xs
xsm
sm
md
lg

ผลวิจัยชี้อากาศเชียงใหม่เลวกระทบสุขภาพ จี้คพ.เข้มงวด-กำหนดเกณฑ์มาตรฐานคุมใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ – มช.ระดมนักวิชาการและนักวิจัย บูรณาการการทำงานเดินหน้าวิจัย “โครงการนำร่องพัฒนาระบบเฝ้าระวังคุณภาพอากาศในแอ่งเชียงใหม่-ลำพูน” โดย สกว.สนับสนุนงบประมาณ เพื่อ วิจัยพัฒนาองค์ความรู้ป้องกันแก้ไขปัญหาหมอกควันและคุณภาพอากาศอย่างยั่งยืน ขณะที่นักวิจัยเผยผลวิจัยเบื้องต้นระบุชัด คุณภาพอากาศเชียงใหม่ส่งผลกระทบสุขภาพประชาชน แนะคพ. ปรับปรุงเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพอากาศให้มีความเข้มงวดมากขึ้น และควรกำหนดเกณฑ์มาตรฐานเฉพาะแต่ละพื้นที่

เมื่อเร็วๆนี้ ศาสตราจารย์พงษ์ศักดิ์ อังกสิทธิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เป็นประธานแถลงข่าวในหัวข้อ “อากาศสดใส ด้วยงานวิจัย มช.” เกี่ยวกับการระดมนักวิชาการและนักวิจัยจากทุกหน่วยงานของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ในการศึกษาวิจัยเพื่อร่วมมือกันป้องกันแก้ไขปัญหาหมอกควันในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และภาคเหนือตอนบน

การวิจัยดังกล่าวนี้เป็นชุดโครงการวิจัยตาม “โครงการนำร่องพัฒนาระบบเฝ้าระวังคุณภาพอากาศในแอ่งเชียงใหม่-ลำพูน” ซึ่งได้รับสนับสนุนทุนวิจัย จำนวน 4.7 ล้านบาท จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยแห่งชาติ (สกว.) ในการดำเนินการ มีพื้นที่ดำเนินการในพื้นที่อำเภอเมืองเชียงใหม่ ลำพูน และพื้นที่ใกล้เคียง กำหนดระยะเวลาดำเนินการ 6 เดือน ระหว่าง 1 ธันวาคม 2550-31 พฤษภาคม 2551

ทั้งนี้ งานวิจัยตามโครงการนี้จะประกอบไปด้วยโครงการต่างๆ ได้แก่ การจัดตั้งศูนย์ประสานและเตือนภัยคุณภาพอากาศภาคเหนือ การวิเคราะห์สภาพอากาศและการเฝ้าระวังการเกิดมลพิษอากาศ การพัฒนาชุดความรู้ด้านประสิทธิภาพของหน้ากากป้องกันฝุ่นขนาดเล็ก การพัฒนาเครื่องมือตรวจวัดปริมาณฝุ่นในอากาศสำหรับชุมชน การจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายด้านการจัดการไฟป่าและการเผาในที่โล่งแจ้ง และการสร้างเวทีเพื่อสื่อสารข้อมูลกับหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการจัดการคุณภาพอากาศและประชาชน

อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ปัญหามลพิษอากาศและปัญหาหมอกควันที่เกิดขึ้นกับจังหวัดเชียงใหม่และพื้นที่ใกล้เคียงเป็นปัญหาที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งที่จะก่อให้เกิดผลกระทบและเป็นภัยในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากไม่เร่งป้องกันแก้ไขปัญหาก็ยิ่งทำให้ปัญหาสะสมและทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นในอนาคต ซึ่ง มช.ในฐานะสถาบันการศึกษาให้ความสำคัญอย่างมากในการป้องกันแก้ไขปัญหานี้ ด้วยการสนับสนุนการบูรณาการงานวิจัยที่เกี่ยวข้องทุกด้านเพื่อป้องกันแก้ไขปัญหานี้

สำหรับผลสรุปจากการวิจัยที่ได้จะมีการนำเสนอให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำไปพิจารณากำหนดมาตรการในการป้องกันแก้ไขปัญหาที่มีประสิทธิภาพ

อากาศเชียงใหม่อันตรายต่อสุขภาพ

ขณะที่ รองศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์พงศ์เทพ วิวรรธนะเดช คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หัวหน้าคณะนักวิจัยโครงการจัดตั้งศูนย์ประสานและเตือนภัยคุณภาพอากาศภาคเหนือ เปิดเผยว่า การศึกษาวิจัยในส่วนที่คณะนักวิจัยโครงการจัดตั้งศูนย์ประสานและเตือนภัยคุณภาพอากาศภาคเหนือดำเนินการระหว่าง 1 มกราคม -30 เมษายน2551 ใช้วิธีการสัมภาษณ์ถึงอาการเจ็บป่วยที่เกี่ยวข้องกับสารมลพิษทางอากาศครอบคลุม 4 ระบบ คือ ระบบทางเดินหายใจ หัวใจ ผิวหนัง และตา 19 อาการ ของกลุ่มตัวอย่างที่เป็นประชาชนทั่วไปที่อาศัยอยู่ใน 4 อำเภอ

ได้แก่ อำเภอเมืองเชียงใหม่ อำเภอแม่ริม อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน ซึ่งจะมีการสัมภาษณ์ทุกวันๆ ละ 100 ตัวอย่าง อำเภอละ 25 ตัวอย่าง โดยข้อมูลที่ได้จะนำมาเปรียบเทียบวิเคราะห์ทุกวันร่วมกับข้อมูลคุณภาพอากาศที่บันทึกโดยเครื่องตรวจวัดของกรมควบคุมมลพิษทั้ง 2 แห่ง ในจังหวัดเชียงใหม่ และข้อมูลอุตุนิยมวิทยา

จากผลการศึกษาในช่วงระหว่างวันที่ 1-31 มกราคม 2551พบว่า ระดับคุณภาพอากาศมีความสัมพันธ์อย่างชัดเจนกับอาการเจ็บป่วยของกลุ่มตัวอย่าง โดยฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอนส่งผลให้เกิดอาการในระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ การแสบคอ เสียงแหบ หายใจลำบาก ไอแห้งๆ

ขณะที่ระบบหัวใจมีอาการ ได้แก่ ชีพจรเต้นเร็ว ส่วนระบบตา ได้แก่ ตาแดง มองเห็นภาพไม่ค่อยชัด น้ำตาไหล แสบหรือคันตา ขณะที่ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ ทำให้คัดจมูก แสบจมูก มีน้ำมูก หายใจลำบาก ส่งผลกระทบต่อระบบหัวใจ ทำให้เหนื่อยง่าย และส่งผลกระทบต่อระบบตา ทำให้มองเห็นภาพไม่ชัด ส่วนก๊าซพิษอื่นเช่น ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ก็ส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ ระบบหัวใจ และระบบผิวหนัง และระบบตา ส่วนก๊าซโอโซน ส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจและระบบตา

“ที่ผ่านมา หลายคนอาจจะยังคงมีความเคลือบแคลงสงสัยว่า ปัญหาหมอกควันและคุณภาพอากาศเมืองเชียงใหม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจริงหรือไม่ แต่จากผลการศึกษาวิจัยและเก็บข้อมูลมาวิเคราะห์ตลอดช่วงเดือนมกราคมนี้ ชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์อย่างชัดเจนระหว่างระดับคุณภาพอากาศและอาการเจ็บป่วยของประชาชน กล่าวคือพอคุณภาพอากาศแย่ลงก็ส่งผลกระทบทำให้ประชาชนมีอาการเจ็บป่วยต่างๆ ตามไปด้วย ซึ่งถึงเวลานี้น่าจะทำให้ปราศจากข้อสงสัยดังกล่าวได้แล้ว” รองศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์พงศ์เทพ กล่าว


นอกจากนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์พงศ์เทพ กล่าวอีกว่า ตนสนับสนุนให้กรมควบคุมมลพิษ(คพ.)ปรับปรุงเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพอากาศที่ใช้อยู่ในปัจจุบันให้มีความเข้มข้นมากขึ้น เช่น การปรับปรุงการกำหนดมาตรฐานฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน ที่ปัจจุบันกำหนดไว้ไม่เกิน 120 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร เป็นไม่เกิน 50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร เหมือนในสหภาพยุโรป เป็นต้น ขณะเดียวกันยังสนับสนุนให้มีการกำหนดมาตรฐานคุณภาพอากาศเฉพาะแต่ละพื้นที่ด้วย เพื่อให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพของแต่ละพื้นที่ที่มีความแตกต่างกันไป

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องมีข้อมูลผลการวิจัย และข้อมูลทางวิชาการสนับสนุน ซึ่งที่ผ่านมากรมควบคุมมลพิษอาจจะยังไม่มีข้อมูลสนับสนุนเพียงพอ ดังนั้น หากโครงการวิจัยที่ มช.กำลังดำเนินการอยู่แล้วเสร็จก็อาจจะมีการนำเสนอข้อมูลให้เพื่อพิจารณาต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น