xs
xsm
sm
md
lg

ผลวิจัยชี้กลิ่นบำบัดอาจแค่อุปทานแปะก๊วยไม่ช่วยป้องกันอัลไซเมอร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การเหยาะน้ำมันหอมราคาแพงลงในอ่างอาบน้ำอาจช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายอารมณ์มากขึ้น แต่ผลวิจัยล่าสุดระบุผลิตภัณฑ์สุคนธบำบัดไม่ได้ช่วยอะไรต่อสุขภาพมากนัก เช่นเดียวกับใบแปะก๊วยที่เชื่อกันว่าช่วยลดความเสี่ยงโรคสมองเสื่อม

บริษัทสุขภาพและความงามทำรายได้มหาศาลจากผลิตภัณฑ์สุคนธบำบัด อย่างไรก็ดี ไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยืนยันว่า กลิ่นหอมเหล่านั้นส่งผลดีต่อสุขภาพแต่อย่างใด

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโอไฮโอ สหรัฐฯ ตัดสินใจทดสอบคุณสมบัติการบรรเทาความเครียดและการบำบัดของกลิ่นลาเวนเดอร์และมะนาว ซึ่งเป็นกลิ่นที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในบรรดาผลิตภัณฑ์สุคนธบำบัดทั้งหมด และพบว่าในบางกรณี น้ำกลั่นกลับมีประสิทธิภาพในเรื่องดังกล่าวดีกว่าลาเวนเดอร์เสียอีก

ในการทดสอบผลจากกลิ่น นักวิจัยนำสำลีชุบน้ำมันหอมระเหยและชุบน้ำกลั่นไปติดไว้ที่รูจมูกของอาสาสมัครสุขภาพดี 56 คน ระหว่างการทดลอง 3 ช่วงๆ ละครึ่งวัน

เพื่อพิสูจน์ว่ากลิ่นช่วยจัดการการตอบสนองความเจ็บปวดได้จริงหรือไม่ นักวิจัยขอให้อาสาสมัครแช่เท้าในอ่างน้ำเย็น และเพื่อดูว่ากลิ่นมีฤทธิ์ในการบำบัดหรือไม่ นักวิจัยทำการทดสอบมาตรฐานด้วยการติดเทปลงบนผิวหนังกลุ่มตัวอย่างและดึงออกซ้ำๆ หลายครั้ง

สำหรับการทดสอบผลต่ออารมณ์ อาสาสมัครถูกขอให้ทำการทดสอบมาตรฐานทางจิตวิทยา 3 การทดสอบระหว่างแต่ละช่วง นอกจากนั้น นักวิจัยยังเก็บตัวอย่างเลือดของอาสาสมัครและวัดความดันโลหิตและอัตราการเต้นของหัวใจเพื่อทดสอบผลต่อการบำบัดความเครียด โดยก่อนการทดสอบทั้งหมดนี้จะมีการตรวจว่าอาสาสมัครทั้งหมดมีประสาทรับรู้กลิ่นเป็นปกติหรือไม่

นักวิจัยพบว่า ทั้งกลิ่นลาเวนเดอร์และมะนาวไม่ส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย หรือความสามารถในการระงับความเจ็บปวดหรือความเครียดแต่อย่างใด กระนั้น กลิ่นมะนาวช่วยทำให้อารมณ์ปลอดโปร่งขึ้น

อย่างไรก็ดี วิลเลียม มาลาร์กี ศาสตราจารย์ภาควิชาอายุรศาสตร์ มหาวิทยาลัยโอไฮโอ ผู้ร่วมจัดทำรายงานฉบับนี้ กล่าวว่าแม้ไม่มีหลักฐานยืนยันว่ากลิ่นบำบัดดีต่อสุขภาพ แต่ถ้าผู้ใช้ใช้แล้วรู้สึกดีก็ไม่มีเหตุผลที่จะห้ามกัน

ขณะเดียวกัน นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโอเรกอน สหรัฐฯ ได้ทำการตรวจสอบประสิทธิภาพของใบแปะก๊วยที่เชื่อกันว่า ช่วยป้องกันความเสี่ยงโรคอัลไซเมอร์และช่วยให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น

ในการทดลอง นักวิจัยสังเกตผลลัพธ์จากกลุ่มตัวอย่างชาย-หญิง 118 คน ที่อายุ 85 ปีขึ้นไป โดยครึ่งหนึ่งได้รับแปะก๊วยสกัดวันละ 3 เม็ด อีกครึ่งได้ยาปลอมในปริมาณเท่ากัน

ระหว่างการทดลองนานสามปี กลุ่มตัวอย่าง 7 คนที่กินแปะก๊วยป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมอง แต่กลุ่มที่กินยาปลอมไม่มีใครป่วยเป็นโรคนี้

ดร.ฮิโรโกะ ด็อดจ์ ผู้จัดทำรายงาน กล่าวว่าก่อนหน้านี้เคยมีการศึกษาพบว่า แปะก๊วยเป็นสาเหตุของอาการแทรกซ้อนที่ทำให้เลือดออก แต่ในการทดลองนี้ โรคหลอดเลือดสมองเกิดจากเส้นเลือดอุดตัน และไม่ถึงขั้นรุนแรง

นักวิจัยยังพบว่ากลุ่มตัวอย่าง 21 คนมีปัญหาความจำที่จัดอยู่ในประเภทโรคจิตเสื่อม ในจำนวนนี้เป็นกลุ่มที่กินยาปลอม 14 คน อีก 7 คนกินแปะก๊วยเม็ด

อย่างไรก็ตาม เมื่อทำการทดสอบว่าอาสาสมัครลืมกินยาหรือไม่ นักวิจัยพบว่าคนที่ปฏิบัติตามคำแนะนำเคร่งครัดที่สุดมีแนวโน้มมีปัญหาความจำน้อยกว่าคนอื่นๆ 68% ซึ่งเรื่องนี้ดร.ด็อดจ์ยอมรับว่า ไม่รู้แน่ว่าเป็นความบังเอิญหรือไม่ และจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมกับกลุ่มตัวอย่างจำนวนมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันมีการกินแปะก๊วยกันมากเพราะหาซื้อง่ายและราคาถูก จึงควรศึกษาให้รู้ชัดว่าสมุนไพรจีนชนิดนี้ช่วยป้องกันความถดถอยของความจำและปลอดภัยหรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น