xs
xsm
sm
md
lg

แบงก์แข่งสินเชื่อบ้านรับดบ.ขาลง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน - แบงก์รุมปล่อยสินเชื่อบ้านรับดอกเบี้ยขาลง ภาคการลงทุนฟื้น "ไทยพาณิชย์" เดินหน้าขยายพอร์ตสินเชื่อรายย่อยโต 20-25% ตั้งเป้าลดเอ็นพีแอลลงมาให้เหลือไม่เกิน 3.4% ด้าน"นครหลวงไทย"งัด 3 กลยุทธ์ปั๊มยอดสินเชื่อบ้านโตสุทธิ 8,500 ล้านบาท ขณะที่ "กสิกรไทย" เล็งลดเอ็นพีแอลสินเชื่อบ้านปีนี้ให้เหลือ 3% พร้อมบริหารหนี้เก่ากว่า 3 พันล้าน ให้กลายเป็นหนี้ดี โดยใช้กลยุทธ์ติดตามลูกหนี้อย่างใกล้ชิดปรับโครงสร้างหนี้ ลดค่างวดในการชำระคืน

นายนะเพ็งพาแสง กฤษณามระ รองผู้จัดการใหญ่ สายบริหารการขายและบริการ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)หรือ SCB เปิดเผยว่า ในปีนี้ธนาคารได้วางแผนการเติบโตของธุรกิจรายย่อย ซึ่งประกอบด้วย สินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) สินเชื่อบัตรเครดิต ประกันภัย ประกันชีวิต และสินเชื่อส่วนบุคคล ให้มีการขยายตัวอยู่ที่ 20-25% ด้วยการจำหน่ายผ่านทุกช่องทางที่ธนาคารมีอยู่ทั้งผ่านสาขา ผ่านบริษัทในเครือ ผ่านเจ้าหน้าที่ของธนาคาร บนพื้นฐานที่ไม่มีการเพิ่มจำนวนบุคคลากร และเชื่อว่าน่าจะเป็นไปได้เพราะพอร์ตรายย่อยคิดเป็น 60%ของพอร์ตสินเชื่อรวมของธนาคาร

ทั้งนี้ ธนาคารมีพอร์ตสินเชื่อบ้านอยู่ที่ 2.2 แสนล้านบาท ซึ่งสูงที่สุดในระบบธนาคารพาณิชย์ด้วยกัน และสิ้นปีนี้ก็ตั้งเป้าว่าพอร์ตสินเชื่อบ้านอย่างเดียวจะไปถึง 2.5 แสนล้านบาท โดยต้องปล่อยสินเชื่อบ้านใหม่ไม่ต่ำกว่า 5.5 หมื่นล้านบาท สำหรับช่องทางการจัดจำหน่ายนั้น ช่องทางหลักยังคงเป็นช่องทางผ่านสาขามากที่สุด รองลงมาคือตามโครงการบ้าน ซึ่ง ณ ปัจจุบัน มีพนักงานฝ่ายขายที่ประจำอยู่ตามโครงการทั่วประเทศ 300 คน และในปีนี้ก็ยังไม่มีนโยบายเพิ่มพนักงานประจำโครงการ โดยพนักงาน 300 คน เป็นผู้รับผิดชอบเป้าหมายสินเชื่อบ้านประมาณ 31,600 ล้านบาท ที่เหลือสาขาที่มีอยู่ 889 สาขาจะเป็นผู้รับผิดชอบ

อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ธนาคารมีแผนจะเพิ่มสาขาเป็น 964 สาขาเพื่อสนับสนุนงานกิจการสาขาส่วนเรื่องการอนุมัติสินเชื่อบ้านด่วนนั้น ธนาคารดำเนินการอยู่แล้ว โดยกำหนดเอาไว้ที่ 4 ชั่วโมงต้องทราบผล แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานเอกสารพร้อม ล่าสุดได้ร่วมกับแสนสิริ ส่วนอัตราการอนุมัติสินเชื่อบ้านนั้นยังอยู่ในอัตราที่สูงคืออยู่ที่ 80-90% เพราะเจ้าหน้าที่ได้ทำการคัดเลือกลูกค้ามาแล้วระดับหนึ่ง และธนาคารเน้นกลุ่มลูกค้าระดับเอถึงบี ทำให้มีเอ็นพีแอลเกิดใหม่ค่อนข้างน้อย

"สินเชื่อบ้านในปีนี้แม้ว่าตั้งเป้าเอาไว้สูง แต่นโยบายที่ให้ความสำคัญอีกด้านหนึ่งคือการลดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือ เอ็นพีแอลให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ส่วนเรื่องดอกเบี้ยต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ โดยเป้าหมายในปีนี้ต้องลดเอ็นพีแอลลงมาให้เหลือไม่เกิน 3.4% จากปัจจุบันอยู่ที่ 3.7% ซึ่งการลดลง 0.3% นั้นก็ถือว่าเยอะเหมือนกัน" นายนะเพ็งพาแสงกล่าว

SCIBตั้งเป้าสินเชื่อบ้านเพิ่ม 8.5 พันล.
นายชัยนันท์ ลภิธนานุวัฒน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ดูแลสายงานลูกค้ารายย่อย ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCIB เปิดเผยว่า ในปี 2551 นี้ธนาคารตั้งเป้าขยายสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่เป็นสินเชื่อใหม่โตสุทธิ 8,500 ล้านบาท โดยต้องอนุมัติสินเชื่อไปไม่ต่ำกว่า 13,000 ล้านบาท ซึ่งถือได้ว่าเป็นการตั้งเป้าการโตแบบเท่าตัวจากสิ้นปี 2550 ที่ผ่านมาที่มียอดการปล่อยสินเชื่อบ้านโตสุทธิ 4,000 ล้านบาท จากพอร์ตสินเชื่อบ้าน ณ สิ้นปีที่แล้วอยู่ที่ 24,000 ล้านบาท โดยมั่นใจว่าจะสามารถทำได้ตามเป้าอย่างแน่นอน เนื่องจาก ในปีนี้ธนาคารได้นำเสนอสิทธิประโยชน์ที่คาดว่าจะตอบโจทย์ด้านความต้องการของลูกค้าได้เป็นอย่างดี ประกอบกับในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาธนาคารได้ปล่อยสินเชื่อให้กับโครงการต่างๆไปประมาณ 17,000-20,000 ล้านบาท จึงมองว่าฐานลูกค้าจากโครงการดังกล่าวน่าจะเป็นฐานในการปล่อยสินเชื่อให้กับรายย่อยของธนาคารต่อไปได้

ทั้งนี้ กลยุทธ์ที่จะนำมาเน้นไปพร้อมกับการขยายสินเชื่อบ้านมีด้วยกัน 3 ประการซึ่งอันดับแรก คือ เรื่องอัตราดอกเบี้ย ประการที่สองคือ เรื่องระยะเวลาในการอนุมัติสินเชื่อจากเดิมที่ใช้ระยะเวลา 7 วัน จะเปลี่ยนเป็น ภายใน 3 วันทำการซึ่งจะเป็นการเน้นการพิจารณาสินเชื่อให้รวดเร็วมากขึ้น และประการที่สามคือ เงื่อนไขในการปล่อยกู้ ดังนั้นจึงคาดว่าจะทำให้ส่วนแบ่งทางการตลาดของที่อยู่อาศัยเติบโตเป็น 5% ภายใน 3 ปี จากปีที่แล้วอยู่ที่ 3% ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ เอ็นพีแอล ก็ตั้งเป้าว่าจะควบคุมให้อยู่ในระดับที่ไม่เกิน 4% จากปีที่แล้วอยู่ที่ 5% โดยเราจะมีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ในขณะที่จะมีการพิจารณาหลักเกณฑ์ต่างๆในการปล่อยสินเชื่อให้รัดกุมมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ยังกล่าวถึงตลาดที่อยู่อาศัยในปีนี้ว่าน่าจะโตจากปีที่แล้ว 7% เพราะระดับอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มว่าจะอยู่ในช่วงขาลง อีกทั้งปัญหาทางการเมืองมีความชัดเจนมากขึ้นจากการที่มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเข้ามาบริหารประเทศจะส่งผลดีในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน นอกจากนี้รัฐบาลยังมีเดินหน้าลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ หรือ โครงการเมกะโปรเจ็กต์ ก็ยิ่งจะส่งผลให้การลงทุนโดยรวมปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน ซึ่งจะมีผลกระตุ้นให้ความต้องการสินเชื่อบ้านเพิ่มขึ้นตามการเติบโตของเศรษฐกิจ

สำหรับสินเชื่อส่วนบุคคล ในปีนี้ธนาคารก็ยังให้ความสำคัญกับการเติบโตของสินเชื่อบุคคลอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าขยายสินเชื่อเพิ่มอีก 2,100 ล้านบาท จากฐานสินเชื่อบุคคล ณ สิ้นปีที่แล้วอยู่ที่ 700 ล้านบาท เพื่อทำให้สิ้นปีนี้มียอดสินเชื่อเป็น 2,800 ล้านบาท โดยธนาคารจะเน้นเชิงรุกมากขึ้นโดยใช้ฐานลูกค้าสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นสิ่งช่วยผลักดันให้สินเชื่อบุคคลมีการขยายพอร์ตให้เติบโตขึ้น ซึ่งในปัจจุบันธนาคารมีสัดส่วนสินเชื่อรายย่อยอยู่ที่ 15% ของสินเชื่อรวมธนาคาร และตั้งเป้าว่าภายใน 3 ปีจะปรับสัดส่วนสินเชื่อดังกล่าวให้อยู่ที่ 25% ซึ่งจะอยู่ในระดับเดียวกับระบบธนาคารพาณิชย์ทั้งหมด

กสิกรไทยลดNPLสินเชื่อบ้านเหลือ 3%
นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK เปิดเผยว่า นโยบายการลดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) สำหรับสินเชื่อบ้านในปีนี้ธนาคารได้ตั้งเป้าหมายจะลดลงมาเหลือไม่เกิน 3% จากปัจจุบันอยู่ที่ 3.6% หรือประมาณ 3,400 ล้านบาท ซึ่งก่อนหน้านี้เอ็นพีแอลอยู่ที่ 4.6% ณ ปัจจุบัน ถือว่าเอ็นพีแอลของธนาคารอยู่ในระดับที่ต่ำสุดในระบบของธนาคารพาณิชย์ด้วยกัน โดยระบบธนาคารพาณิชย์มีเอ็นพีแอล อยู่ที่ประมาณ 6.3% จากยอดสินเชื่อรวมอยู่ที่ประมาณ 1.45 ล้านล้านบาท

ทั้งนี้ แนวทางการควบคุมเอ็นพีแอลของธนาคาร นั้น ยึดหลักที่ว่าสินเชื่อใหม่ที่ปล่อยออกไปต้องไม่มีหนี้เสีย หรือหากมีต้องมีน้อยมาก ส่วนหนี้เอ็นพีแอลเก่าที่มีอยู่กว่า 3,000 ล้านบาท นั้นก็ใช้กลยุทธ์การติดตามลูกหนี้อย่างใกล้ชิด มีระบบการทวงถาม เชิญลูกค้ามาเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ ลดค่างวดในการผ่อนชำระให้เหมาะสมกับภาวะและความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้า จากการนำกลยุทธดังกล่าวมาใช้ ทำให้ยอดเอ็นพีแอลได้ปรับลดลงมาอย่างต่อเนื่อง เพราะนับตั้งแต่ได้เข้ามารับหน้าที่ด้านสินเชื่อบ้าน เมื่อปี 2545 ธนาคารมียอดเอ็นพีแอลอยู่กว่า 10,000 ล้านบาท ณ ปัจจุบันได้ปรับลดลงมาเหลือ กว่า 3,000 ล้านบาท

สำหรับเป้าหมายสินเชื่อบ้านในปีนี้กำหนดเอาไว้ที่ 30,000 ล้านบาท หรือเติบโต 16% แต่เชื่อว่าทั้งปีน่าจะทำได้ 40,000 ล้านบาท โดยหลักการให้สินเชื่อในปีนี้ยังคงร่วมกับผู้ประกอบการเป็นหลัก เพราะผลวิจัยพบว่า ลูกค้าที่มาขอสินเชื่อ 70% จะมาจากการแนะนำของโครงการที่ลูกค้าไปซื้อบ้าน โดยลูกค้าไม่ได้สนใจว่าธนาคารไหนจะให้ดอกเบี้ยต่ำสุด แต่จะเชื่อใจโครงการที่แนะนำมากกว่า อย่างไรก็ตามสินเชื่อบ้านเป็นสินเชื่อที่มีความเสี่ยงต่ำสุด กำไรก็ต่ำสุดเช่นกัน โดยปีแรกส่วนใหญ่ขาดทุน และจะคืนทุนก็ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3ปี หากมีการขายผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น ประกันภัย ประกันอัคคีภัย สินเชื่อบุคคล บัตรเครดิต บัตรเดบิต ผลิตภัณฑ์อื่นๆ รวม 6-7รายการก็จะสามารถคืนทุนได้ภายใน 1ปี ทำให้ทุกธนาคารจึงหันมาให้น้ำหนักกับการขยายสินเชื่อบ้านเป็นหลัก เพราะสิ่งที่ได้มากกว่านี้คือ การได้ขายผลิตภัณฑ์อื่นๆ ของธนาคารและบริษัทในเครือมากกว่า และเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างรายได้ค่าธรรมเนียมให้กับธนาคาร

นายชาติชาย กล่าวอีกว่า ภาวะเศรษฐกิจในปีนี้สิ่งที่น่าห่วงคือเรื่องราคาน้ำมันที่ปรับตัวขึ้น ผลักดันให้ค่าครองชีพสูงขึ้น ต้นทุนสินค้าราคาแพง ส่งผลให้รายได้ของผู้บริโภคไม่สามารถปรับตัวขึ้นได้ทันกับราคาสินค้า สะท้อนเห็นชัดก็คือสินเชื่อส่วนบุคคล บัตรเครดิต ทำให้มีเอ็นพีแอลเพิ่มเล็กน้อย แค่ก็สามารถควบคุมได้ไม่น่าเป็นห่วงมากนัก ปัจจัยด้านเศรษฐกิจโดยรวมหากในครึ่งปีหลังดีขึ้นก็น่าจะทำให้ทุกอย่างคลี่คลายลงไปได้ เพราะคิดว่าในครึ่งปีหลังดอกเบี้ยน่าจะปรับลงได้0.25-0.50% บนพื้นฐานที่ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด ลดดอกเบี้ยลง1% นอกจากนี้ก็เชื่อว่าโครงการเมกะโปรเจกต์ โดยเฉพาะรถไฟฟ้าใต้ดินก็น่าจะเห็นทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่ออสังหาริมทรัพย์.
กำลังโหลดความคิดเห็น