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๕๐ ที่จัดทำโดย “คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ที่ทำการรัฐประหารเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ เพื่อตรวจดูว่า หลังจากเวลาได้ผ่านไปแล้ว ๑๐ ปี (นับจากการร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐) พฤติกรรม(คุณภาพ)และความรู้ของ ชนชั้นนำ – elite ของเรา ได้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นหรือไม่เพียงใด
กำลังโหลดความคิดเห็น