xs
xsm
sm
md
lg

กกต.ค้านแก้ไขรธน.ที่มาส.ว. แนะให้ลองทำงานไปก่อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายประพันธ์ นัยโกวิท กกต.ด้านบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวถึงกรณี นายสมชัย จึงประเสริฐ กกต.ด้านสืบสวนสอบสวน และวินิจฉัย เห็นควรให้แก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนที่มาของ ส.ว. ว่า เมื่อครั้งที่มีการยกร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับที่มาของ ส.ว. ทางกกต.ได้เสนอว่าควรมี ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด แต่เมื่อเข้าสู่กรรมาธิการก็มีคนแปรญัตติว่า ควรมาจากการสรรหาด้วย ซึ่งก็มีคนมองว่า ส.ว.สรรหาควรมีเพียง 1 ใน 3 ของจำนวนเท่านั้น ที่เหลือให้มาจากการเลือกตั้งตามจำนวนประชากร แต่ก็มีคนแย้งว่า หากเป็นเช่นนั้น ส.ว.สรรหาก็จะเป็นเพียงไม้ประดับ สุดท้ายเมื่อลงมติ กกต.ก็แพ้โหวตในสภา ทำให้มี ส.ว.สรรหา 74 คน และส.ว.จากการเลือกตั้ง 76 คน โดยโหวตแพ้เพียง 1 คะแนน
อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวคิดว่ายังไม่ควรแก้กฎหมายตรงนี้ เพราะอยากให้ส.ว.ทั้งสองระบบทำงานไปก่อน อย่าติเรือทั้งโกลน และคิดว่าน่าจะรอดูสักหนึ่งปี เราก็น่าจะเห็นว่าใครทำงานมากกว่ากัน ไม่แน่ว่า ส.ว.สรรหาอาจจะทำงานได้ดีกว่าก็ได้ เมื่อถึงเวลานั้นก็ค่อยมาคุยกันอีกที
ด้านนายสุเมธ อุปนิสากร กกต. ด้านการมีส่วนร่วม ให้สัมภาษณ์ทางสถานีวิทยุ 101 ถึงจำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ว.ล่วงหน้าน้อยมาก ว่า การที่ประชาชนออกมาใช้สิทธิน้อยนั้น ตนมองว่าเป็นเรื่องจิตสำนึกและความรับผิดชอบที่ประชาชนส่วนใหญ่อาจจะมีน้อยอยู่ เพราะตราบใดที่ประชาชนยังไม่เข้าใจในระบอบการเมืองการปกครองอย่างแท้จริง ก็คงจะมียอดมาใช้สิทธิน้อยเช่นนี้
ทั้งนี้ ยอมรับว่า การประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจถึงอำนาจหน้าที่ของ ส.ว.ไม่สามารถทำได้ภายใน 1-2 วัน หรือใช้เวลาเพียงเดือนเดียว แต่เห็นว่าควรกำหนดหลักสูตรการเมืองการปกครองและอำนาจหน้าที่ของ ส.ว.ไว้ในหลักสูตรการศึกษา เพื่อให้ประชาชนได้เรียนรู้หน้าที่ของ ส.ว.ตั้งแต่เด็ก ๆ อย่างไรก็ตามในช่วงที่ผ่านมา กกต.ก็ได้กำชับ ผอ.กต.จังหวัดทุกจังหวัด รณรงค์ให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิแบบเคาะประตูบ้านอยู่แล้ว แต่ก็ยอมรับว่า คงทำได้ยาก
"ผมเห็นว่าการ ที่กฎหมายรัฐธรรมนูญเขียนเอาไว้ให้ทุกจังหวัดมี ส.ว.แบบเลือกตั้งเพียงคนคนเท่ากันนั้นไม่สัมพันธ์กับความเป็นจริง ซึ่งเป็นไปไม่ได้ว่า จังหวัดที่มีประชากร 10 ล้านคนอย่างกรุงเทพฯ จะต้องมีหนึ่งคนเท่ากับจ.ระนอง ที่มีประชากรไม่มาก ดังนั้นประเด็นนี้จึงถือได้ว่าการได้มาซึ่ง ส.ว.ไม่สัมพันธ์กับพื้นที่ ซึ่งส่วนตัวเห็นว่าการที่รัฐธรรมนูญกำหนดเช่นนี้เป็นปัญหา ส่วนจะแก้ไขหรือไม่ก็แล้วแต่ประชาชน"
นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ กกต. กล่าวถึงผลการใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ว. ล่วงหน้าเมื่อวันที่ 23-24 ก.พ. 51 ณ ที่เลือกตั้งกลางนอกเขตจังหวัด และการใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าในเขตเลือกตั้ง ทั้ง 2 แบบ รวมกัน จำนวน 1,226,170 คน
ทั้งนี้มีผู้มาขอใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ว. ณ ที่เลือกตั้งกลางนอกเขตจังหวัด จำนวน 552,277 คน คิดเป็น 26.42 % จากผู้ที่ขอลงทะเบียนใช้สิทธินอกเขตจังหวัด ทั้งสิ้น 2,090,319 คน โดยกรุงเทพมหานคร มีผู้มาใช้สิทธิมากที่สุด จำนวน 257,925 คน และ จ.อำนาจเจริญ มีผู้มาใช้สิทธิน้อยที่สุด จำนวน 372 คน
ในส่วนของการใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าในเขตเลือกตั้งมีผู้มาขอใช้สิทธิ จำนวน 673,893 คน โดยกรุงเทพมหานคร มีผู้มาใช้สิทธิมากที่สุด จำนวน 88,632 คน และจ.นครนายก มีผู้มาใช้สิทธิน้อยที่สุด จำนวน 2,554 คน
สำหรับผู้ที่ลงทะเบียนขอใช้สิทธินอกเขตจังหวัดไว้ตั้งแต่การเลือกตั้ง ส.ส.ที่ผ่านมา และการเลือกตั้ง ส.ว. ครั้งนี้ หากไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าในวันที่ 23-24 ก.พ. จะหมดสิทธิกลับไปใช้สิทธิตามทะเบียนบ้านในวันที่ 2 มี.ค. ดังนั้นจะต้องดำเนินการแจ้งเหตุที่ไม่สามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ไม่เช่นนั้นจะต้องเสียสิทธิทางการเมือง 3 ประการ ทั้งนี้ สามารถแจ้งได้ด้วยตนเองหรือมอบให้ผู้อื่นแจ้งแทน หรือจะแจ้งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนก็ได้ โดยส่งไปที่อำเภอ หรือสำนักงานเขตที่ท่านมีทะเบียนบ้าน ภายในวันที่ 9 มี.ค. นี้

** "สภาลูกจ้าง"ร้องค้านสรรหาส.ว.
นายอินชวน ขันคำ เลขาธิการสภาองค์การลูกจ้าง สภาศูนย์กลางแรงงานแห่งประเทศไทย ได้เข้ายื่นหนังสือร้องคัดค้านการพิจารณาสรรหา ส.ว. ของกรรมการสรรหาว่า สภาองค์การลูกจ้างรวม 7 แห่ง ที่มีสมาชิกกว่า 2.5 แสนคน มีมติเป็นเอกฉันท์ว่า การสรรหา ส.ว. ทั้ง 74 คน จาก 5 ภาค ไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ เนื่องจากผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อจากองค์กรต่างๆ ไม่ได้เป็นบุคคลที่อยู่ในองค์กร หรือเกี่ยวของกับองค์กรดังกล่าว ทั้งที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 114 ระบุชัด ให้องค์กรที่เสนอชื่อกับบุคคลที่ถูกเสนอชื่อ ต้องมีส่วนสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันอย่างชัดเจน แต่กลับปรากฏว่า สภาอุสาหกรรม หอการค้าไทย หรือสภาองค์การนายจ้าง ที่ได้เสนอชื่อผู้เข้ารับการสรรหาก็กลับเป็นนักธุรกิจ ไม่เว้นแม้แต่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ที่ เสนอชื่อบุคคลเข้ารับกาสรรหาในสัดส่วนภาครัฐ ผู้ที่ได้รับการสรรหา ก็ยังมีอาชีพนักธุรกิจ จึงเห็นว่า ผลการสรรหา ส.ว. ไม่ตรงกับเจตนารมณ์ มาตรา 144 ของรัฐธรรมนูญ จึงขอให้กรรมการสรรหา เปิดข้อมูลในการพิจารณาสรรหาบุคคลเป็น ส.ว. ทั้ง 5 ภาค และส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
นอกจากนี้ในส่วนของสภาองค์การลูกจ้าง สภาศูนย์กลางแรงงานแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นภาคเอกชนก็ได้เสนอชื่อ นายบรรจง บุญรัตน์ เป็นตัวแทนของผู้ใช้แรงงานภาคเอกชน เป็น ส.ว. แต่นายบรรจง กลับไม่ได้รับการสรรหา จึงขอคัดค้านการสรรหา ส.ว. ที่ได้ตัดสิทธิการมีตัวแทนของผู้ใช้แรงงานภาคเอกชนที่จะเป็นสมาชิกวุฒิสภาและขอให้เปิดเผยกระบวนการสรรหา ส.ว. ทั้งระบบ รวมทั้งข้อมูลคะแนนของนายบรรจง ว่าได้คะแนนหรือไม่อย่างไร
กำลังโหลดความคิดเห็น