xs
xsm
sm
md
lg

คาเฟ่เทรนด์ใหม่ลอกลายมังงะ ’เซ็กซี่’ จับกลุ่มสาวหลงใหลการ์ตูนชายรักชาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ที่โรงเรียนประจำอิเดลสไตน์ นักเรียนชายทาลิปกรอส ส่วนคุณครูใหญ่มีบุคลิกที่ทำให้คิดถึงตัวละครในหนังสือการ์ตูนโฮโมอิโรติกของญี่ปุ่น และวิชาเดียวของโรงเรียนนี้คือ วิธีบริการแขกผู้หญิง

ขอต้อนรับสู่บอยสกูล คาเฟ่แห่งแรกของโตเกียว ซึ่งถือเป็นกระแสล่าสุดในวัฒนธรรมการกินอาหารนอกบ้านของญี่ปุ่น ที่ซึ่งบริกรถอดแบบมาจากตัวละครในมังงะ หรือการ์ตูนแบบฉบับแดนซากุระ

ด้วยธีมโรงเรียนชาย บริกรที่ตัดแต่งเล็บมาอย่างเนี้ยบและเสียงนุ่มนิ่มราวเด็กสาวจะสมมติตัวเองเป็นนักเรียนวัยรุ่น พูดคุยและพะเน้าเอาใจลูกค้าหญิงแต่งตัวดีที่อุปมาตัวเป็นผู้อุปการะมาเยี่ยมชมโรงเรียน

“ลูกค้าส่วนใหญ่ของเราเป็นผู้หญิงทำงานอายุประมาณ 20-30 กว่าๆ เป็นผู้หญิงปกติที่ช่างแต่งตัวตามแฟชั่น” เอมิโกะ ซาคามากิ ผู้จัดการวัย 27 ปีของอิเดลสไตน์

อิเดลสไตน์ถือกำเนิดจากหนึ่งในหนังสือการ์ตูนเล่มโปรดของซาคามากิที่เป็นเรื่องราวรักๆ ใคร่ๆ ในโรงเรียนแห่งหนึ่งของเมืองเบียร์ และเขียนขึ้นตั้งแต่ทศวรรษ 1970

สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันของลูกค้าของอิเดลสไตน์คือ ความหลงใหลใน ‘บอย-เลิฟ มังงะ’ หรือการ์ตูนเกี่ยวกับความรักระหว่างเด็กผู้ชายด้วยกันที่เขียนขึ้นมาให้ผู้หญิงอ่าน และกำลังย้อนยุคกลับมาได้รับความนิยมใหม่อีกครั้งในญี่ปุ่น

ตัวละครส่วนใหญ่ในบอย-เลิฟ มังงะจะเป็นเด็กผู้ชายที่ท่าทางกระเดียดไปทางผู้หญิงและช่างฝัน ความงามในอุดมคติแบบนี้เองที่เป็นเกณฑ์ที่ซาคามากิใช้คัดเลือกพนักงานเสิร์ฟ ซึ่งมีหน้าที่คุยเล่นเรื่องการบ้านและการเรียนที่ไม่มีจริงในอิเดลสไตน์

“ผมอยู่ชมรมจัดดอกไม้” บริกรผมยาวกระซิบกระซาบด้วยน้ำเสียงอ่อนหวาน ก่อนช้อนสายตาขึ้นมาจากหนังสือรวมบทกวีเยอรมัน

คาเฟ่จัดฉากสำหรับลูกค้าชายได้รับความนิยมแพร่หลายในญี่ปุ่นมาได้พักใหญ่ โดยส่วนมากพนักงานเสิร์ฟสาวๆ จะแต่งตัวเป็นแม่บ้านฝรั่งเศส เน้นจับกลุ่มเป้าหมาย ‘โอตากุ’ หรือพวกที่คลั่งไคล้หนังสือการ์ตูนหรือหนังการ์ตูน

หนึ่งในเหตุผลที่ทำให้คาเฟ่ที่หยิบยืมคาแรกเตอร์มาจากการ์ตูนหรือสร้างรูปแบบเฉพาะของตัวเองขึ้นมา สามารถแจ้งเกิดอย่างสวยงามในญี่ปุ่นคือ คาเฟ่เหล่านี้เปิดโอกาสให้ลูกค้าหลุดพ้นจากการควบคุมของสังคม และบรรทัดฐานเคร่งครัดในชีวิตประจำวันแม้เพียงช่วงสั้นๆ ก็ตาม

มีเดีย ครีเอต บริษัทวิจัยอุตสาหกรรมบันเทิง เผยว่าตลาดโอตากุ ตั้งแต่ภาพยนตร์และหนังสือการ์ตูนไปจนถึงเกมคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์เสริมจิปาถะ มีมูลค่าถึง 187,000 ล้านเยน (1,730 ล้านดอลลาร์) ในปี 2007

และเมื่อไม่นานมานี้ นักธุรกิจได้ค้นพบผู้บริโภคกลุ่มใหม่ที่มีรูปแบบการใช้จ่ายอย่างเสรี นั่นคือโอตากุหญิงที่ส่วนใหญ่มักหน้าตาดี ทันสมัย และช่างสังคมมากกว่าโอตากุชาย

หนึ่งในลักษณะที่ชัดเจนของโอตากุหญิงก็คือ ความนิยมชมชอบในหนังสือการ์ตูน โดยเฉพาะบอย-เลิฟ มังงะ

“มีเหตุผลสองข้อที่อธิบายได้ว่า ทำไมที่นี่ถึงฮิต ข้อแรก บรรยากาศของคาเฟ่แบบนี้ไม่เคยมีมาก่อนในโตเกียว และข้อสองคือ ปัจจุบันมีผู้หญิงมากมายที่ชอบหนังสือและหนังการ์ตูน” ซาคามากิ ที่เป็นต้นคิด ‘บัตเลอร์ คาเฟ่’ แห่งแรกของโตเกียวด้วยเช่นกัน บอก

นิตยสารยูเรการายงานว่า แต่ละเดือนจะมีบอย-เลิฟ มังงะและนิตยสารชายรักชายออกวางแผงราว 150 เล่ม โดยผู้รู้แนะนำว่า พวกขี้ตกใจไม่ควรเปิดอ่านหนังสือเหล่านี้เด็ดขาด

เพราะบอย-เลิฟ มังงะสมัยใหม่ เช่น ‘ออล อะเบาต์ เจ’ และ ‘ดอนต์ เซย์ เอนีมอร์, ดาร์ลิง’ มักมีฉากการมีเพศสัมพันธ์ดุเด็ดเผ็ดมันจนถึงขั้นรุนแรงวิปริต ซึ่งซาคามากิมองว่า เป็นรูปแบบหนึ่งของลัทธิการหลีกหนีความจริง

“คนแบบในมังงะไม่มีตัวตน จะมีก็แต่ในการ์ตูนเท่านั้น” ซาคามากิหมายถึงทั้งมังงะและบรรยากาศที่เธอเองพยายามสร้างขึ้นในอิเดลสไตน์

“เด็กผู้ชายในการ์ตูนชายรักชายมักหน้าตาอ่อนหวานแต่เปราะบางและอยู่ในสภาวะเฉียดใกล้ความตาย ซึ่งทำให้ภาพของเขาดูงดงามยิ่งขึ้น”

คันตะ อิชิดะ นักข่าวผู้เชี่ยวชาญเรื่องมังงะ เขียนคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์โยมิอุริชิมบุงเมื่อไม่นานมานี้ว่า การ์ตูนชายรักชายนำเสนอทางเลือกสำหรับบทบาททางเพศในญี่ปุ่น และสะท้อนถึงการไขว่คว้าหาความสัมพันธ์กับบทบาทที่สามารถสลับกันได้ จึงเป็นอิสระจากกรอบตายตัวเรื่องเพศ

“ฉันเคยไปอิเดลสไตน์กับเพื่อน เราคุยกับพนักงานเสิร์ฟและคุยกันเองถึงสิ่งต่างๆ ที่น่ารักน่ามอง“ คานะ ซาโตมิ วัย 28 ปี ผู้ช่วยในแกลอรีของแบรนด์แฟชั่นแห่งหนึ่ง เล่า

ตรงข้ามกับโอตากุชายที่มักสงบปากสงบคำ

ทาเคชิ คูโดะ บรรณาธิการนิตยสารวัย 30 ปี สำทับว่าโอตากุชายกลายเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ที่วันนี้เริ่มอิ่มตัวอย่างชัดเจน ดังนั้น บริษัทการตลาดจึงต้องหาเป้าหมายใหม่ และตลาดใหม่ที่ว่าก็คือโอตากุหญิงที่มีทีท่าว่าจะมีมูลค่าไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

แต่สำหรับซาคามากิ ผู้จัดการสกูลบอย คาเฟ่ ที่โหนกระแสนี้นำโด่ง เริ่มมองการณ์ไกลถึงเป้าหมายต่อไป นั่นคือคาเฟ่ย้อนยุคสมัยทศวรรษ 1920 ซึ่งน่าจะสอดรับกันพอดีกับกระแสหลักในหมู่หนุ่มสาวญี่ปุ่นขณะนี้คือ การหวนหาอดีตของญี่ปุ่นสมัยก่อนสงคราม
กำลังโหลดความคิดเห็น